การยกระดับสงครามของรัสเซีย! การรุกกลับของยูเครนก่อนฤดูหนาว | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

การยกระดับสงครามของรัสเซีย!

การรุกกลับของยูเครนก่อนฤดูหนาว

 

“เตรียมตัวไว้สำหรับสิ่งที่คาดไม่ถึงเสมอ”

คำแนะนำสำหรับการรับมือกับความเสี่ยงทางการเมือง

Condoleezza Rice and Amy Zegart

Political Risk (2018)

 

สงครามยูเครนก่อนที่ฤดูหนาวในยุโรปจะมาถึงมี “จุดพลิก” อย่างน่าสนใจ และจุดพลิกเช่นนี้มีนัยกับสถานการณ์สงครามในอนาคตอย่างมาก โดยเฉพาะการก้าวสู่สงครามฤดูหนาวของคู่สงครามทั้งสอง

จุดพลิกของสงครามที่สำคัญเริ่มจากการที่กองทัพยูเครนสามารถเปิดการ “รุกกลับ” (counteroffensive) ได้อย่างรวดเร็ว โดยปฏิบัติการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้

ผลที่ตามมาทำให้ประธานาธิบดีปูตินต้องเร่งการผนวกดินแดนของยูเครนที่อยู่ภายใต้การยึดครองให้เป็นของรัสเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต้องถือว่าเป็นจุดสำคัญอีกส่วน

อีกทั้งยังตามมาด้วยการออกถ้อยแถลงว่าด้วยการระดมพลผ่านทางสถานีโทรทัศน์อย่างมีนัยสำคัญต่อสถานการณ์สงครามในยูเครน

ซึ่งการประกาศนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่เป็นสัญญาณของการ “ยกระดับสงคราม” อย่างชัดเจน และอาจต้องถือเป็นจุดสำคัญที่ต้องจับตามองในอนาคตอย่างมาก

 

ถ้อยแถลงของปูติน

ในท่ามกลางสงครามที่กองทัพรัสเซียเป็นฝ่ายถอยร่นในสนามรบที่ยูเครนนั้น ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีปูตินในวันพุธที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก และมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) การประกาศ “ระดมพลแบบบางส่วน” (partial mobilization) ด้วยการเตรียมนำทหารกองหนุนจำนวน 3 แสนนายเข้าสู่สงครามยูเครน และประธานาธิบดีปูตินกล่าวเน้นว่า การระดมพลนี้เกิดเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

2) การระดมพลจะไม่นำเอาคนเหล่านี้ไปรบในยูเครน ได้แก่ คนที่ไม่มีประสบการณ์การรบ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย คนทำงานในบางอาชีพ และทหารเกณฑ์ที่อยู่ในประจำการ (แต่หลายคนกังวลว่า ข้อยกเว้นบางประการอาจจะไม่เป็นจริง เพราะความขาดแคลนด้านกำลังพล และอาจจะไม่รวมถึงอำนาจในการเรียกพลของกระทรวงกลาโหมที่อาจเรียกเพิ่มเติมได้)

3) การระดมพลนี้มีความจำเป็น เนื่องจากประเทศตะวันตกกำลังรวมกำลังกันเพื่อทำลายรัสเซีย

4) กองทัพรัสเซียต้องการกำลังพลเพิ่มเพื่อป้องกันประเทศและประชาชนรัสเซียให้ปลอดภัย

5) ประกาศยืนยันว่า รัสเซียยังมีอาวุธเหลืออีกเป็นจำนวนมากที่จะทำสงครามได้ต่อไปอีกนาน (เท่าที่ผู้นำรัสเซียต้องการ)

6) การระดมพลเป็นไปเพื่อป้องกันบูรณภาพแห่งดินแดนและประชาชน โดยรัสเซียจะใช้ระบบอาวุธทุกอย่างที่มี ซึ่งมีความหมายรวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย

