ละครเวทีกลางใจเมือง | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ละครเวทีกลางใจเมือง

 

คํ่าวันศุกร์ 30 กันยายนที่ผ่านมา ไปดูละครเวทีที่โรงละครชื่อ กาลิเลโอเอซิส ในย่านราชเทวี ได้เรื่องมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

เป็นละครสมัยใหม่ ชื่อ ART หรือศิลปะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ศิลปินชาวฝรั่งเศสชื่อ ยาสมินา เรซา เป็นผู้ประพันธ์ แปลเป็นไทยโดยคุณปวิตร มหาสารินันท์ หนึ่งในผู้แสดง ซึ่งมีเพียงสามคน ล้วนเป็นศิลปินชั้นนำทั้งสิ้น นอกจากคุณปวิตรแล้ว อีกสองคนคือ คุณดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ กับคุณนิกร แซ่ตั้ง ล้วนมีบทบาทประสบการณ์ละครเวทีนานาชาติมาแล้ว

เรื่องโดยย่อคือ การวิจารณ์คุณค่าของงานศิลปะ ซึ่งในเรื่องยกเอางานเขียนรูปคือภาพจิตรกรรมสีขาวล้วน เป็นเฟรมเปล่าสีขาวขนาดใหญ่โดยยังไม่มีรูปเขียนใดๆ ทั้งสิ้น

แต่อธิบายว่าเป็นภาพสีขาวเขียนด้วยเส้นสีขาว ทั้งสามต่างช่วยกันตีความถึงคุณค่ามหาศาลของภาพนี้ ซึ่งซื้อมาด้วยเงินมูลค่าสูงสุด

ที่สุดต้องมาถกเถียงเรื่องคุณค่าของงานศิลปะว่า “คุณค่า” คืออะไร

ตรงนี้แหละสนุก ด้วยต่างคนก็ต่างมีมุมมองทัศนะไปตามวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งทะเลาะถึงทำร้าย จนถึงปลอบใจเห็นใจกันเพราะความเป็นเพื่อนรักกันนั่นเอง ถ้าจะแสดงโวหารแบบกวนๆ ก็คือ

“คิดมากกับความคิดมาก เรื่องคิดมากว่าคิดมากไปหรือเปล่า”

ทั้งสามเหมือนดังจะเป็นตัวแทนของ “ความรู้สึก” “ความนึก” “ความคิด” อันเป็นบทบาททั้งหมดของจิตใจคนนี่เอง

 

น่าชมคือ บทบาทการแสดงของทั้งสามคนที่ตรึงคนดูได้จริง ทำให้ได้นำมาคิดต่อได้อีกหลายมุมมอง ต้องชมผู้กำกับการแสดงคือ คุณภัทรสุดา อนุมานราชธน ที่ทำให้ห้องเล็กๆ มีคนดูราวห้าสิบคนอยู่ริมสองด้านของเวทีคือกลางห้องนั่นเอง ไม่ต้องมีไมโครโฟนพูดกันสดๆ ปากเปล่าได้ยินกันทั่วถึง

พิเศษคือผู้บันดาลให้เกิดโรงละครและสถานที่เสมือนสาธารณสถาน หากเป็นพื้นที่ทั้งหมดของคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง ทายาทผู้อยู่ในที่นี้มากว่าสี่สิบปี เธอปรับปรุงตึกแถวสองด้านเว้นบริเวณกลางให้เป็นดังพื้นที่สาธารณะ ตึกแถวสองฟากทลายฝากั้นให้กลายเป็นซุ้มโค้งโดยไม่ปรับสภาพเดิมคือยังเป็นอิฐปูนกะเทาะ แล้วมีห้องต่างๆ ทั้งร้านค้าและห้องแสดงงานศิลปะ รวมถึงชั้นบนยังจัดเป็นห้องพักให้เช่าพักแรมอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือ โอเอซิสกลางใจเมืองป่าคอนกรีตให้เห็นความเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้อย่างลงตัว ซึ่งคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง เองก็เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานละครมาตลอด แม้จนวันนี้

เธอจึงเป็นศูนย์รวมคนรักงานละครเวที ยืนหยัดพัฒนามาเป็นโรงละครและสถานอันเป็นดังที่ชุ่มชื้นกลางทะเลทราย ณ กลางใจเมืองแห่งนี้

ที่ควรคิดต่อคือ สถานที่อย่างนี้แหละบ้านเมืองเรายังขาดอยู่ ผู้มีอำนาจไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่สนใจไม่เห็นคุณค่า ทั้งที่นี่แหละคือสิ่งที่เวลานี้มาเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า SOFT POWER โดยใช้ห้า F เป็นหลักคือ เฟสติวัล ฟู้ด แฟชั่น ฟิล์ม ไฟติ้ง (มวยไทย)… เฮ้อ!

