นิ้วกลม : รีบเที่ยวก่อนถูกรื้อ

1.
มอเตอร์ไซค์คันนั้นเลี้ยวผ่านซุ้มประตูที่มีป้าย “ทางเข้าพิพิธภัณฑ์” เข้ามาในชุมชน คุณพ่อซึ่งพาครอบครัวซ้อนมอเตอร์ไซค์ทักทายชาวบ้านว่า “มาเที่ยวครับ นี่รีบมาเลยนะ เห็นเขาว่าจะรื้อทิ้งแล้วนี่” ว่าแล้วก็หาที่จอดรถแล้วพาภรรยาและลูกเดินชม “พิพิธภัณฑ์”

เหนือซุ้มประตูทางเข้าเป็นกำแพงใหญ่สีขาวทอดตัวยาวไปถึงป้อมมหากาฬ-ป้อมปราการแปดเหลี่ยมที่สร้างขึ้นตามแนวกำแพงพระนครเลียบคลองคูเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2326 ป้อมสีขาวที่เรามองเห็นเด่นเป็นสง่าเมื่อเคลื่อนผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้ๆ โลหะปราสาทนั่นล่ะ

ทั้งชีวิต ผมนั่งรถผ่านป้อมและกำแพงเมืองแห่งนี้เป็นร้อยรอบ แต่ไม่เคยใส่ใจว่าหลังกำแพงสีขาวสูงใหญ่นั้นมี “ชีวิต” ของชาวบ้านที่อยู่กินกันมาเนิ่นนาน ทั้งยังมีอดีตที่น่าสนใจให้เรียนรู้มากมาย อาจเพราะกำแพงเมืองนั้นสูง หรืออาจเพราะวิถีชีวิตของผมกับลุงป้าน้าอาที่อยู่อาศัยในอีกด้านหนึ่งของกำแพงไม่ค่อยเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เราจึงมองไม่เห็นกันและไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน

ผมเริ่มสนใจเรื่องราวข้างหลังกำแพงสีขาวมากขึ้นเมื่อได้ยินข่าวสารมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากสื่อต่างๆ และเพื่อนพี่น้องที่เล่าให้ฟังว่าวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬนั้นน่าสนใจ ห้อยท้ายมาด้วยปัญหาที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า-บ้านเหล่านี้กำลังจะถูกรื้อ

 

2.
กรุงเทพมหานครเติบโตและพัฒนาไปตามวันเวลา สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเสียจนถ้านำรูปเก่าๆ มาวางเทียบกันคงต้องบอกว่าจำแทบไม่ได้ แต่เราสามารถนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปยังอดีตได้เมื่อมองเห็นร่องรอยบางอย่าง

ตัวป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองก็สามารถบอกเรื่องราวว่าครั้งหนึ่งเคยมีป้อมที่ใช้รักษาพระนคร สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่หนึ่ง ด้านในกำแพงเมืองเป็นเขตของวัดวัง ส่วนด้านนอกกำแพงก็จะมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนกันอยู่โดยรอบ

เมื่อมองจากสิ่งที่หลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ เราแทบนึกภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่ออกว่าในอดีตชาวบ้านอยู่กันยังไง บ้านยุคเก่ามีหน้าตาแบบไหน พวกเขาประกอบอาชีพอะไรกัน

แต่แท้ที่จริงแล้วกรุงเทพฯ ยังพอจะมี “ไทม์แมชชีน” ให้เราย้อนเวลากลับไปเป็นร้อยปีเพื่อเจาะเวลาหาอดีตว่าวิถีชีวิตของชาวเมืองนั้นเคยเป็นอย่างไรมาก่อน

ไทม์แมชชีนที่ว่านั้นคือชุมชนโบราณหลังกำแพงสีขาวสูงใหญ่ที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น

