ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (3) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (3)

 

แม้รัชกาลที่ 4 จะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่กลับไปให้ความสนใจการ “ปฏิสังขรณ์อดีต” ในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา

แต่จุดเปลี่ยนที่มีนัยยะสำคัญแท้จริงจะเกิดจากโครงการใหญ่ของรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 40 ปี ณ พระราชวังกรุงเก่า ระหว่าง 29 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม พ.ศ.2450

40 ปีสำคัญอย่างไร คำตอบคือ เป็นการครองราชย์ยาวนานเท่ากับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งครองราชย์นานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยา ซึ่งรัชกาลที่ 5 เห็นว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และน่ายินดี

การให้ความสนใจในเรื่องอะไรแบบนี้ เป็นไอเดียแบบสมัยใหม่ ไม่เคยมีกษัตริย์แบบจารีตพระองค์ไหนสนใจมาก่อน ด้วยเหตุนี้ งานดังกล่าวจึงเป็นพระราชพิธีใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 รู้จักกันต่อมาในชื่อ “พระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ.126”

พระราชพิธีดังกล่าว มีการเตรียมงานมากกว่า 1 ปี (ตั้งแต่ธันวาคม 2449) โดยมีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พระยาโบราณราชธานินทร์) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า เป็นแม่งานสำคัญในการตระเตรียมสถานที่

ความน่าสนใจคือ รัชกาลที่ 5 ได้มีรับสั่งเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่โบราณสถานกรุงเก่าเอาไว้ เมื่อ 15 ธันวาคม 2449 ความตอนหนึ่งว่า

“…ในการที่จะขึ้นไปทำบุญนี้ คิดจะถือเอาโอกาศให้ได้ทำงานตรวจตราพื้นแผ่นดินแลที่ก่อสร้างในพระราชวังกรุงเก่าเปนส่วนการอาคิโอโลยี แล้วให้รักษาไว้เปนที่สำหรับไปดูภูมิประเทศโบราณสืบไป ถ้าทิ้งไว้ต่อไปก็จะสาบสูญเสียหมด ในการที่จะทำให้สะดวกตามความคิดนั้น จะต้องซื้อที่น่าพระราชวังริมน้ำ ที่ราษฎรจับจองแล้วซื้อขายกันต่อๆ มาบางราย และจะใช้ในการปลูกสร้างมาพักที่ทำบุญในบริเวณพระมหาปราสาทวิหารสมเด็จ แลสรรเพ็ชปราสาท ๒ องค์…”

พระราชกระแสนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการสำรวจและบูรณะพื้นที่ภายในพระราชวังกรุงเก่าอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แรงงานหลักที่เข้าไปถากถางและจัดการพื้นที่ในครั้งนั้นคือนักโทษ เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ในครั้งนั้น มีการขุดดินลงไปจนถึงระดับพื้นดินเดิมของอาคารต่างๆ พร้อมทั้งก่อสร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท (อาคารชั่วคราว) ขึ้นใหม่บนฐานรากพระที่นั่งองค์เดิม สำหรับใช้เป็นที่ประทับ บำเพ็ญพระราชกุศล ประกอบพระราชพิธีบวงสรวงอดีตกษัตริย์อยุธยา

ซ้าย : พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ภายในพระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ.126
ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ขวา : รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชยาน เสด็จผ่านประตูเมือง (ที่เพิ่งสร้าง) เข้าภายในพระราชวังกรุงเก่า
ที่มาภาพ : หนังสือ สมุดภาพกรุงเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนพุทธศักราช 2500

 

ซึ่งเมื่อถึงวันงานจริงในเดือนธันวาคม พ.ศ.2450 ได้มีการอัญเชิญพระพุทธรูปแทนพระองค์กษัตริย์อยุธยา 32 องค์ และพระเจ้ากรุงธนบุรี 1 องค์ มาประดิษฐานร่วมกันภายในพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งพื้นที่บนฐานพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์สำหรับใช้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงเจ้านาย และปะรำอีกหลายหลังภายในพื้นที่โดยรอบ ส่วนท้องสนามหน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทปรับแต่งให้เป็นสถานที่จัดแสดงมหรสพ

