สถานีสยาม / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

สถานีสยาม

 

มองบ้านมองเมือง ฉบับนี้จะโกอินเตอร์ พาไปมองต่างบ้านต่างเมือง

ไปเริ่มที่สถานีรถไฟฟ้า ที่ชื่อ สยาม ที่ใครๆ ก็รู้จัก ด้วยตั้งอยู่ท่ามกลางศูนย์การค้าใหญ่หลายแห่ง และยังเป็นจุดเปลี่ยนขบวนรถไฟ สายหลักสองสาย

จากนั้น จะไปสถานีรถราง ที่ชื่อ สยาม เหมือนกัน ในเมืองที่อยู่ไกลโพ้นคนละซีกโลก คือสถานี SIAM ที่ตั้งอยู่บนถนน รูเดอสยาม Rue de Siam ถนนสายหลัก กลางเมืองแบรสต์ Brest

เมืองแบรสต์ เป็นเมืองท่าที่อยู่ทางทิศตะวันตกของฝรั่งเศส ทางฝั่งทะเลแอตแลนติก เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรกว่าแสนห้าหมื่นคน ถ้ารวมผู้คนในปริมณฑล คงอีกสองสามเท่าตัว ด้วยเป็นเมืองหลักของแคว้นเบรตาญ Bretagne

 

เมืองแบรสต์ เป็นเมืองสำคัญมาแต่อดีต ด้วยเป็นท่าเรือฝรั่งเศสที่ออกไปล่าหาอาณานิคมทั่วโลก เพื่อส่งออกสินค้า อาวุธ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมของฝรั่งเศส และนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร รวมทั้งแรงงาน

เมืองแบรสต์ จึงเป็นศูนย์กลางธุรกิจพาณิชย์นาวี และอุตสาหกรรมต่อเรือเดินทะเลมาแต่อดีต จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นฐานทัพของกองทัพเรือฝรั่งเศส

ด้วยบ้านเมืองเสียหายอย่างมาก ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบท่าเรือ ที่มีอู่ต่อเรือและโรงงานต่างๆ เมืองแบรสต์ในปัจจุบันจึงทันสมัย ประกอบด้วยถนนกว้าง อาคารสมัยใหม่ ต่างไปจากเมืองอื่น ที่ส่วนใหญ่ยังเหลือเคร้าโครงเมืองเก่าสมัยโกธิก

ในย่านธุรกิจกลางเมืองนั้น มีถนนสายหลักที่ต่อเนื่องมาจากท่าเรือ ชื่อ Rue de Siam และสถานีรถรางที่อยู่บนถนนสายนี้ ใช้ชื่อสถานี Siam ที่หมายถึง สยาม ชื่อเดิมของประเทศไทย

รูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตแห่งราชอาณาจักรสยาม ผู้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อนำไปถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ที่ท่าเมืองแบรสต์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2229 และเดินทางต่อไปจนถึงเมืองแวร์ซาย เข้าถวายพระพรพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในวันที่ 1 กันยายน ในปีเดียวกัน

เดิมทีถนนสายนี้ชื่อ Rue de Saint Pierre เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อ เพื่อให้เป็นประจักษ์พยาน สัมพันธภาพอันยาวนานของไทยและฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ปลายปี พ.ศ.2228 เดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ที่ท่าเมืองแบรสต์ ในปีต่อมา ในวันที่ 18 มิถุนายน

จากนั้นก็เดินทางต่อไปจนถึงเมืองแวร์ซาย เข้าถวายพระพรพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ในวันที่ 1 กันยายน หลังจากพำนักดูงานต่างๆ ในฝรั่งเศสนานกว่าแปดเดือน จึงเดินทางกลับจากท่าเมืองแบรสต์ และกลับถึงสยามในเวลาต่อมา รวมระยะเวลาทั้งหมดนานกว่าสามปี

ทุกวันนี้ คนฝรั่งเศสยังคงระลึกถึง เหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่มีคณะราชทูต จากราชอาณาจักรสยาม ที่อยู่ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกไกล ได้เดินทางมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรฝรั่งเศส

ทุกวันนี้ คนไทยคงไม่รู้ เหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่บรรพบุรุษผู้กล้าหาญ เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนตะวันตกที่อยู่ไกลโพ้น

รวมทั้งรับรู้ถึงความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และกิจการต่างประเทศ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีการติดต่อกับมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตก

ด้วยฐานะที่ทัดเทียมกัน ไม่ใช่อาณานิคมเหมือนหลายประเทศในเอเชีย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส