ระวังอภินิหารกฎหมายลูก | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร
Photo by Romeo GACAD / AFP

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ระวังอภินิหารกฎหมายลูก

 

คําว่า “อภินิหารทางกฎหมาย” (Miracle of Law) ได้ถูกนำมาใช้หลายครั้งในบ้านเมืองเรา เมื่อกรณีเนื้อหาของกฎหมายเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปในไปทางหนึ่ง แต่ผู้มีหน้าที่วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากกลับมีคำตัดสินไปในอีกทางหนึ่งให้ค้านสายตาของประชาชนทั่วไป โดยมักจะเป็นการตัดสินที่เอียงเอนไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

เมื่อปี พ.ศ.2544 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินกรณีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มีมติ 8:7 ว่าเป็น “การบกพร่องโดยสุจริต” โดยเห็นว่าแม้จะเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จแต่มิได้มีเจตนา ไม่ควรต้องโทษตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ

กรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้มีสถานะเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากถือหุ้นสื่อ เมื่อปี พ.ศ.2562 และกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2563 เนื่องจากมีการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากถึง 191.2 ล้านบาท แต่กลับไม่ลงโทษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นที่ถือหุ้นสื่อ และไม่ยุบพรรคการเมืองอื่นที่มีลักษณะการกู้ยืมเงินจากคนในพรรคด้วยเหตุเป็นการกู้เงินจำนวนน้อยต่ำกว่า 10 ล้านบาท นับเป็นการใช้แง่มุมทางกฎหมายที่อยู่ในความจดจำของประชาชน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 การตัดสินกรณีการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แม้ประชาชนรับรู้ว่า บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ระบุจุดมุ่งหมายชัดเจนว่า ข้อกำหนดนี้มีเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจยาวนานอันนำไปสู่วิกฤตการเมือง แต่มุมการตัดสินทางกฎหมายยังมีช่องลอดให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกถึง 2 ปีเศษ

อภินิหารทางกฎหมายอาจยังไม่จบ เพราะร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันเลือกตั้งยังอาจมีเรื่องราวที่คาดไม่ถึง

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

พินิจคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ

คําร้องของ สมาชิกวุฒิสภา 77 คน เกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่าขัดหรือแย้งของรัฐธรรมนูญในประเด็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองในการสรรหาผู้สมัครของพรรคการเมือง โดยมีกระบวนการของการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) ที่ค่อนข้างเป็นแค่พิธีกรรม สมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง เพราะในขั้นท้ายสุดไม่ว่าผลการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดตัวผู้สมัครในระดับพื้นที่จะเป็นอย่างไร แต่การตัดสินแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะไปอยู่ที่คณะกรรมการบริหารพรรคโดยไม่มีกระบวนการให้อุทธรณ์ใดๆ ได้

ส่วนคำร้องของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวม 106 คน เกี่ยวกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีข้อความขัดหรือแย้ง และมีกระบวนการได้มาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้นมีสาระคือ การกำหนดให้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้วิธีการนับแบบคู่ขนาน (Parallel counting) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “หารร้อย” นั้นขัดกับ หลักการในมาตรา 93 และ 94 ของรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

ส่วนประเด็นของวิธีการได้มาของกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ร้องได้อ้างถึงวิธีการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งที่เลือกใช้วิธีการไม่แสดงตัวในที่ประชุมรัฐสภาจนเป็นเหตุให้สภาล่มต่อเนื่องกันถึง 4 ครั้ง จนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จทันในกรอบเวลา 180 วันตามเงื่อนไขที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้กฎหมายต้องตกไปและต้องกลับไปยึดร่างแรกของคณะรัฐมนตรีที่เสนอต่อรัฐสภาแทน

ศาลรัฐธรรมนูญ จะกำหนดกรอบแนวทางในการวินิจฉัยในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 และคาดว่าน่าจะมีคำวินิจฉัยได้ในราวปลายเดือนตุลาคม หรือ ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

ผลที่เกิดกรณีร่างพระราชบัญญัติ
มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ตามวรรคสาม และวรรคสี่ มาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นมีข้อความขัดหรือแย้งหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและข้อความดังกล่าวเป็นข้อความสำคัญ ก็ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป แต่หากไม่ใช่ส่วนที่สาระสำคัญ ก็ให้เฉพาะข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย

ปัญหาที่หลายคนวิตกคือ หากคำวินิจฉัยเป็นว่า ขัดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแล้วร่างกฎหมายต้องตกไปทั้งฉบับจะเกิดอะไรขึ้นตามมา

สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น หากตกไปทั้งฉบับอาจไม่มีผลอะไรมาก เพราะแม้จะต้องกลับไปใช้กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นแบบที่กำหนดในกฎหมายปัจจุบัน พรรคการเมืองก็คงหาทางแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ยาก

แต่สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากตกไปทั้งฉบับจะไม่มีกฎหมายลูกที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขให้การเลือกตั้งต้องใช้บัตรสองใบและเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 400 : 100 แล้ว

คณะกรรมการการเลือกตั้งคงไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ หากไม่มีกฎหมายที่รองรับในการดำเนินการ จึงเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายคณะรัฐมนตรีจะต้องหาวิธีการทางกฎหมาย เพื่อให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ หรือมีรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

อภินิหารไม่มีจริง?

อภินิหารทางกฎหมายคงไม่เกิดหากศาลรัฐธรรมนูญผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ

แต่หากกรณีไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การออกพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยยังคงหลักการบัตรเลือกตั้งสองใบแต่มีวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในแบบที่แตกต่างจากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ คือ บัตรสองใบ สัดส่วนส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400 : 100 แต่คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ “หารร้อย” เหมือนเดิมได้ ดังนั้น “หารห้าร้อย” อาจกลับคืนมา นี่คืออภินิหารแบบที่หนึ่ง

แต่หากรัฐบาลเห็นว่า การออกพระราชกำหนดที่มีเนื้อหา “หารห้าร้อย” อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขไปแล้ว รัฐบาลอาจเลือกแนวทางเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 3 มาตรา คือ มาตรา 83, 86 และ 91 เพื่อให้กลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยไม่ต้องแก้ไข กฎหมายลูกใดๆ ได้

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นปีหน้า ก็จะกลับไปใช้บัตรใบเดียว และมีสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลับเป็น 350 : 150 และจัดการเลือกตั้งแบบเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 ทุกประการ

อภินิหารแบบที่สองนี้ดูจะยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าแบบแรกมากมาย โดยอาจได้รับเสียงก่นด่าจากประชาชนและพรรคการเมืองว่า เป็นการแก้ไขกติกากลับไปกลับมาแล้วแต่ประเมินว่าแบบใดจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองสูงสุด ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามเสียเปรียบมากที่สุด โดยไม่เคยมีคำว่าเกรงใจประชาชนอยู่ในความคิดของผู้ปกครองบ้านเมือง

ว่าแต่คำว่า “เกรงใจประชาชน” นั้น คงไม่เคยมีในเหล่าผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง มิเช่นนั้นจะอยู่กันยาวนานถึงมากกว่า 8 ปี แล้วยังไม่รู้จักพอกระนั้นหรือ