ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต

ชาตรี ประกิตนนทการ

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา
: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และ การปฏิสังขรณ์อดีต (1)

 

คนที่เดินทางไปเมืองเก่าอยุธยา ส่วนใหญ่คือการเที่ยวชมโบราณสถานและวัดวาอารามที่ยังคงทิ้งร่องรอยแห่งอดีตอันยิ่งใหญ่สวยงามเมื่อครั้งอยุธยายังดำรงสถานะเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักรสยาม แต่ในความเป็นจริงเมืองเก่าอยุธยามิได้มีเพียงร่องรอยหลักฐานของอดีตสมัยที่อยุธยาเป็นราชธานีเท่านั้น มีประวัติศาสตร์มากมาย ในยุครัตนโกสินทร์ (บางอย่างสำคัญมาก) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี และคณะราษฎร

เหตุการณ์เสียกรุงเมื่อ พ.ศ.2310 ที่ตามมาด้วยการรื้อและขนย้ายอิฐมหาศาลจากกรุงเก่า (รวมถึงการขนย้ายพระพุทธรูปหลายองค์) เพื่อนำมาสร้างกรุงเทพฯ ในยุคต้นร้ตนโกสินทร์ อาจถือเป็นสัญลักษณ์ของการทิ้งอยุธยาไว้ข้างหลัง เป็นจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์อยุธยา

แม้เมืองเก่าอยุธยาจะไม่ถึงกับร้างผู้คน อีกทั้งรัชกาลที่ 1 พร้อมด้วยวังหน้าจะหวนกลับมาปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดารารามอันเป็นวัดของสายตระกูลขึ้นใหม่ แต่ทั้งหมดก็แทบมิได้ส่งผลอะไรมากนักในภาพรวม และเพียงเวลาไม่นาน เมืองเก่าอยุธยาก็ร้างรา ร่วงโรย และรกร้าง โดยเฉพาะพื้นที่ตอนในของเกาะเมือง หลักฐานความยิ่งใหญ่ของราชธานี 417 ปีค่อยๆ ถูกฝังกลบ

และความทรงจำหลายอย่างก็จางหายไปตามกาลเวลา

ภาพรัชกาลที่ 5 เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่ในคราวพระราชพิธีรัชมงคล พ.ศ.2450 ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในช่วงที่สยามกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ สำนึกใหม่ว่าด้วยรัฐและชาติจากโลกตะวันตกกำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในสำนึกของชนชั้นนำ อดีตและประวัติศาสตร์กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในช่วงเวลานี้เองที่เมืองเก่าอยุธยาเริ่มกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง

การเดินทางย้อนกลับไปสำรวจเพื่อ “ค้นหา/สร้างใหม่” สิ่งที่เรียกว่า “อดีต” ของตนเอง (กรณีนี้คืออดีตของชนชั้นนำสยาม) ผ่านการขุดค้นและบูรณะโบราณสถานภายในเมืองเก่าอยุธยา รวมถึงเมืองเก่าทิ้งร้างทั้งหลายทั่วสยาม กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งต่อการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสมัยใหม่

การปฏิสังขรณ์วังจันทรเกษม, วัดสุวรรณดาราราม, วัดเสนาสนามราม, โครงการสร้างวังหลังป้อมเพชร (ไม่ได้สร้างจริง) และการสร้างปราสาทจตุรมุขบนเนินฐานพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท โดยรัชกาลที่ 4 หรือการขุดค้นครั้งใหญ่วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวัง, การจัดงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ไปจนถึงการรวบรวมโบราณวัตถุทั่วอยุธยาและพื้นที่ใกล้เคียง มาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ภายในวังจันทรเกษมในสมัยรัชกาลที่ 5

คือตัวอย่างของปรากฏการณ์นี้

ภาพวงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ที่มาภาพ : เพจ อยุธยา-Ayutthaya Station

ในภาษาไทย คำว่า “การปฏิสังขรณ์” ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “restoration” มีความหมายสื่อถึงการซ่อมแซมทำให้กลับคืนดีเหมือนเดิม (ในวัฒนธรรมไทยนิยมใช้คำนี้กับโบราณสถานและวัดวาอารามเท่านั้น)

