กกร.ปลุกเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย เล็งใช้ประชุมเอเปคโชว์ภาพ ดึงการลงทุนกลับไทย | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

กกร.ปลุกเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย

เล็งใช้ประชุมเอเปคโชว์ภาพ

ดึงการลงทุนกลับไทย

 

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) หรือ APEC 2022 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 1 เดือนข้างหน้า

เป็นเวทีที่ไทยสามารถใช้สร้างโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ด้วยจำนวนสมาชิกเอเปคทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจตอบรับเข้าร่วม จะทำให้ความร่วมมือนี้ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก

ทั้งยังเป็นตลาดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDPรวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

นี่จึงนับเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เพราะเพียงแค่จำนวนเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมครั้งนี้ ก็เป็นหลักหมื่นคนแล้ว

 

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้ง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 “ปรับเพิ่ม” อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจาก 2.75-3.0% เป็น 3.0-3.5% ทั้งยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 4% จากการฟื้นตัวของรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่มีโอกาสที่ไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาได้เพิ่มขึ้น จาก 10 ล้านคนในปีนี้ เป็น 20 ล้านคนในปีหน้า

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า สาเหตุที่ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 จากเครื่องยนต์ตัวที่สองคือ “ภาคท่องเที่ยว” หลังจากไทยเปิดประเทศเต็มที่ นักท่องเที่ยวก็มีการเดินทางเข้ามาเกินเป้า แต่เดิมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีประมาณ 6 ล้านคน แต่พอเปิดประเทศเข้ามาก็มีสัญญาณที่ดี

ดังนั้น จึงปรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก 6 ล้านคน เป็น 9-10 ล้านคน โดยเฉพาะใน 3 เดือนสุดท้ายน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 2 ล้านคน “ก็จะเกินเป้าหมาย” ส่วนในปี 2566 ประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้นมากถึง 20 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ของประเทศดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งเสียงสะท้อนภาคเอกชนแสดงความกังวลถึงอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยจากข้อมูลสถาบัน IMD ที่ปรับลดอันดับไทยในปี 2565 ลง 5 อันดับ หรือจากอันดับที่ 28ไปอยู่ที่ 33 จากจำนวนเขตเศรษฐกิจทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจ จากดัชนีชี้วัดสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศของไทยลดลง

เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยติดหล่มปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน

ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย กำลังขยับขึ้นไปเป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูงขึ้น แตะ 5 แสนบาทต่อคนต่อปี จากที่เคยเป็นประเทศที่อยู่ในระดับรายปานกลางเช่นเดียวกับไทย

ไม่เพียงเท่านั้น เวียดนามประเทศกลุ่ม CLMV ยังได้กลายเป็นประเทศดาวรุ่งที่สามารถดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น จากความได้เปรียบทั้งจำนวนแรงงานวัยทำงานที่มีมาก และมีค่าแรงถูกไทย เวียดนามยังมีนโยบายเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีกว่า 54 ประเทศ ทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศไหลเข้าไปจำนวนมาก เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2 ปีนี้เติบโตถึง 7%

 

ประเด็นนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. ยอมรับว่า ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโดดเด่น

โดยภาคเอกชนจะหารือกับ CEO แต่ละกลุ่มธุรกิจ กำหนดแนวทางและข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลในปี 2566 ในการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4%

ไทยควรใช้โอกาสจากการที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะจัดคู่ขนานไปกับการประชุมภาคเอกชน หรือ ABAC ทำให้มีผู้นำองค์กรภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเดินทางเข้าร่วมจำนวนมาก เป็นโอกาส “ดึงดูดการลงทุนด้านต่างๆ เข้ามาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ให้โตมากกว่าปีนี้

สอดคล้องกับมุมมองขอ “สแตนลี คัง” ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและอดีตประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) ที่เพิ่งส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานหอการค้าต่างประเทศให้กับ “นางวีเบคก้า ริสชอน” รองประธาน JFCCT โดยได้เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญต้องมุ่งเน้นก็คือ การดึงดูดการลงทุนมาประเทศไทยให้ได้ และที่สำคัญประเทศไทยมีโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะใช้เวทีนี้สร้างเวลเนสให้ประเทศไทยมากขึ้น

