ขึม เวียสนา กับ ‘4 เมืองขลัง’ วันน้ำท่วมโลก | อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

ขึม เวียสนา กับ ‘4 เมืองขลัง’

วันน้ำท่วมโลก

 

โพธิกัมโปร์ ผู้นำจิตวิญญาณเขมรสมัยอินโดจีนระหว่างปี 1865-1867 และกลายเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในประวัติศาสตร์เขมรนอกการ “ผนวก” ไว้กับตอนใดตอนหนึ่งเมื่อราว 157 ปี ร่วมสมัยศตวรรษ19/20

แต่ข้าพเจ้ากลับละเมอเพ้อไปว่าเข้าสมัยกับยุคนี้ที่ศตวรรษ 21

“โพธิกัมโปร์” ที่มักถูกกล่าวถึงโดยมีคำนำหน้าว่าอาจารย์คือผู้นำจิตวิญญาณแบบเขมร มีอีกชื่อหนึ่งว่า “อาจารย์เลียะ (หรือ อ.ลักษณ์) และเคยบวชเป็นสงฆ์เถรวาทที่มีผู้คนนับถือดงแห่/ติดตามจำนวนนับหมื่นทั้งฆราวาสและนักบวชจนเป็นที่หวาดเกรงของชนผิวขาวที่เข้ามาอารักขาดินแดนตามคำร้องขอของกษัตริย์เขมรคือพระบาทนโรดม

ว่าแต่ โพธิกัมโปร์ ท่านนี้เป็นใคร?

สมัยที่ข้าพเจ้าได้ยินชื่อนี้จากล่ามเขมรนั้น ข้าพเจ้าจดจำคำว่า “โปธิกำเบาร์” ราวกับจะรู้ว่าอีกไม่นานข้าพเจ้าจะถอดรหัสให้แก่เขาได้แม้จะข้ามภพถึงศตวรรษเลยก็ตาม

แต่นั่นแหละ ข้อมูลจากเด็กเขมรที่ขาดโอกาสศึกษาหลังยุคเขมรแดง จึงทำให้โพธิกัมโปร์ฉบับเอียง เวียสนา เป็นชาวเขมรใต้ที่ถูกฝรั่งเศสตัดเศียรและเสียบประจานปากอ่าวทะเล

จากนั้นความปุรัมปุรามนต์ขลัง กึ่งเหนือจริงกึ่งฝันในการต่อสู้กับต่างชาติก็กลายเป็นคำบอกเล่า ซึ่งก็ประหลาดกับไปคล้ายกับเรื่องราวนักรบนิรนามกัมพูชาใต้ที่บารังอินโดจีนดันบันทึกไว้

ทว่า ชื่อนามเหล่านั้นฟังดูเหมือนชาวอันนัมหรือเวียดนามจนเกินกว่าจะคาดว่าเป็นชาวเขมรกลางที่เป็นเรื่องราวของโพธิกัมโปร์ที่แรกเลยถูกร่ำลือว่าสืบเชื้อสายชั้นหลานของพระบาทองค์จันที่ 2 (1794-1835)

ส่วนฉบับที่ไม่ยกย่องฮีโร่กัมโพชกล่าวว่า เขาคือชาวเขมรป่าดงพืชพันธุ์หนึ่งซึ่งเรียกกันว่าราเฮียต (หรือราฮัต) ซึ่งแม้ทุกวันนี้เรื่องจำนวนเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยเขมรก็ยังเป็นจำนวนปริศนาในด้านการศึกษา

แต่บางฝ่ายกล่าวว่า อาจารย์เลียะเป็นชนชาติจรายซึ่งมีถิ่นฐานในป่าภาคอีสาน

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าเขาจะเป็นชาวชนเชียดที่ไม่นิยมให้ลูกตนบวชแต่วันเด็ก การถูกอัปเปหิให้เป็นอื่นของเลียะจึงน่าจะมาจากความที่เขาเป็นที่รักใคร่ของชาวถิ่นและกลายเป็นเจ้าจลนาหรือชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดยุคหนึ่งถึงขั้นเป็นผู้นำจิตวิญญาณและฮีโร่เขมร

โพธิกัมโปร์ได้ก่อตั้งชุมนุมขึ้นที่วัดพนม ใกล้แม่น้ำจตุมุข/โดนเปญ โพธิกัมโปร์จึงน่าจะเป็นเจ้าเมืองคนแรกของที่นี่

