สังคมเอียงขวา กับอนาคตประชาธิปไตยที่ ‘ไม่มีคำว่าสมบูรณ์’ | ธงชัย วินิจจะกูล

ซีรีส์ ’10 ปี มติชนทีวี 10 ปี การเมืองไทย’ มีการพูดคุยกับ ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ‘อดีตคนเตือนตุลา’ 2 วันก่อนครบรอบปีที่ 46 ของเหตุการณ์สังหารหมู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐประหารที่ตามมาหลังจากนั้น ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แน่นอนว่าถ้าโยนคำถามเกี่ยวกับ วาระ 8 ปีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, อนาคตเลือกตั้ง หรือจำนวนที่นั่งในสภา ธงชัยคงจะส่ายหน้าปฏิเสธ และชวนเรากลับไปตั้ง ‘คำถาม’ ที่ใหญ่ขึ้น – โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม ไปจนถึงองค์ประกอบภายในหลายอย่างที่เราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘ระบบ-ระบอบ’

เพื่อไม่ให้เกิดความเงียบงันแสนอื้ออึง หลายช่วงหลายตอนทั้งหน้ากล้อง-หลังกล้อง ธงชัยพูดประโยคนี้หลายครั้ง ว่า

“สังคมไทยควรเถียงกันให้มากกว่านี้”

ต่อจากนี้คืออีกเสียงหนึ่ง ที่ยกมือออกความเห็นในหลายข้อถกเถียง ท่ามกลางห้วงเวลาแหลมคมของสังคมไทย

รอบทศวรรษการเมืองไทย เราเจอการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และแต่ละครั้งก็หยั่งรากอะไรบางอย่างไว้ และมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ มองเรื่องนี้อย่างไร

ผมพยายามมองให้เห็น ‘ระบบ’ เช่น ถามว่าระบบอำนาจนิยมมีในสังคมไทยไหม ก็ต้องตอบว่า มาๆ ไปๆ (on and off) สิ่งที่ทำไม่ต่างจากเดิม แต่ก็มีปัจจัยที่ส่งผลต่อความเป็นไปทั้งภาคเอกชน นายทุนใหญ่ ระบบราชการ กองทัพ และบางอย่างมองแยกกันไม่ออกด้วยซ้ำว่าอยู่ในระยะ 10 ปีหรือกี่ปี

ประโยคที่อาจจะเคยได้ยินคือ 2475 ยังไม่สำเร็จ ผมคงไม่ไปขนาดนั้น สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ คือการปะทะกันของพลังทางสังคมหรือพลังทางการเมืองที่ต้องการสถาปนาประชาธิปไตยแบบประชาชน กับพลังที่ต้องการครองอำนาจไว้ในมือของกลุ่มชนชั้นนำ เขาไม่เชื่อใจประชาชนว่าปกครองตัวเองได้ และความเชื่อนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ผมพยายามพูดในหลายที่ว่าอย่าติดแค่ไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา พอคุณประยุทธ์ไป คนอื่นขึ้นมาก็อาจจะมีความต่างกันบ้าง แต่ไม่ต่างกันมาก เพราะสัดส่วนของระบบ-ระบอบที่เป็นรากฐานไม่ได้เปลี่ยนวิธีออกจากระบบ-ระบอบแบบนี้?

ผมไม่มีคำตอบนะ ผมพูดอยู่เป็นประจำว่าถ้ามีคำตอบ ผมเลิกเป็นนักวิชาการไปแล้ว คำถามพวกนี้เป็นคำถามร่วมที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันถาม ช่วยกันเสนอ

หลังการรัฐประหาร 7-8 ปี ธงชัยบอกว่า เราจะเห็นคุณลักษณะ (character) บางอย่าง เราอาจเคยนึกว่าเป็นประชาธิปไตยมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย หรือหากย้อนไปตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ประเทศไทยถอยหลังอย่างเหลือเชื่อ จนตั้งคำถามว่าหรือเรายังไม่พ้นจากมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผมคิดว่าเรายังไม่พ้น เรายังเต็มไปด้วยมรดก แต่ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่ มรดกยังปะทะและต่อสู้กับความเติบโตของประชาชนที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการมีอำนาจกำหนดอนาคตตัวเอง