 

ที่จริงละครเวทีนี้เป็นพื้นฐานทั้งหมดของงานศิลปะสร้างสรรค์ ที่เกาหลีนั้นเมื่อกว่าสี่สิบปีแล้วเขามีโรงละครเวทีง่ายๆ แบบนี้แทบจะทั่วไปกลางกรุงโซล โรงละครเวทีทั้งหมดดังกล่าวรัฐเป็นผู้ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง เราจึงได้เห็นพลังซอฟต์เพาเวอร์เกาหลีแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก ดังไทย ทั้งละครแดจังกึม หนังเกาหลี วงดนตรี ดารา กระทั่งหนุ่มสาวไทยก็ดูหน้าตาจะเป็นเกาหลีกันไปแล้ว จนถึงร้านอาหารเนื้อย่างเกาหลีนั่น

ครั้งหนึ่งศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สมัยอยู่สาขาหัวลำโพง ก็เคยเปิดเวทีละครสมัยใหม่มาแล้ว

ที่ถนนพระอาทิตย์เองก็เคยมีเทศกาลละครเวที

แต่ทั้งหมดนี้ เราไม่เอาจริงเอาจัง ไม่เห็นความสำคัญของละครเวทีว่าเป็นทั้งรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐานของงานศิลปวัฒนธรรม

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ไทยจึงเหมือนอยู่ในคลองน้ำเน่าแทบทั้งหมด

ที่เยอรมนี เขามีละครเวทีให้คนได้เข้าใจโลก เข้าใจสังคม เข้าใจปัญหา ขจัดความขัดแย้งได้จริงด้วย

อย่างบ้านเราวันนี้ศึกสีเหลืองแดงนั้น อาจอธิบายได้ด้วยละครเวทีในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง ไม่ต้องยืดเยื้อกันมาจนวันนี้ และเหมือนจะไม่มีวันจบเอาจริงๆ ด้วย

 

อยากเห็นละครเวทีตามโรงหนังต่างๆ ที่กำลังจะร้างกันอยู่แล้วนี้ ช่วยปรับเป็นโรงละครเวทีได้ไหม

ศูนย์การค้าทั้งหลายด้วย มีห้องเล็กๆ ให้ละครเวทีได้ไหม ทุกสถาบันการศึกษายิ่งสำคัญสุดต้องมีกิจกรรมนี้ทุกสถาบันด้วย

โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรมเราซึ่งมีสถานที่โอ่อ่ามากก็ต้องมีเวทีละครสมัยใหม่ด้วย ไม่ใช่มีเฉพาะงานอนุรักษ์เท่านั้น

ภาพยนตร์ดีๆ ดังเราจัดเป็นหนึ่งในพลังซอฟต์นี่ก็เพราะเป็นที่รวมของทุกงานศิลปะไว้ทั้งหมดได้ในไม่เกินสองชั่วโมง ซึ่งงานวรรณกรรมยิ่งใหญ่ เช่น เหยื่ออธรรม ถ้าอ่านจบอาจใช้เวลาเป็นเดือน แต่เป็นละครแค่สองชั่วโมง และแสดงอยู่แม้จนวันนี้กระมัง

ภาพยนตร์ดีๆ ล้วนมีพื้นฐานจากละครเวที ด้วยการพัฒนาตั้งแต่เรื่อง บท กำกับการแสดง ฉาก มุมกล้องคือมุมมอง ดนตรี เสียง แสง สี และการตัดต่อล้วนเป็นศิลปะสร้างสรรค์ทั้งสิ้น

ชีวิตคนคือต้นฉบับ ซึ่งเป็นดังรากฐาน

งานศิลปะเป็นดังพื้นฐาน

งานสร้างสรรค์นั้นเป็นดังภูมิฐาน

สามฐานคือความสำคัญของงานศิลปวัฒนธรรม

ซึ่งบ้านเรายังให้ความสำคัญน้อยนัก •

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์