แต่ในความเป็นจริง ธรรมชาติของการปฏิสังขรณ์มิได้มีเพียงมิติของการย้อนกลับไปหาอดีตดั้งเดิมอันจริงแท้เพียงเท่านั้น คำนี้ยังมีนัยยะของการตีความสิ่งใหม่และนำมันย้อนกลับไปสวมให้อดีต (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ไปพร้อมกัน

ดังนั้น คำนี้จึงเหมาะสมอย่างยิ่งกับการนำมาใช้อธิบายโครงการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเมืองเก่าอยุธยาช่วงดังกล่าว (ไม่ใช่แค่ใช้เรียกโครงการบูรณะวัดเก่าเท่านั้น) เพราะในทัศนะผม โครงการทั้งหมด โดยแท้จริงแล้วมีเป้าหมายเพื่อ “ค้นหา/สร้างใหม่” สิ่งที่เรียกว่า “อดีต” ของราชวงศ์จักรี (และของชาติ ในความหมายที่ชาติมีหัวใจสำคัญอยู่ที่สถาบันกษัตริย์) ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความท้าทายของการปฏิรูปการปกครองและสถาบันกษัตริย์ ไปสู่ความเป็นสมัยใหม่

และด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากเสนอให้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดข้างต้นว่าเป็น “การปฏิสังขรณ์อดีต” ครั้งใหญ่ของราชวงศ์จักรีในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา นับตั้งแต่เมืองถูกทิ้งร้างไปใน พ.ศ.2310

 

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเป็นเพียงระลอกแรกเท่านั้น เพราะภายหลังการปฏิวัติ 2475 ในช่วงเวลาที่คณะราษฎรมีอำนาจ (พ.ศ.2475-2490) ได้เกิดระลอกที่สองของ “การปฏิสังขรณ์อดีต” ครั้งใหญ่อีกครั้งในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาที่มีเนื้อหาสาระบางอย่างแตกต่างออกไป

ในขณะที่ระลอกแรกเน้นการค้นหา รื้อฟื้น และสถาปนาอดีตอันยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์ สร้างความเชื่องโยงระหว่างกษัตริย์อยุธยาในอดีตกับกษัตริย์รัตนโกสินทร์ในปัจจุบันผ่านโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์มากหมายทั้งแบบถาวรและชั่วคราว

แต่ระลอกที่สองจะเน้นการเข้าไปเปิดพื้นที่เมืองเก่าให้กลับไปสู่สภาพความเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนอีกครั้ง

การตัดถนนโรจนะผ่านเข้าไปกลางเกาะเมืองอยุธยา และการสร้างสะพานปรีดี-ธำรง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมทางรถยนต์เข้าสู่เกาะเมืองอยุธยาเป็นครั้งแรก รวมไปถึงการสร้างโรงเรียนและศาลากลางจังหวัดขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ ทั้งหมดคือรูปธรรมที่สำคัญในการรื้อฟื้นอยุธยาระลอกที่สอง

ก่อนการสร้างสะพานปรีดี-ธำรง อาจกล่าวได้โดยไม่เกินความจริงไปนักว่า พื้นที่ตอนในของเกาะเมืองอยุธยาล้วนเต็มไปด้วยพื้นที่รกร้าง แม้มีบ้านเรือนผู้คนและเรือกสวนของชาวบ้านกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ แต่ก็น้อย ผู้คนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่รอบเกาะเมืองที่การสัญจรทางน้ำเข้าถึงได้อย่างสะดวกมากกว่า

แต่เมื่อมีสะพานปรีดี-ธำรง และถนนโรจนะ พื้นที่ตอนในของเกาะเมืองก็สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกผ่านถนนและรถยนต์ ทำให้สภาพการอยู่อาศัยของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ การขยายตัวของถนนสมัยใหม่ก็เริ่มขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา (ก่อนหน้านี้ถนนภายในเกาะเมืองคือถนนดินและอิฐทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้มีไว้สำหรับการสัญจรโดยรถยนต์)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องแลกมาคือ โบราณสถานเก่าแก่หลายแห่งเมื่อครั้งอยุธยายังเป็นราชธานีถูกรื้อทิ้งเพื่อเปิดทางสู่ความเจริญแบบสมัยใหม่

