กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (11) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (11)

 

กิติมา อมรทัต กับวรรณกรรมอินเดีย (ต่อ)

ประมาณปี 1930 ได้มีความเปลี่ยนแปลงในท่าทีของนักเขียนอย่างช้าๆ กล่าวคือ นักเขียนชักมีแนวโน้มไปในทางชาตินิยมมากกว่าอย่างอื่น

เช่น เรื่องของ ร.ว. เดซาย ทุมเกตุ กุนวันท์วยาจารย์ และคนอื่นๆ ได้เริ่มเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ ออกไปอีก เช่น ปัญหาการแต่งงานข้ามวรรณะหรือข้ามถิ่น ปัญหาอาชญากรวัยรุ่น ปัญหาเสรีภาพของศิลปินในสังคม ลักษณะที่ผิดศีลธรรมของวรรณกรรม การแข็งข้อของกรรมกรและปรัชญาเรื่องการปรองดองระหว่างวรรณะ เป็นต้น เช่น เรื่องสุชีลาชะเดฟ (พระเจ้าของสุชีลา) โดย ว.ม.โยศีและพราหมัณกันยา (สาวพราหมณ์) เป็นต้น

แต่การแหวกทางอย่างจริงจังจากขนบธรรมเนียมโบราณเกิดขึ้นใน ค.ศ.1934 เมื่อ พ.ย. เทศบัณเฑ ได้เขียนเรื่องบัณฑะนาศยา (พ้นพันธะ) ส่งเสริมการแต่งงานด้วยความรักระหว่างหนุ่มพราหมณ์ชั้นกลางตระกูลสูง กับหญิงโสเภณีธรรมดา

นักเขียนอื่นๆ เช่น ขัณเฑกัร ภัฏเก มาลาติไบ เวทกัร และวิภาวารี ศีรุกัร ก็ได้นำตัวพระเอกนักสังคมแบบอุดมคติกับนางเอกที่มีวิญญาณของนักปฏิวัติมาสู่นวนิยายของเขา

สำหรับงานวรรณกรรมภาษาฮินดีระยะนี้เป็นสมัยของเปรมจันทร์ และโกชิค ประทาปนารายณ์ ศรีวัสตาวะ ผกาวาติ จรัญ วรมา สุดาจันทร์ และนักเขียนอื่นๆ อีกมากผู้เดินตามรอยเท้าของเปรมจันทร์

นักเขียนเหล่านี้ได้ใช้นวนิยายสังคมเป็นเครื่องมือปฏิรูปสังคมและโฆษณาปลุกเร้ามนุษยธรรม ปัญหาที่ว่าศิลปะควรเป็นไปเพื่อศิลปะ หรือว่าเพื่อชีวิตนั้น ใครจะตอบว่าอย่างไรก็ตามที แต่ความจริงมีอยู่ว่านักเขียนดีๆ ส่วนใหญ่ของอินเดียโดยเฉพาะนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็โดยทางอ้อมกับปัญหาสังคม ซึ่งเขาได้แลเห็นอยู่หรือกำลังต่อสู้อยู่ นักเขียนต่างก็ไขว่คว้าหาอุดมการณ์ที่ตนจะยึดเอาไว้เป็นหลัก

ผลของการไขว่คว้าหาอุดมการณ์นี้ได้จะเรียกให้ถูกต้องก็คือ “โซเชียลลิสต์ เรียลลิสม์” (สัจนิยมของนักสังคมนิยม) นั่นเอง

 

ในปลายระยะปี 1930-1940 ได้มีการแปลงานของกอร์กี้ อัพตัน ซินแคลร์ วิกเตอร์ ฮูโก เตอร์ยีเนฟ คนุท แฮมสัน สไตน์เบค ไดรเซอร์ และหลู่ซุ่น ออกมาเป็นภาษาอินเดียหลายภาษา นวนิยายอย่างเรื่อง กระท่อมของลุงทอม และแนวรบด้านตะวันตกสงบแล้ว เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก

ในจำนวนนวนิยายรัสเซียที่ได้รับการแปลออกเป็นภาษาอินเดียมากภาษาที่สุดก็คือเรื่องแม่ของกอร์กี้ สานี คุรุญี นักเขียนผู้เป็นนักสังคมนิยมได้เขียนเรื่องศยามชิไอ มีแนวคล้ายเรื่องแม่และทำเป็นบทภาพยนตร์ได้รับรางวัลของประธานาธิบดีอินเดีย

ตรงนี้น่าจะได้กล่าวถึงสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าเสียด้วยเพราะเหตุว่านวนิยายการเมืองในภาษาอินเดียนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้อยู่เป็นอันมาก สมาคมนี้เป็นขบวนการที่เกิดขึ้นแรกเริ่มในวงวรรณกรรมเพื่อจะสะท้อนถึงวิญญาณแห่งการปฏิวัติและ “ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ” ตามแบบการปฏิวัติในฝรั่งเศส สงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา และการปฏิวัติของรัสเซีย