7) ประธานาธิบดีปูตินยืนยันว่า คำแถลงนี้ “ไม่ใช่การบลั๊ฟฟ์” (การขู่)

ถ้อยแถลงในข้างต้นถูกตีความโดยตรงจากฝ่ายตะวันตกว่า เป็นการประกาศ “ยกระดับสงคราม” อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้ง จนอาจถือได้ว่าเป็น “turning point” สำคัญของสงคราม

 

ประชามติที่น่าอับอาย

ในอีกด้านหนึ่งของสงคราม รัสเซียเดินหน้าด้วยการประกาศการทำประชามติในดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง 4 ส่วน คือ ลูฮานสค์ และโดเนตสค์ (ดินแดนทางภาคตะวันออก) เคอร์ซอน และซาปอริห์เซีย (ดินแดนทางภาคใต้) ซึ่งการให้ลงประชามติเช่นนี้เท่ากับเป็นการประกาศการผนวกดินแดนของยูเครนอย่างเป็นทางการ และจะสร้างภาพว่ารัสเซียเป็นผู้ครอบครองดินแดนนี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย มากกว่าจะอยู่กับยูเครน แต่สำหรับยูเครนและตะวันตกแล้ว สิ่งนี้เป็น “ประชามติที่น่าอับอาย”

ผลที่เกิดอีกส่วนในทางทหารคือ การผนวกดินแดนผ่านการลงประชามติจะช่วยป้องกันไม่ให้ยูเครนใช้กำลังทางทหารเข้ายึดดินแดนดังกล่าวคืนในอนาคต เพราะการกระทำเช่นนั้น อาจจะทำให้มอสโกสามารถตีความได้ว่า เป็นการบุกรุกต่อดินแดนของรัสเซียโดยตรง เนื่องจากดินแดนได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นของรัสเซียแล้วจากการลงประชามติที่เกิดขึ้น และจะมีสถานะเป็นหน่วยทางการเมืองใหม่ที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัสเซียอย่างสมบูรณ์ เช่น สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์-ลูฮานสค์

แต่ผนวกดินแดนในปัจจุบันอาจจะไม่ง่ายเช่นที่เมื่อครั้งที่ฝ่ายตะวันตกตั้งตัวไม่ติด อันเป็นผลจากการรุกเข้าควบคุมไครเมียอย่างรวดเร็วในปี 2014 ในขณะเดียวกันสถานการณ์การผนวกในปี 2022 แตกต่างออกไปอย่างมาก เพราะประชามติที่รัฐบาลมอสโกผลักดันนั้น เกิดขึ้นในภาวะสงคราม แต่ในปี 2014 ไม่ได้มีปัจจัยของสงครามใหญ่เช่นในปัจจุบัน

ฉะนั้น แม้จะสามารถจัดตั้งสาธารณรัฐใหม่ในดินแดนยึดครอง แต่รัสเซียจะถูกวิจารณ์จากโลกภายนอกมากขึ้น เว้นแต่จะได้การสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซีย แต่สาธารณรัฐเช่นนี้จะไม่ได้รับการรับรองจากฝ่ายตะวันตกอย่างแน่นอน

 

การระดมพล

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาเกิดจากความคาดหวังของประธานาธิบดีปูตินว่า สงครามจะสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วด้วยชัยชนะของรัสเซีย และยูเครนจะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซียในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่กลับไม่เป็นไปตามคาด ดังนั้น ถ้อยแถลงการระดมพลของประธานาธิบดีปูตินในวันพุธที่ 21 กันยายน จึงถูกตีความว่าเป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนถึงความล้มเหลวของ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของกองทัพรัสเซีย ขณะเดียวกันกองทัพยูเครนก็เริ่มเป็นฝ่ายรุกบ้าง

ฉะนั้น การ “รุกกลับ” อย่างรวดเร็วของกองทัพยูเครน ส่งผลให้กองทัพรัสเซียบางส่วนต้องเป็นฝ่ายถอยร่นอย่างคาดไม่ถึง จนกำลังบางส่วนต้องกลับเข้าสู่ดินแดนของรัสเซีย

