ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
ท่านใดเคยแวะมาเยี่ยมเยียนผมจนถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย คงตระหนักดีว่า สมบัติมีค่าที่เป็นของรักของหวงของผมมากที่สุดได้แก่บรรดาหนังสือสารพัดเล่มที่เก็บรักษาไว้เพื่อใช้ประโยชน์
ประโยชน์ที่ว่านี้มีทั้งเรื่องของความบันเทิงเริงใจ การนำความรู้เหล่านั้นมาขยายผลเป็นความคิดหรืองานเขียนของตัวเองเพื่อต่อยอดออกไปอีกชั้นหนึ่ง
หรือแม้แต่เก็บไว้ด้วยความงก ไม่ได้งกในความหมายของราคาค่างวดหรอกนะครับ หากแต่เก็บไว้เพราะเป็นหนังสือแสนสวย หรือต่อไปจะเป็นหนังสือที่หายาก
ถ้าผมเก็บรักษาเอาไว้ให้ดี ถึงเวลาผมไม่มีชีวิตอยู่แล้ว หนังสือเหล่านั้นก็จะมีอายุยืนยาวกว่าผม ถึงจะเปลี่ยนมือเปลี่ยนเจ้าของไปบ้างก็ช่างปะไร ขอให้ยังคงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าถนอมของผู้เป็นเจ้าของคนใหม่ เพียงนี้ก็ดีถมไปแล้ว
ผมรู้ตัวดีว่าหนังสือสองสามหมื่นเล่มที่อยู่รอบตัวผมเวลานี้ เมื่อผมหยุดหายใจ จะถือติดมือไปสักเล่มไม่ได้เลย
ที่พูดมาถึงก็อย่างนี้ฟังดูคล้ายคนสละละวางอะไรหมดแล้วนะครับ
ขอแจ้งว่าอย่าได้หลงเชื่อผมเป็นอันขาด ทุกวันนี้ผมก็ยังคงมีหนังสือเพิ่มขึ้นอยู่เป็นประจำครับ ยังสละไม่ลงสักเล่มหนึ่ง มีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน
โดยซื้อแบบออนไลน์บ้าง หรือซื้อจากงานหนังสือที่จัดขึ้นในโอกาสต่างๆ เช่น ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือเร็วๆ นี้เห็นว่าจะย้อนกลับไปที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์บ้าง มีผู้ใจบุญมอบมาให้อ่านบ้าง
บางเล่มบางเรื่องไปช่วยเขาทำ เขาก็ส่งมาแบ่งปันเอาไว้ให้ใช้สอยบ้าง
รวมตลอดไปถึงหนังสืองานที่ระลึกหรืองานศพงานเมรุที่ตัวผมเองได้ไปร่วมงาน
ผมเคยนึกคำนวณโดยเฉลี่ยแล้ว อย่างน้อยน่าจะมีหนังสือเล่มใหม่เข้ามาเป็นสมาชิกในบ้านผมวันละหนึ่งเล่ม
ถ้ามีเทศกาลพิเศษก็มากกว่านั้น เช่น ออกพรรษาแล้วเป็นฤดูกาลทอดกฐิน ปีนี้มีหนังสือที่ผมช่วยทำช่วยเขียนร่วมกับหน่วยงานใจบุญแห่งหนึ่งอยู่ห้าเล่ม
นอกจากนั้น อย่างไรเสียหนังสือกฐินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นแฟนคลับกันอยู่อีกสองเล่มก็หนีไม่รอดเงื้อมมือผมแน่
อีกเล่มหนึ่งเป็นของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เล่มนี้ก็ไปช่วยเขานิดช่วยเขาหน่อย รวมแล้วก็เยอะเอาการอยู่
เมื่อตอนเกษียณอายุใหม่ๆ คือเมื่อแปดปีก่อน ผมต่อเติมบ้านขึ้นอีกห้องหนึ่ง นึกว่าจะเอาไว้เก็บหนังสือที่ได้มาใหม่และความเพียงพอจะเก็บไปจนตาย ไม่ต้องสร้างห้องเพิ่มอีกแล้ว ที่ไหนได้ วันนี้ก็เต็มห้องเสียแล้ว
บ่นพึมพำมายืดยาวแล้ว เข้าเรื่องกันดีกว่าครับ
วันนี้จะพูดถึงเรื่องหนังสืองานศพเพิ่มเติมขึ้นจากหลายครั้งที่ได้เคยพูดขึ้นในที่นี้แล้ว
เราเคยคุยกันแล้วว่าหนังสืองานศพนั้นเป็นธรรมเนียมเฉพาะของเมืองไทย เริ่มต้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าเมื่อครั้งงานพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เป็นคราวแรก ต่อมาจากนั้น งานพระศพหรืองานศพใดที่เจ้าภาพมีกำลังทรัพย์ มีกำลังปัญญาต่างก็นิยมพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานศพขึ้นแจกเป็นบรรณาการแก่ผู้มาร่วมงานพิธี
