คณะทหารหนุ่ม (10) | รัฐประหารล่ม เพราะ”ไม่มาตามนัด”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

“แต่แล้วผมก็เริ่มมองเห็นสิ่งผิดปกติเพิ่มมากขึ้น คือหน่วยต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่นำกำลังออกมาตามจุดต่างๆ ที่นัดไว้ เพราะที่ตรึงกำลังอยู่ในเวลานี้มีแต่กำลังจากเมืองกาญจน์เท่านั้น หน่วยลพบุรี ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ทั้งทหารราบ ปืนใหญ่ ไม่ออกกันมาเลย แม้ว่าผู้ใหญ่จะอยู่กับเราเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม เราเริ่มเห็นปัญหาของเราแล้วว่ากำลังเราน้อย ดังนั้น จุดต่างๆ ที่วางแผนจะวางกำลังเอาไว้จึงไม่มีกำลังออกไปอยู่ ผมจึงได้ความรู้ครั้งใหญ่ว่า การปฏิวัติหรือรัฐประหารสำคัญที่ใจของเพื่อนร่วมงาน มีแต่เห็นด้วย แต่พอถึงเวลาไม่เอากำลังออกมาก็ล้มเหลว

จุดที่ผิดพลาดจริงๆ ก็น่าจะอยู่ตรงนี้แหละคือที่นัดไว้ไม่มาตามนัด”

 

เดินหน้าต่อไป

“เพื่อให้เห็นว่าทางฝ่ายเราควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ได้ เราจึงออกประกาศคณะปฏิวัติไปฉบับหนึ่ง และเชิญให้ พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ เป็นหัวหน้า

ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 1

โดยที่สถานการณ์ทั่วไปทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศกำลังเสื่อมทรามอย่างหนักลงทุกขณะจนน่าวิตกถึงความอยู่รอดของชาติในอนาคต แม้รัฐบาลซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจัดตั้งขึ้นจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขโดยวิธีใดๆ ก็ตาม ก็ไม่สามารถให้ภาวะแห่งความเสื่อมทรามกลับฟื้นคืนดีขึ้นมาได้ และการปล่อยให้เวลานานต่อไปความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยและประชาชนคนส่วนรวม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสามัคคีของคนในชาติกำลังได้รับความเสียหายเพราะความไม่หวังดีต่อบ้านเมืองของคนบางกลุ่ม

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยความมั่นคงของชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชน ตลอดจนสถาบันอันเป็นที่เคารพสูงสุดคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คณะปฏิวัติอันประกอบด้วยกำลังของทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ จึงรวมกันเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ตั้งแต่เวลา 05.00 น.ของวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2520 ทั้งนี้ เพื่อเป็นแกนกลางของบรรดาผู้รักชาติที่จะร่วมมือกันในอันที่จะแก้ไขสถานการณ์ของบ้านเมืองให้ดีขึ้น และเพื่อสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด คณะปฏิวัติจึงขอประกาศให้พี่น้องชาวไทยได้ทราบ และขอให้ทุกท่านตั้งอยู่ในความสงบ ทำมาหากินต่อไปโดยปกติสุข ผู้ใดขัดขืนและก่อการอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชนและขัดต่อเจตนารมณ์ของคณะปฏิวัติจะถูกจัดการอย่างเด็ดขาดโดยทันที”

ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ยังไม่ทันได้สำแดงผลอันใด เหตุแทรกซ้อนกลับเกิดขึ้นเสียก่อน

 

การเสียชีวิตของ พล.ต.อรุณ

“ขณะนั้นผมกับ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ และ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ อยู่ด้วยกันในห้องถัดจากห้องที่ใช้เป็นห้องบัญชาการแต่สามารถมองเห็นภายในห้องบัญชาการได้ ผมมองเห็นนายทหารผู้ใหญ่นั่งด้วยกันที่โต๊ะประชุมใหญ่ที่เพิ่มจากตอนเช้ามืดนอกจาก พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ ก็มี พล.อ.อำนาจ ดำริกาญจน์ พล.ต.ท.สุวรรณ รัตนชื่น พล.ท.มานะ รัตนโกเศศ และระดับพลตรีอีกหลายท่าน ผมเห็น พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน นั่งอยู่ข้างๆ เบื้องหลังที่ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน นั่ง มี ร.ท.ชูชีพ ปานวิเชียร นายทหารจากกองพล 9 กาญจนบุรี ถือปืนเอ็ม 16 รักษาการอยู่ และยังมี ร.อ.บรรพต กลั่นเรืองแสง ร.อ.สุพจน์ บุณญรักษ์ อยู่บริเวณนั้นด้วย

พล.ต.อรุณ ลุกขึ้นไปชงกาแฟแล้วนำไปยื่นให้กับ พล.อ.ฉลาด พล.อ.ฉลาด รับกาแฟแล้ววางถ้วยไว้ที่โต๊ะ ยังไม่ทันได้จิบกาแฟก็ลุกขึ้นเดินไปที่หน้าต่างเพื่อที่จะดูกำลังทหารที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณสวนรื่นฯ ระหว่างนั้น พล.ต.อรุณ ก็เดินกลับมายังที่นั่งของตัวเอง