ในส่วนกำแพงด้านหน้าพระราชวังก็มีการก่อกำแพงเมือง ประตูเมือง และฉนวน ขึ้นมาใหม่เป็นแนวยาวตลอด อาคารที่สร้างขึ้นทั้งหมด แม้จะเป็นอาคารชั่วคราว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการปฏิสังขรณ์อดีตอยุธยาครั้งใหญ่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จากภาพถ่ายเก่าที่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน จะเห็นถึงผู้คนมากมายทั้งจากกรุงเทพฯ และคนพื้นที่อยุธยา ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานครั้งนี้ ได้มองเห็นภาพความยิ่งใหญ่ของอยุธยาอีกครั้ง (แม้เพียงบางส่วน) จากการตีความของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 5

ได้มองเห็นกษัตริย์รัตนโกสินทร์ประทับและประกอบพระราชพิธีภายในมหาปราสาทของกษัตริย์อยุธยา ได้มองเห็นภาพการสืบทอดต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรอยุธยาอันยิ่งใหญ่ที่ส่งผ่านมาสู่ราชอาณาจักรแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ

ได้เห็นภาพที่ทาบทับกันระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และรัชกาลที่ 5 ในฐานะของกษัตริย์ 2 พระองค์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในสยามประเทศ

 

เป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า คนรุ่นแรกที่สร้างเมืองกรุงเทพฯ คือคนกรุงเก่าที่ต่างโหยหาภาพอันยิ่งใหญ่ของอยุธยา แต่ก็มิได้มีใครต้องการจะย้อนกลับไปหาอยุธยาจริงๆ สิ่งที่คนต้นรัตนโกสินทร์ทำคือ การจำลองอยุธยาขึ้นใหม่ที่กรุงเทพฯ

แต่พระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ.126 คือการย้อนกลับไปหาอดีตอันยิ่งใหญ่ของอยุธยาในเชิงกายภาพอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก (สืบทอดไอเดียจากที่รัชกาลที่ 4 ได้ริเริ่มไว้) และในพื้นที่สาธารณะต่อหน้าเจ้านาย ขุนนาง และราษฎรเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างสายโซ่ทางประวัติศาสตร์ของ “สถาบันกษัตริย์สยามประเทศ” อันยาวนานระหว่างวงศ์กษัตริย์อยุธยากับราชวงศ์จักรี

ที่สำคัญที่สุดคือ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2450 (วันสุดท้ายของพระราชพิธี) หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทำพิธีสังเวยเทวดา และสมโภชพระพุทธรูปแทนพระองค์กษัตริย์อยุธยาทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ได้เสด็จไปยังพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เพื่อเสวยพระกระยาหารร่วมกับเจ้านายต่างๆ

และหลังจากนั้นได้ทำการประชุมจัดตั้ง “โบราณคดีสโมสร” ขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างจริงจังโดยชาวสยามเป็นครั้งแรก

แม้ความสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ของชาวสยามจะเริ่มปรากฏร่องร่อยมานานแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่า ความสนใจดังกล่าวยังคงเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่จำกัดอยู่เฉพาะชาวต่างชาติ

แม้จะมีการก่อตั้ง “สยามสมาคม” ขึ้นในปี 2446 ซึ่งมีเจ้านายไทยร่วมอยู่ในนั้นด้วยหลายพระองค์ แต่สมาชิกโดยส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวต่างชาติมากกว่า

 

ดังนั้น การจัดตั้งโบราณคดีสโมสรในปี 2450 (เพียง 4 ปีหลังมีการก่อตั้งสยามสมาคม) จึงเป็นหมุดหมายสำคัญต่อการศึกษาอดีต และปฏิสังขรณ์อดีตของสยาม ด้วยมุมมองของชนชั้นนำสยามเอง

