มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก : วิเวก ชิบเบอร์ (1) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก

: วิเวก ชิบเบอร์ (1)

 

ผมได้ยินชื่อ วิเวก ชิบเบอร์ (Vivek Chibber) หนแรกสักราวสิบปีก่อนจากคำกล่าวปลาบปลื้มชื่นชม ผิดวิสัยของ สลาวอย ชิเชค (Salvoj Zizek) นักปรัชญาสาธารณะมาร์กซิสต์ร่วมสมัยชาวสโลเวเนียผู้โด่งดัง และซ่าที่สุดในปัจจุบัน

นักทฤษฎีสังคมชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียผู้เป็นศาสตราจารย์ ณ มหาวิทยาลัยนิวยอร์กคนนี้เกิดที่อินเดีย (1965) แล้วอพยพมาอยู่อเมริกาในวัยรุ่น (1980) เขาเรียนจบปริญญาเอกด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน โดยเป็นลูกศิษย์ของ อีริก โอลิน ไรต์ (Erik Olin Wright) นักสังคมวิทยาอเมริกันผู้ช่ำชองทฤษฎีชนชั้นทั้งสำนักมาร์กซิสต์และอื่นๆ (เพิ่งเสียชีวิตไปปี 2019) วิเวกทำดุษฎีนิพนธ์ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือได้รางวัลดีเด่นหลายรางวัลเรื่อง Locked in Place : State-Building and Late Industrialization in India (2003)

จากนั้นวิเวกก็หันไปเอาธุระคิดบัญชีวิพากษ์วิจารณ์จริงจังกับกลุ่มแนวคิดทฤษฎีหลังอาณานิคม/การศึกษาผู้ถูกกดทับ (postcolonial theory/subaltern studies) ของนักวิชาการอินเดียรุ่นใหญ่ผู้มีอิทธิพลโด่งดังทั่วโลกอย่าง ปาร์ธา ชัตเตอร์จี และ กยาทรี จักรวรที สปิวัค (Partha Chatterjee & Gayatri Chakravorty Spivak) โดยตีพิมพ์เป็นบทความต่างๆ และหนังสือต่อมาชื่อ Postcolonial Theory and the Specter of Capital (2013) ซึ่งก่อให้เกิดวิวาทวาทาสืบเนื่องมาครั้งใหญ่ในหมู่นักวิชาการมาร์กซิสต์และหลังอาณานิคม (จนรวมพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The Debate on Postcolonial Theory and the Specter of Capital, 2016)

ล่าสุด หลังประมวลเรียบเรียงความคิดอ่านอยู่นานปี ดังเห็นร่องรอยได้จากบทความของเขาเรื่อง “Rescuing Class from the Cultural Turn”, Catalyst Journal, 1:1 (Spring 2017), https://catalyst-journal.com/2017/11/cultural-turn-vivek-chibber) เป็นต้น วิเวกก็ตีพิมพ์หนังสือเล่มใหม่ออกมาปีนี้ชื่อ The Class Matrix : Social Theory after the Cultural Turn (Harvard University Press, แปลเอาความได้ว่า “เบ้าชนชั้น : ทฤษฎีสังคมหลังหันเหไปทางวัฒนธรรม”) ซึ่งมุ่งย้อนพินิจทบทวนบทบาทของอุดมการณ์/วัฒนธรรมในความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมทุนนิยมว่าเอาเข้าจริงมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร?

มันเป็นตัวการปกป้องธำรงรักษาสังคมทุนนิยมเอาไว้จากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองจริงอย่างนั้นหรือ?

และเสนอให้ข้ามพ้นการหันเหไปเน้นอุดมการณ์/วัฒนธรรมทางทฤษฎีนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ทว่า ก็เก็บรับข้อถกเถียงบางอย่างจากการหันเหไปดังกล่าวนั้นมาปรับแต่งใช้ใหม่

การเสนอให้ทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์หวนกลับไปสู่มุมมองแบบวัตถุนิยมที่เน้นโครงสร้างชนชั้น แทนที่จะหันเหหลงใหลไปเน้นโครงสร้างส่วนบนทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมดังที่ผ่านมานั้น นับว่ามีนัยสำคัญทางความคิด ทฤษฎีและยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทางการเมืองของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมต่อไปข้างหน้าอย่างยิ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิด ฟังขึ้นหรือไม่ก็ตาม

ผมจึงใคร่นำข้อถกเถียงของวิเวก ชิบเบอร์ ใน The Class Matrix มาสรุปสาระสังเขปแก่ท่านผู้อ่านที่อาจสนใจดังนี้ :

หัวใจลัทธิมาร์กซ์คือสมมุติฐานวัตถุนิยม

ปริศนาใจกลางที่หนังสือ The Class Matrix มุ่งขบแก้ก็คือ ทำไมระบบซึ่งตั้งอยู่บนการกดขี่ขูดรีดโดยรากเหง้าของมันอย่างทุนนิยมจึงยังอยู่ยั้งยืนยงได้หลังผ่านมาหลายศตวรรษ?

