‘ศาสดา’ | หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

‘ศาสดา’

 

งานทำให้ผมพบกับความเป็นจริงหลายๆ อย่าง อย่างหนึ่งคือ ทุกชีวิตมีการสื่อสาร

กับสัตว์นั้น พวกมันสื่อสารกันอยู่เสมอ โดยใช้เสียงร้อง ภาษากาย ร่องรอยที่ทำไว้ตามลำต้นไม้ บนพื้น แต่หากมันจะสื่อสารกับคน ส่วนใหญ่พวกมันจะใช้แววตา

คนก็เช่นกัน ไม่ว่าจะสื่อสารกันด้วยภาษาใด หรืออาศัยอยู่มุมใดของโลก หากสนใจในวิถีเดียวกันแล้ว ย่อมเข้าใจกันได้ไม่ยาก

ในทำนองเดียวกัน แววตาของสัตว์นั้น วิธีที่จะเข้าใจได้คือ เปิดใจรับ

ทำงานอยู่ในป่า ไม่ผิดนักหากจะพูดว่า เวลาส่วนใหญ่ของผมมีโอกาสได้อยู่ในธรรมชาติ

“วิถี” ในธรรมชาตินั้น เป็นความจริงแท้แน่นอน มีวิชาต่างๆ ให้เรียนรู้ ไม่ต่างจาก “ศาสดา” ที่ทำหน้าที่สอนเหล่าสาวก

เพียงแต่ธรรมชาติอาจต่างจากศาสดาอื่นๆ ที่สาวกต้องเข้าไปหาทำความเข้าใจเพื่อเรียนรู้

อุปกรณ์ที่จะใช้ในการเรียนนั่นคือ หัวใจที่เปิด และยอมรับถึงสิ่งที่เรามีคือความไม่รู้

 

ในป่าหลายแห่ง ผมไม่ได้พบปะเพียงแค่สัตว์ป่า แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้พบเจอ หลายคนพบเพื่อผ่านไป มีหลายคนที่กลายเป็นเพื่อน

การพูดคนละภาษาไม่ใช่อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆ กะเหรี่ยง, มูเซอ, ม้ง, อังกฤษ และอื่นๆ

หลายคนมาจากอีกมุมหนึ่งของโลก เมื่อสื่อสารพูดคุย เราก็พบว่า เราพูดถึง “ปัญหา” เดียวกัน สิ่งที่ธรรมชาติและเหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญนั้น เป็นอย่างเดียวกันทั้งโลก

ป่าฝนในแอมะซอนกำลังถูกคุกคาม สัตว์ป่าไร้แหล่งอาศัย เช่นเดียวกับป่าฝนในเอเชีย ไม่ต่างจากแถบป่าบอร์เนียว หรือบริเวณทิวเขาบูโด

สัตว์ในทุ่งเซริงเกติ ถูกไล่ฆ่าเพื่อเอาชิ้นส่วนอวัยวะ เช่นเดียวกับที่คนล่าสัตว์ลักลอบเข้าป่าด้านตะวันตกของไทย

กวางผา – ปัญหาหลักๆ ที่เหล่าสัตว์ป่า โดยเฉพาะกวางผากำลังเผชิญคือ คล้ายติดอยู่บนเกาะแคบๆ เพราะแหล่งอาศัยถูกตัดขาดเหลือเพียงหย่อมๆ ปัญหาของพวกมันได้รับความใส่ใจ และร่วมมือจากหลายฝ่าย วันพรุ่งนี้ของกวางผาจึงมีความหวัง

ในป่าผมพบบางคนที่มาจากประเทศที่เคยเห็นแค่ในแผนที่โลก พูดคนละภาษา แต่ “คิด” ในแบบเดียวกัน

บางคนมาจากประเทศซึ่งเอาจริงกับการดูแลรักษาธรรมชาติ

คนเหล่านี้กลายเป็นเพื่อน และห่างหายจากกันไปแล้ว

ส่วนใหญ่กลับบ้าน มีบ้างบางคนจากโลกนี้ไปตลอดกาล

 

