ฉัตรสุมาลย์ : ปัญหาของภิกษุณีในเนปาล

ท่านธัมมนันทาท่านสนใจที่จะกลับไปทำงานเรื่องภิกษุณีในเนปาลมากเป็นพิเศษ

ถามท่านว่า มีอะไรที่ท่านผูกพันนักหนา

ท่านนิ่งไป แล้วค่อยๆ ตอบว่า อาจจะเป็นความผูกพันว่า เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่นั่น และบ้านเกิดของท่าน คือกรุงกบิลพัสดุ์นั้น ก็อยู่ในเนปาล

อย่างน้อยที่สุดท่านก็ประทับที่นั่นถึง 29 ปี ก่อนที่จะออกบวช และเดินทางลงมาเผยแผ่ศาสนาทางใต้ คืออินเดีย

นอกจากนั้น ที่เนปาลยังมีชาวเนปาลที่ใช้นามสกุลว่า ศากยะ อีกเป็นจำนวนมาก

แม้ว่าความเข้าใจเดิมว่าเป็นเชื้อสายสกุลของพระพุทธเจ้าอาจจะไม่เป็นความจริง ที่พบใหม่ น่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่หนีตายจากการกวาดล้างของเติร์กมุสลิมที่เข้ามาโจมตีในอินเดียในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 11-12

พระภิกษุเหล่านี้ เมื่อย้ายถิ่นฐานมาไม่สามารถรักษาพรหมจรรย์ไว้ได้ จึงมีครอบครัว แต่ก็ยังทำหน้าที่สั่งสอนและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ลูกหลานออกมา ใช้นามสกุลว่า ศากยะ ในความหมายว่า มาจากศากยะภิกษุ

ไม่ใช่ศากยะโดยสายเลือดของศากยวงศ์

ศาสนาพุทธในเนปาลจึงแทบไม่มีพระสงฆ์ตามความเข้าใจของคนไทยเลย ไม่ว่าจะเป็นสังฆะของวัชรยาน หรือสังฆะของพุทธเนวารี

 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีสตรีไทยกลุ่มหนึ่งที่ออกไปบวชสามเณรีกับพักชกริมโปเชที่เนปาล ท่านก็บอกว่าท่านบวชให้ไม่ได้ เพราะท่านเป็นอาจารย์ในสายของท่าน ท่านไม่ใช่พระภิกษุ เพราะท่านมีครอบครัว ในที่สุดผู้หญิงไทยเหล่านั้นก็โกนศีรษะ แต่รับศีล 5 ประมาณนั้น

ที่ชาวพุทธเนวารีเรียกว่า สังฆะ ก็ไม่ใช่ภิกษุค่ะ แต่ลูกผู้ชายในช่วงอายุ 7-13 จะทำพิธีบวชแบบเณรอยู่ 4 วัน เมื่อสึกออกมาก็ถือว่าเป็นสมาชิกสังฆะ ต้องเข้ามารับใช้สังฆะที่วัดที่ตนออกบวช

พระภิกษุสายเถรวาท เพิ่งเข้ามาสู่เนปาลในช่วงหลังนี้เอง มีอายุไม่ถึง 100 ปี

ทีนี้ ฝ่ายผู้หญิงที่ออกบวช ก็ออกบวชตามๆ กัน โดยออกไปบวชสายพม่า กลับมาก็ครองสไบ (ไม่ใช่จีวร) สีชมพู เรียกว่า อนาคาริกา คือหญิงผู้ออกจากเรือน ในความหมายเดียวกับแม่ชี ไม่ได้บวช แต่รักษาศีล

ตรงนี้ ต้องอธิบายเพิ่มอีกนิดหนึ่ง เหมือนกับแม่ชีบ้านเรา แม้จะปลงผม ครองสีขาว แต่เพราะไม่ได้บรรพชา ก็ยังเป็นแม่ชีที่ยังอยู่ในฝ่ายอุบาสิกานั่นเอง

การบวชในพุทธศาสนามีสองแบบ คือ บรรพชา บวชเณร (ทั้งผู้หญิงผู้ชาย) อุปสมบท คือบวชพระ (ทั้งผู้หญิงผู้ชาย) ตราบเท่าที่แม่ชีไม่ได้รับการบรรพชา

แม่ชีก็ยังอยู่ในกลุ่มของอุบาสิกา กรมการศาสนาตอบอย่างนี้ และถือว่าไม่ใช่นักบวช

 

ทีนี้ ในเนปาล ผู้หญิงเนปาลที่ฝักใฝ่ที่จะเรียนรู้ธรรมวินัยเริ่มปรากฏตัวในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้

รูปแรก คืออนาคาริกาธัมมจารี ท่านออกไปรับศีลกับพระภิกษุที่กุสินารา กลับมาสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมให้ฝ่ายผู้หญิง

แม้กระนั้น ก็มีเรื่องแก่งแย่งกัน ในที่สุดที่ดินผืนแรกที่ท่านซื้อ ต้องยกให้พระภิกษุไป แล้วไปเริ่มในที่ดินผืนใหม่

