คนมองหนัง | ‘การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม’

‘การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม’

 

เพิ่งเห็นสำนักพิมพ์มติชนกำลังประชาสัมพันธ์หนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม” ผลงานรวมโคลง-กลอนเล่มใหม่ ที่รวบรวมจากบทกวีซึ่งเคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ ของ “ขรรค์ชัย บุนปาน” และ “สุจิตต์ วงษ์เทศ”

ชื่อหนังสือเล่มนี้ทำให้ย้อนนึกไปถึงแนวคิดหนึ่ง ที่เคยอ่านเจอแบบผ่านๆ เมื่อหลายปีก่อน ในงานเขียนของนักมานุษยวิทยา-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอังกฤษสองคน คือ “คริส ไนต์” และ “คามิลลา เพาเวอร์”

ทั้งคู่รณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองและวิชาการผ่านแนวคิดที่เรียกว่า “lunarchy” ซึ่งผมเคยลองแปลแบบลิเกๆ หน่อยเอาไว้ว่า “จันทราธิปไตย”

แต่เมื่อมานึกๆ ดูแล้ว บางทีคำว่า “ข้างขึ้นข้างแรม” อาจเป็นศัพท์ภาษาไทยที่นำมาประยุกต์ใช้กับแนวคิดภาษาอังกฤษข้างต้นได้ดีไม่น้อย

ทว่า อาจต้องเพิ่มคำว่า “(การต่อสู้ทาง) การเมือง” เข้าไปข้างหน้า “ข้างขึ้นข้างแรม”

คำถามที่บางคนอาจสงสัยต่อ ก็คือ แล้ว “การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม” หมายถึงอะไร?

ในภาพรวม แนวคิดนี้เสนอแบบทีเล่นทีจริงว่า การต่อสู้/ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม นั้น ล้วน “ล้อ” ไปกับวิถีความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ ที่เปลี่ยนจาก “ข้างขึ้น” สู่ “ข้างแรม” สลับกันไปมาไม่รู้จบ

เช่น ในยาม “ข้างขึ้น” อาจเปรียบได้กับห้วงเวลาที่อำนาจตกอยู่ในมือของชนชั้นนำส่วนน้อย ขณะที่ในยาม “ข้างแรม” เมื่อพระจันทร์เปลี่ยนด้านสู่มุมมืด โลกพลิกหมุนกลับ อำนาจก็อาจถ่ายโอนมาอยู่ในมือสามัญชนส่วนใหญ่ของสังคม ที่เคยถูกกดทับเอาไว้ตรงเบื้องล่าง

ตรรกะพื้นฐานของ “การต่อสู้ทางการเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม” คือ จะไม่มีใคร-กลุ่มใดเป็นผู้ชนะหรือสามารถผูกขาดอำนาจในนามของความดีงามได้อยู่ตลอดเวลา และในทางกลับกัน ทุกฝ่ายต่างก็ต้องประสบความพ่ายแพ้หรือถูกแย่งชิงอำนาจไปอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ “อำนาจ” จึงมีสภาพเป็นดั่ง “ลูกตุ้มทางการเมือง” ที่เหวี่ยงไปมาระหว่างคนสองกลุ่ม อาทิ ผู้ที่ถือครองอำนาจอยู่ ณ ปัจจุบัน กับบรรดาผู้ถูกปกครอง คนมั่งมีกับผู้ยากไร้ ตลอดจนผู้ชายกับผู้หญิง

ถ้าอธิบายในเชิงหลักการแบบจริงจัง “การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม” คือ การย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า การต่อสู้ทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างมีพลวัต และไร้จุดจบ-บทสรุปอันแน่นอนตายตัว

ถ้าพูดแบบคนมองโลกในแง่ดี หากเปรียบเทียบว่า “ข้างแรม” คือ โอกาสแห่งชัยชนะของผู้คนส่วนใหญ่ เราก็มีโอกาสชนะหรือมีโอกาส “ปฏิวัติ” กันทุกๆ เดือน

นี่เป็นชัยชนะที่จะค่อยๆ จบสิ้นลงในยาม “ข้างขึ้น” และคืนพระจันทร์เต็มดวง เพื่อจะย้อนกลับมาชนะอีกหนใน “ข้างแรม” ครั้งต่อๆ ไป

ในเว็บล็อก https://lunarchy123.weebly.com/ ได้เผยแพร่บทความเชิงสนทนาถาม-ตอบ ที่อธิบายขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม” ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้

(ถาม) ตามแนวคิด “การเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม” เราจะแย่งชิงอำนาจมาได้ก็ต่อเมื่อเรายอมแพ้ ทำไมมันถึงต้องเป็นแบบนั้น?

