‘วลาดิมีร์ ปูติน’ กับ เพาเวอร์เพลย์ที่เครมลิน

บทความต่างประเทศ

 

‘วลาดิมีร์ ปูติน’ กับ

เพาเวอร์เพลย์ที่เครมลิน

 

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกิดขึ้นในมอสโกในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อบรรดา “คนวงใน” พระราชวังเครมลิน พากันออกมาตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งกันและกัน

ลามปามไปถึงการวิจารณ์บรรดานายทหารระดับผู้บัญชาการทั้งหลาย ซึ่งรับผิดชอบการศึกในยูเครน ที่ทหารรัสเซียกำลังขวัญหนีดีฝ่อ ล่าถอยแล้วถอยอีก พ่ายแพ้อย่างน่าขายหน้าหลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังไร้ประสิทธิภาพในการระดมพลกำลังสำรอง ที่กลายเป็นความเคลื่อนไหวของทางการที่ถูกชิงชังมากที่สุดในระยะหลัง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงปรากฏออกมาสู่ภายนอกเท่านั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งหลายกระทั่งยังเริ่มหาแนวทาง หรือกระทั่งวางแผนเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์ “รัสเซียที่ไม่มีวลาดิมีร์ ปูติน” กันแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ถูกจับตามองอย่าง “รัมซาน คาดิรอฟ” ผู้นำแคว้นเชเชน กับ “เยฟเกนี พรีโกซิน” ผู้บัญชาการกองกำลังกึ่งทหารของรัสเซีย

มิคาอิล คาซิยานอฟ อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซียในช่วงระหว่างปี 2000-2004 ที่ปัจจุบันนี้ลี้ภัยอยู่นอกรัสเซีย ถึงกับให้สัมภาษณ์เป็นเชิงคาดการณ์กับสกาย นิวส์ เมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมา ฟันธงอย่างมั่นใจว่า การสูญเสียการกุมอำนาจของปูติน จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน

“ภายในระยะเวลาเพียง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ ผมเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นในมอสโก”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านปูตินคนอื่นๆ ยังไม่แน่ใจถึงขนาดชี้ชัดในแบบเดียวกันได้ แม้จะยอมรับว่าเห็นพ้องด้วยกับการออกมากล่าวหาซึ่งกันและกัน รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพและกระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

หลายคนเชื่อว่าผลของสงครามยูเครน จะเป็นตัวชี้ชัดว่า จุดจบของ “ซาร์แห่งรัสเซียยุคใหม่” จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด มิคาอิล โคดอร์คอฟสกี ฝ่ายค้านรัสเซียลี้ภัยและผู้วิพากษ์วิจารณ์ปูตินคนสำคัญก็เชื่อเช่นนั้นเช่นเดียวกัน

โคดอร์คอฟสกีชี้ว่า การที่คนใกล้ชิดปูตินมากๆ อย่างคาดิรอฟ และพรีโกซิน ออกมาตำหนิ วิจารณ์ โจมตีบรรดานายพลทหารรัสเซียอย่างเปิดเผย คาดิรอฟยังอาศัยโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้ “ใช้ยาแรง” กับยูเครนให้มากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการถล่มด้วยขีปนาวุธให้ยอมจำนน หรือแม้แต่การใช้ “นิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” เพื่อชนะสงครามนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

โคดอร์คอฟสกีตั้งข้อสงสัยว่า คนทั้งสองกำลัง “เล่นเกมสองหน้า” ทางหนึ่งยังทำเสมือนภักดี “วันนี้ พรีโกซินยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของปูติน แต่ในเวลาเดียวกันก็กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตเมื่อไม่มีปูตินแล้วเช่นเดียวกัน” โดยการสานสัมพันธ์แนบแน่นยิ่งขึ้นกับคาดิรอฟด้วยการออกมาสนับสนุนวิธีใช้ “ยาแรง” ดังกล่าว

เขาเชื่อว่า การที่จู่ๆ พรีโกซินก็ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ตนคือผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บัญชาการ “กลุ่มวากเนอร์” กลุ่มนักรบรับจ้างกึ่งทหารที่เคยสร้างผลงานอำมหิต ไร้มนุษยธรรมไว้ทั่ว ทั้งในแอฟริกา, ซีเรีย และล่าสุดคือในยูเครน ส่อเจตนาชัดว่าคำนึงถึงอนาคตของตนเองหลังไม่มีปูติน เพราะเป็นความพยายามแสดงให้เห็นว่า ตนมี “ผลงาน” จนเหมาะสมต่อการได้รับการพิจารณาให้ควบคุมกองทัพในอนาคต

นักวิเคราะห์ทั้งที่เป็นกลุ่มชาวรัสเซียลี้ภัยและชาวตะวันตก ตั้งข้อสังเกตไว้เหมือนกันอีกด้วยว่า คนทั้งสองไม่เคยตำหนิติติงปูตินโดยตรง แต่ใช้วิธีโจมตีนายทหาร หรือไม่ก็กระทรวงกลาโหม เพื่อเบี่ยงเบนเสียงตำหนิเกรี้ยวกราดออกจากตัวปูตินไปในตัวในเวลาเดียวกัน

กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในที่สาธารณะมากขึ้นรวมไปถึงคนอย่างอเล็กเซย์ ดียูมิน ผู้ว่าการจังหวัดทูลา ที่ได้ชื่อว่าเป็นดาวรุ่งทางการเมือง กับดมิทรี มิโรนอฟ อดีตผู้นำแคว้นยาโรสลาฟ โดยเว็บไซต์เมดูซา ชี้ว่าทั้งสองให้การสนับสนุนคาดิรอฟกับพรีโกซินอยู่อย่างลับๆ

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีคนอย่างดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น “คู่ใจของปูติน” ที่จู่ๆ ก็ออกมาโจมตีนาโตอย่างรุนแรง, วียาเชสสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา และรองประธานเสนาธิการทหารอย่างเซอร์เก คิรีเยนโก ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วครั้งหนึ่งอีกด้วย

แอนเดรย์ เพอร์ตเซฟ ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซียตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นอย่างลับๆ การเปิดตัวออกมาเพื่อ “สร้างภาพ” กันในลักษณะนี้ไม่เคยมีมาก่อน

ที่เหลือที่ยัง “ซุ่มเงียบ” กำหนดแผนในอนาคตของตนเองอยู่ในเวลานี้ มีอาทิ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง เอฟเอสบี (เคจีบีเดิม) อย่างอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ, ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความปลอดภัยภายในดินแดนหรือ “ซิลอฟวิกกี” อย่างวิกเตอร์ โซโลตอฟ ซึ่งคุมกำลังพลหลายแสนนาย รวมทั้งหน่วยพิเศษของสำนักงานตำรวจและหน่วยปฏิบัติการตอบโต้เร็วที่เป็นหัวกะทิของประเทศอีกด้วย

โคดอร์คอฟสกีแบ่งกลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งหนุนสงครามยูเครน อีกกลุ่มแยกตัวเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เขาเชื่อว่า ถ้าหากการทำศึกในยูเครนมีปัญหามากยิ่งขึ้น ทั้งสองกลุ่มอาจรวมกันเฉพาะกิจกดดันให้ปูตินลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจจะเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย

สถานการณ์ภายในรัสเซียน่าจับตามองมากขึ้นตามลำดับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปีที่ฝ่ายต่อต้านรู้สึกว่า คนที่เคยอยู่ในฐานะ “ไม่มีใครทำอะไรได้” มีโอกาสถูกโค่นล้มมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา