หน้าฝนทีไร ใครๆ ก็ไป “อีต่อง” หมู่บ้านที่ “เปลี่ยนแปลง” ตามยุคสมัย

เปิดหน้าฟีดเฟซบุ๊กช่วงหน้าฝนแบบนี้มักจะได้เห็นภาพสีเขียวจากการที่เพื่อนๆ หรือใครๆ พากันเข้าป่า ขึ้นเขาไปสัมผัสกับความเขียวขจีของต้นไม้ และดื่มด่ำกับธรรมชาติในช่วงฤดูฝน

รู้สึกแปลกใจที่ช่วงหนึ่งเดือนหลังมานี้ภาพหมู่ “บ้านอีต่อง ปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี” เด้งขึ้นมาโชว์บนฟีดเฟซบุ๊กอยู่หลายต่อหลายครั้ง

สวยจนทำให้ต้องตัดสินใจไปเยือนสักครั้งหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพนั้นกับตา

แต่ใครจะไปรู้ว่า การไปเยือน “บ้านอีต่อง” ในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลง และอะไรต่างๆ ที่มากไปกว่าความสวยงาม

“บ้านอีต่อง” เป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา แต่กลับคึกคัก มีเกสต์เฮ้าส์ตลอดสองข้างทางตั้งแต่หน้าหมู่บ้านยันท้ายหมู่บ้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

คำถามเกิดขึ้นในใจเราตลอดการเดินทางว่า อะไรที่ทำให้ “บ้านอีต่อง” ครึกครื้นทั้งที่อยู่กลางหุบเขาได้ขนาดนี้ แถมครั้งหนึ่งยังเคยถูกปล่อยให้กลายเป็นเมืองที่เกือบร้างผู้คนมาก่อน

แล้วเราก็เริ่มหาคำตอบ…

โชคดีเรามีโอกาสรู้จัก “ลุงทินกร ทรายทอง” อดีตผู้ใหญ่บ้านอีต่อง เนื่องจากเราว่าจ้างรถกระบะ 4W ของลุงเพื่อไปเยี่ยมชมเหมืองแร่เก่า

“ลุงทินกร” เล่าว่า “อีต่อง” นั้นเป็นชื่อหมู่บ้านที่เพี้ยนมาจากเดิม คือหมู่บ้าน “ณัตเอ่งต่อง” (ภาษาพม่า) ซึ่งแปลว่า “หมู่บ้านเขาเทวดา” หรือ “หมู่บ้านเขาเทพยดา” ซึ่ง “หลวงพ่ออุตตมะ” เป็นผู้ตั้งชื่อให้

นอกจากนั้น ยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “หมู่บ้านผีหลอก” คนต่างถิ่นเรียกเพี้ยนไปเป็นหมู่บ้าน “ปิล๊อก” ทางการจึงตั้งชื่อตำบลแห่งนี้ว่า “ตำบลปิล๊อก” ไป

“ลุงทินกร” บอกว่า เมื่อก่อน “อีต่อง” เป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องการทำเหมืองแร่ โดยเริ่มเปิดทำเหมืองแร่ในปี 2482 แร่ของที่นี่จะมีทั้งแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรม โดยแร่ดีบุกราคาจะดีมาก และเป็นที่ต้องการของตลาด

แร่ดีบุกมีราคาซื้อขายตามเปอร์เซ็นต์ของแร่ หากเปอร์เซ็นต์ดีก็จะขายได้ราคาสูงขึ้น โดยราคาที่ได้ตกกิโลกรัมละ 100-150 บาท เมื่อเทียบกับทองคำในสมัยนั้นแล้วถือว่ามีราคาสูงมาก (เพราะทองสมัยนั้นราคาบาทละ 300 กว่าบาท)

ส่วนชาวบ้านมีค่าแรงถึงวันละ 25 บาท ขณะที่แร่วุลแฟรมราคาไม่ค่อยดีนัก และขึ้นลงบ่อย เพราะมีความต้องการใช้น้อยกว่า แต่ก็ยังถือเป็นแร่ที่ทำรายได้ให้กับชาวบ้าน

ช่วงรุ่งเรืองแห่งการทำเหมืองก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้เกิดพื้นที่ค้าขายในหมู่บ้าน ในลักษณะแลกเปลี่ยนสินค้า คือแบกสินค้ามาเหมือนกองทัพมด

บวกกับชายแดนเป็นจุดผ่อนปรน ทำให้การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย “ลุงทินกร” บอกว่า “อีต่อง” ในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูและเจริญถึงขีดสุด

เมืองเล็กๆ กลางหุบเขาแห่งนี้ มีโรงภาพยนตร์ถึงสองโรง มีห้างสรรพสินค้าขนาดย่อม มีทุกอย่างเทียบเท่ากับย่านในเมือง ในแต่ละวัน แต่ละเดือน มีคนเดินทางเข้าออกจำนวนมาก ทั้งพ่อค้า แม่ค้า นักธุรกิจ ตลอดไปจนถึงคนงานเหมือง

แม้ “อีต่อง” จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่กลับทำเงินได้มากมาย ชาวบ้านมีรายได้ไม่ขาดมือ มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำการค้า การลงทุน และประกอบกิจการในเมืองเล็กๆ แห่งนี้จำนวนมาก

แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีให้เห็นเสมอ “ลุงทินกร” บอกว่า ประมาณปี 2525 เหมืองต่างๆ เริ่มทยอยปิดกิจการลง จนถึงปี 2528 เหมืองทุกแห่งก็ปิดตัวทั้งหมด เหตุเพราะราคาแร่ตกต่ำ เนื่องจากหลายปัจจัย

อาทิ ช่วงนั้นแร่เมืองจีนราคาถูก และมีปริมาณส่งออกมาก ขณะเดียวกัน ก็มีวัตถุดิบอื่นที่ใช้ทดแทนในการผลิตสินค้าต่างๆ ได้มากขึ้น โดยต้นทุนต่ำกว่า และคุณภาพดีกว่า

พอทุกเหมืองแร่ที่เคยเฟื่องฟู และเป็นที่ทำรายได้ให้ผู้คนนับไม่ถ้วน หยุดกิจการลง ชาวบ้านกรรมกรเหมือง และผู้บริหารเหมือง จึงต้องโยกย้ายไปทำมาหากินที่อื่น

นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงรอบที่ 1

และเหมือน “หมู่บ้านแห่งเทพยดา” แห่งนี้ จะถูกเทพยดาทอดทิ้งอย่างไรอย่างนั้น

ประมาณปี 2534 เป็นต้นมา ได้มีการปิดชายแดน ทำให้ชาวบ้านอพยพโยกย้าย เสมือนผึ้งแตกรังอีกครั้ง

สภาพหมู่บ้านเหมือนหมู่บ้านร้าง เหลือเพียงผู้เฒ่า ผู้แก่ คนสูงวัย และเด็กๆ ไม่กี่สิบครัวเรือน

หนุ่ม-สาวรุ่นใหม่ต้องออกไปดิ้นรนทำมาหากินในเมือง เพื่อส่งเงินมาให้พ่อแม่ แต่ถึงอย่างนั้น คนที่นี่ก็ยังไม่ยอมแพ้ ชาวบ้าน กรรมการหมู่บ้าน และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นได้พูดคุยเรื่อยมาว่า ผู้คนในบ้านอีต่องจะสามารถประกอบอาชีพอะไรได้อีกบ้าง?

ทุกคนมองเห็นว่ามีแต่เพียง “การท่องเที่ยว” เท่านั้น ที่จะสามารถช่วยให้หมู่บ้านของพวกตนพลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่

จึงคิดพัฒนาและปรับหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว

“มาถึงยุคที่ผมเข้ามาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผมเริ่มผลักดันการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จนในปี 2554 ได้พัฒนาหมู่บ้าน และสร้างแลนด์มาร์ก มุมถ่ายรูปต่างๆ ให้สวยงามขึ้น มีโคมไฟรอบหมู่บ้าน มีป้ายต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ มีซุ้มเข้าหมู่บ้านที่สวยงาม

“มีการพัฒนาด้านวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจจากกิจการร้านค้า ร้านอาหาร ร้านของฝาก