ที่ผ่านมาไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก แต่ขณะนี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังมีปัญหาชะลอตัว หลังจากที่เผชิญปัญหากับโควิด-19 มาหลายปี ทั้งยังมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ-จีน หรือรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเงินบาทอ่อนเข้ามาช่วย แต่ก็ยังต้องติดตามว่า รายได้จากส่งออกในไตรมาส 4 จะมีออเดอร์เข้ามาอย่างที่คาดการณ์หรือไม่

“ปัจจุบันเศรษฐกิจทั่วโลกค่อนข้างเหนื่อยเพราะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยก็ขึ้น ทำให้มันค่อนข้างปั่นป่วน เงินดอลลาร์แข็ง ตลาดหลักทรัพย์ก็กระทบ ค่าบาทอ่อนค่า สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยในไตรมาส 4 ภาคการส่งออก-การท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น แต่ว่าค่าครองชีพแพง ดอกเบี้ยเพิ่ม ทำให้ธนาคารเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น”

ดังนั้น จึงทำให้กระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่ได้มากเท่าไร แม้ว่าภาพรวมไทย การท่องเที่ยวเข้ามาก็ดีขึ้น แต่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ฝากเงินอย่างไรก็ไม่ทัน จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนจะใหญ่ขึ้น ธุรกิจ SMEs จะลำบากมากเพราะต้นทุนสูง รายได้ไม่ค่อยจะดี ต้นทุนขึ้นเร็วกว่า

สำหรับภารกิจในด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการก็คือ การแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุน ช่วยให้การประกอบธุรกิจในไทยง่ายขึ้น หรือ Ease of Doing Business จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ

พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ปัจจัยด้านการเมืองของไทยนิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ศาลมีมติให้นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา) กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อไป นักลงทุนเกิดความมั่นใจว่าอย่างน้อยในช่วง 1-2 ปีนี้จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจจะเดินหน้าต่อ แต่ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลที่อยู่ต่อจะแก้ปัญหาของประเทศอย่างไร รวมทั้งการเร่งรัดภารกิจสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้

 

“เชิดชาย ใช้ไววิทย์” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย อัพเดตความพร้อมการจัดประชุมล่าสุด ว่า ถึงขณะนี้ไทยได้รับการตอบรับจากผู้นำแล้ว 9 เขตเศรษฐกิจจากทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงมั่นใจว่าสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจจะเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมหน้า แม้ว่าจะมีการจัดประชุม ASEAN Summit และ G20 Summit ในระยะใกล้เคียงกัน

เอเปคครั้งนี้ได้กำหนดธีมหลัก 3 คำ คือ Open หมายถึง การเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เป้าหมายคือ การเตรียมพร้อมเจรจาความตกลง Free Trade Area of the Asia- Pacific (FTAAP) ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่เพียงจะเจรจาลดภาษี เปิดตลาดการค้า แต่จะเพิ่มในประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นจากหลังโควิด-19 อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (Digitallization) ความยั่งยืน (Sustainable) การรวมทุกคนไว้ (Inclusion)

คำที่ 2 คือ Connect หมายถึง เชื่อมโยงกัน ซึ่งหลังจากโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ท่องเที่ยว การบิน แทบจะล่มสลาย จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยลดลงจาก 39-40 ล้านคน เหลือแค่เพียง 4 แสนคน ดังนั้น จึงมองถึงโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงด้านต่างๆ เช่น การขยายจำนวนเครือข่ายผู้ใช้ APEC Business Travel Card จากปัจจุบันมีผู้ใช้ 4 แสนคน เป็นนักธุรกิจซีอีโอรายใหญ่ๆ แต่เราต้องการขยายจำนวนให้มากขึ้นไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs

และสู่สมดุล หรือ Balance เพราะในอดีตการค้ามีมติเดียว คือ การค้าเสรีแต่ไม่เคยได้เน้นเรื่องการสร้างสมดุล ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำเอเปควันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ จะมีการประกาศ “เป้าหมายกรุงเทพ” หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ขับเคลื่อนโยบายเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy วาง 4 เป้าหมายว่า ทำอย่างไรจะบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ทำให้การค้า-การลงทุนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการขยะมูลผอยที่มีจากการค้า-การลงทุน

ซึ่งไม่ว่าผู้ที่ตอบรับมาร่วมประชุมจะเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ใด ก็จะไม่ส่งผลต่อการประกาศ ‘เป้าหมายกรุงเทพ’ เอเปค 2022 ถือเป็นการคิกออฟความพร้อมของประเทศในการเปิดต้อนรับการท่องเที่ยว