จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 27 ต.ค.-2 พ.ย. 2560

จดหมาย

0 ไม่น่าเชื่อ (1)

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560 ที่ซีคอน ศรีนครินทร์
มีการจัดนิทรรศการภาพวาด “อาลัยรักแด่พ่อหลวงของปวงชน”
ใจผมคิดว่า เดินชมเพลินๆ และชื่นชมว่ามีคนเอาใจใส่ รักและตั้งใจวาดภาพพระองค์มากมาย น่ายินดี
ผู้ประเสริฐย่อมได้รับการปฏิบัติชอบตอบแทน
เมื่อจากไปย่อมเป็นที่อาลัย
แต่พลันไปเห็นภาพภาพหนึ่ง ต่อมน้ำตาของผมก็ระเบิดทันที อย่าง “ไม่อยากเชื่อตนเอง”
ผมเดินไปหาภรรยาที่มาชมงานด้วยกัน บอกว่า “ไปหาดูสิ มีภาพหนึ่ง ฉันเห็นแล้ว ก็สภาพเป็นอย่างนี้”
ระหว่างที่ภรรยาไปหาว่าเป็นภาพไหนนะ ผมก็เดินวนกระสับกระส่ายไปมา ไม่อยากให้เป็นที่สังเกตว่ากำลังฝืนไม่ให้น้ำตามันนองออกมา แล้วแค่เพียงนึกถึงภาพอีก น้ำตามันก็จะไหลออกมาอีก
ผมบอกใครๆ เสมอ ว่าสิ่งที่ผมเคารพในหลวง อาจแตกต่างจากคนอื่น
ผมนับถือในผลงานและความตั้งใจจริงของพระองค์ท่านที่เอาใจใส่ปวงชนอย่างแท้จริง
คนอย่างผมก็ยังคงหมดความอดทน เมื่อได้เห็นภาพนี้
เป็นภาพ ครุฑกำลังส่งมือให้พระองค์ทรงยืน และครุฑก็พาพระองค์เหินทะยานขึ้นฟ้ากลับสวรรค์
เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง

ขออภัย ที่ปรับถ้อยคำบางส่วนใน “อีเมล”
เพื่อความเหมาะสม
ซึ่งอาจทำให้ “ความรู้สึก” ที่มีต่อในหลวง ซึ่ง เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง ต้องการสื่อ ว่า แตกต่างจากคนอื่นเป็นอย่างไร ไม่ชัดเจนอย่างที่ต้องการสื่อ
กระนั้น ที่สุด เสกสรร แสงจันทร์รุ่ง ก็มีความรู้สึก “ร่วม” เหมือนกับทุกคน
“ต่อมน้ำตาของผมก็ระเบิดทันที”

0 ไม่น่าเชื่อ (2)

เดือนกุมภาพันธ์ 2514
นับเป็นโอกาสดีของชีวิตอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
ได้มีโอกาสไปกราบนมัสการท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ที่สวนโมกขพลาราม
เพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องราวต่างๆ ของสวนโมกข์ เพื่อจะนำบางส่วนมาประกอบในภาพยนตร์สารคดีที่สร้าง
ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากท่านเป็นอย่างดี และยังมีโอกาสได้พูดคุยกับท่านหลายครั้ง ครั้งละนานๆ ขณะที่อยู่ในสวนโมกข์
บ่ายแก่ๆ จวนเย็นวันหนึ่ง
มีชายสูงอายุกลุ่มหนึ่งราวห้าหกท่าน เดินทางมายังพวกเรา พวกท่านก็ยิ้มให้
หนึ่งในผู้สูงอายุกลุ่มนั้น พอเห็นผมก็จำได้ทันที ท่านคือ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผมจึงรีบยกมือไหว้ทันที
มีผู้แนะนำตัวผมกับท่านอาจารย์ไปว่า “ปิยพงศ์ เพิ่งมาจากป่าบ้านแหร ธารโต บันนังสตา ยะลา ไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพวกเงาะป่าซาไก และแวะมาสวนโมกข์ เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องราวเกี่ยวกับสวนโมกข์”
ฟังเสร็จท่านก็เอ่ยปากชักชวนทันที “กินข้าวหรือยัง ไป ไปกินข้าวด้วยกัน”
แล้ววันมงคลวันนั้นก็ได้นั่งโต๊ะเล็กๆ ร่วมมื้อเย็นง่ายๆ ด้วยกัน ที่ร้านข้าวแกงเล็กๆ หน้าสวนโมกข์นั่นเอง
ข้าวราดแกงธรรมดาในจานสังกะสี คนละจานสองจาน น้ำเปล่าอีกคนละแก้วสองแก้ว ก็เรียบร้อย
ง่ายและสะดวกกันจังเลย
เป็นมงคลชีวิตจริงๆ
ไม่น่าเชื่อนะครับ อดีตประธานศาลฎีกา องคมนตรี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้น ท่านติดดินจริงๆ
หาท่าทางเจ้ายศเจ้าอย่าง เหมือนตำแหน่งที่ดำรงไม่มีเลย เรียบง่าย สมถะ
แล้วก็นึกภูมิใจ ที่ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธ คำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง ที่ทำให้ผู้ที่เข้าถึง เข้าใจแก่นแท้ของชีวิต
และเมื่อใช้ชีวิตในแนวสมถะ สันโดษ ชีวิตก็ดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร
ความต้องการส่วนตัวก็น้อยลง
ที่เหลือก็จุนเจือผู้คนและสังคม
“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน)

ที่มาของภาพ : ภาพท่านพุทธทาส อินทปัญโญ และท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ที่สวนโมกขพลาราม จากหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จากพุทธทาสภิกขุ 2449-2529 ที่ศิษยานุศิษย์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในวันล้ออายุครบ 80 ปี ท่านพุทธทาส ในปี 2529

ร่วม 2 ปีจากนั้น
“สัญญา ธรรมศักดิ์” ได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ซึ่งถือว่า “ร้อน” อย่างยิ่ง
หากไม่ยึดชีวิตในแนวสมถะ สันโดษ และมุ่งจุนเจือผู้คนและสังคมตามแนวพุทธ
ไม่รู้ว่า “สัญญา ธรรมศักดิ์” ต้องเป็นนายกฯ มากกว่า 2 สมัย หรือไม่
ยืนยัน “ความร้อน” เป็นอย่างดี
แต่ที่สุด ในบั้นปลาย สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้ “เย็นศิระเพราะพระบริบาล”
เมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งให้เป็น “ประธานองคมนตรี”