สนุกสัมผัส (1) | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

สนุกสัมผัส (1)

 

สัมผัส คือ ความคล้องจอง สำคัญต่อแบบแผนการประพันธ์กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย โดยเฉพาะสัมผัสระหว่างวรรคและระหว่างบท เป็นสัมผัสบังคับที่ขาดมิได้

ตอนที่พระลอเสี่ยงน้ำริมแม่น้ำกาหลง “ลิลิตพระลอ” บรรยายว่า

“มากูจะเสี่ยงน้ำ นองไป ปรี่นา

น้ำชื่อกาหลงไหล เชี่ยวแท้

ผิกูจะคลาไคล บ รอด คืนนา

น้ำจุ่งเวียนวนแม้ รอดไส้จงไหล ฯ”

พระลอเสี่ยงทายน้ำเบื้องหน้าที่เปี่ยมล้นฝั่งและไหลเชี่ยวกรากว่า ‘ไปครั้งนี้ถ้าชีวิตดับสูญ ขอน้ำจงไหลวน ถ้ารอดชีวิต ให้น้ำไหลไปตามปกติ’

โคลงข้างต้นมีคำว่า ‘ไป – ไหล – ไคล’ รวมทั้ง ‘แท้’ กับ ‘แม้’ เป็นสัมผัสบังคับ

สมัยเรียนชั้นมัธยม คุณครูสอนแต่งคำประพันธ์หลายอย่าง แนะให้ใช้สระอา หรือสระไอ ส่งและรับสัมผัสเป็นหลัก เพราะมีคำมากให้เลือกใช้ เพื่อนบางคนไม่เดินตามครู แต่งกลอนรับส่งสัมผัสด้วยสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด คุณครูบอกว่ากลอนดีต้องอ่านแล้วราบรื่นไม่ขรุขระอย่างนี้

ผ่านมาหลายสิบปี ถึงตอนนี้กลับมองต่างมุม กลอนมีหลายลีลาอ่านแล้วเสียงราบรื่นก็มี เสียงกระทบกระทั่งก็มี ขึ้นอยู่กับความต้องการของกวี

ไม่มีข้อห้าม ‘สระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด รับส่งสัมผัส’ กวีตั้งแต่สมัยอยุธยาใช้อยู่ทั่วไปในคำประพันธ์ต่างๆ กัน

 

ใน “สมุทรโฆษคำฉันท์” รณาภิมุขรำพันด้วยความเจ็บแค้นที่ถูกแย่งชิงนางผู้เป็นที่รัก กวีใช้คำว่า ‘กระอุ – ริปุ – ลุ’ เป็นสัมผัสบังคับ

“เจ็บเหนือเจ็บเพราะพิโยคยากหทยเทียม

ไฟดงในแดเกรียม กระอุ

ทุเหนือทุเพราะว่าแพ้แก่ทรชนริปุ (ริปุ, ริปู = ศัตรู)

อาจมันมาเบียนลุ ละอาย”

“กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง” เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงเตือนทิ้งท้ายว่า ผู้มีความรู้จึงคู่ควรอ่านผลงานของพระองค์ ถึงจะรับรู้รสคำที่ไพเราะได้

“อักษรเรียบร้อยถ้อย คำเพราะ

ผู้รู้อ่านสารเสนาะ เรื่อยหรี้

บ่รู้อ่านไม่เหมาะ ตรงเทิ่ง ไปนา

ทำให้โคลงทั้งนี้ ชั่วช้าเสียไป ฯ”

ทรงใช้คำว่า ‘เพราะ – เสนาะ’ และ ‘เหมาะ’ ส่งรับสัมผัส

แม้แต่ “ลิลิตพระลอ” ตอนพระลอชมสระบัว แลเห็นดอกบัวบานละลานตา มากมีปู ปลา เต่า ตะพาบน้ำ อีกทั้งแมลงภู่คลุกเคล้าเกสรกลีบบัว สัมผัสบังคับ คือ ‘สระ – สรดะ – จระ’

“เชิญไท้ธิราชท้าว ชมสระ

ชมดอกบัวบานสรดะ คลี่คล้อย (สรดะ = เกลื่อนกลาด)

