E-DUANG : “จิสด้า” ฐานข้อมูลใหม่เรื่อง “น้ำ”

 

แม้จะได้รับคำปลอบประโลมว่า สถานการณ์อุทกภัยในปี 2560 จะไม่เหมือนกับเมื่อปี 2554
แต่ดูเหมือน”ชาวบ้าน”จะมากด้วยความรอบคอบ
ด้าน 1 ติดตามคำแถลงไม่ว่าจะจากกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด
ด้าน 1 เสาะหา”ข้อมูล”
ไม่เพียงแต่เงี่ยหูฟังเสียงจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากยังให้ความสนใจไปยัง “จิสด้า”
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
องค์การมหาชนแห่งนี้เคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงในสถาน การณ์มหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคม 2554
มาถึงเดือนตุลาคม 2560 ก็เช่นเดียวกัน

อาจเป็นเพราะมีสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นแล้วโดยมติและคำสั่งคสช.
“จิสด้า” จึงมากด้วยความระมัดระวัง
หากไม่มี “คำสั่ง” อย่างเป็นทางการจากสำนักงานบริหารจัด การทรัพยากรน้ำ “จิสด้า”ก็ไม่ขยับ
ปล่อยให้เป็นบทบาทของ 3 องค์กร
1 กรมอุตุนิยมวิทยา 1 กรมชลประทาน และ 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ถามว่าแล้ว”ชาวบ้าน”ได้ข่าวและข้อมูลจากไหน
คำตอบตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง 1 ด้วยการติดตามข่าวผ่านทางสื่อ ไม่ว่าสื่อใหม่ ไม่ว่าสื่อเก่า และ 1 ใช้”สมาร์ทโฟน”เข้าไปยังเวบเพจของ”จิสด้า”โดยตรง
นี่คือจุดต่างจากเมื่อเดือนตุลาคม 2557

สถานการณ์นำไปสู่ความตื่นตัวเป็นอย่างสูงทำให้เกิดการเตรียมตัวเพื่อรับมือ
ที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือ รับมือในด้าน”การข่าว”
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแห่งพัฒนาจาก 4G ไปยัง 5G มีช่องทางทางด้าน”ข่าวสาร” ปรากฏขึ้นอย่างคึกคัก
ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถปิดกั้นได้
หนังสือพิมพ์อันเป็น”สื่อกระดาษ”ยังมีบทบาทอยู่ แต่การปรากฎตัวของออนไลน์อันเป็น”สื่อกระจก”คึกคัก
คึกคักและเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