ท่านสร้างฐานการปฏิบัติให้ผู้หญิงชาวพุทธในเนปาลเป็นคนแรก

แต่การบวชของท่านก็เป็นเพียงอนาคาริกา ท่านมรณภาพ ค.ศ.1977 อายุ 79 ปี

การศึกษาพุทธศาสนาในสมัยที่รานาปกครองก็ยิ่งถูกจำกัดขอบเขตลงมากเพราะเป็นฮินดู ไม่สนับสนุนศาสนาพุทธ โดยเฉพาะศาสนาพุทธสายเถรวาทที่เข้ามาล่าสุด แม้กระนั้น ผู้หญิงชาวเนปาลก็ยังแสวงหาพระพุทธศาสนา

คราวนี้ เด็กสาวๆ นามสกุลศากยะ เดินทางด้วยเท้า ออกจากเนปาลไปเข้าเขตพม่า แล้วไปฝังตัวเล่าเรียนพุทธศาสนาในพม่าเป็นเวลานับสิบปี แล้วจึงกลับมา ใช้ฉายาว่า ธัมมวดี

ท่านธัมมวดีเป็นนักบวชสตรีผู้นำพุทธศาสนาในสายเถรวาทที่มีชื่อเสียงที่สุดในเนปาลในปัจจุบัน

ท่านเริ่มเผยแผ่คำสอนและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากชาวพุทธในเนปาล สามารถสร้างสำนักปฏิบัติธรรมอยู่กลางใจเมืองกาฐมาณฑุ ตั้งชื่อว่า ธรรมกีรติ

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นนักบวชสตรีรูปเดียวที่สามารถสร้างวิหารไว้ที่ลุมพินีด้วย

พวกเราที่ไปเยี่ยมชมในบริเวณพุทธสถานที่มีวัดชาวพุทธจากประเทศต่างๆ จะเห็นวิหารของภิกษุณี คือท่านธัมมวดีนี้เอง อยู่ใกล้ๆ กับวัดพม่า ในเขตเดียวกับวัดไทย

ถ้าผ่านถนนเส้นที่จะไปวัดไทย จะถึงวิหารของท่านก่อน อยู่ทางขวามือค่ะ

 

เมื่อมีการบวชภิกษุณีนานาชาติ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาใน ค.ศ.1988 ที่วัดซีไหล นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านธัมมวดีมีความปรารถนาที่จะเป็นภิกษุณีอยู่นานแล้ว เมื่อวัดโฝวกวางซัน จัดงานอุปสมบทนานาชาติที่วัดสาขา คือวัดซีไหล ในอเมริกา ท่านก็สมัครไปบวช โดยนำคณะของท่านไป 4 รูป

หลวงพ่อซิงหยุน เจ้าอาวาสวัดโฝวกวางซันนั้น ท่านมาจากประเทศจีน ออกมาสร้างวัดโฝวกวางซัน ที่เมืองเกาซุง ในตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ธรรมะอย่างมาก

ที่วัดของท่านนั้น มีสังฆะ 1,300 รูป เป็นภิกษุณีถึง 1,000 รูป ท่านเห็นว่าผู้หญิงนั้นมีความศรัทธาแก่กล้า งานของพระศาสนาที่ก้าวหน้าไปได้ไกลก็เป็นงานที่ท่านได้รับแรงสนับสนุนจากลูกผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่

ท่านเห็นว่าทางฝ่ายเถรวาทพยายามรื้อฟื้นสายภิกษุณีสงฆ์ ท่านมีความกตัญญูรู้คุณว่า สายการบวชภิกษุณีของจีนที่ยังรักษาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น ได้มาจากการที่ภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกายอมลำบากเดินทางไปประเทศจีนเพื่อประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ให้แก่จีนตั้งแต่ ค.ศ.433

มาในตอนนี้ ศรีลังกาพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ สมควรอย่างยิ่งที่ท่านต้องสนับสนุนช่วยเหลือ

ท่านจึงลงทุนจัดงานนี้ขึ้นที่วัดสาขาของท่านในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.1988

 

ทางฝ่ายศรีลังกาเองส่งทศศีลมาตาไป 11 รูป แต่ได้บวชจริงๆ เพียง 5 รูป แต่เมื่อกลับไปศรีลังกาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการที่จะสืบทอดภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา

ในส่วนของเนปาลก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดในทางวินัย คือ อนาคาริกาที่ไปรับการบวชมาจากโฝวกวางซันนั้น ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า วินัยที่คณะสงฆ์ของโฝวกวางซันถืออยู่นั้น เป็นนิกายสายธรรมคุปต์ สำหรับปาฏิโมกข์นั้น ภิกษุณีมี 348 ข้อ ในขณะที่เถรวาทมี 311 ข้อ