ตามแนวกำแพงสมัยโบราณมีพื้นที่ชานกำแพงคือพื้นที่ยื่นจากกำแพงเมืองลงสู่ลำคลองคูเมือง เป็นพื้นที่ให้เรือแพจอดเป็นท่าเรือ และผู้คนมาปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่รอบตัวเมือง

ชุมชนป้อมมหากาฬก็เริ่มต้นมาจากชุมชนลักษณะนั้น ที่นี่เคยเป็นท่าเรือสำคัญสำหรับชาวบ้าน ขุนนาง และเจ้านายที่เดินทางมาตามลำคลอง บ้านเรือนแถวนี้จึงมีความหลากหลาย เมื่อวันเวลาผ่านไปพื้นที่นี้ก็ค่อยๆ สะสมประวัติศาสตร์ของเมืองไปตามความเปลี่ยนแปลง

ระหว่างเดินเล่นอยู่ในชุมชน พี่ชายคนหนึ่งก็อาสามาพาทัวร์แล้วอธิบายให้ฟังว่าบ้านแต่ละหลังสำคัญอย่างไร

หากเดินผ่านไปเฉยๆ เราคงไม่สนใจและเห็นว่าเป็นบ้านไม้ธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้วบ้านไม้เหล่านั้นมีเรื่องราวมากมายที่บันทึกไว้ในรายละเอียด

ตั้งแต่เรือนไม้ยกใต้ถุนสูงที่บอกเล่าวิถีชีวิตสมัยรัตนโกสินทร์ว่าผู้คนแต่ก่อนสร้างบ้านเป็นไปตามลักษณะของธรรมชาติ คือเมื่อถึงฤดูน้ำท่วมก็สามารถอยู่กับน้ำท่วมได้

บ้านตำรวจวังที่บอกเล่าประวัติว่าในสมัยรัชกาลที่ห้าได้โปรดเกล้าพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้ข้าราชบริพาร ตำรวจวัง ต่อมาจึงมีราษฎรเข้ามาปลูกสร้างบ้านอีกเป็นจำนวนมาก

บ้านตำรวจวังหลังหนึ่งยังคงตั้งเด่นให้เห็นและเดินเข้าไปสัมผัสรายละเอียด มากกว่านั้น-ยังเป็นบ้านที่มีคนอาศัยอยู่

บ้านหลังนี้เป็นเรือนขนมปังขิง หลังคาปั้นหยา ประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายสวยงามเป็นช่องลมเหนือหน้าต่าง เป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในช่วงรัชกาลที่สี่เป็นต้นมา ทั้งหมดนี้ยังมีให้เห็นในวันนี้

นอกจากนี้ ยังมีบ้านเรือนไทยดั้งเดิมของหมื่นศักดิ์แสนยากรที่มีหน้าจั่วแบบจั่วใบเรือ จั่วลูกฟัก ฝาเป็นฝาลูกฟังตามมาตรฐานเรือนไทยเดิมภาคกลาง มีบ้านอายุร้อยปีหลายหลังซึ่งมีประวัติที่น่าสนใจ

อย่างบ้านขายน้ำประปา ซึ่งบอกเล่าประวัติให้เราฟังได้ว่า เดิมคนในบ้านหลังนี้เป็นผู้นำน้ำประปาจากศูนย์กลางการจ่ายน้ำแม้นศรีมาขายเพื่อนบ้านในชุมชน พ.ศ.2475 มีการต่อท่อเหล็กฝังไปตามถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ติดตั้งก๊อกสาธารณะ คนในบ้านนี้จะนำปี๊บมารองน้ำประปาแล้วหาบขายให้บ้านต่างๆ ในชุมชน ราคาหาบละ 5 สตางค์ไปจนถึง 25 สตางค์

นอกจากนี้ ยังมีบ้านที่ทำอาชีพหลอมทองสืบทอดกันมาสามชั่วอายุคน มีบ้านทำเครื่องดนตรีไทยในสมัยรัชกาลที่หก มีประวัติศาสตร์อีกมากมายใน “บ้าน” เหล่านี้