พูดจากสถานะคนอยู่ห่างๆ หมายถึงไม่ได้สนใจการเมืองรายวันมาก ผมคิดว่าสังคมไทยย้อนกลับไปเป็นระบบ ‘ศักดินาใหม่’ หรือว่าทุนนิยมศักดินา แต่ไม่ใช่ระบบราชการ ไม่ใช่ระบบสังคมสมัยใหม่เลย เพราะไม่มีความสมเหตุสมผล เต็มไปด้วยเรื่องของความพอใจ พวกเขาพวกเรา ระบบราชการก็ไม่ค่อยทำอะไรเอง ต้องรอเจ้านายสั่ง เป็นความสัมพันธ์แบบเจ้าขุนมูลนายกับไพร่ เราไม่มีไพร่แล้วในความหมายของสมัยโบราณก็จริง แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ อีกทางหนึ่งคือพฤติกรรมของระบบทหารกับลูกน้อง สองอย่างนี้คล้ายกันมาก

จากสายธารประวัติศาสตร์ไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยสั้นมากและเต็มไปด้วยความเปราะบาง

เรามักคิดว่าอาการแบบนี้จะสะท้อนไปที่ระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองถูกบ่อนทำลาย ไม่มีการเลือกตั้ง ฯลฯ สำหรับผมหลายปีหลังสนใจเรื่องกฎหมาย เพราะระบอบที่กฎหมายไม่ได้เป็นใหญ่ สะท้อนภาวะที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ เป็นทั้งเหตุและผลในตัวเอง

ระบอบกฎหมายเป็นใหญ่ หรือ Rule of Law นั้น ธงชัยบอกว่า คือระบอบที่จำกัดอำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์สิทธิ ทรัพย์สิน และอะไรต่ออะไรของปัจเจกบุคคล โลกตะวันตกสถาปนาระบอบนี้ขึ้นมาเพราะผลการปะทะกันของชนชั้นกระฎุมพีและเจ้า ไม่อยากให้รัฐมายุ่งมากนัก และประชาชนเลือกคนเข้าสภาเพื่อควบคุมว่ารัฐมีอำนาจแค่ไหนทั้งในทางการเมืองและกฎหมาย ฐานของกฎหมายจึงเป็นเรื่องบุคคล

แต่ไทยกลับเน้นเรื่องความมั่นคงและความอยู่รอดของรัฐจนลิดรอนและเบียดเบียนพื้นที่ส่วนทรัพย์สินและสิทธิของปัจเจกชน มากถึงขนาดที่ผมพูดยากว่าประเทศไทยเป็น Rule of Law เพราะรัฐทำตัวเป็นผู้ใช้กฎหมาย นี่หมายถึงตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายความว่าตัวเองอยู่นอกระบบกฎหมาย

คุณอาจจะบอกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ต้องเป็นอย่างนั้นสิ แต่มรดกนี้ยังอยู่ เมื่อรัฐเผด็จการทั้งหลายยึดอำนาจ เขางดเว้นไม่ใช้กฎหมายปกติ แต่ใช้กฎอัยการศึก สภาวะฉุกเฉิน หรือแม้แต่ข้อยกเว้นในรัฐธรรมนูญ มาตราต่างๆ ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ทั้งในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งดีใจกันนักหนาแทบทุกมาตราในหมวดนั้นมีข้อยกเว้นเพื่อความมั่นคงและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ถ้าบอกว่าไทยยกปมความมั่นคงของรัฐมาเหนือสิทธิของปัจเจก มองข้อเรียกร้องเชิงสังคม-การเมืองของเยาวชนที่ท้าทายระบบระบบเดิมอย่างไร

ในสากลโลก ข้อเรียกร้องไม่ได้ถอนรากถอนโคน (radical) เลย เขาเรียกร้องให้ปรับปรุง แต่คุณกลับคิดในแง่ร้าย และที่สำคัญเขาบอกให้ไปคุยในสภา ถ้าเขาจะล้มไม่บอกให้คุยในสภาหรอก แต่คุณกลับปิดประตู นักการเมืองทั้งหลายในสภาที่มีส่วนปิดประตูนั้น พรรคอะไรผมไม่สนใจ คุณพลาดโอกาสทองทำให้สังคมไทยเข้ารูปเข้ารอยในทางการเมือง

