‘โนรู-เอียน’ พายุพิศวง | สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
(REUTERS)

‘โนรู-เอียน’ พายุพิศวง

 

พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ถล่มประเทศฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม และไทย สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง เมื่อเปรียบเทียบกับพายุเฮอร์ริเคน “เอียน” ที่พุ่งทะลวงคิวบาและรัฐฟลอริดา รัฐเซาธ์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น เป็นปรากฏการณ์ “ยกระดับฤทธิ์เดช” ของพายุอันน่าพิศวง

“โนรู” ก่อตัวจากบริเวณหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลฟิลิปปินส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กันยายน ในระหว่างเคลื่อนเข้าสู่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ “โนรู” ยกระดับเป็นพายุโซนร้อน (Tropical Strom) ในเวลาอันรวดเร็ว

อีกวันถัดมา เพิ่มระดับความแรงจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลมสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเทียบกับพายุเฮอร์ริเคนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก เท่ากับระดับ 1 ตามมาตรฐานของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน เฮอร์ริเคน สเกล (Saffir-Simpson Hurrincane Scale)

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน “โนรู” ยกระดับความรุนแรงกลายเป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่น มีความเร็วลมสูงสุดในจุดศูนย์กลางของพายุ 257 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวเข้าถล่มเกาะโปลิลโล และเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์

การยกระดับของพายุ “โนรู” จากระดับ 1 เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูง ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น จึงเป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ นักสมุทรศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญภูมิอากาศจะต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป

นายกเทศมนตรีของเกาะโปลิลโลเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เสียงลมพายุโนรูแหวกผ่านอากาศดังมาก ต้นมะพร้าวแกว่งเอนตามแรงลม ถอนรากถอนโคนต้นกล้วยล้มกระจุย

(REUTERS)

ระหว่างซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” พัดผ่านฟิลิปปินส์เพียง 1 วัน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง บ้านกว่า 2 หมื่นหลังพังยับเยิน ผู้คนราว 23,000 คนไร้ที่อยู่ พืชไร่จมน้ำเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิต 8 คน

“โนรู” เคลื่อนตัวจากฟิลิปปินส์ ข้ามทะเลจีนใต้มายังเวียดนาม ระยะทาง 1,400 กิโลเมตรใช้เวลา 2 วัน ขึ้นฝั่งที่เมืองดานัง ในเช้ามืดของวันพุธที่ 28 กันยายน กระแสลมพายุที่วัดได้ในขณะนั้น 133 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดฝนตกหนัก ฟ้าผ่าเสียงดังสนั่นหวั่นไหวในหลายพื้นที่และน้ำท่วมฉับพลัน

ไต้ฝุ่นโนรูถือว่าเป็นพายุที่มีแรงลมสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษที่พัดเข้าฝั่งเวียดนาม

ความรุนแรงของพายุ “โนรู” สร้างความเสียหายให้กับเวียดนามไม่น้อยทีเดียว บ้านเรือนพังกว่า 1 หมื่นหลัง เกิดน้ำท่วมฉับพลันทะลักท่วมฟาร์มหมู ไก่ และไร่นากว่า 5 หมื่นไร่ มีผู้เสียชีวิต 2 คน

เมื่อพายุไต้ฝุ่นพัดเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ของลาว ในช่วงสายวันที่ 28 กันยายน ความรุนแรงลดระดับลงเป็นพายุโซนร้อน ถึงกระนั้นมีฝนตกหนักและกระแสลมแรง สถานีวิทยุแห่งชาติลาวบอกว่า มีบ้านราว 300 หลังจมน้ำ รัฐบาลลาวระดมกำลังทหารกว่า 4 หมื่นนายเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย

พายุโซนร้อนโนรู เคลื่อนตัวถึงภาคอีสานของไทยในเย็นวันเดียวกัน และอ่อนกำลังลงกลายเป็นหย่อมกดอากาศต่ำในวันพฤหัสฯ ที่ 29 กันยายน แต่ยังมีฤทธิ์เดชทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง น้ำท่วม ไร่นาเสียหายในพื้นที่ต่างๆ ราว 17 จังหวัด

(REUTERS)

หันไปดูเฮอร์ริเคน “เอียน” ที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก มุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศคิวบา เมื่อวันจันทร์ที่ 26 กันยายน ด้วยความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงฝั่ง กระแสลมเพิ่มระดับความแรงถึง 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกับหอบมวลน้ำฝนและกระแสลมแรงก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดกระแทกใส่ชายฝั่ง น้ำทะเลทะลักท่วมชุมชน ชาวคิวบากว่า 11 ล้านคนประสบความเดือดร้อนอย่างหนักเนื่องจากน้ำท่วมและไฟฟ้าดับทั้งประเทศ มีผู้เสียชีวิต 3 คน และหายสาบสูญอีก 20 คน

วันพุธที่ 28 กันยายน “เอียน” ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกพุ่งเข้าใส่รัฐฟลอริดา สหรัฐซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคิวบา แต่พายุยังไม่มีทีท่าอ่อนกำลัง ตรงกันข้ามกับมีกำลังแรงขึ้น บางจุดวัดได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วของกระแสลมเฉียดๆ พายุเฮอร์ริเคนระดับ 5