อาจจะมีคำถามว่า อ้าว ก็เมื่อภิกษุณีสายเถรวาทที่ไปให้การบวชแก่ชาวจีนเมื่อ ค.ศ.433 นั้น ไม่ใช่นิกายเดียวกันหรือ

ปรากฏว่าภิกษุณีในสายของจีนนั้น แม้ดั้งเดิมจะรับมาจากศรีลังกา ก็ควรจะถือตามพระวินัยเถรวาท แต่เมื่อมาเจริญอยู่ในจีน กษัตริย์จีนสมัยหนึ่ง มีบัญชาให้เปลี่ยนมารับนิกายธรรมคุปต์ให้เหมือนกันทั้งประเทศ ทั้งภิกษุณีและภิกษุสงฆ์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางสายเถรวาท ก็จะถือว่า ไม่สามารถสืบทอดกันได้

การที่ออกไปบวชกับสงฆ์จีนที่ถือนิกายธรรมคุปต์ แล้วกลับมาประเทศเนปาล แล้วจะมาครองจีวรเถรวาทไม่ได้ เพราะไม่ได้มีพิธีกรรมสงฆ์ของฝ่ายเถรวาทที่จะรองรับการเข้ามาในคณะเถรวาท เรียกว่า ไม่มีสิทธิที่จะครองจีวรแบบเถรวาท

โดยสิทธิของพระวินัย ภิกษุณีเนปาลที่บวชมาจากโฝวกวางซัน ควรใส่จีวรของนิกายธรรมคุปต์

แต่ปัญหาอุปสรรคคือ ภิกษุณีเนปาลไม่ได้ใส่จีวรของนิกายธรรมคุปต์ เพราะมีความคุ้นเคยกับเถรวาท และปฏิบัติมาในสายเถรวาท แต่อยู่ดีๆ จะกระโดดข้ามมาใส่จีวรเถรวาททีเดียวก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระภิกษุเถรวาทของเนปาลเองที่ปฏิเสธไม่ให้ภิกษุณีเนปาลใส่จีวร (เถรวาท) ก็มีเหตุผลที่ถูกต้องอยู่

 

ถ้าหากพระภิกษุเถรวาทของเนปาลเองมีความรู้ชัดเจนในพระธรรมวินัย และประสงค์ที่จะให้ภิกษุณีชาวเนปาลเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามพระวินัยให้ถูกต้อง ก็ควรมีการสวดรับเข้ากลุ่ม

เช่น ทำพิธีสังฆสามัคคี ตามที่ปรากฏในโกสัมพีขันธกะ ในมหาวัคค์

แล้วจากนั้นให้ภิกษุณีได้สวดปาฏิโมกข์ร่วมกันก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่พระวินัยอนุญาตไว้ ก็จะนับเป็นการเริ่มต้นภิกษุณีสายเถรวาทที่ถูกต้องตามพระวินัย

ปรากฏว่า ในความเป็นจริง พระภิกษุเถรวาทในเนปาล วิพากษ์วิจารณ์ไม่ให้ภิกษุณีที่บวชกลับมาใส่จีวร ในที่สุดภิกษุณีเหล่านั้น ก็กลับไปใส่ชุดสีชมพูของอนาคาริกาตามเดิม

สถานที่ของพระภิกษุณีที่เห็นนั้น ไม่มีสีมาที่ท่านจะทำสังฆกรรมได้ อีกทั้งไม่แน่ใจว่าท่านได้รักษาปาฏิโมกข์ไว้ได้หรือเปล่า

ถ้าพิจารณาอย่างนักวิชาการ อาจจะกล่าวได้ว่า ลำพังความตั้งใจที่จะบวชเป็นภิกษุณีนั้นไม่พอ จะต้องมีการเตรียมตัวมากกว่านั้น ในแง่ของการศึกษาพระธรรมวินัย

ต้องมีการเตรียมสถานที่ให้พร้อม โดยเฉพาะการสมมติสีมา ซึ่งอาจจะยังคงเป็นเพียงพื้นดินที่สามารถทำพิธีสมมติให้เป็นสีมาเพื่อใช้ในการทำสังฆกรรมได้ เราต้องไม่ลืมว่า ทันทีที่บวชกลับมา ภิกษุณีต้องมีการสวดปาฏิโมกข์เดือนละสองครั้ง ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 14 หรือ 15 ค่ำ

ภิกษุณีที่จะสวดปาฏิโมกข์ต้องอยู่กันเป็นสงฆ์ คือ อย่างต่ำ 4 รูป จึงจะสวดปาฏิโมกข์ได้ และก่อนสวดปาฏิโมกข์ ควรได้รับโอวาทจากพระภิกษุ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีพรรษาอย่างต่ำ 20 พรรษา

ขั้นตอนเหล่านี้ หากภิกษุณีเนปาลไม่ได้ถือปฏิบัติ โอกาสที่จะสืบทอดสายการบวชของภิกษุณีตามพระธรรมวินัยที่ผู้อื่นจะยอมรับย่อมเป็นไปได้ยาก