Tim Cook | เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

Tim Cook

 

ในทุกปีนิตยสาร Time จะจัด 100 รายชื่อที่สมควรได้รับตำแหน่งบุคคลแห่งปีขึ้นมา และสำหรับปีล่าสุด 1 ในนั้นก็ปรากฏชื่อของ CEO คนดังแห่ง Apple นามว่า Tim Cook อยู่ด้วย

Time ฉบับที่ว่า ได้พิมพ์หน้าปกออกมา 5 แบบโดยเลือกจำนวน 5 บุคคลจาก 100 คนเพื่อขึ้นปก และ Cook ก็เป็น 1 ใน 5 นั้น

Tim Cook คนนี้เองที่เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ตอนที่เขาก้าวขึ้นมาเป็น CEO ของ Apple ต่อจากสตีฟ จ็อบส์ เขาถูกจับตามองและถูกปรามาสไว้ว่า จะพา Apple ดิ่งเหวแน่นอน

แต่วันนี้เขาเป็นที่ยอมรับ และได้รับเกียรติดังกล่าว อะไรที่ทำให้บุคคลที่ไม่มีอะไรเหมือนหรือเทียบเคียงกับจ็อบส์ได้เลย กล้ารับไม้ต่อ และสานให้องค์กรที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลแห่งนี้รอดและรุ่งเรืองมาได้ เขาคนนั้นต้องมีอะไรดีแน่นอน

และคำตอบนั้น ผมได้มาจากหนังสือเรื่อง Tim Cook เขียนโดย Leander Kahney เรียบเรียงโดยชัชวนันท์ สันธิเดช ภายใต้การพิมพ์ของสำนักพิมพ์ซีเอ็ด ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2563 นั่นแล้ว

 

“ไม่มีใครยอมให้ทิม คุก เป็น CEO หรอก” นักลงทุนในซิลิคอนวัลเลย์คนหนึ่งเคยกล่าวไว้ “พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่คนที่จะทำงานให้เสร็จๆ ไป พวกเขาต้องการคนที่เฉียบคมเรื่องผลิตภัณฑ์ ซึ่งทิมไม่ใช่อย่างนั้นเลย เขาเป็นมดงานในบริษัทซึ่งจ้างมดงานจากข้างนอกอีกที”

แน่นอนที่คนจะต้องคิดถึงคนที่โดดเด่นเรื่องผลิตภัณฑ์ สำหรับคนที่จะมาเป็น CEO ของ Apple เพราะจ็อบส์ได้สร้างความโดดเด่นในเรื่องนี้ไว้ สินค้าทุกตัวของ Apple ล้วนผ่านสมองแห่งการดีไซน์อันเฉียบคมของเขาทั้งสิ้น จนคิดไม่ออกว่าใครจะมาเทียบ

ก่อนหน้านี้ ทิมทำงานอยู่ที่บริษัท Compaq ซึ่งกำลังไปได้ดี เขาถูก Apple ชวนให้มาทำงานด้วยหลายครั้ง แต่เขาก็ไม่ได้ตัดสินใจจะไป จนเมื่อบอกว่า สตีฟ จ็อบส์ อยากคุยด้วย เขาคิดว่าอย่างน้อยได้ไปพูดคุยกับคนระดับจ็อบส์ก็ยังดี ในการพบปะกันครั้งนั้น ทิมบอกว่า

“วิธีที่เขาพูดและเคมีที่รู้สึกได้ในห้องนั้น มันมีแค่ผมกับเขาเท่านั้นที่รู้สึกได้ และผมบอกได้เลยว่า ผมทำงานกับเขาได้แน่ๆ ผมมองปัญหาของแอปเปิลแล้วคิดว่า ผมมีอะไรที่จะทำกับที่นี่ได้”

สุดท้ายทิมก็ได้เข้ามารับตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการนานาชาติ กับ Apple ในปี 1998 ด้วยวัยเพียง 37 ปี

PHOTOGRAPH BY FREDERIC J. BROWN — AFP/GETTY IMAGES

หลังร่วมงานได้สามปี จู่ๆ ในวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2011 เขาได้รับสายจากจ็อบส์ บอกให้เขาไปพบที่บ้านเดี๋ยวนี้ ทิมรู้ทันทีว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่มาก

ใช่แล้ว จ็อบส์บอกว่าจะยกตำแหน่ง CEO ให้กับทิม โดยจ็อบส์จะขยับขึ้นไปนั่งเป็นประธานแทน นั่นเพราะจ็อบส์รู้ตัวดีว่าโรคมะเร็งที่เขาสู้มา 8 ปีก่อนหน้านี้ น่าจะใจร้ายกับเขาเต็มทีแล้ว

ทิมซักถามถึงวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เพราะรู้ว่าจ็อบส์นั้นมีความเป็นผู้นำที่เผด็จการและหวงงานอยู่มาก

“คุณเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง” จ็อบส์บอกกับทิมอย่างนั้น ซึ่งเขาเองยังนึกเลยว่า ก็รู้ว่าจ็อบส์นั้นเป็นมะเร็ง แต่เชื่อว่าเขาจะผ่านมันไปได้ ยังคิดเลยว่าลองทำหน้าที่ CEO สักพัก พอจ็อบส์หายดีก็จะเอาตำแหน่งไปคืน

ที่ไหนได้ จากนั้นแค่ 2 เดือน จ็อบส์ก็ลาจากโลกนี้ไป สร้างโลกให้ช็อกไปชั่วขณะ และหลังจากนั้นคนทั้งหลายก็คิดว่า แล้ว Apple ภายใต้การนำของ “ทิม คุก” จะเป็นอย่างไร คงหายนะแน่นอน เพราะเท่าที่ดูจากบุคลิกภายนอก CEO คนเก่ากับคนใหม่ก็ผิดกันราวฟ้ากับเหว

 

จ็อบส์เติบโตมาในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองใหญ่ที่สร้างโอกาสและคนมามาก และเขาก็เป็นผู้นำที่มีบุคลิกชัดเจน ทุกคนสัมผัสได้ถึงความมีพลัง ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เหมือนใคร และแน่นอนคือความอหังการ์ที่มีอยู่ในตัว

ในขณะที่ทิมเกิดที่เมืองเล็กๆ ในรัฐแอละบามาทางตอนใต้ พ่อทำงานในอู่ต่อเรือ และแม่ทำงานบ้าน สิ่งเดียวที่เขามีอยู่คือการศึกษา และเขาก็เป็นนักเรียนเรียนดีที่เงียบขรึม มีโลกส่วนตัว มุ่งมั่นและเอาจริง ซึ่งตอนที่เขาเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมบริหารของ Apple เขาก็ถูกกลืนหายไป ไม่โดดเด่นเหมือนผู้บริหารคนอื่นๆ ไม่ถูกสื่อมวลชนและคนในวงการกล่าวถึง

แต่ที่จ็อบส์ตัดสินใจเลือกเขา ก็เพราะในช่วงที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ทิมจะคอยเก็บกวาดงานหลังบ้านให้กับจ็อบส์ได้อย่างดี โดยเฉพาะงานในด้านการผลิตที่ทิมดูแลอยู่ เขานำประสบการณ์ที่เขาเคยทำมาปรับใช้ และมันช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างให้กับ Apple ที่กำลังจะล่มสลายได้

นั่นทำให้จ็อบส์มีเวลาและสมาธิพุ่งไปในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ Apple ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทุ่มเทสนใจที่สุด และเขาตระหนักดีว่า หากเขาไม่อยู่ ผู้นำแทนเขาจะต้องรู้จักการบริหารงานในแบบที่ทิมทำไว้

และนั่นคือมรดกที่ท้าทายทิม คุก ตั้งแต่ปีแรกที่รับตำแหน่งนี้หลังจ็อบส์จากไป

 

แน่นอนที่ในปีแรกในการเป็น CEO ของทิม เขายังไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นและสร้างความเชื่อมั่นได้ เขาถูกกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นกดดันและทวงถามถึงทางรอดของ Apple ในมือของเขา

ทิมลุกขึ้นมาสะสางจัดการกับคนทำงานของ Apple ครั้งใหญ่ ใครที่ไม่สามารถสร้างงานในแบบที่เขาต้องการและคิดว่าควรจะเป็น ต้องถูกให้ออกทันที แม้กับคนที่เขาเลือกใหม่เข้ามาเอง และถ้าไม่ใช่ก็ตัดทิ้ง และหาทีมงานที่ไปกับเขาได้

ทิมรู้ดีว่าเขาไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้ถ้าเป็นอย่าง “จ็อบส์” เพราะเขาไม่ใช่จ็อบส์ และเขาก็มีวิถีการทำงานและความเชื่อที่แตกต่างไปจากจ็อบส์โดยสิ้นเชิง

ทิมเชื่อในความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ต่อกัน เขาลงไปหาคนทำงานตัวเล็กๆ แบบที่จ็อบส์ไม่เคยทำมาก่อน จ็อบส์มุ่งให้คนแข่งขันกันสุดฤทธิ์เพื่อสร้างผลงานที่ดีออกมา แต่ทิมสร้างให้คนร่วมมือกันทำงาน ใครมีดีนำสิ่งดีๆ ออกมาช่วยกันทำ อย่างตั้งใจและแข็งขัน

หลักฐานคือ เขาจะส่งอีเมลถึงพนักงานทุกคนเสมอ เพื่อสื่อสารอย่างใกล้ชิด และแม้แต่เมลจากลูกค้าไม่ว่าจะติชม ร้องเรียน เขาจะใส่ใจและตอบกลับเสมอ

กับผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่ยังคงสืบเนื่องจากที่จ็อบส์และทีมเดิมสร้างไว้ เขาสานต่อด้วยการบริหารจัดการที่ควบคุมต้นทุนและเวลาในการทำงานมากขึ้นซึ่งจริงๆ แล้วเขาได้ทำมาตั้งแต่ที่จ็อบส์ยังอยู่ แต่มาชัดเจนเต็มตัวมากขึ้นในยุคของเขา

เขาเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ โดย Apple ไม่จำเป็นต้องแบกงานส่วนใหญ่ไว้เอง เขาสร้าง Supply Chain ในต่างแดน ให้เป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของ Apple ให้ออกมาได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะซัพพลายเออร์ในไต้หวันและจีน เขาจะทำงานใกล้ชิดโดยบินไปร่วมกำกับควบคุมด้วยตนเองถึงประเทศนั้นๆ ซึ่งภาพอย่างนี้ไม่เคยเห็นจ็อบส์ทำ

ทิมได้ทำในหลายสิ่งที่จ็อบส์ไม่คิดจะทำ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อย่างเช่น การบริจาคให้กับองค์กรการกุศล ซึ่งเป็นเรื่องท้ายๆ ที่จ็อบส์จะทำ จ็อบส์บอกว่า การสร้างนวัตกรรมในสินค้าของ Apple เพื่อให้ถูกใจลูกค้า จะสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นที่จะสามารถนำเงินไปทำการกุศลได้เอง

แต่ด้วยความเป็นคนที่มาจากสังคมที่เป็นรอง โตมากับการไม่ได้รับโอกาสและความยุติธรรมเท่าที่ควร ทิมจึงเห็นความสำคัญกับการช่วยเหลือ Apple บริจาคเงินเพื่อการกุศลหลายแห่งในจำนวนไม่ใช่น้อย ไม่แต่องค์กร แต่เขาเปิดโครงการที่ให้พนักงานได้รู้จักทำการกุศลด้วย โดยบริษัทจะร่วมสมทบเงินบริจาคสูงสุด 10,000 เหรียญสหรัฐให้กับพนักงานต่อคนต่อปี

เป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมให้กับทีมงานของ Apple ได้อย่างดี

 

เขาให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ทิมบอกว่าที่เขาซึ่งโตมาจากเมืองเล็กๆ และมีวันนี้ได้ก็เพราะการศึกษาเท่านั้น เขาช่วยเหลือการศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะกับการศึกษาของ STEM คือการบูรณาการระหว่างสาขาวิชา Science, Technology, Engineering และ Mathematics ซึ่งเป็นการศึกษาที่จะสร้างบุคลากรให้พร้อมทำงานในแวดวงเทคโนโลยีการสื่อสารแบบของ Apple ซึ่งเขาบริจาคเงินสนับสนุนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงชั้นมหาวิทยาลัยเลย

และเขายังให้ Apple สร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้พิการขึ้นมาด้วย โดยใส่ใจการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับความพิการในทุกรูปแบบ ทั้งตาบอด หูหนวก และการเคลื่อนไหว ซึ่งในสมัยของจ็อบส์ ความคิดอย่างนี้ถูกตีตกไปตั้งแต่แรกของการออกแบบ

ผลคือ ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ผ่านการใช้นวัตกรรมของ Apple

และแน่นอนที่จะทำให้ภาพพจน์ของบริษัทดีขึ้นและเป็น Good view ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น

ผู้บริหารอาวุโสของ Apple ที่ดูแลเรื่องนี้กล่าวว่า

“ลองนึกถึงคนที่ตามองไม่ค่อยเห็นสิ อาจไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดาๆ ที่หน้าจอมีขนาดเท่าแสตมป์และมีแป้นพิมพ์ที่ต้องกดยิบย่อยไปหมด แต่พอมีไอโฟนเท่านั้น โลกของพวกเขาก็เปลี่ยนไป พวกเขาสามารถส่งข้อความคุยกับครอบครัวและเพื่อนฝูง หาเส้นทาง และทำอะไรได้สะดวกสบายมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

