‘เรือชนรถยนต์’ – ‘รถรางชนเรือ’ คดีเหลือเชื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

‘เรือชนรถยนต์’ – ‘รถรางชนเรือ’

คดีเหลือเชื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485

 

“แม่สายธาราค่อยๆ เคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ ตอนแรกๆ ชาวกรุงเทพฯ หนุ่มสาวตื่นเต้นในของใหม่ที่นานๆ จะมีสักที ถนนที่รถวิ่งได้เป็นทางให้เรือเล็กๆ แล่นได้บ้าง เรือกับรถวิ่งหลีกกันจึงกลายเป็นสภาพที่แปลกและขบขันสนุกสนาน…”

(เหม, 159)

เรือพายและรถยนต์บนถนนสายหนึ่งในพระนครครั้งน้ำท่วม 2485

สภาพบ้านเรือนของชาวพระนครยามน้ำท่วมครั้ง 2485 เป็นอย่างไรนั้น ขุนวิจิตรมาตราบันทึกถึงบ้านแพร่งสรรพศาสตร์ของเขาไว้ว่า แม้นบ้านของเขาจะเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ระดับน้ำท่วมลึกถึงขนาดเขาพายเรือเข้าไปจอดถึงพื้นชั้นล่างได้ นอกจากนี้ กระแสน้ำในบางแห่งไหลเชี่ยวรุนแรง แถบถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยามีกระแสน้ำรุนแรง เช่น แถวถนนพาหุรัดมีกระแสน้ำเชี่ยวมากจนทำให้ผู้คนแทบเดินทวนน้ำไม่ไหว (ขุนวิจิตรมาตรา, 474)

อย่างไรก็ตาม ชุมชนในพระนครยังคงมีบ้านเรือนที่มีใต้ถุนสูงจึงไม่ได้รับความเสียหายมากนัก เพราะน้ำจึงมีช่องทางไหลลงที่ต่ำได้ แต่สำหรับในเขตเมืองที่เป็นอาคารพาณิชย์นั้น น้ำสร้างความเสียหายให้มาก น้ำท่วมในปีนั้นท่วมอยู่ราว 2 เดือนกว่าจึงลดลง แต่คนไทยมีความคุ้นเคยกับน้ำจึงพบเห็นผู้คนใช้เรือเป็นพาหนะทั่วไปแทนรถ ผู้คนที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานจึงเดินทางด้วยเรือพายรับจ้างพบเห็นอยู่ได้ทั่วไป (สม อิศรภักดี, 48-49)

ผู้พิพากษาคนหนึ่งเล่าถึงเรือบนถนน และคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ ความว่า “ท้องถนน ยอมให้ใช้เรือแจวพาย จะค้าขาย หรือโดยสาร ผ่านไปได้ แต่อย่าท่องน้ำเล่น จะเป็นภัย ให้พร้อมใจช่วยกัน ภัยบรรเทา” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 36)

รถลาก รถเมล์และเรือแจวบนถนนเยาวราชพร้อมกันเมื่อครั้งน้ำท่วม 2485

ความโกลาหลของการสัญจร

ในช่วงเวลานั้น ยานพาหนะประเภทรถยนต์หายหน้าไปจากท้องถนน มองไปทางใดเห็นแต่น้ำ แม้แต่ในบ้านของตนเอง ผู้ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมบันทึกว่า ในช่วงแรกน้ำท่วมเป็นช่วง “สะเทินน้ำสะเทินบก” หมายความ ระดับน้ำยังไม่สูงมาก รถบรรทุก รถประจำทาง รถราง ยังสามารถแล่นได้ แต่เราเริ่มพบเรือพายกันด้านข้างถนน เพราะระดับน้ำจะลึกกว่ากลางถนน แต่บางครั้ง รถใหญ่แล่นเร็วทำให้เกิดคลื่นไปกระแทกเรือเล็กทำให้เรือล่ม คนแจวเปียกปอนกันไป