ไมเคิล จากเมืองคาลเกอรี่ ผู้ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ผมนึกถึงเขาเสมอเมื่อเดินทางไปบนดอยสูงของทิวเขาถนนธงชัยและเขียนถึงเขาบ่อยๆ ผมพบเขาบนดอยสูงที่สุดในประเทศไทย

การเดินตามหลังเขาเข้าไปในป่าดิบเขาที่ชุมชื้นไม่ต่างจากป่าเมฆ นั้นคล้ายกับได้ทำความเข้าใจกับบทเรียนของศาสดามากยิ่งขึ้น

“รู้ไหม ต้นไม้ที่ตายแล้วก็มีประโยชน์” เขาอธิบายบทเรียนแรก เรากำลังเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางเล็กๆ เลียบขอบผา

ตามลำต้นไม้ที่ล้ม มีมอสและเฟิร์นขึ้นเต็ม ต้นไม้ผุพังนั่นเป็นบ้านของแมลงปีกแข็งหลายชนิด ใช้เป็นที่วางไข่ ฟักตัวอ่อน พอเวลาผ่านไปนานไม้ผุพังก็จะกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มสารอินทรีย์ให้กับดิน

ต้นไม้ล้มต้นหนึ่ง ทำให้ผมเห็นภาพเช่นนี้

 

อีกบทหนึ่ง ที่ทำให้ผมเข้าใจและหยุดดูทุกครั้งไม่ว่าจะเดินอยู่ในป่าใด

นั่นคือบริเวณที่มีแสงสว่าง พืชเล็กๆ ที่ชอบแสงเติบโต

ครั้งที่เป็นป่าทึบไม่มีแสงลอดลงพื้น พืชเล็กๆ ไม่มีโอกาส ต้นไม้ใหญ่อย่างพวกต้นก่อ ต้นสารภี ต่างแข่งกันสูงเพื่อรับแสง

โอกาสของต้นไม้เล็กๆ มีขึ้นเพราะมีต้นไม้ใหญ่บางต้นล้มลง

ต้นไม้ใหญ่ล้ม เปิดโอกาสให้ต้นไม้เล็กๆ ได้เจริญเติบโต

 

ป่าดิบเขาอันสมบูรณ์ อาจมีปริมาณน้ำฝน 2,000 ถึง 2,500 มิลลิเมตร และเป็นตัวช่วยลดความแรงของเม็ดฝนที่จะตกกระทบผิวดิน เรือนยอดที่ปกคลุมอยู่เกือบเต็มพื้นที่ช่วยให้การระเหยน้ำน้อย พอผ่านพ้นช่วงฤดูฝน ผืนดินที่ป่าปกคลุมจะระบายน้ำออกมาในรูปแบบของสายน้ำเล็กๆ ซึ่งน้ำจะใสเพราะดินในป่าดิบเขาทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำ คอยซับน้ำฝนไม่ให้รุนแรง

และมันจะเป็นตรงกันข้าม สายน้ำจะไหลรุนแรงหน้าดินพังทลาย พัดพาทุกอย่างไปหมด

เป็นเช่นนี้เพราะป่าไม่เหลือแล้ว

 

ผมใช้เวลาไม่น้อยบนดอยสูง อยู่กับการเฝ้าดูกวางผา อยู่กับบทเรียนต่างๆ เมื่อเปิดหัวใจเพื่อรับเสียงและภาพที่เห็นก็ชัดเจน

เมื่อพบเจอ ย่อมมีวันจากลา บางคนจากไปตลอดกาล มีบ้างบางคนจากกันไปราวกับไม่เคยพบ

ดูเหมือนจะเป็นความจริงที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

มีความจริงอยู่ในป่า ความจริงนี้ต้องเปิดใจรับ

อีกทั้งเมื่อยอมรับถึงความไม่รู้

ภาพ “ศาสดา” จะยิ่งชัดเจน… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