บทเรียน 14 ตุลา 2516 ยืมพลังนักศึกษาประชาชนเปลี่ยนอำนาจ

มุกดา สุวรรณชาติ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้ว สรุปได้ว่าเป็นฉากนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจ จากผู้ปกครองกลุ่มหนึ่ง ไปสู่ผู้ปกครองอีกกลุ่มหนึ่ง จากนั้นก็จะสะสมอำนาจ จนผู้คนไม่พอใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงวนเวียนเป็นวัฏจักรที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ เกือบ 50 ปีหลัง 14 ตุลาคม 2516

เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง

1.อำนาจเผด็จการที่สะสมมานาน เกิน 8 ปี ทำให้เกิดการรวมศูนย์อยู่ไม่กี่คน

และทำให้เกิดการบ้าอำนาจขึ้นได้

ในขณะที่จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและคุมกระทรวงกลาโหม จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและยังเป็นอธิบดีกรมตำรวจ คุมถึง 3 ตำแหน่งใหญ่

การที่ต่ออายุ ผบ.ทบ.ของ “จอมพลประภาส” ทำให้อยู่ในตำแหน่งนานถึง 9 ปี

ตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2507-1 ตุลาคม พ.ศ.2516 ก่อนส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา” การลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้ 1 สัปดาห์ คือการเปิดจุดอ่อนในรอบ 10 ปี กระทรวงมหาดไทยในยุคนั้นคุมผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดและตำรวจทั้งประเทศ และคุมกรมอัยการ กรมราชทัณฑ์ กรมแรงงาน ถือว่าจอมพลประภาสมีอำนาจมาก

เมื่อมีการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2516 ผู้มีอำนาจล้นฟ้าก็อ้างว่ามูลเหตุจูงใจเนื่องมาจากพวกคอมมิวนิสต์เป็นต้นเหตุ มีนักศึกษาหัวรุนแรงจำนวนมากและจำเป็นต้องกำจัด

2.การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา

มีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบแต่ไม่เปิดเผย

เมื่อการชุมนุมถูกจุดติดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 9 ที่ 10 ตุลาคม จึงมีคนกล้าคิดกล้าทำ ทดลองระดมกำลังเสริมเข้ามา ผ่านสายทางการศึกษา และสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วย และคงคิดว่าถ้ามวลชนมากพออาจจะบีบคั้นให้ผู้ที่เป็นรัฐบาลอยู่ลาออกได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ยอมจนกระทั่งนาทีสุดท้ายซึ่งคนมาชุมนุมเป็นแสนแล้ว ถึงตอนนั้นคิดเจรจาก็สายเกินไป

สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่ง ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม แถลงการณ์ต่างๆ มีออกมาแทบจะทุกชั่วโมง เพราะสมัยนั้นไม่มีสื่อออนไลน์

มีบุรุษลึกลับสองคนอ้างตัวว่าเป็นนายทหารอากาศ นำเครื่องส่งวิทยุพร้อมอุปกรณ์อื่นเพื่อขอถ่ายทอดการปราศรัยและสถานการณ์การชุมนุมในธรรมศาสตร์ออกไปข้างนอก เมื่อแกนนำนักศึกษาถามว่าถ่ายทอดไปให้ใคร เขาเพียงแต่บอกว่า เพื่อให้คนที่อยากช่วยรับฟังได้ พวกเขาจะได้รู้เรื่องจริง และช่วยได้ถูกจังหวะ จะได้ไม่ถูกหลอกจากกลุ่มเผด็จการ

พอการชุมนุมผ่านไปได้ 3 วัน ถนนทุกสายก็มุ่งสู่ธรรมศาสตร์ ผู้มาร่วมชุมนุมมีตั้งแต่ระดับนักศึกษาปริญญาเอกจนไปถึงระดับประถม ทั้งสถาบันรัฐและเอกชน มีบางโรงเรียนเด็กระดับประถมมีครูคุมมาด้วย เหมือนกับมีการทัศนศึกษาหรือการศึกษานอกสถานที่

เมื่อถามเด็กหลายโรงเรียน คำตอบคือ…ครูแนะนำให้มา

3.รัฐบาลดูถูกพลังประชาชน กว่าจะรู้สึกตัว…สายไปแล้ว

พอถึงตอนเที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม ศนท.ก็ยื่นคำขาดให้กับรัฐบาลโดยให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมงถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม 2516

ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

วันนั้น พื้นที่ในมหาวิทยาลัยแน่นขนัดไปด้วยผู้ชุมนุมแสนกว่าคนในช่วงตอนเย็น

พอถึงวันที่ 13 ตุลาคม 10.00 น. ฝ่ายรัฐบาลพอเห็นคนเป็นแสนๆ ที่ธรรมศาสตร์ก็ตกใจ รีบขอเจรจากับ ศนท.

