จากสหายดึจ-เขมรแดง ถึงอิติปิโส ๑๐๘

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

จากสหายดึจ-เขมรแดง

ถึงอิติปิโส ๑๐๘

 

สาเธียรณะที่เขมรแปลว่ามหาชน ฉันเองก็เพิ่งรู้หมาดๆ ว่า ไฉนไยต้อง “อิติปิโสรัตนมาลา” หรือ “อิติปิโส ๑๐๘“?

แลเพิ่มความกังวล-วนไปอีกว่า ทำไม-เราสองประเทศ “เขมร-ไทย” จึงมีความวนไปในเถรวาทกันมากเกิน ซึ่งมันอาจทำให้เราขุ่นเคืองกัน!

ลำพังแค่เรื่องวัฒนธรรม ระบุงระบำบุราณนานมา เรียมเกร์-รามเกียรติ์ อะไรนานารวมทั้งหมัดมวยนั่น เราก็เหนื่อยกันมาก!

มา อิติปิโส ๑๐๘ เข้าไปอีก ให้ตายเถอะ รอบนี้มีหรือจะรอด? ต่อให้เป็นอุบะ “รัตนมาลัย” หรือพวงอุบะธรรม? อันมีที่มาจาก “อิติปิโส” ก็ตาม

เกรงว่าจะเป็นปัญหา ๑๐๘? มหาชน โปรดรู้กันเถิดว่า เราต่างมีบุพกรรมร่วมกัน

ข้าแต่ศาลแห่งนั้นซึ่งพิจารณาคดี 001 ของอดีตผู้นำเขมรแดง และในฐานะโจทก์ผู้ตกเป็นเหยื่อของจำเลย แม้ในวันนั้นเขาจะให้การในฐานะของพยานก็ตาม

ในเมษายน 2009 ที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ขณะอายุ 69 ขึ้นให้การต่อศาล ณ ห้องพิจารณาคดีรูปไข่ ชานกรุงพนมเปญ

และแล้วในปี 2022 ขณะที่ศาลแห่งนี้กำลังจะปิดตัวลง เรากลับย้อนรำลึกเห็นถึงวาระอันจำเป็นแห่งการเป็นพยานของบิโซต์ครั้งนั้น ราวกับใคร่ควรสำนึกว่า ศาลเขมรแดงที่ใช้เวลา 16 ปีไปกับการไต่สวนผู้นำเขมรแดงใน 2 คดี

ตั้งแต่งบฯ ต้นและบริจาค 2 หมื่นล้านบาท ถึงวันนี้ คดี 001 ของกัง เก็ก เอียว หรือดึจ-อดีตผู้คุมนักโทษคุกโตลสแลง (เอส 21) ที่ตกเป็นจำเลยและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากความผิดทารุณกรรมและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ และดึจเองซึ่งเต็มไปด้วยตราบาป

เว้นแต่เรื่องของเขากับเหยื่อ/พยาน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ซึ่งถูกชำระสะสางในแง่งามไปกับกาลเวลา และ 1 ในนั้น คือที่มา “อิติปิโสรัตนมาลา-อิติปิโส ๑๐๘” ในสิ่งที่ฉัน…บังเอิญพบพา

กระนั้น ฉันก็อยากขอบคุณ-ดึจ ที่เขาไม่พลาดพลั้ง สังหารบิโซต์ไปเสียแต่ครั้งนั้น ในเดือนตุลาคม/1971 ขณะที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ ออกพื้นที่วิจัยกับผู้ช่วยเขมรของเขาอีก 2 นาย เขาถูกจับตัวบริเวณชายป่าเขตเมืองพระนคร/เสียมเรียบ

ทหารป่า/กองทัพปลดแอกประชาชนได้นำชาวฝรั่งเศสคนนั้นไปยังเขตปลดแอก (เขมรแดงยึดครอง) ซึ่งเรียกกันว่าชมรมอัลลองแวงหรือแคมป์ M.13

ที่นั่น บิโซต์ถูกยัดเยียดว่าเป็นซีไอเอ-ศัตรูตัวร้ายของระบอบเขมรแดง เขาถูกคาดคั้นสอบสวนโดยบางครั้งก็ทารุณจากกรรมภิบาลเขมรแดงคนหนึ่ง