ปูปลาเต่าจราวจระ จรัลดาษ เดียรนา (จราว = ตะพาบน้ำ)

แมลงภู่คลึงเคล้าสร้อย เสียดสร้อยเสาวคนธ์”

 

สมัยรัตนโกสินทร์ บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ของรัชกาลที่ 2 แพรวพรายด้วยสระเสียงสั้นที่เป็นสัมผัสบังคับ เริ่มจาก ‘สระเอาะ’

นางมณฑาทูลท้าวสามลว่าเขยเล็กที่จะช่วยตีคลีหาใช่เงาะไม่ เป็นหนุ่มรูปทองที่ ‘งามเลิศเหนือมนุษย์สุดแล้วพ่อ’

“ไม่ลวงหลอกดอกนะพระเอย ลูกเขยเราไซร้มิใช่เงาะ

ฟ้าผี่เถิดหนาไม่ว่าเล่น ท้าวเห็นกลัวแต่จะชมเปาะ

จริงจริงนะขาอย่าหัวเราะ แม้นไม่เหมาะตีเมียเสียให้ตาย”

‘สระอะ’ ก็มี ดังตอนที่หกเขยกระซิบตอบให้รู้กันแค่ผัวเมีย แต่พ่อตาเกิดหูไวเป็นพิเศษ

“ทำไมกับหูแหว่งจมูกวิ่น ถึงจะด้วนเสียสิ้นก็ของข้า

เถียงกันเปล่าเปล่าไม่เข้ายา บุราณว่าอดใจได้เป็นพระ

เมื่อนั้น ท้าวสามลผุดลุกขึ้นเกะกะ

กูได้ยินแว่วแว่วอยู่แล้ววะ มันต่อจะชอบกลเจ้ามณฑา”

อีกตอนหนึ่งท้าวยศวิมลโกรธจัดหวดนางจันทาด้วยหวาย เนื่องจากใส่ร้ายพระมเหสีและพระโอรสให้ตกระกำลำบาก นางจันทาโวยวายลั่น

“ภูเอ๋ยภูมี มาทำโพยตีไม่ปราศรัย

แต่ก่อนร่อนชะไร ท้าวไม่มุทะลุ

เดี๋ยวนี้นี่หนอ ใจคอร้ายดุ

ยิ่งกว่าบ้ายุ ดูรุน่าชัง”

รัชกาลที่ 2 ทรงใช้ ‘สระอุ’ เป็นสัมผัสบังคับ เช่น ‘มุทะลุ – ร้ายดุ – บ้ายุ – ดูรุ’

นอกจากนี้เมื่อนางรจนาแกล้งเหน็บแนมว่ารูปร่างหน้าตาเจ้าเงาะดูไม่ได้

“น้อยหรือนั่นน่ารักอยู่อักโข หูหนาตาโตเท่าไข่ห่าน

รูปร่างช่างกระไรเหมือนยักษ์มาร ล่ำสันขันจ้านสักเท่าพ้อม”

เจ้าเงาะโต้กลับฉับพลันโดยใช้ ‘สระแอะ’ เป็นสัมผัสบังคับ

“แสนเอยแสนแขนง น้อยหรือแกล้งตัดพ้อเล่นต่อหน้า

ติเล็กติน้อยคอยนินทา ค่อนว่าพิไรไค้แคะ (= แคะไค้)

พี่ก็ไม่หลีกเลี่ยงเถียงสักสิ่ง มันก็จริงกระนั้นนั่นแหละ

เจ้าเย้ยเยาะว่าเงาะไม่งามแงะ แฮะแฮะว่าเล่นหรือว่าจริง” (งามแงะ = งามน่าดู)

‘สระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด’ หลากเรื่องหลายตัวอย่างข้างต้น กวีอยากใช้ก็ใช้ได้ เป็นการใช้คำเหมาะในที่เหมาะ เหมาะทั้งความหมายและเสียงคำ มีความหมายตามต้องการ มีเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคเหมาะเจาะไม่แปร่ง ไม่สะดุดหูเวลาอ่านออกเสียง

อ่านแล้วขรุขระก็เป็นกลอนดีได้ ถ้าใช้ให้ถูกที่ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร