เบทาโกร…ผู้เดินเคียง | วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เบทาโกร…ผู้เดินเคียง

 

อีกกรณีหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สู่ยุคหลัง COVID-19

โดยจับตาความเคลื่อนไหว สัมพันธ์กัน ระหว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่ กับตลาดหุ้น

ความสนใจภาพกว้างๆ เกี่ยวข้องกับกระบวนการ “หุ้นเข้าใหม่” ที่เรียกกันว่า IPO (Initial Public Offering) ภาษาทางการว่า “เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก” เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง มีแรงกระตุ้นเข้มข้นขึ้นตามบทวิเคราะห์สถานการณ์ว่าด้วยยุคหลัง COVID-19 คาดว่าสถิติ IPO ทั้งปี 2565 จะสะท้อนความคึกคักกว่าที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหว “รายใหญ่” (เคยเสนอภาพกว้างๆ ในเรื่อง “สัญญาณสู่ยุคหลัง COVID-19” เมื่อสัปดาห์ก่อน)

อย่างที่เคยกล่าวไว้ กรณีแรกปีนี้ที่ควรสนใจ คือ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ได้เดินหน้าครบกระบวนการแล้ว (หากสนใจ กลับไปอ่าน “ไทยประกันชีวิต…ยุคใหม่” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) โดยมีอีกบางกรณีสำคัญเข้าคิวไว้ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG

“ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์สุกร สัตว์ปีก และไข่ไก่ อาหารแปรรูปที่เกี่ยวข้อง และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟาร์มและการดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง” ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะธุรกิจที่เสนอไว้ ในฐานะบริษัทที่อยู่ในกระบวยการเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จนถึงขั้นสำคัญแล้ว ปรากฏตามถ้อยแถลงของเบทาโกรเอง “กรุงเทพฯ – 5 ตุลาคม 2565 – บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BTG’ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 500 ล้านหุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)… พร้อมกำหนดราคาเสนอขายที่ 40.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นับเป็น IPO ของหุ้นในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทยเท่าที่เคยมีมา และยังมีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้…”

ทั้งกำหนดช่วงเวลาที่น่าสนใจไว้ด้วย

“…เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เป็นลูกค้าของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์สามารถจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 10-12 และ 17 ตุลาคม 2565 นี้ และคาดว่าหุ้น BTG จะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนนี้”

 

เรื่องราวเบทาโกร ถือเป็นชิ้นส่วนแห่งวิวัฒนาการซึ่งเคยกล่าวไว้ เทียบเคียงพัฒนาเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ในนามซีพี “เพื่อผลักดันให้มีปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม หรือการผลิตพื้นฐานดั้งเดิมที่ล้าหลัง ให้ทันสมัย ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งขบวน…สร้างโอกาสใหม่ครั้งใหญ่ทางธุรกิจ” ว่าไปแล้ว เบทาโกรอยู่ในกระแสนั้น

อิทธิพลเชิงวิวัฒนาการนั้น มีหลายมิติ เกี่ยวข้องบริบท ทั้งมาจากโอกาสที่เปิดกว้างจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยครั้งสำคัญในยุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐอเมริกา อีกด้านหนึ่ง อ้างอิงเทียบเคียงบทเรียน ความรู้ และพัฒนาการทางธุรกิจโลกตะวันตก

ประวัติเบทาโกรระบุว่า ก่อตั้งเมื่อปี 2510 “เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ โดยมีโรงงานแห่งแรกที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ” ถือว่าอยู่ในช่วงเดียวกันกับซีพี แม้ว่าซีพีอ้างว่าบุกเบิกธุรกิจอาหารสัตว์มมานาน “ปี 2496 เริ่มกิจการโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรก จากเครื่องบดและผสมอาหารในโรงจอดรถที่บ้าน ตรอกจันทน์” ตามข้อมูลที่เคยเสนอไว้ โดยระยะต่อมา ซีพีมีการลงทุนครั้งใหญ่ในปี 2511 จัดตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ อ้างว่าเป็น “โรงงานทันสมัยแห่งแรกของประเทศ”

ท่ามกลางกระแสช่วงนั้น รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์แบบทันสมัยผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเหตุให้มีผู้เข้ามาในธุรกิจนี้หลายราย

รวมทั้งเบทาโกร

 

อุตสาหกรรมใหม่มีโมเมนตัมน่าสนใจ ขยายมิติกว้างขึ้น มีโมเดลเทียบเคียงหลายกรณี ไม่ว่ากรณีซีพีร่วมทุนกับ Arbor Acer แห่งสหรัฐอเมริกา สร้างธุรกิจไก่ทั้งระบบ ครบวงจร ที่เรียกว่า “ประสานในแนวตั้ง” (Vertical Integration)

ขณะอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ อย่างอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องเพื่อการส่งออก ก็มีบริษัทอเมริกันเข้ามาลงทุน กระบวนการหนึ่งจึงเกิดขึ้นควบคู่กันไปในสังคมเกษตรกรรมไทย เรียกว่า เกษตรกรรมพันธสัญญา (Contract Farming)

ภาพนั้นปรากฏชัดเจนและคงอยู่ เบทาโกรให้ข้อมูลไว้ ในช่วงปี 2520-2529 “ก้าวสู่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เริ่มขยายสู่ธุรกิจการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมครบวงจร…” (อ้างจากข้อมูลเบทาโกรเอง-https://www.betagro.com/)

ภาพเชิงขยายชัดเจนขึ้น เมื่อพิจารณาธุรกิจเบทาโกรปัจจุบัน “ดำเนินงานโรงงานอาหารสัตว์ 10 แห่ง ฟาร์มมากกว่า 4,000 แห่ง (ประกอบไปด้วย ฟาร์ม 64 แห่งซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของ หรือเช่ามา และอีกมากกว่า 4,000 แห่งซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรพันธสัญญา) โรงชำแหละสัตว์ 14 แห่ง และโรงงานแปรรูป 12 แห่งสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 1 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และสารเสริมสำหรับสัตว์ 1 แห่ง…”

(ส่วนหนึ่งใน “ข้อมูลสรุปของการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชน”)

 

ว่าด้วยขั้นพัฒนาเบทาโกร ดูมิได้ตื่นเต้นนัก หากเป็นตามกระแสและจังหวะ เชื่อว่ามีการเทียบเคียงกับผู้นำธุรกิจกับการแสวงหาช่องว่าง ตามทิศทางและแนวโน้มอุตสาหกรรมระดับโลก อย่างช่วงปี 2540-2549 ที่เรียกว่าทศวรรษที่ 4 กล่าวถึงกำเนิดแบรนด์และกระบวนการสินค้าอาหารคุณภาพอย่างจริงจัง (ที่รู้จักกัน-S-Pure)

เบทาโกรอยู่ในขบวนธุรกิจไทยผู้อยู่รอด ผ่านมรสุมอันเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ มีการปรับตัวปรับโครงสร้างธุรกิจให้เข้าโอกาสใหม่ๆ กรณีเบทาโกร ในฐานะธุรกิจครอบครัวเต็มขั้น เป็นไปอย่างเงียบๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กรณีผู้นำธุรกิจอย่างซีพี ที่ครึกโครมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจดั้งเดิม ในนาม ซีพีเอฟ “…ประกาศยุทธศาสตร์สำคัญ เป็น Kitchen of the World ด้วยแผนการขยายการผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ จะสร้างเครือข่ายการค้าปลีกอาหาร (Food Retail Chain) และพัฒนาสินค้าอาหารบรรจุหีบห่อภายใต้ brand name ของตนเอง” ผมเองเคยเสนอไว้

เบทาโกรพยายามสร้างเครือข่ายจำหน่ายสินค้าแบบเฉพาะของตนเองขึ้น

“…สาขาเบทาโกร ร้านเบทาโกรช็อป (Betagro Shop) สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2B และร้านเบทาโกรเดลี (Betagro Deli) สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C รวมถึงร้านเนื้อสัตว์อนามัยซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอก สำหรับลูกค้ากลุ่ม B2C มีสาขาเบทาโกร 96 แห่ง ร้านเบทาโกรช็อป 208 แห่ง ร้านเบทาโกรเดลี 31 แห่ง และร้านเนื้อสัตว์อนามัย 739 แห่ง…” ข้อมูลปัจจุบันว่าไว้

เบทาโกรกับการขยายเครือข่ายธุรกิจสู่ภูมิภาคอย่างจริงจัง เพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง ด้วยแรงกระตุ้นการเกิดขึ้นเขตเศรษฐกิจในอาเซียน หรือ ECC แตกต่างจากซีพี ที่มีเรื่องราวโลดโผนเป็นตำนานมานานหลายทศวรรษ เบทาโกรเจาะจงกับประเทศรอบข้าง อย่างกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งดำเนินไปอย่างกระชั้นตามแบบแผนทีเดียว

เบทาโกร ธุรกิจครึ่งศตวรรษ เป็นไปตามจังหวะ ดูมั่นคง อ้างอิงและเทียบเคียงกับวิวัฒนาการ บริบทและผู้นำธุรกิจ จนกลายเป็น “ผู้เล่น” ในอุตสาหกรรมใหญ่ที่ทรงพลัง

ในยามนี้ จึงน่าจะเป็นโอกาสของผู้เกี่ยวข้อง (stakeholders) โดยเฉพาะเจ้าของกิจการและนักลงทุน •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com