สังคมไทยไม่เคยสงสัยตัวเองว่ายืนอยู่ในจุดที่ขวาไปมาก กลับคิดว่าจุดยืนที่ตัวเองอยู่ถูกต้อง ผมถามหลายคนว่าคุณเอาอะไรมาบอกว่าถูกต้อง นี่ก็เป็นความเห็น คุณมีสิทธิมีความเห็น แต่ไม่มีสิทธิเอาความเห็นนั้นใช้อำนาจรังแกคนคิดต่าง การแก้ไขปัญหาความเห็นต่างทางความคิดมีวิธีการเดียวที่ยั่งยืนคือ เถียงกัน ทะเลาะกัน อย่างเลวเลิกคบ เลิกมองหน้ากัน แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

 (Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ธงชัยในฐานะที่เคยอยู่ในจุดที่คล้ายกันมาก่อน ความรับรู้ของสังคมต่อกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษามักแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ทั้งที่มองว่าเป็นความหวัง และทั้งเชิงตรงข้าม

ช่วงแรกที่มองนักศึกษามุมบวกมากเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา กระแสเคลื่อนไหวตอนนี้มักมองข้าม 14 ตุลาไป ชีวิตทุกวันนี้มีมรดกด้านบวกของ 14 ตุลาหลายอย่าง เพียงแต่ในเวลาต่อมาด้านลบมันขยายมากจนไม่เห็นด้านบวก

แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยนไปแล้ว อยู่ในสภาวะของความกลัว กลัวจนกระทบกระเทือนจนไร้เหตุไร้ผล อนุรักษนิยมไทยยุคนี้ไม่มีความหนักแน่น ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ผมเชื่อว่ามีอนุรักษนิยมที่เข้าท่า แต่ที่ออกมาแสดงบทบาทหรือมีอำนาจอยู่ตอนนี้กลับกลัวไปหมด ตั้งแต่หัวถึงข้างล่าง ทั้งที่ถ้าคุณมั่นใจว่าสิ่งที่คุณทำถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ต้องกลัว การถกเถียงเกิดขึ้นได้

ถ้าคุณดูไปจริงๆ ช่วงสมัยนั้นเราก็ ‘โดน’ ในช่วงเวลาที่ไม่ต่างกัน ปีครึ่ง สองปีโดนหนักเหมือนกันนะ ถูกมองว่าเราสร้างความวุ่นวาย สร้างปัญหา ถึงได้เกิด 6 ตุลา คุณจะบอกว่าเบากว่าสมัยนี้เหรอ ก็พูดไม่ได้ อย่าเทียบกันง่ายๆ เลย พยายามเทียบและแย้งตัวเองไว้เสมอ เพราะจะทำให้ได้คำตอบที่ซับซ้อน หลายแง่มุมมากขึ้น จนถึงจุดที่ตอบไม่ได้ว่าแย่กว่า ดีกว่า สำเร็จไม่สำเร็จ

ได้ยินคำพูดอยู่เสมอว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’?

แล้วแต่คุณคิดถึงเวลาในระดับไหน ทางธรณีวิทยาเป็นพันปี ทางประวัติศาสตร์เป็นร้อยปี ทางการเมืองอาจจะไม่กี่สิบปี หรือไม่กี่ปีด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงหนีไม่พ้น ผมเคยเชื่อในความก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นเสมอในตอนเด็ก แต่คิดว่ามันไม่ง่ายขนาดนั้น มีดีขึ้น เลวลง แต่สิ่งดีขึ้นก็อาจจะมากับหลายอย่างที่เลวลง สังคมไม่ได้เป็นก้อนเดียว

ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่เลวร้ายที่สุด แต่ไม่ใช่คำตอบว่าสังคมจะมีจุดมุ่งหมายอย่างไรเพราะมันเปิดโอกาสให้คนในสังคมช่วยกันตอบ ให้ประเทศหมุนไปเรื่อย ไม่มีคำว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์ ผมแย้งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นะ เพราะเป้าหมายของประชาธิปไตยคือเชิงกระบวนการ พูดถึงวิธีการเปิดโอกาสให้ความคิดหลากหลายแสดงออก ปะทะกัน และมีชนะหรือแพ้ไป ทุกอย่างมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ค่านิยม สภาวะสังคม เศรษฐกิจ ดังนั้น คนเราต้องมีสิทธิตัดสินใจว่าจะเอายังไงกับอนาคตของตัวเองและสังคมเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ยาวๆ

ไม่มีใครควรได้รับสิทธิ ยกเว้นเพื่อดื้อดัน ครองอำนาจ และฝืนการเปลี่ยนแปลง