แลนด์สไลด์ สู่ประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของประเทศ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในศึกนายก อบจ.ร้อยเอ็ด คือจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย เพราะไม่เพียงคนของเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน 3 แสนกว่าๆ ซึ่งมากกว่าผู้สมัครทุกรายรวมกัน แต่ทั้งผู้สมัครและพรรคล้วนหาเสียงโจมตีคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ

คุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้อยค่าว่าเพื่อไทยชนะเลือกตั้งร้อยเอ็ดน้อยจนไม่ถือว่าแลนด์สไลด์ แต่ถ้าการได้คะแนนสามแสนกว่าๆ แบบชนะเกือบทุกเขตยังไม่ใช่แลนด์สไลด์ ในโลกนี้คงไม่มีอะไรแลนด์สไลด์ได้อีกแล้ว ไม่ต้องพูดว่าเอาคะแนนผู้สมัครทุกคนมารวมกันยังไม่เท่าผู้สมัครเพื่อไทยคนเดียว

การเลือกตั้งร้อยเอ็ดเกิดหลังจากการเลือกตั้ง อบจ.กาฬสินธุ์จบด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเทียบกับกาฬสินธุ์ซึ่งคะแนนอยู่ที่ 249,093 ร้อยเอ็ดซึ่งคะแนนอยู่ที่ 301,187 ก็ถือว่าสูงขึ้นกว่า 20% ทั้งที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีเงื่อนไขในการแข่งขันยากกว่ากาฬสินธุ์เหลือเกิน

คืนก่อนเลือกตั้งวันที่ 25 กันยายน คุณเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้สมัครนายก อบจ.บอกผมว่าเครียดที่สุดเรื่องร้อยเอ็ดจะชนะไม่ขาดเท่ากาฬสินธุ์ แต่คะแนนที่สูงขึ้น 20% ในจังหวัดที่เขตเยอะและการแข่งขันของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นเข้มข้นกว่าคือหลักฐานของการแลนด์สไลด์ที่เข้มข้นขึ้นอย่างสมบูรณ์

โดยปกติประชาชนจะเลือกใครเป็น ส.ส.หรือนายก อบจ. ก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของบุคคลนั้นในแง่เงิน, อิทธิพล, หัวคะแนน, พ่อแม่, เครือข่าย, ความทุ่มเทลงพื้นที่ ฯลฯ นักการเมืองระดับท้องถิ่นหลายคนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องการเมืองระดับชาติเพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองควบคุมไม่ได้เลย

อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งที่กาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด สิ่งที่ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยทำโดยต่อเนื่องคือชักชวนให้ประชาชนเลือกนายก อบจ.จากเพื่อไทยไปทำงานร่วมกับรัฐบาลระดับชาติ การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกเพื่อไทยไปจัดตั้งรัฐบาลที่คนของเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี

เพื่อไทยคือฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือจะพูดให้สุดทางยิ่งขึ้นคือเพื่อไทยเป็นฝ่ายตรงกับ “ระบอบ” ซึ่งมีมาก่อนรัฐบาลนี้ตั้งแต่ปี 2549

การเลือกนายก อบจ.เพื่อไทยในพื้นที่ซึ่งเพื่อไทยส่วนกลางมาช่วยหาเสียงโจมตีรัฐบาลเป็นสิบๆ เวทีที่แสดงให้เห็นความรังเกียจรัฐบาลและ “ระบอบ” ไปพร้อมๆ กัน

ด้วยตัวเลขผู้ลงคะแนนให้เพื่อไทยที่ร้อยเอ็ดซึ่งสูงกว่ากาฬสินธุ์อย่างเห็นได้ชัด พรรคเพื่อไทยมาถูกทางที่ใช้ยุทธวิธีโจมตีรัฐบาลประยุทธ์จากระดับประเทศสู่ระดับท้องถิ่น

ส่วนคะแนนเลือกผู้สมัครระดับท้องถิ่นที่สูงขึ้นไปอีกก็สะท้อนว่าความรังเกียจรัฐบาลได้ลงรากถึงท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์

ปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นคือหัวคะแนน และถึงแม้การเลือกตั้งปี 2562 จะมี ส.ส.และผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคอนาคตใหม่ที่ชนะหรือไล่บี้เพื่อไทยแม้ไม่มีหัวคะแนน ตัวอย่างเช่น เขต 1 ลำปาง-ขอนแก่น-มหาสารคาม แต่ที่สุดแล้วหัวคะแนนก็สำคัญต่อการเลือกตั้งนอกเขตเมืองอยู่ดี

ยุทธวิธีของพรรคเพื่อไทยที่ร้อยเอ็ดคือการบริหารให้ ส.ส.หรือผู้สมัครมี “หัวคะแนน” หมู่บ้านละ 5 คนเพื่อระดมคะแนนให้พรรคในวันเลือกตั้งจริงๆ

ส่วน ส.ส.หรือผู้สมัครก็เต็มใจทำแบบนี้เพื่อให้พรรคเห็นผลงานจนส่งลงเลือกตั้งปี 2565-2566 เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งพรรคยังไม่ได้เคาะว่าจะส่งใครลง

คุณประวิตรดูถูกเสียงประชาชนที่ร้อยเอ็ดกว่าสามแสนว่า “ไม่ใช่แลนด์สไลด์” และ “ชนะแค่นิดเดียว” แต่ถ้าคุณประวิตรใช้สติก่อนพูด คุณประวิตรก็จะสำนึกว่าตัวเองไม่มีใครเลือกแม้แต่คนเดียว และสามแสนเสียงของร้อยเอ็ดมากกว่าคะแนนที่พลังประชารัฐเคยได้ตั้งแต่คุณประวิตรคุมพรรคเอง