เพราะหลังจากที่เขาถูกตัดหัวเสียบประจาน โดนเปญ ต่อมาถูกสถาปนาเป็นราชธานี

สําหรับชุมนุม/จลนาต่างๆ ที่กระจายทั่วไปในในศตวรรษ 19/20 นั้น นอกจากจลนาโพธิกัมโปร์แล้ว ในภาคตะวันตกของกัมพูชาราวยุคต่อมาจลนา “ตาแก” ในพระตะบองที่ต่อต้านสยามก็ถือกำเนิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าอดีตนักบวชเถรวาทยุคที่ต่อต้านบารังต่อมาก็ต่อต้านพวกกันเอง ซึ่งชุมนุมตาแกนี้ มีภิกษุเสาเป็นปรึกษา และเขาคือผู้มีเวทมนตรามาจากแดนใต้ของแคว้นอันนัมหรือกัมพูชาใต้ (1898)

พลัน เรื่องราวของภิกษุเสาและตาแกที่น่าประทับใจก็ได้ทำให้กวีเขมรผู้หนึ่งซึ่งมีนามว่าอิน นำไปแต่งเป็นบทกลอน/กำนาพย์ ในชื่อ “สมรภูมิตาแกที่พนมกระวาน” เล่าเรื่องราวของภิกษุเสาที่ขอ “บิณฑบาตชีวิต” ข้าราชชาวสยามจากการตกเป็นเชลยศึก

อินเป็นชาวพระตะบอง เคยบวชเรียนในสยามราว 7 ปี จนรับราชการตำแหน่งเสมียนตราในพระบาทสีสุวัตถิ์ (1904-1927) ที่จัดทำพจนานุกรมเขมรจนได้บรรดาศักดิ์เป็น “ออกญาสุตนปรอเจียอินทร์”

ไล่เรียงจากฮีโร่โพธิกัมโปร์ถึงตาแกและพระคุณเจ้า ตั้งแต่ยุคต้น-ยุคกลางฝรั่งเศสครองเมือง ล้วนน่าสนใจว่า ผู้นำจิตวิญญาณเขมรนั้นมีพื้นฐานจากนักบวชที่ได้รับการสนับสนุนมากจากชนชั้นมูลฐาน (รากหญ้า)

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวพวกเขาทั้งหมดมักจบลงด้วยการถูกจับเป็นเชลยและบ้างก็ถูกสังหาร ไม่เคยมีฮีโร่ชาวมูลฐานคนใดที่ได้รับการยกย่องให้เป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์เลย

โดยจะเห็นว่า เมื่อศูนย์กลางอำนาจกัมพูชาก่อตั้งอย่างมั่นคงแล้วในการต่อมาประวัติที่เริ่มจากบันทึกตาม คนเหล่านี้ต่างถูกตราหน้าว่าเป็น “กบฏ”

ดังที่ ภิกษุเสา, โพธิกำโปร์ ตาแกและดาบ ชวนยุคหลังล้วนถูกตราหน้าว่าเป็น “กบฏผีบุญ” ที่เหิมเกริมก่อการ “ปลุกปั่นประชาราษฎร์ผู้แร้นแค้นและทุกข์ยากในชนบท ให้เข้าร่วมจลนาต่อต้านแผ่นดินประเทศและพระมหากษัตริย์”

คนเหล่านี้หาใช่วีรชน ผู้คู่ควรอยู่ในประวัติศาสตร์เขมร

ไม่กี่ขรึมสาเมื่อไม่นานนี้ที่พนมกุเลน/บันเตียสรัยในเขตจังหวัดเสียมเรียบ พลัน ผู้นำจิตวิญญาณคนหนึ่งซึ่งฝังตัวมานานทางการเมืองก็ปรากฎตัวขึ้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งนายดาบ ชวนเคยตาย และจากยุคนั้น ถึงยุคนี้ ที่ฉันพบว่า ขึม เวียสนา กำลังเป็นตัวอย่างบุคคลกึ่งผีบุญเขมรยุคสุดท้าย

ขึม เวียสนา นั้น เดิมทีความทะเยอทะยานเป็นบุคคลสาธารณะได้ทำให้เขากระโจนสู่แวดวงการเมืองเมื่อ 16 ปีก่อน ด้วยการจัดตั้งพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (LDP)

อย่างไรก็ตาม พรรคของเวียสนาแม้จะเป็นที่นิยมแต่ก็เฉพาะบุคคลตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จในเชิงนโยบาย จนแม้แต่ทุกวันนี้ ขึม เวียสนา ภาพรวมของเขาก็ยังมีลักษณะอันพิเศษที่คล้ายกับเจ้าสำนักผู้มีทักษะการโน้มนำผู้คน ไม่ว่าจะวิพากษ์ศาสนาหรือการเมือง

รวมทั้งการตั้งตนเป็นพรหม/พราหมณ์เจ้าสำนักโองการ หรือที่เรียกกันว่า “อรุบาหฺพรหม” ซึ่งเป็นที่เทิดทูนศรัทธาของชาวเขมรกลุ่มหนึ่งทั้งในและต่างแดน