การปฏิสังขรณ์เมืองเก่าอยุธยาในยุคนี้คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ต้องการเปลี่ยนเมืองเก่าแบบจารีตไปสู่เมืองศิวิไลซ์ตามอย่างยุโรป ซึ่งทำให้ป้อม กำแพงเมือง วัง และวัดบางแห่งได้ถูกรื้อลงเพื่อเปิดทางให้แก่ถนนและอาคารราชการสมัยใหม่

 

ย้อนกลับมาที่เมืองเก่าอยุธยา มีสิ่งที่น่าสนใจในระลอกที่สอง คือ การเข้าไปจัดการกับโบราณสถานบางแห่งในยุคนี้เป็นการสร้างความหมายใหม่ในฐานะของการเป็นสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงระหว่างอดีตกับความเป็นเมืองสมัยใหม่ เช่น กรณีการสร้างวงเวียนรอบเจดีย์วัดสามปลื้ม (โดยทำการรื้ออาคารประกอบ เช่น โบสถ์ วิหาร ออกจนหมดเหลือเพียงเจดีย์องค์เดียว) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความหมายของเจดีย์ในแบบเดิม มาสู่การเป็นอนุสาวรีย์หรือแลนด์มาร์คสำคัญกลางถนนสมัยใหม่

หลังจากที่หมดยุคคณะราษฎร และเข้าสู่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลัง พ.ศ.2490 “การปฏิสังขรณ์อดีต” ของอยุธยาก็เปลี่ยนแนวทางมาสู่ระลอกที่สาม

ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 จอมพล ป.มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์เมืองเก่าอยุธยาครั้งใหญ่ ทั้งการปฏิสังขรณ์วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ โครงการบูรณะเจดีย์วัดสามปลื้มพร้อมทั้งสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน (ไม่ได้สร้าง) และการขุดค้นทางโบราณคดีตามวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฉายภาพอดีตอันยิ่งใหญ่ของอยุธยาภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย

สิ่งที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ มีการปรับปรุงบึงพระรามครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนมาใช้พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งแนวคิดนี้จะว่าไปก็สืบทอดไอเดียมาตั้งแต่ยุคคณะราษฎรที่นิยมสร้างรมณียสถานสำหรับประชาชน ในพื้นที่กลางเมือง ไม่ว่าจะเป็นเขาดินวนาที่กรุงเทพฯ และสระแก้วที่ลพบุรี

เมื่อมองในรายละเอียด “การปฏิสังขรณ์อดีต” อยุธยาในระลอกที่สามนี้ มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เรื่องราวของอยุธยาหวนย้อนกลับมาสู่การรับรู้ของประชาชน เรื่องราวการขุดค้นทางโบราณคดีต่างๆ ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวารสารศิลปากร มีการจัดทัศนะศึกษาที่นำพาผู้คนย้อนอดีตกลับไปรู้จักราชธานีอันยิ่งใหญ่ของชาติ

 

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ผมอยากสรุปว่า เมืองเก่าอยุธยาที่เต็มไปด้วยซากโบราณสถานทิ้งร้างมากมายกระจายอยู่ทั่วเมือง หากมองด้วยสายตาคนทั่วไปเมื่อไปเยี่ยมเยือน อาจหลงคิดไปว่า ประวัติศาสตร์อยุธยาได้หยุดลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2310

แต่ในความเป็นจริงโบราณสถานเหล่านั้นที่ล้วนแล้วแต่ได้ผ่าน “การปฏิสังขรณ์อดีต” ครั้งใหญ่สามระลอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้ทำให้เมืองเก่าอยุธยามีชีวิตอีกด้านอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์และประวัติศาสตร์แห่งชาติในยุคสมัยใหม่อย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีและคณะราษฎร •

 

ติดตาม MIC HOLIDAY TRIP #04

กรุงเก่าเล่าเรื่องราชวงศ์จักรีและคณะราษฎร

นำเที่ยวโดย ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ

ในวันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 เวลา 07.00-18.00 น.

ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://bit.ly/3C7iOFE