จอมพลประภาสยอมแล้วพร้อมกับร่างสัญญาว่าจะปล่อยตัว 13 ขอให้ทาง ศนท.สัญญาว่าจะหาทางสลายผู้ชุมนุมโดยเร็ว

แต่ช้าเกินไป มีการเคลื่อนขบวนตามเวลา 12.00 น. เพราะกำหนดไว้กับคนหลายแสน

ตัวแทนที่ไปเจรจากับจอมพลประภาสก็กลับมาปรึกษาหารือกับกรรมการ ศนท. และต้องจัดเตรียมการเพื่อจะเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลถึงข้อตกลงระหว่างนักศึกษากับรัฐบาล และขอพระราชทานคำปรึกษา

จะเห็นว่าฝ่ายนักศึกษาต้องแยกกันทำงานหลายอย่างในที่ต่างกัน แต่ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ อยู่ในขณะนั้นเป็นบุคคลสำคัญคือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ผบ.ทบ. พล.ต.ท.ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ

แม้จะยอมปล่อยผู้ที่ถูกจับ 13 คน แต่ทั้ง 13 กบฏก็รู้ดีว่าควรวางตัวอย่างไร จึงไม่ไปปรากฏตัวเพื่อสลายการชุมนุม

4.การตัดสินใจในคืนวันที่ 13 ตุลาคม

การชักช้าในการทำสัญญาต่างๆ ในสภาวะที่มีการเคลื่อนขบวนคนเป็นแสนทำให้การสลายตัวแทบจะทำไม่ได้แล้วถึงตอนนั้นฝ่ายรัฐบาลก็รู้แล้วว่าตัวเองถูกเล่นงาน ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนอำนาจก็คิดว่าจะทำอย่างไร ความลังเลของทั้งสองฝ่ายดึงเวลาไปจนกระทั่งถึงเช้า

เวลาประมาณ 04:00 น. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธีรยุทธ บุญมี ก็เข้าไปในพระราชวังพบกับ พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เพื่ออัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่ต้องการให้นักศึกษาประชาชนสลายตัวมาประกาศให้ประชาชนที่ชุมนุมอยู่ได้ฟัง

ประมาณ 05:30 น. ทั้งเสกสรรค์และสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ พร้อมกับกรรมการ ศนท.ก็ออกจากพระราชวังสวนจิตรลดาพร้อมกับ พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ขึ้นไปที่รถบัญชาการและได้ช่วยกันประกาศให้คนหลายหมื่นคนที่รอฟังอยู่ได้รับรู้ว่าได้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลได้อะไรบ้าง หลังจากนั้น อ่านพระบรมราโชวาท เสร็จแล้วทั้งหมดก็ขอให้ประชาชนแยกย้ายกันกลับบ้านได้ โดยมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีปิดท้าย ณเวลาประมาณ 06:00 น. แล้วประชาชนก็เริ่มสลายตัวแยกย้ายกันไปตามเส้นทางต่างๆ

มีบางคนคิดว่าเรื่องนี้มีการวางแผนตั้งแต่ต้นตอนที่จับกลุ่มที่ออกมาเดินแจกใบปลิว แต่มีคนค้านว่าไม่มีใครเก่งขนาดนั้นหรอก เพราะ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เพิ่งจะได้รับตำแหน่ง ผบ.ทบ.มาเพียง 6 วัน

คาดว่าหลังเที่ยงคืน 13 ตุลาคม ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนอำนาจคงตัดสินใจเดินตามแผน

การสลายการชุมนุมตอนเช้าเพียงแต่เป็นการบอกว่า ทุกฝ่ายช่วยกันให้สงบแล้ว

 

5.การปะทะกันตอนเช้าวันที่ 14 ตุลาคม คือการตัดสินใจจุดชนวน

บางคนอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุเนื่องจากตำรวจบังคับให้มวลชนเดินอ้อมไปทางราชวัตร คนส่วนใหญ่ไม่พอใจและยังดึงดันจะเดินไปทางราชวิถี ดังนั้น จึงเกิดการปะทะกันขึ้นและเหตุการณ์ก็ขยายลุกลามต่อไป

ที่จริงเรื่องนี้ฝ่ายแกนนำในการเดินขบวนก็กังวลและคาดการณ์อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ยอมสลายมวลชนในตอนกลางคืนเพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุได้ง่ายและอาจมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่เมื่อมาสลายในตอนเช้า พวกเขายังคิดว่าคงปลอดภัยแล้ว

แกนนำคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าก่อนจะเดินทางไปขึ้นรถเพื่อประกาศสลายตัว เขาได้ถามนายตำรวจผู้ใหญ่ว่าให้ตำรวจถอยออกไปก่อนได้ไหมจากแนวถนนเพื่อไม่ให้มีปัญหา แต่ไม่ได้รับคำตอบ เพียงแต่มีการปิดประตูใส่เท่านั้น

มีผู้วิเคราะห์หลายท่านได้ประเมินเหตุการณ์ตรงนี้ไว้ว่ามันไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่น่าจะมีการตัดสินใจทำให้เกิดขึ้นล่วงหน้าไม่นานนัก เพราะฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนอำนาจจากมือของ 3 ทรราช ก็คงประเมินได้ว่าถ้าเหตุการณ์จบลงแบบไม่มีอะไร กว่ารัฐธรรมนูญจะได้ตามสัญญาเดือนตุลาคมปี 2517 ระยะเวลา 1 ปีจากนี้ คนที่ต้องสงสัยว่าทำการต่อต้านกลุ่มสามทรราช จะต้องถูกจัดการแน่นอน

ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องรุกต่อให้ถึงที่สุดโดยใช้กำลังมวลชนอันไพศาลเป็นเครื่องมือ

6.ข้อผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาล คือการเคลื่อนกำลังทหารเข้ามาปราบ

ทำให้เหตุการณ์ยิ่งขยายและรุนแรงยิ่งขึ้น ฝ่ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์ก็ถือโอกาสแทรกแซงและสร้างความวุ่นวายได้มากขึ้น โดยใช้คนเพียงเล็กน้อย

ความเกลียดชังรัฐบาลมีอยู่แล้ว ดังนั้น ข่าวสารและสิ่งที่เผยแพร่ออกไปจึงไม่มีอะไรที่จะเป็นข้อดีของฝ่ายรัฐบาลเลย และนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของฝ่ายทหารในการเผชิญหน้ามวลชนจำนวนมากกลางเมือง เมื่อไม่มีวิธีจัดการที่ดีก็กลายเป็นการยิงการฆ่าประชาชนในทางการเมืองก็ยิ่งเสียหายอย่างหนัก

พอมาถึงจุดนี้ผู้รับผิดชอบก็เหมือนกับพ่ายแพ้ทางการเมืองไปแล้ว อีกฝ่ายก็สามารถบีบให้ถอยออกจากอำนาจได้ ซึ่งเมื่อถอยไปแล้วโอกาสกลับมาก็ไม่มีอีก

ส่วนเหตุการณ์หลังจากปะทะกันแล้วโดยธรรมชาติก็มีมวลชนที่เข้าต่อสู้มากพอสมควรอยู่แล้ว แต่การแทรกแซงของผู้ที่ใช้อาวุธเป็นและมีอาวุธ ก็เกิดขึ้นในจุดสำคัญและจุดที่มีการเผาหลายแห่ง ทั้งในวันที่ 14 และวันที่ 15 ตุลาคม 2516

 

7.ประชาชนที่สามัคคีกัน มีพลัง…แต่ไม่ได้อำนาจจริง

ข้อดีคือมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้สังเกตว่ามีการแต่งตั้ง ส.ว. แบ่งอำนาจกันในหมู่ชนชั้นนำ แม้เด็กๆ ที่ร่วมต่อสู้จนเสียชีวิตจะเรียกร้องขอสิทธิเลือกตั้งให้กับผู้มีอายุครบ 18 ปีเหมือนในปัจจุบัน แต่สมัยนั้นแม้ตายและได้ชื่อว่าเป็นวีรชน แต่เขาก็ไม่ให้สิทธิในการเลือกตั้ง

ข้อสังเกตอีกอันก็คือมีการนิรโทษกรรมกันไปให้เรื่องเงียบหายไปเฉยๆ ไม่รู้ใครไปตกลงกับใครไว้อย่างไร หรือว่าป้องกันทุกฝ่ายไม่ให้โดนเล่นงานทั้งๆ ที่มีคนตายไปจำนวนมาก

ดังนั้น ขนาดผู้เสียชีวิตเป็นวีรชน 14 ตุลา ยังหาคนผิดมาลงโทษไม่ได้ จึงไม่ต้องนับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ที่ฝ่ายประชาชนแพ้ แบบ 6 ตุลาคม 2519 หรือเสมอกันแบบ พฤษภาคม 2535 ยังไม่มีใครต้องรับผิด ยิ่งปี 2553 ไม่มีแม้แต่โอกาสจะฟ้องร้องด้วยซ้ำ