เทศมองไทย : สงครามยาเสพติด จากฟิลิปปินส์ถึงไทย

AFP PHOTO / NOEL CELIS

“ยาเสพติด” เป็นปัญหาระดับชาติของหลายๆ ประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือในยุโรป และถ้าเราทำความรู้สึกให้เป็นกลางๆ จริงๆ จะพบว่า ปัญหายาเสพติดแก้ไขได้ยากเย็นแสนเข็ญ ทั้งที่มองอย่างผิวเผินแล้วเป็นเพียงเรื่องของคนขายกับคนเสพก็ตามที

เหตุผลหนึ่งก็คือ ปัญหายาเสพติดมีโครงสร้างสลับซับซ้อน เชื่อมโยงไปถึงเงื่อนปมในสังคมอีกหลายต่อหลายอย่าง อาทิ ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เรื่อยไปจนถึงปัญหาการศึกษาและสถาบันครอบครัวด้วยซ้ำไป

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การแก้ปัญหายาเสพติดจึงมักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ติดตามมามากกว่าเสียงชื่นชมยกย่อง ไม่ว่าการแก้ไขดังกล่าวจะดำเนินไปด้วยวิธีการใดก็ตาม

หากเลือกใช้ไม้อ่อน ก็มักถูกถากถางในประเด็นประสิทธิภาพและความเด็ดขาด ในทางตรงกันข้าม หากเลือกใช้ไม้แข็ง เสียงตำหนิติติงเรื่องผลข้างเคียงและข้อกังขาว่าเป็นการแก้ตรงประเด็นหรือไม่ ก็จะดังระงม


ตัวอย่างที่ชัดเจนคือสิ่งที่ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เผชิญอยู่ในเวลานี้ ทั้งๆ ที่ยังคงอยู่ในช่วง “ฮันนีมูน พีเรียด” ภายในประเทศ แต่เสียงวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศหลักอย่างสหประชาชาติ ก็เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

ที่ช่วยไม่ได้อีกเหมือนกันก็คือ สิ่งที่ผู้นำฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ ถูกเชื่อมโยงเข้ากับอดีตที่ผ่านมาหมาดๆ ของ “สงครามกับยาเสพติด” ในประเทศไทย ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เคยประกาศไว้

ข้อเขียนของ คริส เบลก กับ อันเดรโอ กาลอนโซ แห่งบลูมเบิร์ก เมื่อ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นชิ้นเดียวที่โยงถึงอดีตของไทยในทำนองนี้ เพียงไม่ชัดเจน กระจะกระจะเท่า เท่านั้นเอง

บลูมเบิร์ก เขียนถึงกรณีในเมืองไทยเอาไว้ในทำนองเป็น “อุทาหรณ์เตือนใจ” สำหรับดูแตร์เต ว่า เมื่อปี 2003 ผู้นำไทยเราก็เคยใช้นโยบายทำนองเดียวกันนี้ มีทั้ง “แบล็กลิสต์” และการกำหนดเส้นตายให้จับ “เป็นหรือตาย” ผู้คนในรายชื่อดังกล่าว “ตัวเลขในเวลานั้นแสดงให้เห็นว่า 2,200 คนเสียชีวิตลงด้วยเหตุจากความรุนแรง แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่า มีเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้นที่เสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรม และทั้งหมดล้วนเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่อีกด้วย”

และไม่ลืมบอกเอาไว้ด้วยว่า หลังถูกรัฐประหารพ้นตำแหน่ง “สงครามกับยาเสพติด กลายเป็นเหตุผลหนึ่งในหลายเหตุผลที่ฝ่ายตรงกันข้ามหยิบยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะที่จะกลับสู่เวทีการเมืองอีก”

แน่นอนบริบทหลายอย่างระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ มีความแตกต่างกันอยู่ แต่ในความแตกต่างมีความคล้ายคลึงที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ นับตั้งแต่ดูแตร์เตสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา แล้วประกาศสงครามกับยาเสพติดผิดกฎหมาย มีผู้เสียชีวิต “ระหว่างปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” รวม 756 คน นอกเหนือจากนั้นอีก 1,100 คนที่เสียชีวิต “นอก” ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

นอกจากนั้น ดูแตร์เต ที่ประกาศไม่สนใจคำตำหนิทักท้วง แม้แต่จากสหประชาชาติ แล้วจะดำเนิน “สงคราม” ของตนต่อไป ยังมีเหตุผลมาจากการที่สิ่งที่เขาดำเนินการอยู่ในเวลานี้ “ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่นิยม” ใน ดาเวา ซิตี้ เมืองที่ดูแตร์เตเป็นนายกเทศมนตรีมานาน และบรรดาประชาชนที่นั่นพากันเอือมระอากับผู้นำที่ผ่านมาที่ล้มเหลวในการจัดการกับอาชญากรรม

ดูแตร์เต ยังกล้าหาญชาญชัยถึงขนาดประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ทางการกว่าร้อยรายที่ถูก “กล่าวหา” ว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับการค้ายาเสพติด เพื่อ “ประจาน” ต่อสังคม ในจำนวนนี้มีนายตำรวจระดับสูงทั้งในอดีตและที่ยังทำหน้าที่อยู่ด้วยถึง 5 ราย

แต่ฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ ดาเวา ซิตี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ วุฒิสภาของฟิลิปปินส์เริ่มต้นกระบวนการสอบสวนหลายๆ กรณีที่เชื่อกันว่าเป็น “การฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม” ที่เป็นการประกาศสงครามกับดูแตร์เตกลายๆ ไปแล้ว

สุนัย ผาสุก แห่ง ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้ให้เห็นผลพวงอีกประการของมาตรการสงครามกับยาเสพติดของไทยที่ผ่านมาว่า เป็นตัวการบ่มเพาะ “วัฒนธรรมยกเว้นการถูกลงโทษ” ขึ้นในหมู่ผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะ “คงอยู่ต่อเนื่อง” ต่อไป และชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยเองก็ไม่เคยยุติการฆ่านอกกระบวนการยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดมาจนถึงทุกวันนี้

บลูมเบิร์กแสดงให้เห็นอีกขั้วหนึ่งของการแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยการหยิบยกข้อเสนอของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรียุติธรรมที่เสนอให้ลดยาบ้าลงจากบัญชียาเสพติดประเภท 1 มาเป็นประเภท 2 เพื่อให้สามารถเอื้อต่อการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่การจำขัง มาใช้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาจากทางด้านผู้เสพ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังผู้ขายในที่สุด

ทิ้งเงื่อนปมเอาไว้ให้ไปคิดต่อกันเล่นๆ ว่า ระหว่างสองวิธีนี้ อันไหนถูก อันไหนผิด และอันไหนมีใครต่อใครตกเป็นเหยื่อมากกว่ากัน?!