“ในหลวงกับคึกฤทธิ์” | คิดถึงพ่อ ร.9

วัชระ แวววุฒินันท์

คิดถึงพ่อ ร.9 | วัชระ แวววุฒินันท์

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ครบรอบวันเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จากประชาชนชาวไทยไปเป็นเวลา 6 ปีแล้ว

กับคนไทยหลายคนรู้สึกว่ายังผ่านไปไม่นาน เมื่อนึกถึงวันที่เราสูญเสียพระองค์ท่านไป บรรยากาศของความเศร้าโศกที่ปกคลุมแผ่นดินไทยตอนนั้นยังติดอยู่ในความทรงจำ

วันนี้จึงอยากรำลึกถึงพระองค์ท่านที่ยังอยู่ในใจของเราเสมอ ซึ่งเรื่องราวนั้นผมเลือกหยิบมาจากหนังสือเรื่อง “ในหลวงกับคึกฤทธิ์” เขียนโดย สละ ลิขิตกุล พิมพ์ออกมาเมื่อปี 2546

ผู้เขียนคือ “สละ ลิขิตกุล” เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาก โดยเขาเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้อำนวยการ ทั้งสองใกล้ชิดทั้งในวงงานและวงสุรามาก่อนจะทำสยามรัฐเสียอีก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จะคิดจะเจอเรื่องใดๆ ก็มักเล่าให้สละฟังเสมอ จึงเป็นหนังสือที่เหมือนเขียนแทน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เลยก็ว่าได้ในอันที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

ว่ากันว่าบทความที่กองบรรณาธิการเขียนยากที่สุด คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับราชวงศ์ เพราะมีความถูกต้องของการใช้ราชาศัพท์กำหนด ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจตราจาก “คุณชาย” ตามที่ผู้เขียนนิยมเรียก และมักจะผิดทุกครั้งแม้แต่ตัวของสละที่เป็นบรรณาธิการเอง เรื่องนี้คุณชายเคยบอกไว้ว่า

“การลงพิมพ์ราชาศัพท์ในสยามรัฐผิดๆ ไปนั้น ท่านไม่อับอายขายหน้ากับประชาชนคนอ่านหรอก ท่านอายพวกในราชสำนักที่เป็นเชื้อพระวงศ์ด้วยกัน จะกิ๋วๆ หน้าไม่อายเอากับท่าน”

และครั้งหนึ่ง เกิดความผิดพลาดเมื่อตีพิมพ์ออกไปแล้ว จนคุณชายต้องสั่งให้นำหนังสือพิมพ์เกือบ 600 ฉบับมาทำการเผาให้กลายเป็นขี้เถ้าต่อหน้าท่าน

จากเรื่องนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้คุณชายลุกขึ้นมาเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับในรั้วในวัง เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” นั่นเอง ที่เริ่มต้นจากนิยายเพื่อเป็นตัวอย่างด้านภาษา ได้กลายเป็นวรรณกรรมอมตะไปในเวลาต่อมา

ในหลวงรัชกาลที่ 6

สําหรับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความใกล้ชิดกับราชวงศ์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างมาก เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ก็ล้วนสะท้อนออกมาอย่างนั้น

“ในหลวงกับคึกฤทธิ์” นั้น มีตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งตอนนั้นคุณชายมีอายุแค่ 7-8 ขวบ ได้ไปเที่ยวงานฤดูหนาว ตอนเดินผ่านร้านที่ให้เล่นเกมทายปัญหา คุณชายได้เข้าไปร่วมแข่งขันกับพวกผู้ใหญ่ โดยเขียนคำตอบพร้อมลงชื่อว่า “คิดลึก” จากคำตอบนั้นซึ่งเป็นคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงให้หาตัวว่า “คิดลึก” นี่เป็นใคร

พอได้เข้าเฝ้าฯ ก็ยังไม่ทรงเชื่อ จนให้เขียนชื่อให้ดูเพื่อพิสูจน์ลายมือ ก็พบว่าเป็นตัวจริง พระองค์ท่านก็รับสั่งว่า “ดูซิ ใครๆ ก็สู้เด็กไม่ได้”

สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้น ช่วงเวลาที่พระองค์ปกครองประเทศไทย เป็นช่วงที่คุณชายไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จนแม้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังรู้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งของทางนั้น

