จับสัญญาณ ‘พปชร.’ ระส่ำ ส.ส.หาทางชิ่ง-หวังได้ไปต่อ

สถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในช่วงนับถอยหลังที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะครบเทอม 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ไม่สดใสนัก

บรรดานักเลือกตั้ง ทั้ง ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค พปชร. โดยเฉพาะบรรดา ส.ส.เขต ของพรรค พปชร. ต่างรับรู้ถึงสัญญาณและกระแสของพรรค พปชร.ในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี และถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทางการเมืองว่าจะไปต่อกับพรรค พปชร. หรือหาพรรคใหม่สังกัดกับเป้าหมายในการได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ครั้งหน้า

จากสถานการณ์ของพรรค พปชร.ล่าสุด คาดว่ามี ส.ส.หลายคนเตรียมตัดสินใจย้ายพรรค โดยจะแบ่งเป็น 2 ล็อต

ล็อตแรก ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายนเป็นต้นไป เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 อีกทั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 105 มีข้อยกเว้นเปิดช่องไว้ให้ว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องมีเลือกตั้งซ่อม เปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายไปอยู่สังกัดพรรคใหม่ได้

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน จำนวน 29 คน ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ จ.บุรีรัมย์ ในงานวันเกิดครบรอบ 64 ปี ของ “เนวิน ชิดชอบ” ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฐานะครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ในจำนวน ส.ส. 29 คน เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 8 คน คือ 1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 2.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 3.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 4.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 5.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 6.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 7.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 8.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี

ขณะที่การย้ายพรรค ล็อตที่ 2 คือ วันที่ 24 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป เพราะอยู่ในช่วงนับถอยหลัง 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร ที่กฎหมายกำหนดให้คนที่จะลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) และเว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าว จะลดลงเหลือ 30 วัน

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ในส่วนของ ส.ส.พรรค พปชร.พบว่าเกิดการไหลออกของ ส.ส.จากสาเหตุสภาพความขัดแย้งร้าวลึกภายในพรรคที่สั่งสมมานาน 1-2 ปี โดยเฉพาะคนใกล้ชิดของผู้มีอำนาจในพรรค จากปรากฏการณ์ “บริวารเป็นพิษ” จนไม่สามารถประสานรอยร้าวที่ลึกได้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ ส.ส.พรรค พปชร.เกิดอาการระส่ำ จนต้องหาพรรคใหม่สังกัดเพื่อเตรียมความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากกระแสพรรค พปชร.อยู่ในช่วงขาลง ฟื้นเรตติ้งยังไม่ขึ้น ประกอบกับปัจจัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รอดพ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบ 8 ปี หากจะเป็นนายกฯ ต่อจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ถึงปี 2568

เข้าใจกันง่ายๆ คือ หากพรรคการเมืองใด จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งสมัยหน้า ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป หากเป็นไปตามปฏิทินการเลือกตั้งของ กกต. คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการโหวตคัดเลือกเป็นนายกฯ อีกสมัย จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เพียงแค่ 2 ปี ตามเงื่อนไขของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560

ส่งผลต่อเงื่อนไขการหาเสียงของพรรค พปชร.หากจะชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ซึ่งจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้เพียงแค่ 2 ปี

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ทําให้ ส.ส.ของพรรค พปชร. ทั้งกลุ่ม กทม. ส่วนหนึ่งจะย้ายพรรคออกไปกับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ ส.ส.กทม. อาทิ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ประธาน ส.ส.กทม. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. รวมถึงบรรดาอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรค พปชร.จะย้ายตามอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งมีการพูดคุยกันไปในระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ พรรค พปชร.อีก 6 คน 1.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก 2.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 3.น.ส.ภริม พูลเจริญ 4.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร 5.นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และ 6.นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แสดงความชัดเจนในการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงมีปัญหาความไม่ลงรอยกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค ในเรื่องการจัดตัวลงผู้สมัคร ส.ส.ทั้งในระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่นยังสงบนิ่ง และมีโอกาสย้ายพรรคค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ นายสุชาติยังมีปัญหากับ นายสนธยา คุณปลื้ม ด้วย ซึ่ง ส.ส.พรรค พปชร. สังกัดกลุ่ม “คุณปลื้ม” ก็จะไม่ไปต่อกับพรรค พปชร.อีกด้วย และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะกลับไปฟื้นพรรคพลังชล ลงสู้ศึกการเลือกตั้งครั้งหน้า

เช่นเดียวกับ “กลุ่มพ่อมดดำ” นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ก็จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย (พท.) ดูแลพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับตระกูล “ฉายแสง”

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ที่มี ส.ส.สังกัดกลุ่มสามมิตรไม่ต่ำกว่า 20 คน แม้จะออกมาสยบข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า ยังไม่คิดจะย้ายพรรคตามกระแสข่าวที่เกิดขึ้น พร้อมกับยืนยันว่า กลุ่มสามมิตร ยังไม่คิดไปไหนและยังอยู่กับพรรค พปชร.

ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี ในปี 2568 จะทำให้อยู่ในการเมืองได้อีก 2 ปี จะเป็นปัญหาหรือไม่ในการจะนำสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้านั้น ยังมองว่า ไม่มีปัญหา และ 2 ปีสามารถไปต่อได้ ขณะที่พรรค พปชร.จะมีแคนดิเดตนายกฯ ครบทั้ง 3 คนเลยหรือไม่นั้น จะต้องพูดคุยกันภายในพรรคอีกครั้งหนึ่ง

แน่นอนระดับมังกรทางการเมืองอย่าง “สมศักดิ์” แกนนำกลุ่มสามมิตร การจะตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง ย่อมต้องมี “จังหวะ” และ “ไทมิ่ง” ที่เหมาะสม

เพื่อไปสู่เป้าหมาย “ได้” มากกว่า “เสีย” ในทางการเมือง

สถานะของพรรค พปชร. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะได้ไปต่อ หรือเป็นแค่พรรคเฉพาะกิจ ผลการเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชน จะเป็นตัวชี้ขาด