เหรียญรุ่นบาตรน้ำมนต์ หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ วัดหลวงราชาวาส อุทัยฯ

เหรียญรุ่นบาตรน้ำมนต์ หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

วัดหลวงราชาวาส อุทัยฯ

 

“พระครูอุทัยธรรมกิจ” หรือ “หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี

พระเกจิอาจารย์ลุ่มน้ำสะแกกรัง ชื่อดังแห่งอุทัยธานี ศิษย์สายธรรมหลวงพ่อพูน วัดหนองตางู และหลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว

วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมาแต่ละรุ่น มีความโดดเด่น ไม่ว่าจะเมตตามหานิยม โชคลาภ และอยู่ยงคงกระพัน จึงเป็นที่นิยมเสาะหา

โดยเฉพาะเหรียญรุ่นบาตรน้ำมนต์ ที่ระลึกที่เข้ามาทำบุญกับทางวัด รายได้ทั้งหมดบูรณะและฉลองวิหาร

เหรียญบาตรน้ำมนต์หลวงปู่ตี๋ (หน้า)

รูปแบบทรงพิมพ์เป็นเหรียญปั๊มวงกลม ขนาด 4 เซนติเมตร ด้านหน้า มีรูปเหมือนหลวงปู่ตี๋ครึ่งร่าง หน้าตรง

ใกล้ขอบด้านบนมีตัวหนังสือ “พระครูอุทัยธรรมกิจ (หลวงปู่ตี๋) วัดหลวงราชาวาส จ.อุทัยธานี อายุ ๘๗ ปี พ.ศ.๒๕๔๒” ขอบด้านล่างมีอักขระขอบกำกับ 1 แถว

เหรียญบาตรน้ำมนต์หลวงปู่ตี๋ (หลัง)

 

ด้านหลังมียันต์เทพรัญจวนและยันต์นารายณ์แปลงรูป มีอักขระขอบล้อมรอบ 2 แถว คมชัดเป็นเหรียญปั๊ม ยันต์ดังกล่าว เป็นยันต์เดียวกับที่สักไว้ที่หลังของหลวงปู่ตี๋ ยันต์นี้ใช้แทนตะกรุดโทนได้ มีโค้ดตัว “นะ” อยู่เหนือบ่าซ้าย ด้านหน้า

จัดสร้างเป็นเนื้อเงิน 186 เหรียญ และเนื้อทองเหลือง 2,000 เหรียญ ส่วนชนิดหลังไม่มียันต์เทพรัญจรและยันต์นารายณ์แปลงรูปปั๊ม ด้านหลังเหรียญจะเรียบใช้จารอักขระด้วยมือของหลวงปู่ตี๋

รุ่นนี้ หลวงปู่ตี๋อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว 1 พรรษา ยังประกอบพิธีพุทธาพิเษก โดยนิมนต์สุดยอดพระเกจิอาจารย์ดังเข้มขลังวิทยาคมยุคนั้น รวมพลังนั่งปรกอธิษฐานจิต อาทิ หลวงพ่อสมควร วัดถือน้ำ, หลวงพ่อนะ วัดหนองบัว, หลวงพ่อเสน่ห์ วัดสว่างอารมณ์, หลวงพ่อรัง วัดอมฤตวารี, หลวงพ่ออั้น วัดโรงโค และหลวงพ่อสะอาด วัดเขาแก้ว

ปัจจุบัน แวดวงพระเครื่องวัตถุมงคลใน จ.อุทัยธานี และจังหวัดใกล้เคียง ต่างออกปากว่าติดลมบนไปแล้วและหายาก

หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

อัตโนประวัติ เป็นชาวอุทัยธานีโดยกำเนิด มีนามเดิมว่า ตี๋ แซ่ตั้ง เกิดที่ ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2455 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 6 คน บิดา-มารดา ชื่อนายก้าง และนางเหล็ง แซ่ตั้ง ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ช่วงวัยเยาว์ เรียนหนังสือที่โรงเรียนอุทัยทวีเวทย์ จ.อุทัยธานี จนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3

หลังจากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2476 ที่พัทธสีมาวัดธรรมโฆษก (โรงโค) มีพระสุนทรมุณี (หลวงพ่อฮวด) วัดพิชัยปุรณาราม เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดโชติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกาทิม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ญาณโสภโณ มีความหมายว่า ผู้มีจิตอันงดงาม

จากนั้น จำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมโฆษก

ต่อมาเมื่อเกิดไฟไหม้ตลาดอุทัยธานีครั้งใหญ่ ได้ไปอยู่กับหลวงพ่อพูนที่วัดหนองตางู เป็นเวลา 2 พรรษา

ศึกษาวิทยาคม จนกระทั่งหลวงพ่อพูนมรณภาพลงในปี พ.ศ.2480 จึงได้กลับมาอยู่ที่วัดธรรมโฆษกอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.2497 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวงราชาวาส

พ.ศ.2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัและได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของพระราชอุทัยกวี (พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูอุทัยธรรมกิจ

นอกจากได้รับการถ่ายทอดการฝึกจิตวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งวิทยาคมด้านอื่น จากหลวงพ่อพูน วัดหนองตางู จ.อุทัยธานี

ยังได้ศึกษาจากตำราสมุดข่อยโบราณของหลวงพ่อแป้น อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส เกี่ยวกับยันต์เทพรัญจวน เป็นยันต์เดียวกับที่จารลงในตะกรุดโทน ซึ่งหลวงพ่อป๊อก อดีตเจ้าอาวาสวัดอุโปสถารามใช้อยู่เป็นประจำ

ต่อมาจึงได้ให้ช่างหลี เป็นช่างตัดผมในตลาดอุทัยธานี สักยันต์เทพรัญจวนที่ตัวของท่านที่อกและหลังเป็นที่ระลึกกับหลวงพ่อแป้น และเห็นว่าเป็นยันต์โบราณที่ใช้สืบทอดกันมา

ท่านยังได้รับการถ่ายทอดต่อจากพระราชอุทัยกวี หรือท่านเจ้าคุณพุฒ วัดทุ่งแก้ว

 

ด้วยความสมถะและถือสันโดษมาตลอดระยะเวลาในชีวิตสมณเพศ ชอบศึกษาหาความรู้และอยู่อย่างเงียบๆ มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ยึดมั่นในศีลาจารวัตร เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

แม้ท่านจะมีชื่อเสียงในเรื่องของการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมสะสมกันในวงการพระเครื่อง

แต่ก็ยึดคำโบราณที่ว่า “ฆ้องดังเองไม่มีคนตี เรียกว่า ฆ้องอัปรีย์ ฆ้องที่ดีต้องมีคนตีถึงจะดัง”

วัตถุมงคลไม่ว่าจะเป็นเสือพุทธาคม ตะกรุดเทพรัญจวน เหรียญและรูปหล่อ สร้างขึ้นมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ประกอบการปลุกเสกเดี่ยวและใช้เวลายาวนานตลอดไตรมาส หรือ 3 เดือนเป็นส่วนใหญ่ จึงบังเกิดความเข้มขลังในพุทธคุณ จนเป็นที่เล่าลือโจษขานกันมากมาย

วันที่ 1 มีนาคม 2546 เวลา 11.57 น. ละสังขารลงด้วยอาการสงบ

สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

ปัจจุบัน สรีรสังขารนอนสงบนิ่งภายในโลงแก้วโปร่งใส ที่วัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]