หากคุณประวิตรพูดเรื่องเลือกตั้งร้อยเอ็ดด้วยความรู้เลขระดับอนุบาล คุณประวิตรย่อมรู้ว่าตัวเองคือหัวหน้าพรรคซึ่งพรรคแข่งเลือกตั้งที่ไหนก็แพ้ตลอด ความน่าเชื่อถือของคุณประวิตรเรื่องนี้จึงต่ำจนควรอายที่จะพูดด้วยซ้ำ แต่จะเอาอะไรกับคนที่ปกปิดนาฬิกาสามสิบล้านด้วยข้ออ้างที่คนโห่ทั้งเมือง

ขณะที่รัฐบาลมะงุมมะงาหรากับการด้อยค่าคะแนนเสียงประชาชน สิ่งที่การเลือกตั้งร้อยเอ็ดสะท้อนคือความเกลียดชังรัฐบาลหยั่งรากสู่ประชาชนระดับหมู่บ้าน และพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและ “ระบอบ” ตั้งแต่ปี 2549 พบสูตรสำเร็จในการทำให้ความเกลียดรัฐบาลกลายเป็นคะแนน

ด้วยเหตุที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชนะเลือกตั้งระดับท้องถิ่นขนาดนี้โดยโจมตีรัฐบาล ทันทีที่คุณประยุทธ์ยุบสภา “กระแส” โจมตีรัฐบาลที่เคยซุกตัวอยู่ตามสื่อและตามโซเชียลก็จะพุ่งทะยานเหมือนหุ้นทะลุนิวไฮไม่หยุด

และถึงตอนนี้รัฐบาลจะถูกทุกคนถล่มจนมีสภาพไม่ต่างจากบุฟเฟ่ต์ที่ถูกทัวร์จีนลง

 

เมื่อคำนึงว่าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งร้อยเอ็ดด้วย “ตัวแบบ” ที่บูรณาการชาวบ้าน-หัวคะแนนในหมู่บ้าน-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-ส.ส.-พรรคการเมือง โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะใช้ “ตัวแบบ” นี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงมีแน่ๆ ขณะที่ฝั่งรัฐบาลยังไม่มีวี่แววว่าจะปรับตัวสู้ได้อย่างไรเลย

ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยที่ร้อยเอ็ดเป็นหลักฐานว่าปรากฏการณ์ ‘อีสานแลนด์สไลด์’ ได้บังเกิดขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคือ “โมเมนตัม” หรือ “แรงเหวี่ยง” เป็นการสะสมพลังที่มีโอกาสขยายตัวสูงขึ้นไม่หยุดยั้งไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า เหลือเพียงแต่จะเป็นระดับประเทศหรือระดับอีสานภาคเดียว

อีสานคือภาคที่มีประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมี ส.ส.มากที่สุดในประเทศไทย รัฐบาลที่มีนายกฯ จากการเลือกตั้งอย่างมีเสถียรภาพแทบทุกชุดก่อนถึงปี 2562 จึงได้แก่รัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งในภาคอีสานไม่มากก็น้อย อาจจะยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ยุคปี 2540 เท่านั้นเอง

อาจมีคนตั้งคำถามว่าทำไมอีสานแลนด์สไลด์จึงเป็น “โมเมนตัม” ที่หยุดไม่ได้ต่อไป แต่หากเข้าใจว่าคนอีสานส่วนใหญ่คือชาวนา นโยบายประยุทธ์ช่วง 8 ปีก็คือนโยบายที่ประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาชาวนามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่ราคาข้าว, ราคาปุ๋ย, ราคายา และหนี้สินชาวนา

ถ้าเข้าใจว่าภาคอีสานก่อนคุณประยุทธ์รัฐประหารมี “ผลิตภาพ” และอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดด้วยนโยบายรถไฟความเร็วสูง, จำนำข้าว ฯลฯ การล้มล้างนโยบายดังกล่าวก็คือการทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางและคนกลุ่มอื่นๆ ในภาคอีสานแบบไม่มีชิ้นดี

ถ้าเข้าใจว่าภาคอีสานยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะมี “แผนบริหารจัดการน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำใช้ระยะยาว การที่คุณประยุทธ์รัฐประหารแล้วล้มโครงการดังกล่าวก็คือสิ่งที่คนอีสานมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมอีสานซ้ำซากในปัจจุบัน

ทุกสิ่งและทุกนโยบายที่คุณประยุทธ์ทำมาตลอด 8 ปีคือเนื้อดินที่ทำให้ภาคอีสานหันหลังให้รัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ จนการโจมตีรัฐบาลประยุทธ์เป็น “ฉันทานุมัติ” ที่คนยอมรับอย่างกว้างขวางจนไม่มีทางที่รัฐบาลจะยุติความรู้สึกนี้ได้เลย

เลือกตั้งรอบหน้าจะเกิดปรากฏการณ์อีสานแลนด์สไลด์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย จุดหมายของเส้นทางนี้คือพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ อย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งในที่สุดจะเป็นรากฐานของการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตอย่างแน่นอน

ความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลต่อภาคอีสานคือชนวนของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศ เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้มาจากการลงถนน แต่มาจากการลงคะแนนเลือกตั้งของประชาชนไทย