หนังสืองานศพแต่ละเล่มก็มีความเป็นตัวตนหรือเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง แล้วแต่ความปรารถนาของเจ้าภาพ บางเล่มก็นำหนังสือธรรมะหรือหนังสืออะไรก็แล้วแต่ที่มีคนเขาพิมพ์เผยแพร่อยู่แล้ว มาพิมพ์ประวัติของผู้ตายปะหน้าเข้าไปสามสี่หน้า แบบนี้สะดวกดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับยุคสมัยนี้ที่ไม่นิยมเก็บศพไว้เป็นเวลานาน ไม่ได้ทำงานศพ 50 วัน 100 วันอย่างเดิมแล้ว
โตแล้วเรียนลัดแบบนี้ก็สะดวกดี
แต่ยังมีงานศพอีกบางงานที่ยังประพฤติตามแบบประเพณีดั้งเดิม คือเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลานานวันเพียงพอที่จะทำหนังสือดีๆ เป็นที่ระลึก
ข้อสังเกตที่ผมจะพูดขึ้นในวันนี้คือ หนังสือที่ระลึกงานศพหลายเล่ม เป็นหนังสือที่ดีเด่นในทางสาระอย่างแท้จริง
หลายเล่มได้ตีพิมพ์เรื่องราวในอดีตที่ผู้วายชนม์ได้มีเรื่องราวเข้าไปเกี่ยวข้องหรือบันทึกเหตุการณ์เอาไว้
แต่แรกท่านก็คงคิดว่าเป็นเพียงแค่บันทึกส่วนตัว ไม่ได้คิดจะเผยแพร่หรือขายลิขสิทธิ์อะไร ต่อเมื่อท่านเสียชีวิตแล้ว ลูกหลานเห็นว่างานเขียนของท่านมีคุณค่า จึงมาพิมพ์แจกเป็นที่ระลึก
หนังสือประเภทนี้สำหรับสายตาของผมแล้วเป็นของดีวิเศษเหลือหลาย เพราะได้เก็บข้อมูลในประวัติศาสตร์ที่ตกหล่นอยู่ในครอบครัวต่างๆ หรืออยู่ในความทรงจำ เฉพาะตัวของท่านผู้วายชนม์ มาพิมพ์ไว้ให้เป็นหลักฐาน
ครั้นจะให้สำนักพิมพ์ต่างๆ เขานำต้นฉบับแนวนี้ไปพิมพ์ขายในเชิงพาณิชย์ก็จะไม่คุ้มทุนของเขา ซึ่งก็ต้องเห็นใจคนค้าคนขาย
สู้เอามาพิมพ์แจกกันเป็นที่ระลึกในงานศพตามคติของไทยดั้งเดิมย่อมเป็นประโยชน์ยั่งยืนดีกว่าปล่อยให้มดปลวกแทะกินเสียเปล่าๆ
ยี่สิบกว่าปีก่อน พี่ชายของแม่ผมคนหนึ่ง ชื่อ พล.อ.ทวนทอง สุวรรณทัต ถึงแก่อนิจกรรม ผมได้รับโอกาสเป็นบรรณาธิการหนังสืองานศพของคุณลุงท่านนี้
พี่ชายน้องชายที่เป็นลูกของคุณลุงเอาต้นฉบับพิมพ์ดีดงานเขียนเรื่องหนึ่งมาส่งให้ผมดู ผมเห็นเข้าก็ตาลุกวาวเลยทีเดียว
เพราะเนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องของการปฏิบัติการของกองพล 93 ซึ่งเป็นจีนขาวที่รบแพ้จีนแดงแล้วอพยพเข้ามาอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ช่วงเวลาหนึ่งรัฐบาลไทยได้อาศัยกองกำลังของกองพล 93 นี่เองสู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดเชียงราย โดยมีความตกลงกันว่า ถ้ารบกันจนเหตุการณ์สงบแล้ว สมาชิกกองพล 93 จะได้สัญชาติไทย และจะได้ที่อยู่อาศัยทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวต่อไป
เวลานี้หลายคนที่ขึ้นไปเที่ยวเชียงราย ก็อดไม่ได้ที่จะต้องไปเที่ยวดอยแม่สลอง ไปชิมชาพันธุ์ดี ไปกินขาหมูแสนอร่อย ไปชื่นชมกับอากาศบริสุทธิ์ ไปดูบ้านนายพลต้วน นายพลลี
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า กว่าจะมีอะไรต่อมิอะไรอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้างบนดอยสูงแห่งนั้น เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานในครั้งนั้นก็มีน้อยคนที่จะจดอะไรไว้เป็นหลักฐาน จดแล้วจะไปให้ใครพิมพ์ขายก็กลัวว่าจะขาดทุนอีก
