ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนของโลก |
เผยแพร่ |
“จอห์น เอลเลนบี” ผู้ที่เพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวิศวกรสัญชาติอังกฤษ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคอมพิวเตอร์จากเดิมที่มีขนาดใหญ่ กลายมาเป็นคอมพิวเตอร์ “แล็บท็อป” หรือ โน้ตบุ๊ก ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ผลงานการบุกเบิกของ “เอลเลนบี” ออกดอกผลในช่วงทศวรรษที่ 80 เมื่อ “เอลเลนบี” ก่อตั้งบริษัท “กริด ซิสเต็มส์” ก่อนจะคิดค้นและนำคอมพิวเตอร์แบบพกพาขนาดเล็กที่มีชื่อว่า “คอมพาส” ออกวางตลาด
“คอมพาส” คอมพิวเตอร์ฝาพับ หน้าจออิเล็กทรอนิกส์เรืองแสงสีส้ม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำ โดยเฉพาะในยุค “คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ” กำลังเบ่งบาน และกลายเป็นอุปกรณ์ล้ำสมัยที่หน่วยงานใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายลับของรัฐบาล ทำเนียบขาว กระทรวงกลาโหมสหรัฐ รวมไปถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ต้องมีไว้ใช้
เอลเลนบี สร้าง “คอมพาส” โดยบรรจุเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่เรียกว่า “บับเบิล เมมโมรี” หรือ หน่วยความจำแบบฟอง ที่สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้แม้ไม่มีไฟฟ้าเลี้ยง มีราคาขายในเวลานั้นอยู่ที่เครื่องละ 8,150 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับในเวลานี้มีมูลค่าราว 700,000 บาท สร้างความสนใจให้กับตลาด ไม่ใช่กับลูกค้าทั่วไป แต่เป็นหน่วยงานของโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ข้อมูลระบุว่ามี “คอมพาส” รุ่นหนึ่ง ที่ผลิตขึ้นเพื่อกองกำลังปฏิบัติการพิเศษ โดยรุ่นดังกล่าวถูกออกแบบให้มีจุดสีแดงบนเคสที่เป็นโลหะแมกนีเซียมสีดำ เพื่อให้เป็นเป้าเล็งสำหรับหน่วยคอมมานโดที่สามารถยิงทำลายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว
เจมส์ ออฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศทำเนียบขาวในยุคกลางทศวรรษที่ 80 และเป็นผู้จัดซื้อ “คอมพาส” เพื่อใช้ในทำเนียบขาวด้วยงบประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระบุว่า พลเรือโทจอห์น พอยเด็กซ์เตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งรัฐของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน มักจะพก “คอมพาส” ติดตัวไปด้วยเสมอในเวลาที่ต้องเดินทางพร้อมกับประธานาธิบดี
ออฟเฟอร์ ระบุด้วยว่าตนมั่นใจถึง 90 เปอร์เซ็นต์ว่า “คอมพาส” เครื่องดังกล่าวทำงานในฐานะอุปกรณ์ที่สามารถสั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ ขณะที่พลโทพอยเด็กซ์เตอร์ เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า “มันเป็นเครื่องที่เยี่ยมมาก” และว่า เครื่องดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมา “เหมือนกับรถถังหุ้มเกราะ”
องค์การนาซา เคยใช้ “คอมพาส” เป็นอุปกรณ์สำรองข้อมูลระบบนำทางในกระสวยอวกาศ “ชาเลนเจอร์” ที่เกิดระเบิดขึ้นหลังยกตัวขึ้นที่ฐานยิงในเคปคานาวารัล โดยคอมพาสที่ติดอยู่กับแผงหน้าปัดถูกพบอยู่ในชิ้นส่วนซากกระสวย
และน่าแปลกใจที่ “คอมพาส” เครื่องนั้นยังใช้งานได้อยู่
จอห์น เอลเลนบี เกิดในเมืองคอร์บริดจ์ ตอนเหนือของประเทศอังกฤษ ในปี 1941 เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และภูมิศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนจะเข้าเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน ในช่วงต้นทศวรรษที่ 60
และที่นี่เองที่เอลเลนบีได้รู้จักกับ “คอมพิวเตอร์เมนเฟรม” ขนาดใหญ่
ต่อมา เอลเลนบี เข้าทำงานที่บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของอังกฤษ เป็นอาจารย์พิเศษด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ สกอตแลนด์ ก่อนจะย้ายมาทำงานให้กับบริษัท “ซีร็อกซ์ คอปอเรชั่น” ในสหรัฐอเมริกา ช่วงต้นทศวรรษที่ 70
เอลเลนบี เป็นผู้ที่มีส่วนในการพัฒนา “อัลโต 2” คอมพิวเตอร์ของบริษัทซีร็อกซ์ที่เป็นต้นแบบของคอมพิวเตอร์แมคอินทอช และวินโดว์ในปัจจุบัน โดยเอลเลนบี พัฒนาให้ “อัลโต 2” ง่ายต่อการผลิตแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น และนั่นทำให้เอลเลนบี ได้รับชื่อเสียงในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เป็นสินค้า”
เอลเลนบี ออกจากบริษัทซีร็อกซ์ มาก่อตั้งบริษัท “กริด ซิสเตมส์” ในปี 1979 โดยนอกจากลูกค้าที่เป็นหน่วยงานรัฐบาลแล้ว ยังมี แบงก์ออฟอเมริกา และเชฟรอน เป็นลูกค้ากลุ่มแรกๆ ด้วย
นอกจาก “คอมพาส” แล้ว “กริด ซิสเต็มส์” ยังให้บริการเครือข่ายที่สามารถโอนถ่ายข้อมูลระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ เรียกว่า “กริด เซ็นทรัล” ที่อาจนับได้ว่าเป็นต้นแบบของ “อินเตอร์เน็ต” ในยุคปัจจุบันด้วย
จอห์น เอลเลนบี ขายบริษัท “กริด ซิสเต็มส์” ไปในปี 1988 ก่อนจะเริ่มตั้งบริษัท “อาจิลิส” ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต และร่วมกับโทมัส ลูกชาย ตั้งบริษัท “จีโอเว็กเตอร์” บริษัทผู้บุกเบิก “แอพพลิเคชั่นนำทาง” และระบบ “อ็อกเมนต์เรียลิตี้” หรือเทคโนโลยี “เออาร์” ที่เรารู้จักในปัจจุบัน
เอลเลนบี เคยระบุถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนความท้าทายในการสร้างคอมพิวเตอร์พกพา เมื่อ 50 ปีก่อน และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง “คอมพาส” จนสำเร็จในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่เอลเลนบีเดินทางไปหารือกับเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว
เอลเลนบี เล่าว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวระบุว่าตนต้องการทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเวลานั้นมี แต่ต้องย่อส่วนให้มีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของ “กระเป๋าเอกสาร” ที่เอลเลนบีถือมาในวันนั้น
“ผมบอกว่า กระเป๋าเนี่ยนะ? นั่นมันยากนะ” เอลเลนบีระบุ
ต้องขอบคุณ “เอลเลนบี” ที่ก้าวข้ามความยากลำบากนั้นมาได้ ก่อนที่ “คอมพาส” จะพัฒนามาเป็นอุปกรณ์ “คอมพิวเตอร์พกพา” ในมือมนุษย์ทั่วโลกในปัจจุบัน