การสักขาลาย ตามความเชื่อของ “ชาวล้านนา” ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน

สักขาลาย

สักฯขาลายฯ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “สักขาลาย”

หมายถึง การสักลายเป็นรูป หรือลวดลายตั้งแต่เอวหรือหัวเข่า

ในอดีตการ “สักขาลาย” เป็นวัฒนธรรมหนึ่งในการแสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายอย่างเต็มตัว ผู้ชายล้านนานิยมการสักขาลายกันมาก เมื่อมีอายุย่างเข้าสู่วัยรุ่น และจะทำการสักแทบทุกคน

การสักใช้หมึกสีดำ มีพิธีกรรม การเสกคาถากำกับตามความเชื่อ และต่อมาการสักกลายเป็นสักเพื่อความสวยงามตามจารีตประเพณีนิยม เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเข้มแข็งของลูกผู้ชาย

ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตคนส่วนใหญ่จะนิยมอาบน้ำในแม่น้ำหรือลำห้วย โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง ในสมัยนั้นผู้ชายที่มีรอยสักหมึกตามร่างกาย โดยเฉพาะที่ขา ต้องสักขาลายด้วยจึงถือว่าเป็นผู้ชายเต็มตัว

หากชายคนใดไม่ได้สักขาลาย ถ้าไปอาบน้ำก็จะถูกล้อเลียนว่าขาขาวเหมือนผู้หญิงควรจะไปอยู่กับกลุ่มผู้หญิง ทำให้ชายผู้นั้นได้รับความอับอาย

และผู้หญิงก็ไม่ชอบผู้ชายขาขาวถือว่าเป็นคนอ่อนแอไม่สมควรเอามาเป็นคู่ครอง

ด้วยเหตุนี้ผู้ชายในสมัยนั้นจึงนิยมสักขาลายแทบทุกคน

 

การสักขาลาย คือการสักตั้งแต่บริเวณหัวเข่าขึ้นไปถึงเอว เรียกว่า สักเตี่ยวขาก้อม หมายถึงจะเห็นรูปรอยการสักเหมือนใส่กางเกงขาสั้น ใช้เวลาในการสักนาน แม้จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ความอดทน

ซึ่งกลุ่มคนสักขาลายเหล่านี้เชื่อว่าเป็นการตอบแทนพระคุณแม่ที่คลอดออกมาดูโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสถานะทางสังคม และความพร้อมในการจะเป็นหัวหน้าครอบครัว

รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น

วัฒนธรรมการสักขาลาย จึงเป็นบทพิสูจน์ความอดทนและอัตลักษณ์ของผู้ชายล้านนา เปรียบคำพูดที่ว่า ลูกป้อจายขาบ่ลาย ก่ออายเขียด

การสักขาลาย มักมาจากความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า “สักยันต์”

เชื่อว่าเมื่อสักลงไปแล้วจะทำให้มีโชคลาภ แคล้วคลาด ปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน และพ้นจากอันตรายต่างๆ

 

รูปแบบลายสัก หรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่แตกต่างกัน และผู้ที่สักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่น ห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูบาอาจารย์ เป็นต้น การสักยันต์จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1. สักด้วยน้ำมัน โดยนำน้ำมันว่านมาทาบนผิวหนัง จากนั้นจะใช้เหล็กเขียนยันต์ลงไป แต่การสักน้ำมันจะไม่มีลวดลายให้เห็นบนเรือนร่าง

2. สักด้วยหมึกจีน โดยการใช้เข็มเหล็กแหลมจุ่มหมึกสีดำผสมว่าน แล้วนำมาทิ่มลงบนผิวหนัง เมื่อเสร็จสิ้นก็จะมีลวดลายต่างๆ โดยลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นภาษาขอม และ ภาษาบาลี

การสักขาลายเสื่อมความนิยมมา 60 ปีแล้ว ผู้ชายล้านนาที่สักขาลายที่หลงเหลืออยู่ตามชนบทบางท้องที่ส่วนมากอายุเกิน 80 ปีทั้งสิ้น ยกเว้นชาวปกากะญอที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ยังมีคนสักขาลายอายุ 30-40 ปี และบางคนอาจมีอายุไม่เกิน 20 ปี

วัฒนธรรมสักขาลายไม่มีการสืบต่อ เนื่องจากความนิยมน้อยลง และส่วนใหญ่มองว่าผู้ที่สักคือนักเลงอันธพาล จนมีคำพูดว่า “สับหมึกใส่ข้อ สับช่อ (จ้อ) ใส่แขน บ่ดีเอาเป็นแฟนเน่อนาย มันร้าย (ฮ้าย)”

อีกทั้งการสักขาลายต้องใช้เวลา ต้องมีความอดทนต่อความเจ็บปวด

ฅ฿นฯบ่าฯเก้ฯา เปนฯบ่าวฯแลฯ้วฯทึงฯจะสักฯขาลายฯ คนบ่าเก่า เป๋นบ่าวแล้วตึงจะสักขาลาย แปลว่า คนโบราณ หากเป็นหนุ่มแล้วจะนิยมสักขาลาย

ปัจจุบันมีการสักแทตทูที่สอดแทรกเข้าไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นเรื่องแฟชั่น ความสวยงามทางศิลปะ การสักสีแบบปัจจุบันเจ็บปวดน้อยกว่าสักแบบโบราณ

การสักไม่ใช่เฉพาะความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่เป็นแฟชั่น หรือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งบนเรือนร่าง

บางคนต้องการสักเพื่อบันทึกเรื่องราวของตัวเองในอดีต เช่น การสักรูปสุนัขตัวโปรดที่ตายจากไป สักชื่อคนรักในอดีต

หรือบางคนสักตามแฟชั่นหรือสักตามดารา นักร้อง

ถ้าไม่ศึกษา สืบทอด และบันทึกภูมิปัญญาการสักขาลาย ลูกหลานอาจจะได้เห็นลายสักขาลายจากจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพเก่าๆ เท่านั้น •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่