ซึ่งต่อมาอีกหลายสิบปีทีเดียว กว่าบิโซต์จะรู้ว่า นั่นคือดึจ-คนที่จะทำให้เขาเรียนรู้กับภาวะที่เหนือการควบคุมรวมทั้งประเทศกัมพูชาเวลานั้น สำหรับภาวะสงครามกลางเมือง

ฟรองซัวส์ บิโซต์ ในฐานะเจ้าหน้าที่วิจัยและนักมานุษยวิทยาแห่งสำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ ซึ่งในที่สุดเขาก็ถูกปล่อยตัวจากชมรมอัลลองแวง บิโซต์หอบลูกสาววัย 3 ขวบกับภรรยาชาวเขมรกลับสู่พนมเปญและทำงานที่นั่นจนวันสุดท้ายที่ต่างชาติทุกคนต้องอพยพออกจากประเทศนี้

กระทั่งในปี 2003 ที่เขาหวนกลับแคมโบเดียอีกครา และนั่น บิโซต์ได้พบกับดึจ ระหว่างรอขึ้นศาลเขมรแดง ใครเลยจะนึกว่า การกลับมาเจอกันครั้งนี้ คนที่เป็นฝ่ายวิจัยกลับเป็นฟรองซัวส์ บิโซต์ หาใช่กัง เก็ก เอียว ไม่

และมันได้กลายเป็นความสัมพันธ์อันงอกงาม

บิโซต์ได้ใช้เวลาระหว่างนั้นเขียนบันทึกชื่อ “เดอะเกท” (2003) ที่ต่อมาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เล่าถึงการถูกจับตัวที่เสียมเรียบและพบกับสหายดึจ (ดู Behind The Gate/2014)

และในอีกด้านหนึ่งของชีวิตกัง เก็ก เอียว อดีตครูสอนคณิตศาสตร์ผู้กลายเป็นพัศดีในสมัยเขมรแดง ก่อนถูกจับกุมเพื่อรอขึ้นศาลนั้น ดึจได้เปลี่ยน “อัตตจริต” ตนเองหลายอย่าง รวมทั้งการ “เข้ารีต” เปลี่ยนมาเชื่อพระเจ้า

และในเมษายน 2009 นั้น กัง เก็ก เอียว (66) ได้พบกับบิโซต์อีกครั้งในห้องพิจารณาคดีที่พวกเขาไม่อาจจะแม้แต่ทักทายกัน และนั่นเป็นครั้งสุดท้าย สหายดึจได้จบชีวิตในเรือนจำขณะอายุ 77 ปี ขณะที่บิโซต์เข้าสู่ปัจฉิมวัย (69)

เห็นได้ว่าพวกเขาผ่านพ้นความเปราะบางอ่อนไหวที่กลายเป็นอดีตใดๆ ข้อเท็จจริงบางอย่างได้แห้งเหือดไปสิ้นกับความเจ็บปวดนั้นแล้ว

แม้แต่การเผชิญหน้าครั้งนี้ จะไม่มีถ้อยคำใดที่จะกล่าวถึงต่อกันได้ หรือนี่คือบุพกรรมดลใจ ที่ทำให้ฟรองซัวส์ บิโซต์ พบกับงานวิจัยชิ้นใหม่ที่เขาตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า “ธรรมรัตนมาลา” งานวิจัยว่าด้วย “อิติปิโส” ทั้งภาคของธรรมคาถาและเวทไสยศาสตร์

หรือเราควรจะขอบคุณสหายดึจ ที่ปล่อยตัวนักวิจัยคนนี้ จากชมรมอัลลองแวงและทำให้เขาต้องกลับมาทำงานเชิงเอกสารที่สำนักงานพนมเปญ

ฉันคิดว่า ฉันควรจะขอบคุณ อิติปิโสฯ ฉบับสัตยา นรายัน โกเอ็นก้า ในฐานะที่บทธรรมโศลกของท่าน ซึ่งมีคำว่า “อิติปิโสฯ” อยู่นั้น ได้สร้างความรู้สึก “ร่วมสมัย” และก่อความรำเพิบเอิบอาบใจในการไปสู่เนื้อหาอื่นใดในคำว่าอิติปิโสแบบตำรับอื่นๆ

เช่นเดียวกัน แม้ที่มาอิติปิโสฯ ฉบับบิโซต์จะลือลั่นในทางตรงข้ามกับความปีติ โดยเมื่อคิดว่าต้องแลกกับชีวิตของนักวิจัยผู้ช่วยของเขาไปกับสงครามกลางเมืองทั้งนครเสียมเรียบและโดยเฉพาะกรุงพนมเปญที่เขาปักหลักทดลองแปลพระสูตรภาษาบาลีโดยมีอาจารย์เขมรเป็นผู้ช่วยนั้น