จึงไม่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับในหลวงพระองค์นี้

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หาเสียงที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2512 [ภาพจากหนังสือ กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ) โพสต์บุ๊กส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555 หน้า 122]
ส่วนในหลวงอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นั้น คุณชายได้สัมผัสมากขึ้น เพราะคุณชายได้กลับมาเมืองไทยแล้วและมีกิจกรรมต่างๆ ของบ้านเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.เขตใน กทม. คุณชายมีวิธีการหาเสียงที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือ “การขึ้นเวทีปราศรัย” ซึ่งสำหรับต่างประเทศแล้ว เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เขาทำกัน แต่แปลกใหม่สำหรับเมืองไทยตอนนั้น จึงมีคนสนใจไปฟังกันอย่างเนืองแน่น และหนึ่งในผู้ที่สนใจก็คือในหลวงรัชกาลที่ 8

พระองค์ทรงเป็นนักเรียนนอก ย่อมคุ้นเคยกับการเปิด “ไฮด์ปาร์ก” เช่นนี้ ในหนังสือเล่าว่าพระองค์ได้ชวนพระอนุชา คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จไปฟัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์หาเสียงอย่างเงียบๆ สองพระองค์โดยไม่มีมหาดเล็กคนใดรู้และตามเสด็จ

ในตอนที่คึกฤทธิ์มีคิวมาหาเสียงที่ท้องสนามหลวง พระองค์ได้ทรงขอให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์มาตั้งเวทีหาเสียงด้านประตูวิเศษไชยศรี และได้ให้สำนักพระราชวังจัดที่ประทับภายในกำแพงพระบรมมหาราชวังใกล้ๆ ตรงนั้น เพื่อทั้งสองพระองค์จะได้ประทับฟังการหาเสียงตามแบบฉบับ “คึกฤทธิ์สไตล์”

นั่นแสดงถึงการเป็นนักประชาธิปไตยของพระองค์ได้อย่างดี จึงพร้อมเป็นพระมหากษัตริย์ที่เดินเคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย จนมีข่าวลือว่าพระองค์สนใจจะทรงลาออกจากราชบัลลังก์เพื่อมาสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยอย่างนั้นเลยทีเดียว

ในหลวงรัชกาลที่ 9 และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์

ในช่วงนั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ หรือตามเสด็จบ้าง และก็สังเกตได้ว่า ทั้งสองพระองค์จะเสด็จไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 จะทรงสะพายกล้องและเป็นช่างภาพให้กับพระเชษฐาตลอดเวลา ซึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็นิยมถ่ายภาพ จึงมีเรื่องให้ได้ใกล้ชิดกับพระองค์ท่าน

และภาพที่พระองค์ทรงฉายไว้ ก็ได้เป็นประวัติศาสตร์สำคัญของไทยในเวลาต่อมา เมื่อได้มีการรวบรวมนำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพแจกแก่ประชาชนที่มาร่วมในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเชษฐาของพระองค์เอง โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้ออกทุนในการพิมพ์จำนวนห้าหมื่นบาท

สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานชัดแจ้งในความจงรักภักดีและเทิดทูนต่อสถาบันกษัตริย์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ปรากฏกับ น.ส.พ.สยามรัฐ คือ บทความที่คุณชายได้เขียนเป็นประจำที่ชื่อ “ในหลวงของประชาชน” ซึ่งจะแสดงถึงความผูกพันระหว่าง “ในหลวงและประชาชน” ได้อย่างดี

และนี่เป็นตอนหนึ่งของบทความหนึ่งที่คุณชายได้เขียนไว้

“…ตั้งแต่แรกมาจนบัดนี้ แสดงให้เห็นว่ามิได้ทรงห่างจากประชาชน และทรงเป็นของประชาชนมาโดยตลอด ความจริงข้อนี้ย่อมประจักษ์ชัดอยู่ในใจของประชาชน ไม่จำเป็นต้องพรรณนาให้ยืดยาว การที่คนสองคนจะเป็นของกันและกันได้นั้น ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดและความร่วมกันในทุกข์ในสุข ประชาชนได้ร่วมทุกข์กับในหลวงเมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จสวรรคต ได้จับตาเฝ้ามองพระองค์ด้วยความห่วงใย…”

ซึ่งการที่ประชาชนมีความรักในพระองค์นั้น ไม่ได้ผูกติดว่าเมืองไทยจะปกครองด้วยระบอบอะไร ดังจะเห็นได้จากเมื่อรัฐบาลมีการส่งกองกำลังบุกไปยังป่าดงดิบในภาคอีสาน ที่เป็นกองบัญชาการของฝ่ายคอมมิวนิสต์ สิ่งหนึ่งที่หน่วยปราบปรามค้นพบคือ พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ใส่กรอบแขวนไว้อย่างดี

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำหน้าที่ไวยาวัจกร เพราะคุณชายเองก็เคยบวชที่วัดนี้ โดยมีองค์อุปัชฌาย์เดียวกัน คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ และคุณชายเองก็เป็นเด็กเก่าในย่านบางลำพูอีกด้วย