และการถอยเช่นนี้ทำให้ชาวยูเครนที่ให้ความร่วมมือกับกองทัพรัสเซียต้องหนีตามไปด้วย พร้อมกับเกิดความกังวลอย่างมากว่า กองทัพยูเครนจะเปิดการโจมตีเมืองของรัสเซียที่อยู่ตามแนวพรมแดนหรือไม่

แต่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพยูเครนเองก็หลีกเลี่ยงอย่างมากที่จะไม่ขยายสงครามเข้าไปสู่ดินแดนของรัสเซีย ซึ่งจะกลายเป็นการ “ยั่วยุ” ให้ผู้นำรัสเซียใช้เป็นข้ออ้างในการเปิดการโจมตีใหญ่ได้

แม้กระทั่งสหรัฐที่ให้ความช่วยเหลือด้วยอาวุธยิงระยะไกล เช่น ระบบจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) ก็พยายามจำกัดไม่ให้การใช้อาวุธยิงระยะไกลของยูเครนทำลายเป้าหมายที่อยู่ในดินแดนของรัสเซีย เป็นต้น

หากมองผ่านมติการเมืองภายในของรัสเซีย การแถลงทางสถานีโทรทัศน์ของประธานาธิบดีปูติน เป็นความพยายามที่จะสื่อสารกับประชาชนรัสเซียว่า เขามีความจำเป็นที่ต้องประกาศการระดมพล ซึ่งกองทัพรัสเซียมีกำลังพลสำรองมากถึง 2 ล้านนายเป็นอำนาจกำลังรบอยู่แต่เดิมแล้ว

ดังนั้น การขอนำกำลังสำรอง 3 แสนนายมาใช้ภารกิจดังกล่าว จึงเป็นความจำเป็นในการป้องกันประเทศจากการคุกคามของตะวันตก และการคุกคามนี้กระทำผ่านยูเครน

แต่สื่อภาษารัสเซียที่อยู่นอกประเทศและประชาชนรัสเซียที่มองต่างเชื่อว่า จำนวนการระดมพลในอนาคตอาจจะมากกว่าตัวเลขดังกล่าว และอาจจะมากถึง 1 ล้านนาย

อย่างไรก็ตาม การสื่อสารครั้งนี้ทำให้เห็นมุมมองของปูตินที่พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายสงครามในยูเครน ด้วยชุดของคำอธิบายว่า โลกตะวันตกใช้สงครามยูเครนเป็นเครื่องมือเพื่อ “ทำลายรัสเซีย” ประธานาธิบดีปูตินจึงต้องแสดงบทบาทให้ประชาชนเห็นว่า เขาคือ “ผู้ปกป้องรัสเซีย” อย่างแท้จริง และเพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านภายในสังคมมาก จึงประกาศให้เป็นการระดมพลแบบ “ไม่เต็มรูป” โดยดำเนินการกับกำลังพลสำรอง เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์ทางทหารโดยตรง อีกทั้งพยายามสื่อสารในอีกด้านว่า การดำเนินการครั้งนี้ไม่ใช่การระดมพลแบบเต็มรูปแต่อย่างใด แต่ผู้คนสังคมรัสเซียดูจะไม่เชื่อเช่นนั้น มีการประท้วงและการต่อต้านการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในหลายเมืองของรัสเซีย และมีผู้ประท้วงถูกจับกุมเป็นจำนวนมากกว่า 1,300 คน (ตัวเลขในช่วงสุดสัปดาห์แรกหลังคำประกาศระดมพล)

ผลที่เกิดในทางการเมือง ทำให้การต่อต้านการระดมพลกลายเป็น “กระแสต่อต้านรัฐบาล” ที่ท้าทายประธานาธิบดีปูตินเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณสำหรับสังคมรัสเซียว่า “สงครามได้มาถึงบ้านแล้ว” (“the war had come home”) ขณะเดียวกันเราเริ่มเห็นมากขึ้นถึงการที่ชาวรัสเซียกล้าที่จะออกมาประท้วงบนถนนอย่างเปิดเผย ซึ่งมีความเสี่ยงโดยตรงในการถูกจับกุม

