ศึกยูเครนเสี่ยงลุกลาม เป็นสงครามนิวเคลียร์

Photo by Dimitar DILKOFF / AFP

บทความต่างประเทศ

 

ศึกยูเครนเสี่ยงลุกลาม

เป็นสงครามนิวเคลียร์

 

ผู้สันทัดกรณีทางด้านยุทธศาสตร์และการทหารหลายคนระบุตรงกันว่า นับตั้งแต่ “วิกฤตคิวบา” เมื่อปี 1962 ไม่เคยมีครั้งไหนที่โลกตกอยู่ในสภาพสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์เท่ากับในตอนนี้มาก่อน

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เคยออกมาข่มขู่หลายต่อหลายครั้งว่ารัสเซียอาจต้องพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์ ในสุนทรพจน์ต่อคนทั้งประเทศเมื่อ 21 กันยายนที่ผ่านมา ปูตินนอกจากสั่งการให้ระดมกำลังพลสำรองแล้ว ยังย้ำไว้ด้วยว่า พร้อมที่จะใช้ “ทุกระบบอาวุธเท่าที่มี” เพื่อปกป้อง “บูรณภาพแห่งดินแดน” ของรัสเซีย “นี่ไม่ใช่การบลั๊ฟฟ์” ปูตินย้ำ

เจค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ออกมาตอบโต้อย่างแข็งกร้าว เตือนว่า รัสเซียจะเผชิญกับ “ผลลัพธ์ระดับหายนะ” ถ้าหากตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์

นักยุทธศาสตร์เคยกังวลว่า ถ้าหากปูตินชนะศึกในยูเครน ทัพรัสเซียอาจฮึกเหิมถึงขนาดตัดสินใจรุกคืบเข้ายึดประเทศอื่นๆ ใกล้เคียง หรือไม่ก็ตัดสินใจที่จะโจมตีต่อคลังสรรพาวุธของชาตินาโต ซึ่งเคยใช้ในการสนับสนุนกองทัพยูเครน ซึ่งจะนำไปสู่สงครามใหญ่แล้วจะลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด

แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นในเวลานี้แตกต่างกันออกไป เป็นความวิตกในกรณีที่รัสเซียล้มเหลว แบบที่สภาพการณ์ในสมรภูมิบ่งชี้ออกมาเรื่อยๆ ยูเครนไม่เพียงยึดจังหวัดใหญ่อย่างโดเนตสค์กลับคืนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยังสามารถรุกคืบหน้าในแนวรบด้านใต้ ยึดพื้นที่คืนมาได้เป็นจำนวนมาก

ในขณะที่ความพยายามจะเกณฑ์กำลังสำรองเข้ามาเสริมทัพกลายเป็นความล้มเหลวมากกว่าอย่างอื่น ทั้งยังผลักดันให้ชายฉกรรจ์เป็นเรือนแสนหลบหนีออกนอกประเทศ พร้อมๆ กับที่เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นภายในประเทศ

นักการทหารกำลังเป็นกังวลว่า หากปูตินล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในยูเครน อาจผลักดันให้เขาตัดสินใจ “เดิมพัน” ด้วยไพ่ตายสุดท้ายคือการหันมาใช้นิวเคลียร์เพื่อพลิกสถานการณ์กลับเป็นผู้ชนะ

Photo by Dimitar DILKOFF / AFP

นักวิชาการทางทหารจำแนกอาวุธนิวเคลียร์ออกเป็น 2 ประเภท

หนึ่งคือ อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ ที่ติดตั้งไว้กับจรวดขนาดใหญ่ พิสัยทำการไกล ข้ามประเทศหรือข้ามทวีป มีอำนาจทำลายล้างเมืองทั้งเมืองหรือหลายเมืองแม้จะอยู่ห่างไกลจากสนามรบก็ตาม

อีกประเภทหนึ่งเป็นหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก อานุภาพจำกัด พิสัยทำการจำกัดอยู่ในระยะสั้น เรียกกันว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี สามารถนำมาใช้ทดแทนในกรณีที่กำลังทหารมีจำกัด