กระทั่ง สิงหาคม 2565 ที่ผ่านไป

ขึม เวียสนา ได้ร่ายโศลกป่าวร้องสานุศิษย์ให้เข้ามาร่วมชายคา ณ จัมกามะริด/พริกไทที่กว้างใหญ่ในตอนบนของเสียมเรียบ

ที่นี่เอง อรุบาหฺพรหมเวียสนาได้ป่าวประกาศว่า 30-08-2022 คือวันที่น้ำท่วมบ่ากัมพูชา “โลกกำลังเกิดวิบัติจากคำทำนายใน 3 เมืองที่ว่า คือ ไพรนคร (โฮจิมินห์) พนมเปญ และกรุงเทพฯ

มีแต่ “เสียมเรียบ” เท่านั้นที่เหลือรอด ขอให้สานุศิษย์ตนพากันเร่งมาอาศัย แล้วทุกคนจะปลอดภัย

พลัน ชาวเขมร 2 หมื่นชีวิตก็พากันหลั่งไหลยังจัมกาพริกไท เพื่อปักค้างอ้างแรมและอาศัยไปจนกกว่าวันวิบัติจะผ่านพ้นตามคำแนะนำของสมณทูตขึม เวียสนา

ต่างจากยุค 100 ปีก่อน สาวกของขึม เวียสนา แห่งศตวรรษนี้มิใช่แต่ชาวเขมรชนบทเท่านั้น แต่ยังเป็นชนชั้นกลางที่ต่างมีศรัทธาต่อเขาอย่างแรงกล้าและนับเป็นการชุมนุมที่ยาวนานครั้งหนึ่งของกัมพูชา

พลัน เราก็เริ่มพบว่า ชุมนุมพรหมเวียสนานี้ ได้นำเราไปสู่ความรื่นรมย์บางด้านอันหายไปยาวนานของประเทศนี้ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกกัมพูชา ซึ่งแต่เดิมทีนั้น เต็มไปด้วยผู้นำจิตวิญญาณพื้นถิ่นตั้งแต่ศตวรรษก่อนที่ละแวกถิ่นนี้ มีพืชพันธุ์แห่งความเชื่ออันแรงกล้าต่อลัทธิศาสนาเป็นต้นทุนในจลนา

ทั้งอิทธิพลเดิมของเถรวาทและลัทธินานา อาทิ เกาดายมหายานจากเวียดนามตอนใต้หรืออันนัม/กูซังจีนที่เป็นยุคเดียวกับ “ตาแกและเสาภิกษุ”

เกาดายสยายอิทธิพลในกัมพูชาโดยความเชื่อที่อ้างว่ามีศาสดา 3 ยุค แลยุคสุดท้ายที่กำลังจะเวียนมาบรรจบหลังจากยุคที่ 2 ล่มสลาย ซึ่งจักกลับมาและนำโลกนี้ไปสู่ความสงบในการเกิดมาของศาสดาองค์ใหม่-พระอธิราชองค์นั้นซึ่งมีนามว่า พระแก้วมรกต!

แต่สำหรับขึม เวียสนา นั้น คำทำนายที่สร้างความโกลาหลต่อชาวเขมรนับหมื่นทั้งในเขมรและที่เดินทางมาจากต่างแดน ดูเหมือนขึม เวียสนาจะสร้างปรากฏการณ์เหนือการเมืองกัมพูชา

ไม่มีใครกล้าแตะต้องในการกระทำของขึม เวียสนา

ไม่ว่าสมเด็จฮุน เซน ที่วางเฉยต่อ “สกรรมเพียบ” ขึม เวียสนา ขณะที่หนุ่มสาวเยาวชนกลับถูกจับกุมไล่ล่าเข้าเรือนจำเป็นมากมาย

“สิ้นโลก ก็สิ้นไป” ช่างเป็นโอกาสอันท้าทายที่พบว่า บัดนี้ ผู้นำจิตวิญญาณกัมพูชาคนนี้ ไม่ถูกคุกคามเช่นในอดีตที่ผ่านมา

“การแสดงธรรมแบบขึม เวียสนา เป็นเรื่องส่วนบุคคล หาใช่ภัยร้ายต่อบ้านเมืองแต่อย่างใด” ผู้นำเขมรกล่าว ราวกับจำนนเหตุโกลาหลที่ประดังเข้ามาและเกินกว่าจะรับไหว

แลยิ่งกว่าขึม เวียสนา ทำนายไว้ พลัน 4 จังหวัดตอนบนทะเลสาบรวมทั้งเสียมเรียบก็ถูกน้ำท่วมบ่าเป็นหน้ากลอง พลัน กลอนท่อนหนึ่งก็ถูกร่าย

ไพรนครดวลลอล่ม
พนมเปญดวลอะไร?
บางกอกวิโยกใด?
ไย เสียมเรียบ ไม่เสบย?

เครดิตภาพ : Khem Veasna/facebook