นักเขียนในกลุ่มนี้ยึดหลักความมีเสรีและมนุษยธรรม มักใช้สำนวนภาษาที่รุนแรงมีพลัง

ในบางระยะ เช่น ตอนปลายปี 1940-1950 ขบวนการนี้มาถึงสภาพที่หยุดชะงักเกือบสิ้นลมปราณ แต่ก็กลับฟื้นขึ้นมาอีกได้ในระยะต่อมา

คำขวัญที่โปรดปรานของนักเขียนกลุ่มนี้ก็คือ วรรณกรรมควรเร้าให้เกิดสงครามระหว่างชนชั้น และศิลปะควรเป็นผลิตผลของพลังแห่งเรื่องราวจากประวัติศาสตร์

 

นับตั้งแต่ปี 1934 เป็นต้นมา ขบวนการนี้มีแนวโน้มไปในทางนิยมรัสเซียเป็นอย่างมาก เมื่อรพินทรนารถ ฐากูร กลับจากรัสเซีย ท่านได้เขียนเรื่องที่มีชื่อเสียงมากชื่อว่าจดหมายจากรัสเซีย เป็นภาษาเบงกาลี พรรคคองเกรสโซเซียลลิสต์ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในบอมเบย์ และสหพันธ์นักเขียนกลุ่มก้าวหน้าก็ถูกจัดตั้งขึ้นที่กรุงปารีสโดย ดร.มุลก์ราช อนันต์ สัจจะ สาหิร และราชา เรา อิกบาล สิงห์ และอะห์มัด อาลี ก็ได้เข้าร่วมในขบวนการนี้ด้วย

ระหว่างปี 1935-1936 เป็นระยะที่มีความนิยมลัทธิสังคมนิยมเป็นอย่างมากในอินเดีย ที่เมืองลัคเนาว์อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นอุตรประเทศ เปรมจันทร์ได้จัดตั้งสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้า ขึ้นในปี 1935 โดยได้รับการสนับสนุนจากรพินทรนาถ ฐากูร และวัลลศัร นักเขียนกลุ่มนี้มีแนวเอียงซ้ายอันจะแลเห็นได้อย่างชัดเจนจากนวนิยายที่เขาเขียนขึ้นมาในสมัยนั้น เช่นเรื่อง ปาเตรดาบี (วิถีแห่งการประท้วง) ของสารัทจันทร์ ฉัตรญี จาร์อธัตยายะ (สี่บท) ของรพินทรนารถ ฐากูร อุลกา (ลูกอุกกาบาต) ของ ว.ส.กัณฑกัร มุขตาตมะ (วิญญาณอิสระ) ของมาธุรกัร เปรมาศรมของเปรมจันทร์ และเดชโดรหิ (ผู้ทรยศ) ของยัศปาล

ถ้าเราลองวิเคราะห์ดูบทบาทของตัวเอกที่มีลักษณะโรแมนติกผสมกับลักษณะของนักปฏิวัติในเรื่องเหล่านี้ เราก็จะสรุปได้ว่านักเขียนอินเดียระยะนั้นยังไม่แลเห็นภาพพจน์ของสังคมนิยมที่ชัดเจนนัก พวกเขาต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่ต้องการความรุนแรง ความโกรธแค้นที่เขามีต่อนักจักรวรรดินิยม นักทุนนิยม นักโบราณนิยม นักคณะนิยม และผู้ที่สนับสนุนการแยกประเทศนั้นจะแลเห็นได้อย่างชัดแจ้ง

ในปี 1936 เราจะแลเห็นร่องรอยของอิทธิพลของมาร์กซิสม์ที่มีอยู่ในวรรณกรรมอินเดียได้อย่างชัดเจน เปรมจันทร์ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานของสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าได้กล่าวในการประชุมของสมาคมที่ลัคเนาว์ว่า “…ความฟุ่มเฟือยนั้นไม่อาจจะไปกับศิลปะได้ดี ถ้านักเขียนร่ำรวยและหน้าบาน จงตั้งข้อสงสัยเขาไว้ก่อน นักเขียนไม่ควรจะเป็นเจ้าของความหวานชื่น ตะเกียงดินเผานั้นควรจะให้เปลวไฟที่เข้มแข็งและสุกใส ถ้าเราเอาน้ำมันเติมลงไปมากๆ เปลวไฟของมันก็จะหรี่และจะดับไปเลย…”

เราจะต้องแน่ใจว่างานวรรณกรรมของเรามีคุณภาพที่จำเป็น เหล่านี้คือมีความคิดที่สูงส่ง มีลมหายใจของอิสระเสรีภาพ มีความงามและวิธีเขียนที่กระจ่างชัด และสะท้อนภาพความสงบและความวุ่นวายของชีวิตได้อย่างแจ่มแจ้ง… มันต้องให้จุดหมายแก่เรา มันต้องทำให้เรามีชีวิตอยู่ มันต้องทำให้เราคิด”