“บ้าน” ในชุมชนป้อมมหากาฬจึงมิใช่แค่สิ่งปลูกสร้างแห้งๆ ไร้ความหมาย แต่มันคือบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนลงบนพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ที่เราสามารถเดินเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ในบันทึกนั้น มิใช่เพียงแค่อ่านจากตัวหนังสือแล้วต้องใช้จินตนาการนึกย้อนกลับไป

แต่ที่มากไปกว่านั้น “บ้าน” เหล่านี้ยังมี “ชีวิต” อยู่ในนั้นด้วย

 

3.
ผมเดินสวนกับพี่ชายคนหนึ่ง เจ้าของทรงผมย้อนยุค จะว่าพี่เขาตัดทรงไทยโบราณก็ได้ แต่ครั้นจะบอกว่าตัดผมเหมือนฮิปสเตอร์ในยุคปัจจุบันก็ใกล้เคียง พี่ชายท่าทีเป็นมิตรเดินยิ้มมาแต่ไกลแล้วเอ่ยปากว่า “ไปเที่ยวบ้านผมไหม” แหม ดูจากรูปร่างหน้าตาการแต่งกายยังฮิปขนาดนี้ พี่เรียกไปชมบ้านจะไม่ไปได้ยังไง

ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าพี่ชายคนนี้คือ พี่ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ทันทีที่เดินผ่านประตูบ้านเข้าไป ผมรู้สึกราวกับเดินทางย้อนกาลเวลาหรือไม่ก็หลุดเข้าไปอยู่ในภาพยนตร์ย้อนยุค

บ้านพี่เขาขรึมขลังด้วยบรรยากาศและของประดับตกแต่งซึ่งแขวนติดไว้เต็มข้างฝา

เจ้าของหนวดงามชี้ให้ดูรูปบรรพบุรุษ พร้อมกับบอกว่าตระกูลของเขาใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้มาหกชั่วคนแล้ว

ตัวบ้านเองมีอายุ 111 ปี หลังจากนั้นพี่ชายก็พาพวกเราย้อนยุคไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตั้งแต่ตอนที่เขายังอายุห้าขวบ บ้านหลังนี้เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีไทย กลอง ระนาด ทั้งหลายที่ขับกล่อมท่วงทำนองไพเราะในยุคนั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในบ้านหลังนี้

แกค่อยๆ วาดภาพให้เราเห็นว่าในอดีตนั้นชีวิตในบ้านหลังนี้เป็นอย่างไร คุณปู่จะนั่งตรงนี้ ส่วนคุณย่านั้นต้องคลานเข่าเข้าเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟอาหาร เสร็จแล้วก็ต้องกลับไปอยู่หลังบ้าน เพราะแต่ก่อนผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกหน้าออกตาอยู่ในบริเวณหน้าบ้าน

พี่ชายใจดีเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานเหมือนเรากำลังชมเดี่ยวไมโครโฟนเล่าอดีต แกหยิบอุปกรณ์เก่าแก่หลายชนิดขึ้นมาประกอบการเล่าเรื่องอย่างเมามัน มือไม้ก็ชี้นิ้วชวนเรานึกภาพว่าเคยเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านหลังนี้

รักสีดำที่เคยป้ายหน้ากลองอยู่ตรงไหน แผ่นหนังที่เคยหมักก่อนที่จะถูกตัดเพื่อนำมาทำกลองเคยหมักกันไว้ตรงไหน ต้องตัดอย่างไร เหมือนนักมายากลเสกภาพอดีตให้ปรากฏขึ้นตรงหน้าเรา

การเล่าเรื่องแบบนี้สนุกและได้อรรถรสอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเล่าเรื่องจากคนเก่าตัวจริงในสถานที่จริง เสกบ้านเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวหลังนั้นให้กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ยังมีเรื่องเล่าเช่นนี้ในบ้านอีกหลายหลัง มีชาวบ้านหลายคนที่เป็นเหมือนแหล่งข้อมูลของกาลเวลา ผมได้พบคุณป้าอายุแปดสิบปี แกเกิดที่นี่และน่าจะสะสมเรื่องราวในอดีตไว้มากมาย

หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ผมค่อยๆ เข้าใจคำว่า “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” มากขึ้นเรื่อยๆ

 

4.
อย่างที่บอกไปครับว่า “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” แห่งนี้กำลังจะถูกรื้อ เรื่องราวสลับซับซ้อนยิ่งนัก เพราะมีการวางแผนพัฒนา เจรจา ต่อรอง และดำเนินการไปหลายขั้นตอน เข้าใจว่าทางกรุงเทพมหานครมีเจตนาดี ต้องการพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นสวนสาธารณะสวยงาม ล่าสุดดูเหมือนจะเปลี่ยนจากการรื้อบ้านทั้งหมด เป็นการเก็บบ้านบางส่วนไว้ แต่กระนั้นก็ยังคงยืนยันที่จะให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องออกไปจากพื้นที่

ขณะนี้ข้อเสนอของทางชาวบ้านในชุมชนคือ ปันที่ดินจากทั้งหมด 4 ไร่ มา 1 ไร่ เพื่อเก็บรักษาบ้านเรือน ส่วนที่เหลือสร้างเป็นสวนสาธารณะ

ตามกฎหมายแล้วชาวบ้านไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน แต่ชาวบ้านมีข้อเสนอว่าขออยู่อาศัยโดยรับหน้าที่เป็นลูกจ้างของรัฐเพื่อดูแลบ้านเหล่านี้ โดยไม่มีกรรมสิทธิ์ พร้อมทั้งยินดีทำหน้าที่คล้ายเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เพื่ออธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้กับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชม เพื่อให้ชุมชนป้อมมหากาฬเป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” มิใช่เพียงสถาปัตยกรรมแห้งๆ ที่ถูกสตาฟฟ์ไว้โดยไม่มีผู้คนที่รู้สึกผูกพันกับบ้านมาเล่าเรื่อง

เสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้คือชีวิตความเป็นอยู่ที่สืบเนื่องมายาวนาน อดีตของที่นี่จึงมิใช่แค่พื้นที่และสถาปัตยกรรม หากเป็นวิถีชีวิต เรื่องราว และผู้คนที่ยังคงมีลมหายใจ

ว่ากันว่า ชุมชนป้อมมหากาฬอาจเป็นชุมชนโบราณแห่งสุดท้ายที่จะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การพัฒนาเมืองที่มุ่งเน้นความทันสมัยและความสวยงามแบบสมัยใหม่ได้เผลอทำลายอดีตอันทรงคุณค่ามากมายแล้ว เวลาที่เราไปเที่ยวต่างประเทศ เรามักนึกอิจฉาที่พวกเขาสามารถเก็บรักษาอดีตอันมีค่าไว้ได้มากมาย ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะตื่นตัวในเรื่องนี้ รวมถึงการพัฒนาที่มองความเจริญและภาพสวยงามโดยมองข้าม “ชีวิต” ของคนตัวเล็กตัวน้อย

หากบ้านโบราณและวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งนี้ต้องถูกรื้อทำลาย คนที่เสียหายไม่ใช่เพียงแค่ชาวบ้านชุมชน แต่คือสังคมทั้งสังคมที่ต้องสูญเสียมรดกอันทรงคุณค่า สูญเสียบันทึกประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง

เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีทางออกที่ดีกว่าการไล่และรื้อ

เราสามารถเก็บรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้เป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาเที่ยวชมเพื่อเรียนรู้อดีตอันน่าสนใจได้หรือไม่

ผู้คนในสังคมอาจต้องส่งเสียงความต้องการว่าคิดเห็นเช่นไร

รีบมาเที่ยวก่อนที่จะถูกรื้อ

เพราะอดีตที่ถูกทำลายย่อมไม่มีวันเรียกคืนกลับมาได้อีก