ถ้าครอบครัวของคุณลุงผมไม่นำเรื่องนี้มาพิมพ์ไว้เป็นหลักฐาน เรื่องก็จะสูญหายไปในที่สุด เหมือนกันกับอีกหลายเรื่องในเมืองไทย ที่ไม่มีใครรู้เสียแล้วว่าต้นสายปลายเหตุมีมาอย่างไร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพอีกเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งได้รับมาเมื่อไม่กี่วันนี้ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ตาลุกวาวเหมือนกัน เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.อ.สมศักดิ์ เวสุวรรณ์ ซึ่งรับพระราชทานเพลิงไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2563 แต่ผมเพิ่งได้รับความกรุณาจากลูกชายของท่านมอบให้สดๆ ร้อนๆ
เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือดังกล่าวเป็นงานเขียนทั้งเรื่องทั้งรูป ฝีมือของท่านผู้วายชนม์ เป็นเรื่องราวความลับช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ที่รัฐบาลไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และส่งกำลังทหารทั้งภาคพื้นดินและกำลังทางอากาศเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน
คนไปก็ทหารไทยนี่แหละครับ แต่เวลาจะไปทำงานต้องมีหนังสือลาออกจากราชการไทยทิ้งไว้เป็นหลักฐาน ถ้าเกิดเรื่องเกิดราวอะไรขึ้นมาจะได้แก้ตัวได้ว่ารัฐบาลไทยไม่เกี่ยว
หน้าที่ของผมทุกวันนี้ ไม่ใช่คนมาชี้ถูกชี้ผิดว่านโยบายดังกล่าวควรทำหรือไม่ควรทำ
แต่ในฐานะคนที่สนใจในทางประวัติศาสตร์ เรื่องอย่างนี้ต้องมีคนบันทึกไว้บ้าง และหนึ่งในบรรดาท่านที่ได้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจไว้ คือท่านผู้วายชนม์นั้นเอง
ท่านโปรยหัวเรื่องว่า
“ช่วงปี 2504 ถึง 2513 เป็นช่วงที่คอมมิวนิสต์ขยายอิทธิพลและประเทศไทยก็เสี่ยงต่อการถูกระราน ตอนนั้นลาวเป็นเหมือนประเทศกันชนระหว่างเวียดนามกับไทย ถ้าลาวแตก ประเทศไทยก็อาจจะต้องทำการรบกับพวกคอมมิวนิสต์ ทหารไทยจึงต้องออกไปร่วมรบอย่างลับๆ กับทหารอเมริกันและลาว พ่อเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ไปรบในหน่วย ‘ไฟร์ฟลาย’ โดยใช้ชื่อว่า ‘ปรอย’ พ่อไปโดยไม่บอกให้ทางบ้านหรือใครใครรู้ แม้กระทั่งแม่ตุ่มก็ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย พ่อบินทำภารกิจนับครั้งไม่ถ้วน และนี่คือบางภารกิจที่พ่อวาดรูปเอาไว้ และเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ในการทำภารกิจนั้นๆ”
ประวัติศาสตร์แบบนี้ไม่อยู่ในตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าตาคล้ายพงศาวดารเต็มที หลายคนพยายามลืมเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีความสำคัญ และเป็นปัจจัยหลักเรื่องหนึ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวแม้จนปัจจุบัน
หนังสือสองเล่มที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ มีจำนวนพิมพ์ไม่มากนัก และทุกวันนี้ก็กลายเป็นหนังสือหายากไปแล้ว แต่คุณูปการของหนังสือยังคงมีอยู่ สำหรับคนที่มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าและได้อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ในวันข้างหน้า
ผมเองมานึกดูว่าตัวเองอายุใกล้จะ 70 ปีแล้ว เรื่องที่จดไว้แล้วก็มีมาก เรื่องที่ผ่านมาในอดีตแต่ยังไม่ได้จดก็ยังมีอีกเยอะ สนุกๆ ทั้งนั้น
เสียอย่างเดียวว่าบางเหตุการณ์ ถ้าเขียนและพิมพ์ขึ้นมาในเวลานี้ ผมคงถูกฟ้องเป็นคดี ถูกกระทืบ หรือถูกอุ้มหาย มิอย่างใดก็อย่างหนึ่ง
พูดลอยลมเอาไว้อย่างนี้แหละครับ
เดาได้ว่า บอกไว้เสียอย่างนี้แล้ว หนังสือที่ระลึกงานศพผมคนคงแย่งกันน่าดู อิอิ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022