(ตอบ) ก็เพื่อที่เราจะได้มีโอกาสปฏิวัติซ้ำอีกครั้งยังไงล่ะ

(ถาม) แล้วทำไมต้องเลือกหนทางที่ยุ่งยากขนาดนั้นด้วย? ทำไมจึงไม่สถาปนา-ลงหลักปักฐานทุกๆ อย่างเพื่อคุณค่าความดีงามไปเลย?

(ตอบ) ก็เพราะว่าการปฏิวัติเป็นเรื่องของความสนุก เอาล่ะมาเข้าประเด็นกันดีกว่า คือว่าไม่มีอะไรที่จะถูกสถาปนาหรือลงหลักปักฐานเพื่อคุณค่าความดีงามได้หรอก วิถีทางแบบนั้นคือการนับถอยหลังไปสู่ความตาย

การได้ครอบครองอำนาจแล้วพยายามจะรักษามันเอาไว้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหา มิหนำซ้ำ มันยังจะก่อปัญหาให้คุณ แล้วในที่สุด คุณก็จะเจอสถานการณ์ปฏิวัติซ้อนหรือต้องเผชิญหน้ากับสภาวะปฏิปักษ์ปฏิวัติ

(ถาม) แต่ถ้าคุณยอมแพ้ให้แก่อำนาจรัฐ นั่นก็ไม่ถือเป็นภาวะปฏิปักษ์ปฏิวัติอีกรูปแบบหนึ่งหรอกหรือ?

(ตอบ) ใช่เลย แต่เราก็ต้องหัดเผชิญหน้ากับสภาวะชั่วครั้งชั่วคราวแบบนั้นดูบ้าง เพื่อมันจะได้ปลุกเร้าเราให้ลุกขึ้นไปทำการต่อต้านกันอีกหน

คุณลองสูดลมหายใจเข้า แล้วลองปล่อยลมหายใจออกดูสิ เห็นไหมว่าตอนต้องหายใจออก คุณก็ไม่มีทางเลือกอย่างอื่นเหมือนกัน

เช่นเดียวกับสรรพชีวิตทั้งหลายที่ต่างมีจังหวะเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง ด้วยพื้นฐานความเข้าใจแบบนี้นี่แหละ ที่พวกเราจะออกไปช่วงชิงอำนาจ แล้วสุดท้ายก็จะสูญเสียมันไปอย่างจงใจ และจากนั้น เราก็จะได้รับชัยชนะ (สลับพ่ายแพ้) ไปเรื่อยๆ

นี่คือวิธีการทำงานของ “การต่อสู้ทางการเมืองแบบข้างขึ้นข้างแรม”

(ถาม) คุณรู้ได้อย่างไรว่ามันเวิร์ก?

(ตอบ) เพราะมันเวิร์กในหนล่าสุดที่เราลองทำ แล้วสายพันธุ์ของมนุษย์ก็ใช้ชีวิตมาในวิถีทางแบบนั้น คือชนะและพ่ายแพ้ไปพร้อมกับวิถีของดวงจันทร์มาเป็นเวลานับพันปีแล้ว

เอาเข้าจริง ตลอดช่วงเวลาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีแค่การเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคนีโอลิทิค (การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเกษตรกรรม/ยุคหินใหม่) เท่านั้นแหละ ที่รัฐและชนชั้นปกครองเริ่มถูกสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรก ส่งผลให้อำนาจถูกผูกยึดไว้กับ “อธิปไตยของรัฐ-ชนชั้นปกครอง” อย่างคงที่ แต่เพียงด้านเดียว

แต่ “อธิปไตยของปวงชน” ไม่สามารถทำงานแบบนั้นได้ อำนาจแบบหลังถูกเชื่อว่าจะทำงานผ่านเสียงหัวเราะและการละเล่น ถูกเชื่อว่าการต่อต้านที่ประสบความสำเร็จจะนำไปสู่การยอมจำนนอันแสนสุขสันต์

ไม่มีอะไรจะเสริมสร้างพลังอำนาจให้เราได้มากไปกว่าการเป็นขบถต่อต้านระบอบระเบียบที่ดำรงอยู่ ทำไมไม่ลองทำมันสักครั้งล่ะ? •

คนมองหนัง