หลังยุคสงครามเย็น นาโตปลดประจำการอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีออกไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเห็นว่า อาวุธในรูปแบบชนิดนำวิถีได้อย่างแม่นยำสามารถนำมาใช้ทดแทนได้และต้นทุกถูกกว่าทั้งยังไม่เกิดอันตรายแทรกซ้อนเหมือนเช่นการใช้นิวเคลียร์อีกด้วย

นั่นทำให้จำนวนหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีของนาโตในเวลานี้หลงเหลือเพียง 200 หัวรบ ในขณะที่รัสเซียยังคงมีอยู่ในคลังแสงไม่น้อยกว่า 2,000 ลูก

Sputnik/Sergey Guneev/Kremlin via REUTERS

ผู้เชี่ยวชาญทางทหารเชื่อว่า รัสเซียอาจตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ออกมาใน 3 รูปแบบด้วยกัน

แรกสุดคือการ “ยิงเพื่อสำแดงแสนยานุภาพ” โดยไม่ประสงค์จะสังหาร

แบบที่สองคือการใช้ยิงเพื่อโจมตียูเครนโดยตรง

และสุดท้าย คือการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำลายเป้าหมายทางทหารของนาโต

แบบแรก อาจเป็นการเริ่มต้นด้วยการทดลองนิวเคลียร์ ทั้งในรูปแบบการทดลองใต้ดินหรือที่รุนแรงกว่าคือในชั้นบรรยากาศ บนท้องฟ้าเหนือทะเลดำหรือเหนือยูเครน ไม่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตแต่อาจก่อให้เกิดกระแสคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถ “ช็อก” และ ทำลายยุทโธปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารบางคนรวมทั้ง เบ็น แบร์รี จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการของอังกฤษ เชื่อว่า ปูตินและนายพลทหารรัสเซียอาจเลือกที่ใช้แบบที่ 2 ซึ่งเป็นการโจมตีต่อทหารยูเครนโดยตรงมากกว่า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาวุธและกำลังพลที่เป็นอยู่ในเวลานี้พร้อมกันไปด้วย

เป้าหมายของการโจมตีดังกล่าวอาจเป็นสนามบินต่างๆ, ศูนย์ส่งกำลังบำรุง หรือฐานปืนใหญ่ของยูเครน เป็นต้น

ปัญหาก็คือ นิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีไม่ค่อยได้ผลมากนักกับทหารที่กระจายตัวกัน ไม่รวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนนักอย่างกองทัพของยูเครนในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า อาวุธนิวเคลียร์ขนาด 5 กิโลตัน (ราว 1 ใน 3 ของระเบิดนิวเคลียร์ที่ทิ้งใส่ฮิโรชิมา) สามารถทำลายรถถังในสมรภูมิได้เพียง 13 คัน

และหากต้องการทำลายกำลังทหารทั้งกองพล (ราว 3,000-5,000 นาย) ก็จำเป็นต้องใช้นิวเคลียร์ยุทธวิธีอย่างน้อย 4 ลูก แม้ว่ากองพลทหารที่ว่านั้นกำลังรวมพลเปิดฉากรุกอยู่ก็ตาม

หรือไม่ก็รัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ถล่มใส่เมืองสักเมือง เพื่อบีบให้ยูเครนยอมจำนนแต่ก็เท่ากับเป็นการหาข้ออ้างให้กองกำลังนาโตเข้าแทรกแซงได้โดยตรงเพื่อทำลายกองทัพรัสเซียในเวลานี้ไปเลยก็เป็นได้

ส่วนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อนาโตโดยตรงนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

Photo by various sources / AFP

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การตัดสินใจเริ่มต้นใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กองทัพรัสเซียยังไม่พร้อมที่จะก่อสงครามในรูปแบบกับกองทัพสหรัฐและพันธมิตรนาโตกว่า 20 ประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ในกรณีที่ถูกตอบโต้จากการตัดสินใจดังกล่าวเช่นนั้น

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจนถึงขณะนี้รัสเซียจึงยังไม่ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน และกองทัพนาโตยังไม่ได้เข้าไปสู้รบกับกองทหารรัสเซียในยูเครน

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเองยังไม่เห็นหลักฐานบ่งชี้ว่ามีความเคลื่อนไหวจากทางรัสเซียในการเตรียมการเพื่อใช้อาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด

คำถามคือว่า สภาพเช่นนี้จะดำรงอยู่ได้อีกนานเท่าใด?