ความน่าสนใจคือ การเลือกสถาปนาโบราณคดีสโมสรภายในพระราชวังกรุงเก่าที่อยุธยา (ไม่ใช่กรุงเทพฯ) ย่อมสะท้อนนัยยะ (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ของอยุธยา ในฐานะของการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางและศูนย์รวม “อดีต” ที่สำคัญของสยาม ณ ช่วงเวลานั้น

นอกจากนี้ ในปาฐกถาเปิดโบราณคดีสโมสรโดยรัชกาลที่ 5 มีข้อความที่น่าสนใจ ตอนหนึ่งว่า

“…ประเทศทั้งหลายซึ่งได้ควบคุมกันเป็นชาติและเป็นประเทศขึ้นย่อมถือว่าเรื่องราวของชาติตนแลประเทศตนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะพึงศึกษาแลพึงสั่งสอนกัน…ซึ่งจะพึงเห็นได้เลือกได้ในการที่ผิดแลชอบชั่วแลดีเป็นเครื่องชักนำให้เกิดความรักชาติแลรักแผ่นดินของตัว…”

“…จึงขอชักชวนท่านทั้งหลายแต่ในสโมสร…ให้กระทำในใจไว้ ว่าเราจะค้นหาข้อความเรื่องราวของประเทศสยาม ไม่ว่าเมืองใด ชาติใด วงศ์ใด สมัยใด รวบรวมเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของประเทศสยาม จับเดิมตั้งแต่ ๑๐๐๐ ปีลงมา เรื่องราวเหล่านี้คงจะต้องจับตั้งแต่เมืองหลวง…ซึ่งเป็นที่ตั้งของชาติไทยแต่ต้นเดิมลงมาจนถึงเมืองเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่ สวรรคโลก โศกโขทัย อยุธยาเก่า อยุธยาใหม่ แลเมืองละโว้ ลพบุรี นครไชยศรี นครศรีธรรมราช ฤๅเมืองซึ่งเป็นเจ้าครองเมือง เช่น กำแพงเพ็ชร ไชยนาท พิษณุโลก เมืองสรรค์ สุพรรณ กาญจนบุรี เพ็ชรบุรี เหล่านี้เป็นต้น…แล้วรวบรวมมาเป็นประเทศสยามอันหนึ่งอันเดียวกัน…”

ข้อความข้างต้น แสดงถึงความต้องการของรัชกาลที่ 5 ที่มากกว่าการปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยา แต่ยังคาดหวังไปไกลสู่การปฏิสังขรณ์อดีตของบ้านเมืองอื่นๆ ภายในอาณาบริเวณของประเทศสยาม ที่พระองค์เพิ่งทำการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ราชสำนักที่กรุงเทพฯ สำเร็จ (รู้จักในทางวิชาการว่า การสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เพื่อ “สร้าง” ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยามสมัยใหม่ขึ้น โดยหวังที่จะใช้มันในการสั่งสอนให้ราษฎรรู้จักรักชาติและรักแผ่นดินที่พระองค์เพิ่งสร้างขึ้นใหม่

ด้วยเหตุนี้ พระราชพิธีรัชมงคล ร.ศ.126 และการจัดตั้งโบราณคดีสโมสร ณ เมืองเก่าอยุธยา ในทัศนะผม จึงเป็นอะไรที่มากไปกว่าพระราชพิธีฉลองการครองราชย์ยาวนานเท่ากับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และการจัดตั้งสโมสรค้นคว้าประวัติศาสตร์

แต่ยังแฝงนัยยะของการย้อนกลับไปหาอยุธยาเพื่อขุดค้น ศึกษา ตีความ และสร้าง “อดีต” ขึ้นมาใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองอย่างรวดเร็วในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสยาม จากรัฐจารีตมาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเรียกร้อง “อดีต” ในรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจาก “อดีต” ชุดเดิมซึ่งชนชั้นนำสยามยุคก่อนเคยให้ความสำคัญ