โล่เงิน : มองต่างมุม “ตำรวจ-อัยการ” ให้”อัยการ” กรองก่อนแจ้งข้อหา ทำลายอิสระหรือรอบคอบ?!

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2561

กระแสการปฏิรูปประเทศก็กลับมาอีกครั้ง

และประเด็นที่ประชาชนสนใจ คือการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มีการนำข้อเสนอแก้ไขกฎหมายและวางแผนงานจากคณะอนุกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา มีประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองคือ “อำนาจสอบสวน”

ไม่กี่วันก่อนมีข่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ว่า ในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างดุเดือด จากข้อเสนอผู้แทนอัยการที่จะให้มีการถ่วงดุลโดยให้อัยการเข้ามากลั่นกรองตรวจสอบก่อนการแจ้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน

และอัยการจะสามารถร่วมตรวจสอบลงพื้นที่เกิดเหตุได้

เรื่องนี้ พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง ในฐานะเลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน เข้าร่วมประชุม เห็นว่าที่ผ่านมากฎหมายให้อำนาจอัยการสอบสวนหลายเรื่อง อาทิ คดีนอกราชอาณาจักร หรือคดีเยาวชน ในทางปฏิบัติอย่างคดีเยาวชนตำรวจจะต้องพาตัวเด็กไปให้อัยการสอบสวน ทั้งที่ตามหลักอัยการต้องมา สน. ตรงนี้แสดงความไม่พร้อมของอัยการ

พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย

ส่วนกรณีอัยการจะร่วมตรวจที่เกิดเหตุ หรือกลั่นกรองก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหามองว่า ถ้าจะตรวจที่เกิดเหตุ อัยการต้องมีความพร้อม ต้องเข้าเวรอยู่กับพนักงานสอบสวน

ส่วนเรื่องจะให้อัยการกลั่นกรองก่อนแจ้งข้อหาเป็นไปไม่ได้ จะซ้ำซ้อน กฎหมายระบุชัดว่าการแจ้งข้อหาต้องมีพยานหลักฐาน อัยการไม่ได้ทำสำนวนมาตั้งแต่ต้น ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเข้ามา

ขณะที่ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา ค้านว่า ตามที่อ้างหลักสากล ความจริงเป็นเพียงกฎหมาย เชิงทฤษฎี ทางปฏิบัติจริงๆ ไม่ค่อยมีอยู่จริงสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ หรือญี่ปุ่น

กรณีของประเทศที่ยังไม่มีหลักนิติรัฐเข้มแข็ง การเข้ามาในลักษณะที่เป็นการร่วมหัวจมท้ายกันควบคุมทิศทางการสอบสวนจะเกิดขึ้นได้ง่าย

และจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายที่ไม่อาจคำนวณได้เลย เป็นการทำลายระบบถ่วงดุล และล้มละลายหลักประกันความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐาน

ส่วนแนวคิดที่ให้อัยการเข้ามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนคดีอาญานั้น เคยมีกรรมการลักษณะนี้จำนวนมาก แต่การดำเนินคดีแบบคณะกรรมการจะล่าช้ามาก กว่าจะตั้งได้ เรียกประชุม พร้อมกันทุกคน ไหนจะการตั้งข้อรังเกียจหรือโต้แย้งคุณสมบัติ ความยุติธรรมที่ล่าช้าเกิดขึ้นมากขึ้น คดีจะทยอยขาดอายุความ

“การปฏิรูปต้องใช้วิธีอื่น ถ้าอยากจะแก้ปัญหาจับแพะ ต้องควบคุมเทคนิคการสอบสวน อาจเพิ่มวิธีการใช้เทปบันทึกขณะสอบสวน มีหลักประกันความมั่นคงของวิชาชีพ อย่าคิดว่าเอา “คน” มาคุม “คน” จะดีขึ้น การปฏิรูปตำรวจต้องศึกษาตัวแบบทั่วโลกเอามาใช้เป็นแม่แบบ อย่าใช้มโน ช้าสักนิด แต่ชัวร์ จะดีกว่า”

บางท่อนบางตอนที่ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล ให้เหตุผลไว้

ส่วนเสียงฝั่งพนักงานอัยการ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) หนึ่งในผู้ผลักดันจนมีการตั้งอัยการสำนักงานสอบสวนเข้าไปร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในคดีสำคัญ กล่าวว่า พนักงานอัยการประเทศไทยมีอำนาจฟ้องร้องคดี ไม่มีอำนาจสอบสวน แต่ให้สอบสวนได้เฉพาะคดีที่เกิดนอกราชอาณาจักร มีอำนาจในการดำเนินคดี ไม่มีการบังคับคดี