ธรรมเนียมคิดมาร์กซิสต์คลาสสิคเฝ้าครุ่นคิดขบแก้ปัญหานี้ครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านกรอบทฤษฎีที่ตรงหัวใจของมันคือลัทธิวัตถุนิยม (materialism) ในมิติต่างๆ หลากหลายของวัตถุนิยมนั้น แกนกลางของมันคือความคิดที่ว่าเมื่อคนเราไขว่คว้าเป้าหมายทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ โดยพื้นฐานแล้วพวกเขาถูกชี้นำโดยผลประโยชน์ ลัทธิวัตถุนิยมทางสังคมก็คือหลักความเชื่อว่าปฏิบัติการทางสังคมของคนเราถูกกำกับด้วยผล ประโยชน์ทางวัตถุของตนนั่นเอง

ฉะนั้น ในกระบวนแถวทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์นั้น เมื่อตั้งคำถามว่าทำไมทุนนิยมถึงมั่นคงยงยืนอยู่ได้?

ตัวกระทำการทางชนชั้นปฏิสัมพันธ์กันและเข้าพัวพันกับโลกอย่างไร?

สมมุติฐานก็คือคำตอบที่ได้จะเป็นเชิงวัตถุนิยมและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนเรา

 

การหันเหไปทางอุดมการณ์/วัฒนธรรมหลังสงครามโลก

ในช่วงหลายทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปรากฏว่าลัทธิวัตถุนิยมถูกปกคลุมบดบังไปโดยแนวทางเข้าสู่ปัญหาที่ส่งเสริมและเน้นย้ำบทบาทของอุดมการณ์/วัฒนธรรม

ทั้งนี้เพราะในหมู่ฝ่ายซ้ายใหม่ยุคต้นหลังสงคราม คนอย่างสจ๊วต ฮอลล์, เรย์มอนด์ วิลเลียมส์ และอี.พี. ทอมป์สัน (Stuart Hall, Raymond Williams, E. P. Thompson ทั้งสามเป็นซ้ายใหม่ชาวอังกฤษรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองและถึงแก่กรรมหมดแล้ว ฮอลล์เป็นผู้บุกเบิกวัฒนธรรม วิลเลียมส์เป็นผู้ค้นคว้าศึกษาวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางด้วยแนวทางวัตถุนิยมทางวัฒนธรรม ส่วนทอมป์สันเป็นนักประวัติศาสตร์แรงงานที่เน้นปัจจัยวัฒนธรรม) รวมทั้งผู้คนที่แวดล้อมวารสาร New Left Review (ขึ้นชื่อว่าเป็นวารสารวิชาการฝ่ายซ้ายภาษาอังกฤษที่คุณภาพสูง โด่งดังและยืนนานที่สุดในโลก) มีความปักใจเชื่อว่าพวกมาร์กซิสต์ที่ผ่านมาไม่ได้ใส่ใจจริงจังกับอุดมการณ์เพียงพอ

และปริศนามากหลายทางทฤษฎีของมาร์กซ์นั้นหาคำตอบได้โดยพิจารณาปัจจัยอุดมการณ์

 

ปริศนากรรมกรไม่ปฏิวัติ

ทําไมพวกเขาจึงคิดเห็นเช่นนั้น? คำตอบคือเพราะพวกเขาถูกจูงใจโดยคำถามเดียวกับข้างต้นนั่นเอง กล่าวคือ ทำไมระบบทุนนิยมถึงได้มั่นคงยงยืนนัก? ที่คำถามนี้หลอนใจพวกเขาก็เนื่องจากในคริสต์ทศวรรษ 1910s ถึง 1930s ดูเหมือนว่าคำทำนายของมาร์กซ์ที่ว่าทุนนิยมจะสร้างผู้ขุดหลุมฝังศพตัวมันเองขึ้นมาอันได้แก่ชนชั้นกรรมาชีพหรือกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ผู้จะโค่นทุนนิยมลงในที่สุดนั้นทำท่าจะกลายเป็นจริง เริ่มจากรัสเซียแล้วค่อยลุกลามไปในประเทศยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางข้างเคียงบางแห่ง

ทว่า พอสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองลง การแผ่ขยายตัวของการปฏิวัติโค่นทุนนิยมจากโซเวียตในยุโรปก็มีอันหยุดชะงักตรงม่านเหล็กกำแพงเบอร์ลิน ถึงปี 1950 ก็เห็นได้ชัดแล้วว่ายุโรปตะวันตกและอเมริกาเข้าสู่ช่วงระยะเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม

คำถามสำหรับฝ่ายซ้ายใหม่ในยุโรปตะวันตกตอนนั้นก็คือ ไฉนเลยระบบที่สันนิษฐานว่าจะต้องถูกโค่นลงโดยชนชั้นผู้ถูกขูดรีดกลับดันมีเสถียรภาพยืนยงอยู่ได้?

นี่เป็นคำถามที่ชวนให้พวกซ้ายใหม่วิตกกังวล เพราะพวกเขารู้ว่าโครงสร้างระบบทุนนิยมก่อให้เกิดความขัดแย้ง ว่าโครงสร้างดังกล่าวสร้างขึ้นล้อมรอบการขูดรีด ปัญหาอยู่ตรงโครงสร้างที่ว่านี้ไม่ยักจะก่อให้เกิดปฏิบัติการทางสังคมของกรรมกรที่จัดตั้งกันขึ้นและต่อสู้ล้อมรอบผลประโยชน์ของตัวเองอย่างที่สันนิษฐานเอาไว้

สรุปคือ ซ้ายใหม่ตะวันตกยอมรับคำบรรยายเรื่องโครงสร้างชนชั้นของทุนนิยมแล้ว แต่ไฉนทำไมคำทำนายเรื่องผลลัพธ์ทางการเมืองของโครงสร้างชนชั้นดังกล่าวถึงไม่บังเกิดขึ้นตามมาเล่า? รึว่ามันผิดพลาดไป?

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)