ทุกรุ่งเช้า พระภิกษุภูมิพโลจะเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อให้ประชาชนได้ทรงบาตร โดยพระองค์ไม่ได้ทรงฉลองพระบาท เดินไปตามถนนที่ค่อนข้างจะไม่สะอาด มีคุณชายเดินนำพระองค์ท่านลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ ของย่านบางลำพูอย่างชำนาญ

นับว่าเป็นเวลา 15 วันในการทรงผนวช ที่คุณชายรู้สึกประทับใจอย่างมากในหน้าที่ดังกล่าว

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์

ความไว้วางพระราชหฤทัยที่มีให้กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นั้น ปรากฏขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2503 เมื่อต้องเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศ ตามที่ได้รับการถวายบังคมทูลเชิญของประเทศต่างๆ ซึ่งคุณชายได้ตามเสด็จฯ ด้วยในบทบาทหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นนักหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้นก็ยังต้องถวายการรับใช้ เหมือนหนึ่งเป็นมหาดเล็กคนหนึ่งด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้รับมอบหมายงานพิเศษอีกอย่างหนึ่ง นั่นคืองานที่คุณชายเรียกตัวเองว่าเป็น “ซีไอเอ” อีกด้วย

“ผมต้องทำตัวเหมือนซีไอเอไปด้วย คือต้องสืบราชการลับหรือเรื่องลับๆ บางอย่างบางเรื่อง”

เมื่อมีหมายกำหนดการว่าจะต้องเสด็จไปยังประเทศใด คุณชายก็จะต้องเตรียมการให้พร้อมหลายอย่างหลายประการ

“ผมไม่ได้ตามเสด็จฯ หรอก” คุณชายเล่าสนุกๆ “ผมนำเสด็จฯ มากกว่า”

เพราะคุณชายต้องรีบเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ ล่วงหน้า เพื่อดูว่าสถานที่พักเป็นอย่างไร มีเพียงพอในการที่ข้าราชบริพารจะพักไหม ใกล้และไกลพระตำหนักที่ประทับเพียงใด ดูไปถึงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ในห้องบรรทมให้พร้อมเพรียง

สำหรับบุคคลที่จะทรงพบปะนั้นเป็นผู้นำระดับไหน เป็นประมุขของประเทศก็จริง แต่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นราชวงศ์ และที่สำคัญแต่งกายอย่างไร ชุดทหาร ชุดสากล หรือชุดไปรเวต ถ้าไปรเวตก็ต้องรู้ว่าผูกเน็กไทสีอะไร ถ้ามีการถวายพระกระยาหาร ก็ต้องให้รู้ว่าเมนูอะไรบ้าง

ซึ่งเรื่องที่ว่าทั้งหมดนี้ คุณชายใช้กำลังภายในเอาข้อมูลมาจนได้ โดยพูดชมตัวเองว่า

“มันก็ยากอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็สืบจนได้ทุกครั้งทุกประเทศไม่เคยพลาด”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับรถม้าร่วมกับควีนเอลิซาเบธ ที่ 2 / Getty Image

ครั้งหนึ่งของการเสด็จยังประเทศอังกฤษ ตามหมายกำหนดการพระองค์และสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องเสด็จจากที่ประทับขึ้นรถม้าโบราณเปิดประทุน เพื่อให้ประชาชนชาวอังกฤษได้เฝ้าฯ ชมพระบารมีตามระยะทางจนถึงพระราชวังที่ควีนเอลิซาเบธถวายการต้อนรับ

ก่อนถึงกำหนดเวลาเสด็จได้เกิดฝนตกใหญ่ในกรุงลอนดอน คุณชายคิดว่าคงจะต้องเปลี่ยนหมายกำหนดการในบ่ายวันนั้นแน่ๆ แต่เมื่อทูลพระองค์ท่าน กลับทรงวางพระองค์เฉยๆ โดยไม่ทรงรู้สึกกังวลในเรื่องดังกล่าว

พอถึงเวลาเสด็จ ฝนที่ตกจั้กๆ อยู่ก็หยุดตกทันที แม้แต่คนอังกฤษเองก็ประหลาดใจ และการเสด็จพระราชดำเนินที่ว่านั้นก็ราบรื่นเป็นไปตามแผน จนเมื่อเสด็จถึงที่หมาย ฝนก็กลับมาเทกระหน่ำอีกครั้ง

คุณชายบอกว่า เรื่องนี้คือ “กฤษดาภินิหาร”

ได้อ่าน ได้เขียน ก็ยิ่งทำให้คิดถึงพระองค์อย่างมาก คิดถึงพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยเป็นนักแล้ว •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์