ตลอด 3 ปีเศษแห่งเวลาอันเหลือเชื่อที่ฟรองซัวส์ บิโซต์ มีสมาธิกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่เริ่มจากการแปลพระสูตรและธรรมคาถาอิติปิโสฯ จากความทรงจำชาวเขมรชราซึ่งเคยเป็นบรมครูของตน

กระทั่งในปี 1993 “อิติปิโสรัตนามาลา” ที่บิโซต์กับ ศ. Oskar von Hin?ber ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมพระไตรปิฎกและภาษาบาลีซึ่งร่วมแปลวิจัย ผลงานชิ้นนี้จึงสำเร็จ

และเป็นผลงานเถรวาทอีกชิ้นหนึ่ของฝ่ายเขมรที่ผ่านความยากลำบากอุปสรรคทั้งจากสงครามและที่สำคัญ

กล่าวคือ ยากจะเชื่อว่า เป็นงานที่เกิดขึ้นโดยนักวิจัยตะวันตกซึ่งมีรากเหง้าจากคาทอลิก

ผลงานชิ้นนี้ ทำให้ม่านตาของฉันซึ่งกำลังหรุบโรย ขยายกว้างอย่างเล็กน้อยในหลายปีที่ขาดความสนใจในมนตราพระสูตร

กว่าจะมีวาสนาพบพานกับอิติปิโส ๑๐๘ ก็ผลาญเวลาไปกว่าค่อนชีวิตกับเรื่อง ๑๐๘ นานา กระทั่งถึงวัยพบพานกับอิติปิโสฯ ร่วมสมัยฉบับต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น

กระทั่งเวียนกลับมาบรรจบอย่างงงๆ กับอิติปิโสฉบับแขมร์ ที่เขียนโดยบารังและเยอรมันฉบับนี้

โดยเพื่อขยายเนื้อความปลายทางฉบับนี้ สำหรับต้นทุนรอบด้านและแรงบันดาลใจของนักวิจัยยุโรป ซึ่งบิโซต์เขียนอรัมกถาเพื่ออุทิศแด่ครูบาของตน

คนหนึ่งคือผู้ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับบทสวดบาลีอิติปิโสที่เกิดจากครูคนแรกของตนที่ทำให้เขาเกิดความประทับใจในบทพุทธคุณนี้

และอาจารย์อีกท่านซึ่งเป็นโลกครูคนที่ 2 นามว่า ครูยู อุน ครูสอนภาษาบาลีที่ทำหน้าที่ตรวจคำดูแลในการแปลงานของเขาโดยเฉพาะการ “ถอดสหัสนัย” “อิติปิโส ๑๐๘” ที่ซับซ้อน ตลอดจนการไปคัดลอกและค้นคว้าเพิ่มเติมจากหอสมุดแห่งชาติหรือบรรณาลัย

โดยการคัดลอกสำเนา “ธรรมคาถา” ที่เต็มไปด้วยปริศนาธรรมของครูยู อุน นี้ เข้าใจว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคัดลอกไว้ด้วยลายมือ ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนสำนวนแก้ไขที่เป็นภาษาเขมรทั้หมดนั้นด้วยที่ควรกล่าวว่า-น่าเสียดาย

โดยหลังวันที่ทหารเขมรแดงได้ยึดกรุงพนมเปญและ กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองทั้งหมดในวันที่ 17 เมษายน 1975 ที่สร้างความแตกตื่นไปทั่วกรุงพนมเปญ

หลังจากเหตุนั้นราว 2-3 วัน ฟรองซัวส์ บิโซต์ ได้ออกมาตามหาอาจารย์ยู อุน ที่บ้านพักทางด้านใต้ของโอลิมปิกสเตเดี้ยม แต่น่าเสียดาย ครูยู อุน ได้ถูกบังคับให้ออกจากกรุงพนมเปญไปเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

ซึ่งการจากไปครั้งนั้น อาจารย์ยู อุน ด้วยความหวงแหน จึงหอบตำราอิติปิโสบาลีฉบับที่ตนคัดลอกไปด้วย

โอ “รัตนามาลา-อิติปิโส” ฉบับเขมร และ “อนิจจา๑๐๘”