“ศิลปะเพื่อศิลปะ สำหรับเปรมจันทร์” ไม่ต้องสงสัยว่างานชิ้นแรกๆ ของเขาจะมีความกระตือรือร้นแบบอุดมคติอยู่มาก แต่ตอนหลังกลายเป็นลักษณะสังคมสัจนิยมมากขึ้น เพราะท่านไม่สามารถจะอยู่ใน “หอคอยงาช้าง” ของนักอุดมคติต่อไปได้นาน

ความเปลี่ยนแปลงของเปรมจันทร์นี้เกิดขึ้นเมื่อเขากลับมาจากการไปทำงานเป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ให้บริษัทสร้างภาพยนตร์แห่งหนึ่ง เขาได้แลเห็นการใช้เงินกดหัวนักเขียนไม่ให้มีอิสระเสรีภาพ เขาจึงได้ลาออกจากงานนั้น

เปรมจันทร์แลเห็นปัญหารอบตัวซึ่งเขาต้องการจะให้มันหมดไปจึงได้มุ่งหน้าเขียนเรื่องในแนวสังคมนิยม แต่เขาก็มิได้สั่งสอนถึงความจำเป็นของการปฏิวัติแบบนองเลือดเลย

 

นักเขียนกลุ่มก้าวหน้าได้รับแรงกระตุ้นอย่างมากในปี 1942 เมื่อมีการประชุมนักเขียนกลุ่มแอนตี้ฟาสซิสม์ ขึ้นที่กรุงเดลี นักเขียนฝ่ายซ้ายจำนวนมากได้มาร่วมประชุมนี้ การแอนตี้ฟาสซิสม์นี้ รวมถึงแอนตี้นาซีเยอรมัน-อิตาลี-และญี่ปุ่นด้วย

เหตุการณ์ใหญ่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกของนักเขียนกลุ่มนี้เข้มข้นมากขึ้นก็คือวิกฤตการณ์ข้าวยากหมากแพงที่แคว้นเบงกอลเมื่อปี 1943 จึงมีการแอนตี้นักกักตุนสินค้า นิตยสารชื่อฮันส์ ของสมาคมนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าออกสู่ตลาดในตอนนี้

มหาเทวี วรมา ได้รวบรวมบทกวีที่เขียนโดยกวีใหญ่ๆ หลายคน อมฤตลาล นาคร เขียนนวนิยายเรื่องมหากาล ดาราศังกร วัณณญี เขียนเรื่องมันวัลตัร (ปลายยุค) ภวานี ภัฏฏาจารย์ เขียน So Many Hunger (ร้อยหิว) เหตุร้ายในเบงกอลครั้งนี้ทำให้นักเขียนหลายคน เช่น กฤษณจันทร์ และควาญา อะห์มัดอับบาส เขียนเรื่องที่เกี่ยวกับการแตกสลายของมนุษยธรรมอย่างน่าบาดใจ

ความขาดแคลนอาหารคราวนั้นเป็นเรื่องที่มนุษย์ก่อขึ้นเองด้วยความละโมบเห็นแก่ตน พวกนักเขียนฝ่ายซ้ายได้โหมไฟแห่งสงครามระหว่างชนชั้น และชี้ให้เห็นว่าสงครามคือต้นเหตุของโศกนาฏกรรมเช่นนี้ ความใจแคบใจร้ายมิใช่ธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ แต่มันเกิดขึ้นมาในตัวมนุษย์เพราะแรงดันอย่างหนักจากภายนอก มนุษย์เริ่มหมดศรัทธาในมนุษย์ด้วยกันเองเสียแล้ว

ต่อมาเมื่อมีการรบกันที่ชายแดนแคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) ก็มีการเขียนเรื่องแอนตี้ผู้รุกรานและการรุกรานทั้งหมดนี้เป็นวิถีทางซึ่งสอดคล้องกับนโยบายต่างๆ ของอินเดีย เช่น นโยบายไม่รุนแรง ไม่ร่วมมือ ไม่เสียภาษี ไม่ต่อต้าน ไม่ร่วมมือในสงคราม ฯลฯ ที่จริงนักเขียนกลุ่มก้าวหน้านั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์หรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือองค์การทางการเมืองไปเสียทุกคนไป

บทบาทของขบวนการกลุ่มก้าวหน้านี้สำคัญอยู่ไม่น้อย ไม่สมควรที่เราจะมองดูว่าเป็นเพียงความเห่ออยากเล่นการเมืองปลอมๆ หรือเป็นแฟชั่นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ความสำเร็จของนักเขียนกลุ่มก้าวหน้านี้อยู่ในความพยายามที่จะวาดภาพ “ก้นนรกชั้นต่ำ” หรือ “เสียงจากนรก” ออกมาให้ผู้อ่านได้มองเห็น