ความหลากหลายพาหนะบนถนนเดียวกันนั้น ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างรถ-เรือชนกันได้ แม้นเรือต้องสังกัดกับกรมเจ้าท่า ส่วนรถยนต์อยู่กับตำรวจ แต่ปรากฏว่า เกิดอุบัติเหตุที่ไม่น่าเชื่อ คือ เกิดเรือกับรถยนต์ประสานงากัน อันอาจจะพบเห็นการถกเถียงกันระหว่างเจ้าของเรือและรถยนต์โดยมีตำรวจเป็นคนกลาง (สรศัลย์, 98)

นอกจากนี้ มีผู้บันทึกอุบัติเหตุจากคนขับพาหนะที่ไม่มีมารยาทว่า “น้ำมีคลื่น เพราะรถยนต์ คนอันธพาล มันเห่อหาญ ขับรถ หมดกรุณา” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 37)

รถเมล์ลุยน้ำสร้างระลอกคลื่นไปทั่วถนน เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

“เรือชนรถยนต์” – “รถรางชนเรือ”!!
คดีเหลือเชื่อในยุคน้ำท่วม

สภาพถนนและร้านค้าในเขตเมือง ย่านการค้ายังคงมีสภาพวุ่นวายเหมือนปกติ ร้านรวงต่างๆ ยังคงเปิดขายสินค้าให้ลูกค้า ดังความว่า “ที่สิบห้า ฉันต้อง ล่องลงน้ำ โดยเรือสำ ปั้นพาย ใจวาบหวาม พาลอยไป ในถนน วกวนตาม แถวถนน ดลข้าม เฟื่องนคร…น่าขอบใจ ในพวก ทำการค้า ต่างค้าขาย เปิดร้านร่า ไม่หมางเมิน ดูก็เพลิน พวกเขาเรา เอาจริงจัง…ขายอาหาร ของนานา พากันซื้อ ได้ของถือ ลุยน้ำไป ไม่เหลียวหลัง ที่โหยหิว หิ้วท้อง มองเซซัง เข้าไปนั่ง ซื้อหาอาหาร งุ่นง่านกิน” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 39)

ในช่วงแรกที่น้ำไหลเอ่อเข้าตัวพระนคร เกิดความโกลาหลขึ้นในการจราจรเช่นกัน ด้วยเหตุที่ระดับน้ำยังไม่ลึกมาก รถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก รถเมล์ ยังคงวิ่งประกอบการตามปกติ แต่ต่อมา ประชาชนนำเรือมาแจวเป็นพาหนะการเดินทางมากขึ้นทำให้กระทบกระทั่งกัน รัฐบาล ตำรวจและเทศบาลจึงต้องเข้ามาจัดจราจรใหม่เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ดังมีผู้บันทึกว่า

“เจ้าหน้าที่ต่างวอน… อีกบอกด้วย ช่วยรักษาทางถนน ให้รถยนต์ อย่าปล่อยปรื๋อ ประกาศให้ ฝูงชน ช่วยปรนปรือ ทุกคนก็ เป็นของชาติ อย่าพลาดเลย การขนส่ง เขตใกล้ ใช้เรือขน จะเกิดผล จงทำ อย่าทำเฉย แทนยานยนต์ ขนเข็น ดังเช่นเคย แต่อย่าเลย ใช้เรือยนต์ จักรกลไก” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 36)

สิ่งที่สร้างปัญหาพร้อมความขบขันเมื่อครั้งน้ำท่วมคือ เรือกับรถชนกัน มีหลักว่า รถหลีกกันต้องหลีกซ้าย ส่วนเรือหลีกกันต้องหลีกขวา เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจเข้าคลี่คลาย แต่ไม่มีใครบาดเจ็บมากเพราะทั้งสองฝ่ายมิได้มาด้วยความเร็วสูงเพราะน้ำท่วมสูง รถจึงขับกันแบบที่เรียกว่า “น้ำมันตราเต่า” บนถนนมีแต่เรือพายเรือแจว เนื่องจาก รัฐบาลไม่อนุญาตให้ใช้เรือยนต์บนถนนอย่างเด็ดขาด แม้นถนนบางแห่งจะน้ำท่วมสูงถึงระดับคอก็ตาม (ลาวัลย์, 2536)

