บทวิเคราะห์ | ปรับ ครม. แรงกระเพื่อม! รับ ‘ตู่’ คัมแบ๊ก ปะผุการเมืองก่อนศึกเลือกตั้ง

ปรับ ครม.แรงกระเพื่อมรับ ‘ตู่’ คัมแบ๊กปะผุการเมืองก่อนศึกเลือกตั้ง

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับมามีอำนาจเต็ม แบบเพาเวอร์ฟูลในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่

เมื่อ “บิ๊กตู่” ได้คัมแบ๊กในทางการเมืองอีกครั้ง ที่ต้องจับตาหลังจากนี้ นอกจากการเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินในฐานะผู้นำของฝ่ายบริหาร ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาล ซึ่งจะครบวาระเทอม 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566

สิ่งที่คนการเมืองทั้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) คงจับตาและรอสัญญาณในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างลงในเบื้องต้น คือ 3 เก้าอี้

แบ่งเป็น เป็นโควต้าของพรรค พปชร. 2 เก้าอี้ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

สัดส่วนของพรรค ปชป. 1 ที่นั่ง คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” ลาออกไปก่อนหน้านั้น

รวมทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นโควต้าของพรรค ภท.

หากมีสัญญาณการปรับ ครม.จาก พล.อ.ประยุทธ์ พรรครวมรัฐบาลย่อมจะไม่ทิ้งโอกาสและความได้เปรียบในการส่งบุคคลเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี ควบคุมกลไกอำนาจที่จะเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคตัวเองอย่างแน่นอน

แม้ท่าทีล่าสุดของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะยังไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงการปรับ ครม. ภายหลังกลับเข้ามาทำหน้าที่นายกฯ อีกครั้ง แต่ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลถือว่ามีความพร้อมอย่างเต็มที่หากจะมีการปรับ ครม.

โดยเฉพาะ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ระบุว่า จะถือโอกาสหารือกับนายกฯ เรื่องการปรับ ครม.ว่าจะมีความเห็นอย่างไร เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการปรับ ครม. ส่วนของพรรค ปชป.ประสงค์ให้มีบุคคลในนามพรรคทำหน้าที่แทน นายนิพนธ์ บุญญามณี ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลาออกไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของพรรค ไม่มีปัญหาอะไร

ซึ่งในส่วนของพรรค ปชป.คงจะยึดตามธรรมเนียมและการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรี ซึ่งจะยึดหลัก การเป็น ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 5 สมัย โดยมีชื่อ “นริศ ขำนุรักษ์” ส.ส.พัทลุง หลายสมัยและมีอาวุโสในพรรค รวมทั้งมีชื่อของ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช หลายสมัย และเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีคุณสมบัติ พร้อมในการนั่งเป็นรัฐมนตรี

ขณะที่แกนนำพรรค ปชป. อย่าง “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค ย่อมอยากสนับสนุน “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลภาคใต้ ซึ่งเป็นมือขวาของ “เฉลิมชัย” ในการเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า หากได้นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ควบคุมกลไกรัฐในส่วนของทั้งกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มบารมีและเป็นประโยชน์ต่อการจัดทัพทำศึกเลือกตั้งครั้งหน้าได้

แต่ก็จะเสี่ยงกับแรงต้านภายในพรรค ปชป. เนื่องจากจะขัดกับธรรมเนียมและกระบวนการของพรรคที่ต้องคัดสรรจาก ส.ส. 5 สมัย ในการเป็นรัฐมนตรีของพรรค เนื่องจาก “เดชอิศม์” แม้จะมีบารมีในพื้นที่ภาคใต้ แต่เพิ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส.สมัยแรก

นอกจากนี้ ยังมีแกนนำพรรค ปชป.บางคนอยากให้มีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของ “จุติ ไกรฤกษ์” ไปพร้อมๆ กันด้วย เนื่องจากไม่ยึดโยงกับแนวทางการทำงานของพรรค

สําหรับพรรค ภท.ท่าทีของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. บอกว่า นายกฯ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรมา ขอรอสัญญาณก่อนค่อยว่ากัน

ส่วนจะปรับหรือไม่ปรับต้องดูสถานการณ์แล้วค่อยว่ากัน ในส่วนของพรรคจะประชุมผู้บริหาร ดูเหตุผลสมควรว่าจะปรับหรือไม่ปรับอย่างไร

โชคดีหน่อยที่นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก ไม่ได้ทำให้เสียงาน ตำแหน่งไม่ได้โบ๋ เขาก็ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่เพียงแต่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น หากนายกฯ ส่งสัญญาณมา

ส่วนจะเป็นสัดส่วนโควต้า ส.ส.จ.ปราจีนบุรี หรือไม่นั้น ของบางอย่างการเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องเก็บอะไร ไม่ให้ใครรู้มาก

ส่วนพรรค พปชร. หากได้รับสัญญาณให้มีการปรับ ครม. แน่นอนว่าย่อมจะเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ภายในพรรคอีกครั้ง เนื่องจากกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค ที่หวังส่งตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้าไปทำหน้าที่รัฐมนตรี ย่อมจะต้องออกแรงกดดันทั้งต่อหัวหน้าพรรค พปชร. และ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ ที่ยังรอโอกาสส่ง ส.ส.โควต้าภาคใต้ เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้กับพรรค พปชร.

ขณะที่กลุ่ม ส.ส.ปากน้ำ ที่ พล.อ.ประวิตรเคยรับปากว่า ถ้ามีการปรับ ครม.เมื่อใด ส.ส.กลุ่มปากน้ำจะได้เป็นรัฐมนตรีแน่นอน

จึงต้องวัดใจ พล.อ.ประวิตร ว่าจะเลือกเดินยุทธศาสตร์จัดขุนพลเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรี หากมีการปรับ ครม.ครั้งหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่พรรค พปชร.จะต้องไปเปิดศึกสู้รบกับทั้งพรรค ปชป. พรรค ภท. รวมทั้งพรรคน้องใหม่แต่คนเก่า อย่างพรรคสร้างอนาคตไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ

ที่พร้อมจะงัดทุกกลยุทธ์เดินหน้าช่วงชิง ส.ส.จากทั้งหมด 58 เขตของภาคใต้ จำเป็นที่พรรค พปชร.จะต้องมีขุนพลนั่งเป็นระดับรัฐมนตรีไปสู้ศึกการเลือกตั้งให้มีความได้เปรียบกับพรรคมากที่สุด

ช่วงนับถอยหลังของรัฐบาลก่อนจะครบเทอม ไพ่การปรับ ครม.เพื่อฟื้นทั้งความเชื่อมั่นให้กับตัว พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะใช้ปะผุจุดที่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับมาสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง

กับเป้าหมายที่มีเดิมพันสูง คือ ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่า “กลุ่ม 3 ป.” จะได้ไปต่อในเส้นทางการเมืองอีกหรือไม่