แต่ฉับพลันอย่างไม่มีใครคาดคิด พล.ต.อรุณตรงเข้าแย่งปืนเอ็ม 16 จาก ร.ท.ชูชีพ เกิดการแย่งยึดกันเป็นพัลวันระหว่างนายทหารทั้งสอง โดยมี ร.อ.สุพจน์ยกปืนเล็งไปที่ พล.ต.อรุณ เมื่อผมกับอีก 3 นายพันหายตะลึง ต่างพากันกระโจนพรวดเข้าไปในห้องประชุมในจังหวะไล่ๆ กันเพื่อที่จะเข้าไปแย่งปืนกระบอกนั้น แต่วินาทีนั้น ผมบอกตัวเองว่าเราเข้าถึง พล.ต.อรุณช้าเกินไปเสียแล้ว เพราะปืนเอ็ม 16 กระบอกนั้นกำลังตกอยู่ในมือของ พล.ต.อรุณอย่างเบ็ดเสร็จ

วินาทีแห่งความเป็นความตาย ผมได้ยินเสียง พล.อ.ฉลาดสั่งให้ พล.ต.อรุณวางปืน แต่พอสิ้นคำว่าวางปืน เสียงปืนก็ดังระเบิดขึ้นนัดหนึ่ง ร่างของ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ชะงักตาเบิกกว้าง แต่มือทั้งสองยังกระชับปืนเอ็ม 16 เอาไว้มั่นอยู่ในท่าที่พร้อมจะยิง

เมื่อสถานการณ์ยังเป็นอย่างนั้น ปืนพกขนาด .38 ในมือของ พล.อ.ฉลาด จึงระเบิดเสียงขึ้นอีกเป็นนัดที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ดังตามขึ้นมาอีก คราวนี้ร่างของ พล.ต.อรุณ ถึงกับทรุดฮวบลงกับพื้น

เสียงของ พล.อ.ฉลาดอีกนั่นแหละที่ตะโกนบอกพวกเราให้เรียกรถพยาบาลเข้ามารับ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ไปส่งยังโรงพยาบาลวชิระโดยด่วน เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมาก พวกเราไม่มีใครคิดว่า พล.ต.อรุณ ทวาทศิน จะต้องเสียชีวิตและจนบัดนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ท่านคิดอย่างไร ท่านคิดของท่านเอาไว้ก่อนแล้วหรือเพิ่งตัดสินใจเอาตอนนั้น และเมื่อท่านได้ปืนแล้ว เป้าหมายที่จะยิงคือทุกคนในห้องนั้น หรือว่าเฉพาะ พล.อ.ฉลาด คำถามเหล่านี้ไม่มีคำตอบเลยจนถึงวันนี้

เมื่อรถพยาบาลแล่นเข้ามาในสวนรื่นฯ เราก็เก็บความลับเอาไว้ไม่ได้เสียแล้ว”

 

รัฐบาลตอบโต้

“ผมคาดว่าฝ่ายรัฐบาลคงประเมินกำลังของเราเป็นระยะๆ ตั้งแต่เช้าแล้ว ท่าน พล.อ.เสริม ณ นคร หนีออกไปได้จึงไปเป็นหลักให้กับฝ่ายรัฐบาลไปตั้งมั่นอยู่ที่สนามเป้าโดยใช้ทีวีช่อง 5 เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ฝ่ายของตน

วิธีที่รัฐบาลใช้ในการประเมินกำลังของฝ่ายตรงข้ามก็คงดูจากกำลังที่ใช้ยึดในจุดต่างๆ ว่าเป็นกำลังมาจากไหน และแต่ละจุดใช้กำลังเท่าไหร่ในการยึด จนกระทั่งเบ็ดเสร็จแล้วยึดกี่จุด เท่านี้ก็ประเมินกำลังเราได้ว่ามีกำลังแท้จริงอยู่เท่าไหร่ รัฐบาลจึงเริ่มตอบโต้ด้วยการออกแถลงการณ์นำทางมาก่อน”

แถลงการณ์กองอำนวยการรักษาพระนครฉบับที่ 1/2520 ลงนามโดย พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้อำนวยการรักษาพระนคร ระบุว่าเหตุเกิดจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง “กำลังประมาณ 300 คน” ได้ก่อความไม่สงบขึ้นในกรุงเทพฯ จึงขอให้วางอาวุธและยอมจำนนแต่โดยดี

“ครั้นพอสายขึ้น เราเริ่มรู้ชัดขึ้นแล้วว่ากำลังในกรุงเทพฯ จะไม่ออกจากที่ตั้งแน่นอน ผมรู้สึกเหมือนถูกลอยแพ ผมคิดว่าถูกหักหลัง ผมไม่รู้จะโกรธใคร เพราะนายเป็นคนประสานกำลังต่างๆ เอง ถ้าผมเป็นคนประสาน ผมจะรู้สึกได้อย่างเต็มที่ว่าเราถูกหักหลัง ยิ่งเมื่อมีรถพยาบาลวิ่งเข้าไปในสวนรื่นฯ และนำร่างกายบาดเจ็บของ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ไปส่งยังโรงพยาบาลวชิระซึ่งแพทย์ได้ช่วยกันระดมกำลังและความสามารถจนสุดชีวิตช่วยกันยื้อชีวิต พล.ต.อรุณ เอาไว้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อท่านไปถึงโรงพยาบาลได้เพียงอึดใจหนึ่งก็สิ้นใจ

แม้ผมจะฮึดขึ้นมาว่า น่าจะยกกำลังไปยึดกองพลทหารม้าที่ 2 ที่สนามเป้า แต่ครั้นมองดูกำลังแล้วขณะนั้นเราไม่สามารถขยับกำลังจากส่วนใดๆ ไปไหนได้ทั้งสิ้น

ฝ่ายรัฐบาลเมื่อเห็นกำลังของฝ่ายเรานิ่งเฉยอยู่ในที่ตั้ง ก็เดาได้ว่าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหน พวกเขาจึงโหมรุกทางประชาสัมพันธ์ มีการใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวเพื่อกดดันพวกเราหนักยิ่งขึ้น”