รถเมล์สายท่าเตียน-ถนนตก บนถนนเจริญกรุง ปี 2485 เครดิตภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ

เรื่องเรือชนรถเข้าหูถึงนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์เรือชนรถโด่งดังถึงขนาดจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี นำมาเล่าผ่านวิทยุและเขียนลงหนังสือพิมพ์ว่า “วันนี้ มีผู้มาเล่าให้ฟังว่า ต้องไปเปนตุลาการตัดสินระหว่างเรือกับรถชนกันไนถนน รถหลีกทางซ้ายถนนตามระเบียบ ส่วนเรือหลีกทางขวาตามระเบียบ เลยยันกันขึ้น ท่านผู้เล่านั้นว่าตัดสินลำบาก เพราะได้หลีกถูกต้องด้วยกันทั้งคู่ เลยตัดสินเอาว่า ไครไม่มีไบอนุญาตไช้ถนนเป็นผิด เรือไม่มีไบอนุญาตสำหรับถนน มีไบอนุญาตสำหรับเดินไนแม่น้ำลำคลอง เลยตัดสินไห้เรือเปนฝ่ายผิด ตามคำตัดสินนี้ ฉันเองก็ไม่ซาบว่าหย่างไรจะถูกกดหมายแน่ แต่ฉันเห็นว่า ไม่ว่ารถหรือเรือถ้าเดินไนถนนต้องเดินและหลีกทางซ้ายเสมอ มิฉะนั้นจะเกิดชนกันหย่างที่ได้เล่ามาข้างต้นนี้” (สามัคคีไทย, 94)

ขุนวิจิตรฯ บันทึกว่าในช่วงแรกของน้ำท่วมใหญ่ รถรางบางสายยังคงเดินให้บริการประชาชนได้บ้าง แต่บนท้องถนนมีพาหนะหลากหลาย ขณะนั้น มีทั้งข่าวอุบัติเหตุ “เรือชนรถยนต์” และ “รถรางชนเรือจ้าง” ด้วยข่าวเหล่านี้สร้างความขบขันให้ชาวพระนครที่ได้พบเห็นเป็นอันมาก

เมื่อระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้รถรางบางสายหยุดการเดิน สร้างความลำบากให้กับประชาชนมาก รัฐบาลจึงขอร้องให้บริษัทรถเมล์เข้ามาขนส่งประชาชนแทน ดังที่ถูกบันทึกไว้ว่า “ยานรถราง หลายสาย ได้หยุดเดิน ทางการเชิญ ประจำทาง บางเจ้าของ ให้ช่วยจัด รถบัส เข้ารับรอง เพื่อสนอง ประชาชน ทุกคนใช้” (พระยาอรรถศาสตร์ฯ, 42)

ต่อมาอีกสักพักหนึ่ง เมื่อระดับน้ำท่วมสูงมากขึ้นนั้น บนท้องถนนไม่ปรากฏรถยนต์วิ่งเลย เพราะทุกคนล้วนแต่ใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทางกันทั้งนั้น ขณะที่ เจ้าของรถยนต์ในเมืองต่างสร้างคานขึ้นเพื่อยกรถให้ลอยเหนือน้ำให้รอดพ้นจากความเสียหายจากน้ำท่วม (ขุนวิจิตรฯ, 475)

กล่าวโดยสรุป น้ำท่วมในครั้งนั้น ชาวพระนครทุกระดับตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงนายกรัฐมนตรีต่างประสบเหตุและรับฟังอุบัติที่ไม่น่าเชื่อ คือ เรือชนรถ และรถรางชนเรือ อันเป็นข่าวที่สร้างรอยยิ้มให้กับชาวพระนครครั้งนั้นได้บ้าง

ถนนในพระนครยามน้ำท่วมมองจากรถรางสายหัวลำโพงมุ่งหน้าสามแยก เครดิตภาพ : หอภาพยนตร์แห่งชาติ