ระหว่างนั้น รัฐบาลสหรัฐสั่งชาวฟลอริดา 2.5 ล้านคนอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ขณะที่อิทธิพลของพายุทำให้เกิดฝนตกหนักบริเวณชายฝั่งฟลอริดาและคลื่นยักษ์สูงกว่า 5 เมตรซัดใส่ชายฝั่งฟลอริดา เกิดน้ำท่วมฉับพลันในช่วงเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับสนิท

เมื่อเฮอร์ริเคนเอียนเข้าถึงฝั่งฟลอริดา กระแสลมยังแรงจัด แต่ละจุดที่พายุพัดผ่านนั้นมีกระแสลมเฉลี่ย 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จุดที่หนักสุดคือ เคป คอรัล วัดความเร็วกระแสลมได้ 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถัดมาเป็นพอร์ต ชาร์ลอตต์ วัดได้ 212 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ลมแรงจัด คลื่นสูงซัดกระหน่ำชายฝั่งฟลอริดาพังกระจุย น้ำทะเลน้ำฝนทะลักท่วมเมือง สร้างความเสียหายหนักที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ มีผู้เสียชีวิตเพราะน้ำท่วมอย่างน้อย 50 คน

ความน่าพิศวงของเฮอร์ริเคน “เอียน” ไม่ต่างกับซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” เพราะยกระดับพลังแรงของกระแสลมได้เร็ว เพียง 48 ชั่วโมง จาก 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่คิวบามาถึงรัฐฟลอริดา เพิ่มเป็นพลังเป็น 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังถล่มรัฐฟลอริดาพังยับเยินแล้ว เฮอร์ริเคนเอียนอ่อนกำลังลงเหลือระดับ 1 ความเร็วลมอยู่ที่ 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วง 11โมงเช้าของวันพฤหัสฯ ที่ 29 กันยายน ในช่วง 5 โมงเย็นลดระดับลงมาที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

จู่ๆ อีก 15 นาทีต่อมา ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐ รีบประกาศข่าวด่วนว่า พลังเอียนเพิ่มพลังกลับมาเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 1 อีกครั้ง ความเร็วลมสูงสุดเพิ่มเป็น 136 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมุ่งหน้าถล่มรัฐเซาธ์แคโรไลนา อยู่ห่างจากรัฐฟลอริดา 300 กิโลเมตร

อะไรเป็นปัจจัยทำให้พายุลูกนี้เพิ่มอิทธิฤทธิ์?

(AFP photo)

“พอล มิลเลอร์” ศาสตราจารย์ด้านสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชายฝั่งแห่งมหาวิทยาลัยลุยเซียนา สเตต อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พายุทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว (Rapid Intensification)

พื้นผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้น เกิดความชื้นสูงขึ้น

ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก จุดกำเนิดพายุเฮอร์ริเคนเอียน มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส

ตัวเลขดูเหมือนเพิ่มขึ้นจิ๊บจ๊อยมาก แต่เพียงแค่ครึ่งองศาเซลเซียส ( ํ C) หรือ 1 ํC สามารถทำให้โลกปั่นป่วนอย่างแรง

การทวีกำลังของพายุทั้งเฮอร์ริเคน “เอียน” และซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” ทำให้การเตรียมตั้งรับเพื่อป้องกันเหตุน้ำท่วม คลื่นยักษ์ซัดชายฝั่ง หรือการอพยพผู้คนออกจากจุดอันตรายนั้นแทบไม่ทันการ

การพยากรณ์อากาศเมื่อ 20 ปีก่อนยังพอมีเวลาแจ้งเตือนอันตรายได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพราะพายุมีกำลังอ่อนกว่าในปัจจุบัน

แต่ “เอียน” และ “โนรู” ทวีกำลังแรงในเวลาอันรวดเร็ว แถมเมื่อมาถึงแผ่นดินแล้ว การเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าจึงเกิดฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนมากและคลื่นลมในทะเลแรงจัด

 

ถ้าย้อนอดีตเมื่อครั้งเฮอร์ริเคน “ไอด้า” ถล่มรัฐลุยเซียนาของสหรัฐในเดือนสิงหาคม 2564 ความรุนแรงของพายุจากระดับ 2 ทวีกำลังเป็นระดับ 4 ความเร็วกระแสลมทะลุถึง 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในช่วงเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

เมื่อพายุยกระดับความรุนแรงได้เร็ว การตั้งตัวเพื่อรับมือของชาวลุยเซียนาสายเกินไป ฝนตกหนักน้ำทะลักท่วมทั้งเมือง ผู้คนทิ้งบ้านขึ้นรถหนีตาย การจราจรติดขัดอลหม่าน การเคลื่อนย้ายอพยพผู้คนไม่ทันการเพราะไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ความเสียหายจึงกินวงกว้าง ประเมินเป็นมูลค่าราว 3 ล้านล้านบาท เกือบเท่ากับงบประมาณรายจ่ายปี 2566 ของรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากเฮอร์ริเคน “ไอด้า” มาสู่เฮอร์ริเคน “เอียน” เทียบกับซูเปอร์ไต้ฝุ่น “โนรู” อานุภาพการทำลายล้างไม่ต่างกันเท่าไหร่ น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้ทุกคนพึงตระหนักว่า เรากำลังเผชิญมหันตภัยจากภาวะโลกร้อนที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นในทุกมิติ •

 

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]