การเห็นความสำคัญกับคนกลุ่มน้อยของทิมนั้น กว้างไกลไปถึงความหลากหลายด้วย ไม่ว่าจะหลากหลายทางชาติพันธุ์ และเพศสภาพ เขาเปิดโอกาสให้มีการรับพนักงานผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ก่อนมีอัตราส่วน ชาย 70% หญิง 30% ภายหลังไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ได้เข้ามาทำงานมากขึ้น แต่ยังได้รับโอกาสให้มีตำแหน่งหัวหน้างานและผู้บริหารมากขึ้น

เห็นได้จากเวลามีการพรีเซนต์สินค้าใหม่ๆ จะมีผู้บริหารผู้หญิงได้ขึ้นเวทีจากที่แต่ก่อนไม่เคยมี

ไม่เท่านั้น ทิมยังเพิ่มสัดส่วนของทีมงานที่ไม่ใช่คนอเมริกันเท่านั้นอีกด้วย ซึ่งความหลากหลายในรูปแบบต่างๆ นี้ เป็นวัฒนธรรมองค์กรใหม่ของ Apple ในยุคของทิมโดยแท้

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะทิม คุก นั้นเป็นเกย์ เขาได้ตัดสินใจประกาศเรื่องนี้กับสาธารณชนด้วยปากของเขาเอง

เขายอมสูญเสียความเป็นส่วนตัว เพื่อแลกกับการเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่มีเพศสภาพที่หลากหลายให้กล้าลุกขึ้นมาแสดงตน และพิสูจน์ตัวเอง รวมทั้งเพื่อให้สังคมยอมรับ

 

เมื่อทิมกล้าออกมาทำในสิ่งที่ CEO ในบริษัทชั้นนำไม่เคยทำมาก่อน นั่นคือความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นและผู้ลงทุนอย่างมาก แต่ผลกลับเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น หุ้นตกไปเล็กน้อยแค่วันเดียวก็กลับมาเหมือนเดิม

ทั้งนี้เป็นเพราะผลงานจากการทำยอดขายและผลกำไรโดยฝีมือของทิม เป็นเกราะป้องกันได้อย่างดี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่ด้อยไปกว่าเดิมด้วย

ถ้ายังจำกันได้ Apple Watch ได้สร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อเปิดตัว และผลตอบรับจากผู้ใช้ว่าชื่นชอบและใช้ประโยชน์ได้จริง นี่คือนวัตกรรมในยุคสมัยของทิม ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกาย ที่เป็นเทรนด์ของโลกพอดี

นอกจากนั้น ทิมยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย เขาได้มีการปรับกระบวนการผลิตโดยลดการผลิตจากโรงงานที่ใช้พลังงานจากถ่านหิน ไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยทั้งปรับลดวัสดุที่เป็นสารเคมีและก่อให้เกิดมลพิษลงอีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้สัมผัสได้คือการเปลี่ยนการใช้โฟมเพื่อรองรับตัวผลิตภัณฑ์ในแพ็กเกจ เป็นการใช้กระดาษแทน ซึ่งกระดาษนั้นก็มาจากป่าที่ปลูกขึ้นเพื่อการใช้งานโดยเฉพาะ

ด้านมูลค่าองค์กรแล้ว เขาได้มีส่วนในการผลักดันมูลค่าตลาดของ Apple จากเดิมอยู่ที่ 364,400 ล้านดอลลาร์ สู่ 2.45 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็นบริษัทรายแรกในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ ที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2018

และแตะ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 2 ปีถัดมา

 

นี่คือส่วนหนึ่งของเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากยุคของจ็อบส์ ที่ทิม คุก สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความเชื่อที่เป็นตัวของเขาเอง เขากล่าวว่า

“ผมไม่คิดว่าธุรกิจควรจะยุ่งแต่กับเรื่องของการค้า ธุรกิจสำหรับผมแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าการรวบรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน หากคนเรามีค่านิยมอันดีงามได้ บริษัทก็ควรจะมีค่านิยมอันดีงามด้วยเช่นกัน”

นี่คือคำตอบของความสำเร็จของผู้ชายคนนี้ที่ชื่อ Tim Cook •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์