ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ยานยนต์ |
ผู้เขียน | สันติ จิรพรพนิต |
เผยแพร่ |
เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว “ฮาวาล เอช6 ปลั๊กอิน ไฮบริด” (All New HAVAL H6 Plug-in Hybrid) เอสยูวีพลังงานไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กรุ่นใหม่ล่าสุด หรือ PHEV
ก่อนหน้านี้ฮาวาล เอช6 รุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด ที่ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ประเดิมส่งเข้ามาทำตลาด สร้างกระแสได้ไม่น้อย กวาดยอดขายสุดสบึม
เพราะไม่เพียงรูปร่างหน้าตาจะดูดีมีชาติตระกูลเท่านั้น ขนาดใหญ่โตโอฬาร แถมรถทั้งคันอัดแน่นไปด้วยออปชั่นไฮเทค
หลายอย่างเป็นครั้งแรกของเซ็กเมนต์ด้วย
ขณะที่ตั้งราคามาชนิดแตกตื่น มี 2 รุ่นย่อย ราคา 1,149,000-1,249,000 บาท
ทำให้แม้เป็นรถแบรนด์ใหม่ที่มาจากจีน แต่คนไทยพร้อมตอบรับอย่างไม่ลังเล
จึงเมื่อชิมลางสร้างกระแสได้อย่างน่าพอใจจึงส่งรุ่นอื่นๆ ทั้งเอสยูวีเล็ก และเก๋งไฟฟ้าล้วน
ล่าสุดตีปี๊บ “ฮาวาล เอช6 ปลั๊กอิน ไฮบริด” เอาใจสายพลังงานทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งที่ประหยัดกว่าไฮบริด แต่ยังไม่อยากไปถึงขั้นรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือ EV
โดยอวดโฉมในไทยเป็นครั้งแรกของโลก ในงานมหกรรมยานยนต์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก เรียกว่าออกมาเพื่อตีกันคนที่กำลังตัดสินใจว่ารออีกนิด
ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างดี เห็นได้จากกวาดยอดจองสิทธิ์กับแคมเปญ ULTRA DEAL มากถึง 3,067 คันภายในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง หลังการเปิดรับจองเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา
ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการค่ำวันที่วันที่ 7 ตุลาคม 2565
มาพร้อมมิติตัวรถขนาดกว้างขวาง ดีไซน์ด้านหน้าแบบ Star Matrix ล้ำสมัย ดูเฉี่ยวกว่ารุ่นเครื่องยนต์สันดาปพอสมควร
ไฟหน้า เรียวเล็กแบบ Intelligent LED Headlamp ให้ความสว่างแบบ Ultra-High Flow พร้อมระบบเปิด-ปิดไฟหน้า และไฟสูงอัตโนมัติ
ไฟท้าย LED Taillight Strip พาดยาวจากซ้ายจรดขวาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยวสีเดียวกับตัวรถ
เสาอากาศแบบครีบฉลาม และติดตั้งแร็กหลังคาสีโครเมียมมาให้ด้วย
ประตูท้ายเปิด-ปิดด้วยไฟฟ้า และระบบแฮนด์ฟรี
ล้ออัลลอยลายสปอร์ตขนาด 19 นิ้ว
ภายในชูแนวคิด Minimalist ที่เน้นความกว้างขวาง สะดวกสบาย และใส่ใจในทุกรายละเอียด ด้วยคอนโซลหน้าทูโทนสีดำ-เทาสไตล์ Futuristic
หน้าจออัจฉริยะ 2 จอเพื่อการเข้าถึงข้อมูลและความบันเทิงได้อย่างง่ายดาย
พวงมาลัย 3 ก้านระบบมัลติฟังก์ชั่น พร้อมปุ่มควบคุมความเร็วอัตโนมัติจนถึงจุดหยุดนิ่ง
ระบบแอร์อัตโนมัติ พร้อมตัวกรองอากาศ CN95 และ Ionizer ลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และลดกลิ่นในห้องโดยสาร
เบาะนั่งไฟฟ้าคู่หน้า พร้อมระบบระบายอากาศ
เบาะนั่งโดยสารด้านหลังพร้อมที่เท้าแขนกลาง
แท่นชาร์จไร้สาย กุญแจ Smart Key และระบบ Push Start
หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิก 360 องศา
ขุมพลังเครื่องยนต์ 1.5L Turbo ผสานการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า และเพลาขับเคลื่อนอิเล็กทรอนิกส์แบบ Multi-mode DHT
ให้กำลังรวมสูงสุด 326 แรงม้า แรงบิดรวมสูงสุด 530 นิวตันเมตร
ผนวกกับแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม Ternary ความจุ 34 kWh ให้ระยะทางวิ่งสูงสุด 201 กิโลเมตรต่อหนึ่งการชาร์จ ตามมาตรฐาน NEDC
พร้อมกับหัวชาร์จไฟฟ้าแบบ CCS Type 2 Combo รองรับการชาร์จแบบเร็วด้วยไฟกระแสตรง DC (0%-80%) โดยใช้เวลาประมาณ 35 นาที
ส่วนการชาร์จด้วยไฟบ้าน AC (0%-100%) ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง
หากเทียบกับรุ่นไฮบริดที่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 เทอร์โบเหมือนกัน พละกำลังให้มาเหนือกว่าพอสมควร เพราะรุ่นไฮบริดกำลังสูงสุดอยู่ที่ 243 แรงม้า ส่วนแรงบิดเท่ากัน
เห็นสเป๊กเครื่องยนต์บวกมอเตอร์ไฟฟ้า อนุมานว่าน่าจะขับสนุกพอสมควร เพราะรุ่นไฮบริดเวลาออกตัวก็สุดเหวี่ยงไม่น้อย
แม้ตัวถังจะใหญ่ น้ำหนักจะเยอะก็ตาม
หากเทียบกับรุ่นปลั๊กอินไฮบริดที่ให้มาเยอะกว่า อัตราเร่งกลางและปลายน่าจะไหลลื่นไม่น้อย
อีกจุดเด่นคือพิสัยทำการของแบตเตอรี่ที่ไกลถึง 201 กิโลเมตร ใช้งานจริงอย่างต่ำๆ ต้องวิ่งได้ 170-180 กิโลเมตรแน่ๆ
การใช้งานในชีวิตประจำวันแทบไม่ต้องใช้น้ำมันสักหยด อารมณ์ไม่ต่างจากขับรถไฟฟ้าล้วนๆ เลย
แทบเป็นรถปลั๊กอินไฮบริดที่มีรัศมีทำการเฉพาะแบตเตอรี่ไกลอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้
ออปชั่นไฮเทคที่เป็นจุดเด่นของค่ายนี้ใส่มาไม่ยั้งเช่นเดิม อาทิ อัพเกรดเฟิร์มแวร์ผ่านระบบออนไลน์อัจฉริยะ (FOTA)
ระบบการสั่งงานด้วยเสียงอัจฉริยะ
ระบบควบคุมผ่าน GWM Application
เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้ขับขี่และระบบความปลอดภัยเพื่อการเดินทาง อาทิ
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control) สามารถหยุดและออกสตาร์ตใหม่ (Stop and Go) กลับไปยังความเร็วที่ตั้งไว้ก่อนหน้าได้
ระบบการเข้าโค้งอัจฉริยะ (Intelligent ACC) จะลดความเร็วรถโดยอัตโนมัติขณะเข้าโค้งเพื่อความปลอดภัย และเมื่อผ่านโค้งไปแล้ว รถจะกลับเข้าสู่ความเร็วเดิมที่ตั้งไว้
ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ (IIP) 3 รูปแบบ ช่วยการถอยจอดรถในแนวตรง แนวเอียงและจอดเทียบด้านข้าง
ระบบช่วยถอยหลังอัตโนมัติ (ARA)
ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติบนทางตรงและทางแยก (AEBI)
ระบบช่วยเตือนและเบรกเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง (RCTB)
ระบบช่วยเลี่ยงการเข้าใกล้รถใหญ่จากด้านข้าง (WDS)
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลนในภาวะฉุกเฉิน (ELK)
ระบบช่วยชะลอความรุนแรงของการเกิดการชนซ้ำครั้งที่ 2 (SCM)
ต้องบอกว่าหลายฟังก์ชั่นถือเป็นครั้งแรก และเหนือกว่ารถในเซ็กเมนต์เดียวกัน
สำหรับราคาขอละไว้ ณ ที่นี้ เพราะตอนเขียนต้นฉบับยังไม่เปิดเผยข้อมูล แต่คาดว่าระดับล้านกลางๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022