“จนปี 2555 ถึงเห็นว่าควรมีที่พักที่เด่น ที่สะอาด ควรเป็นสไตล์แบบบ้านๆ ตกแต่งบ้านให้มีเอกลักษณ์บรรยากาศเหมืองๆ ให้เกิดอารมณ์รู้สึกเหมือนมาพักในเหมืองจริงๆ มีเครื่องไม้เครืองมือการทำเหมืองวางโชว์ไว้ตามจุดต่างๆ มีทั้งแร่ดีบุก แร่วุลแฟรมในที่พัก

“จึงเกิดที่พักโฮมสเตย์ ต่อมามีโฮมสเตย์เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ชาวบ้านเริ่มเห็นว่า การทำโฮมสเตย์มีรายได้ที่ทำให้อยู่ได้พอเพียง และเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้ ก็เริ่มมีการพัฒนาบ้านของตนจากบ้านเก่าบ้าง สร้างบ้านใหม่บ้าง แต่ไม่มีการรุกล้ำที่สาธารณะ” ผู้ใหญ่ทินกร เล่าให้เราฟังอย่างภาคภูมิใจ

ผู้ใหญ่ทินกร ยังบอกเราอีกว่า ทุกวันนี้ “อีต่อง” เริ่มมีความเจริญมากขึ้น

“เคยมีคนมาถามผมเมื่อประมาณปี 2556 ว่า จากการที่ได้เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเออีซี ทางหมู่บ้านเตรียมตัวที่จะรองรับและพัฒนาแนวทางอย่างไรต่อไป

“ผมตอบไปว่า มี 3 สิ่งที่ควรรักษาไว้ คือ 1.รักษาวัฒนธรรมของชาวบ้าน หรือวิถีชีวิตเดิมๆ ของชาวบ้านให้มั่นคง 2.รักษาความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงไว้ และ 3.รักษาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติไว้ให้คงมั่น ขอให้รักษาสามสิ่งนี้แทนคำว่าพัฒนา แล้วเราจะอยู่รอด เราจะมั่นคง เราจะมีความสุขตลอดไป”

“ลุงทินกร” ทิ้งท้ายว่า ตนเองได้สร้าง “เกราะป้องกัน” ไว้ให้หมู่บ้านสองอย่าง

คือ 1.หลังสี่ทุ่ม ต้องงดใช้เสียงใดๆ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนข้างบ้าน (ชาวบ้าน) และ 2.ห้ามมีร้านสะดวกซื้อ ร้านคาราโอเกะ ไนต์คลับ บาร์ ผับ สิ่งมอมเมา ซึ่งอาจทำให้เกิดคดีอาชญากรรมต่างๆ ได้ โดยตกลงกับชาวบ้าน กรรมการหมู่บ้าน หน่วยงานในพื้นที่

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไร้ชาวบ้าน ตชด. ทหาร โรงเรียน สภ.ปิล๊อก อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อบต.ปิล๊อก โรงพยาบาล สต.ปิล๊อก กรรมการหมู่บ้าน ตลอดจนผู้พลัดถิ่น ที่ร่วมมือกัน จนทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่มีการจัดการบริหารที่ดี

วันนี้ “อีต่อง” ยังคงงดงาม เป็นเมืองในสายหมอกที่มีป่าไม้และแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากความงามของพื้นที่ในการประกอบอาชีพ เหมืองที่เคยถูกทิ้งร้างกลับกลายเป็นจุดสนใจในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมอดีตแห่งความรุ่งเรืองของที่นี่

หมู่บ้านแห่งนี้เปลี่ยนสภาพจาก “เหมืองทำเงิน” มาเป็น “เกสต์เฮ้าส์” ทำรายได้

คนที่นี่เปลี่ยนจาก “คนงานเหมือง” มาเป็นพ่อค้าแม่ขายและเจ้าของกิจการ

ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางที่เปลี่ยนเร็ว บางที่เปลี่ยนช้า

อยู่ที่ว่าเราจะตั้งรับ ปรับตัว ปรับใจ และรับมือ พร้อมใช้โอกาสจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร เพื่อให้เราก้าวต่อไปได้

และคงดีกว่าการมานั่งตั้งคำถามไปวันๆ ว่า เพราะเหตุใดบางสิ่งจึงเปลี่ยนไป โดยที่เราไม่ลงมือจัดการอะไรกับความเปลี่ยนแปลงนั้น

นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการไปเยือน “อีต่อง” ในครั้งนี้