แต่ในปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 (ง) ระบุถึงการถ่วงดุลการสอบสวน การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนในคดีไม่สำคัญสามารถทำได้ แต่คดีสำคัญบางอย่างจำเป็นต้องพึ่งอัยการ อัยการควรรู้ตั้งแต่ต้นว่าควรแจ้งข้อหาใดหรือไม่ และกลั่นกรองให้รอบคอบ การให้อัยการร่วมสอบสวนคดีใหญ่นั้นเห็นด้วย ส่วนคดีกลางๆ ก็ควรผ่านการกลั่นกรองของอัยการ

“ที่มีความกังวลว่า การให้อัยการเข้ามากลั่นกรองตรวจสอบก่อนแจ้งข้อหาจะทำให้เกิดความล่าช้านั้น ไม่จริง อย่างเรื่องสอบสวนชันสูตรพลิกศพ อัยการเข้าเวรเหมือนกับตำรวจ และในทางปฏิบัติอัยการเดินทางไปสอบสวนร่วมกับตำรวจ ถ้าเราช่วยกันทำงานจะเกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมกับประชาชน พูดง่ายๆ คือเมื่อไม่อยากให้เกิดแพะ ควรกำหนดว่าคดีประเภทใดที่ต้องกลั่นกรอง รับรองว่าอัยการไม่ล่าช้าแน่นอน เว้นแต่บางเรื่องในคดีสำคัญต้องร่วมสอบสวน คดีกลางๆ ก็กำหนดประเภทที่ต้องกลั่นกรอง ถ้าทำได้ดีแล้วจะร่วมสอบสวนเพิ่มขึ้นก็ได้ การสอบสวนฟ้องร้องต้องไปด้วยกัน

“การสอบสวนไม่ใช่ตำรวจอย่างเดียว อย่างคดีภาษี กำลังมีการเสนอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เข้าไปสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนยังเหมาะที่จะเป็นตำรวจ แต่จะเป็นฝ่ายเดียวเหมือนเดิมไม่ได้” ทรรศนะจากตัวแทนฝ่ายพนักงานอัยการ

เช่นเดียวกัน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ยืนยันว่า การให้อัยการเข้าไปร่วมสอบสวนในต่างประเทศมีใช้อยู่ อย่างสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้อัยการเป็นคนตั้งข้อหากลั่นกรองก่อน การฟ้องศาลในต่างประเทศอัยการเลยฟ้องหมด ไม่มีไม่ฟ้อง

แต่ของประเทศไทยหลักการกลับแยกเด็ดขาด

จะมีที่มาร่วมทำงานกันมากขึ้น มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการสอบสวนเป็น เพราะต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมประเด็นต่างๆ ให้ครอบคลุม รู้ว่าอะไรที่เราจะใช้ในศาล

ปัจจุบันบอกเลยว่าสำนวนการสอบสวนที่ตำรวจเสนอมาและอัยการสั่งไม่ฟ้อง ที่ต้องส่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) ของตำรวจเองก็ยังมีการสั่งให้สอบเพิ่มเติมเลย เพราะรู้ว่าลูกน้องสอบสวนไม่ครบ จริงๆ แล้วเราสามารถทำงานด้วยกันได้ อัยการไม่ได้อยากทำหมดเพราะกำลังไม่พอ จะลงไปสอบสวนทุกเรื่องไม่ได้

“ที่บอกว่ามีการทำลายหลักถ่วงดุลความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวนนั้น คนพูดประโยคนี้เข้าใจผิด เพราะหลายเรื่องที่เราให้สอบเพิ่มเพราะพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาไม่ครบ เราไม่ได้ไปแย่งอำนาจพนักงานสอบสวน แต่มาช่วยกันทำงานให้คดีเป็นไปตามธรรมชาติ ไปช่วยกลั่นกรอง อย่างคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ อัยการควรได้เข้าไปดู ต่อไปคดีที่จะให้อัยการเข้าไปดูควรเป็นคดีที่มีอัตราโทษหนัก คดีอุกฉกรรจ์ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคนออกแบบกฎหมาย ที่กังวลว่าฮั้วกันและเกิดผลเสีย เราไม่ได้มีการคิดว่าคนไม่ดีอยู่ด้วยกันแล้วจะไม่ดี เราคิดแต่เรื่องความครบถ้วนรอบคอบ ถ้าเดินบนหลักการก็ไม่เป็นไร เราทำเพื่อหลักประกันของประชาชน อย่ามาเถียงกันเรื่องอำนาจ เราจะทำยังไงให้ความยุติธรรมเป็นหลักประกันจริงๆ” รองอธิบดีอัยการสำนักชี้ขาดคดีอัยการสูงสุดระบุ

เป็นมุมมองของตำรวจและพนักงานอัยการ ที่ต้องเกิดการตกผลึก เพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)!!