หากเราพิจารณาถึงกระบวนการระดมพลของรัสเซีย เราจะพบว่าในวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน ซึ่งเป็นวันแรกหลังประกาศการระดมพล คำสั่งเรียกกำลังพลจะถูกส่งออกถึงบุคคลเป้าหมายในเวลาเที่ยงคืน และครูในโรงเรียนต่างๆ จะพิมพ์คำสั่งนี้ออกแจกจ่าย

ชายที่ถูกเรียกระดมพลจะมีเวลาไม่มากนักที่จะกลับไปเก็บของที่บ้าน และเดินทางไปรายงานตัวที่ศูนย์สัสดี พร้อมทั้งร่ำลาครอบครัว ก่อนที่จะถูกส่งไปยังหน่วยทหาร เพื่อทำการฝึกและเตรียมตัวเดินทางเข้าสู่สนามรบในยูเครน

ดังนั้น ผลที่ตามมาจึงทำให้เกิด “สองภาพของความขัดแย้ง” กล่าวคือ ชายส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกำลังพลสำรองยอมรับหมายเกณฑ์ แต่ชายอีกส่วนหนึ่งตัดสินใจที่จะหนีหมายเกณฑ์และเดินทางออกจากรัสเซีย

 

ภาพสะท้อนอนาคต

ภาพสะท้อนหนึ่งที่สำคัญของการประกาศการระดมพลพลคือ คนหนุ่มที่อายุอยู่ในวัยเกณฑ์ทหารพยายามเดินทางออกนอกประเทศ ทั้งทางบกและทางอากาศ เพื่อไปยังประเทศที่ชาวรัสเซียไม่ต้องขอวีซ่าเข้าเมือง พวกเขามองว่าหลังจากประกาศ “ระดมพลแบบบางส่วน” แล้ว อาจจะตามมาด้วยการ “ระดมพลแบบเต็มรูป” ในทางทหาร พวกเขาจึงรีบตัดสินใจ “หนีหมายเกณฑ์” ก่อนที่การระดมพลใหญ่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะข่าวสารการสูญเสียและความเสียหายของกองทัพรัสเซียไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลปูตินจะปิดบังได้ทั้งหมดในสังคม การประกาศระดมพลจึงเป็นจุดสำคัญที่กระตุ้นความขัดแย้งภายในรัสเซียด้วย

การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในหลายเมืองและความพยายามของคนหนุ่มที่เดินทางออกนอกประเทศจึงเป็นสองภาพสะท้อนสำคัญที่บ่งบอกถึง “กระแสความไม่พอใจ” ที่ก่อตัวมากขึ้นภายในสังคมรัสเซียเอง

แม้รัฐบาลอาจจะควบคุมข่าวสารภายในได้ แต่ความสูญเสียของกองทัพรัสเซียในยูเครนไม่ใช่สิ่งที่ปกปิดได้ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากไปตายกับ “สงครามของปูติน” ในยูเครน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากอีกส่วนคือ รัฐบาลมอสโกจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อทดแทนต่อการถอยร่นทางทหารของรัสเซียในยูเครนหรือไม่ เพราะถ้อยแถลงนี้มีนัยถึงอาวุธนิวเคลียร์ของผู้นำรัสเซีย ทำให้คนเป็นจำนวนมากกลัวปัญหา “หายนะสงครามนิวเคลียร์”

ในท้ายที่สุด เราอาจสรุปได้ว่าถ้อยแถลงของประธานาธิบดีปูตินคือ การยืนยันว่าสงครามยกระดับแล้ว และสงครามอาจจะยาวกว่าที่เราคาดคิดนั่นเอง!