มองทวนสวนกระแสอเมริกัน : ปังกัช มิชรา (จบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

มองทวนสวนกระแสอเมริกัน

: ปังกัช มิชรา (จบ)

 

Pankaj Mishra ปัญญาชนสาธารณะทวนกระแสชาวอินเดียได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง “ศรัทธาวิบัติต่ออเมริกา” (https://www.thedriftmag.com/a-catastrophic-loss-of-faith-in-america/) เสนอการอ่านตีความการเมืองโลกที่มองทวนสวนกระแสหลักของอเมริกากับโลกตะวันตกในสถานการณ์ปัจจุบันตอนจบดังนี้ :

ปังกัช : …ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในยูเครน การลดละเลิกความเป็นอเมริกันของจีนรังแต่จะเร่งเร็วขึ้น เวลาผมใช้คำนั้นน่ะผมหมายถึงอย่างอื่นนอกเหนือจากการขับเคลื่อนออกจากระบบการเงินและชำระเงินอเมริกันเท่านั้นนะครับ ครั้งหนึ่งสำหรับผมและผู้คนมากหลายซึ่งผมใคร่จะนับรวมเอาตัวเองสมัยอ่อนเยาว์กว่านี้เข้าไว้ในพวกนี้ด้วยน่ะ สหรัฐเคยเป็นตัวแทนความเป็นไปได้ของการปลดปล่อยชนิดที่แตกต่างออกไปครับ พวกเราล้วนแต่เติบใหญ่ขึ้นมาในสังคมหลังอาณานิคมที่ตุปัดตุเป๋ซวดเซ ที่เอาเข้าจริงไม่ได้จัดสนองความเสมอภาคหรือเสถียรภาพมาให้ดังคำสัญญาแต่แรกเริ่ม มิพักต้องพูดถึงความเจริญรุ่งเรือง เราคิดว่าโลกาภิวัตน์ช่างเป็นสิ่งมหัศจรรย์อะไรเช่นนี้

อุดมการณ์อเมริกันอันเป็นอุดมการณ์โลกซึ่งเข้าแทนที่โครงการหลังอาณานิคมต่างๆ หลายหลากมากมายแห่งการสร้างศักดิ์ศรีแห่งชาติและสวัสดิการส่วนรวมนั้น เป็นอุดมการณ์ที่มีลักษณะปัจเจกนิยมสูงยิ่ง ว่าด้วยคุณความสามารถ ความเจริญรุ่งเรืองของปัจเจกบุคคล การบรรลุความปรารถนาของตนเอง ค้นพบตัวคุณเองและแสดงตัวคุณเองออกมา ความคิดอ่านทั้งหลายเหล่านี้แปลกแยกมากทีเดียวสำหรับพวกเราจำนวนมากในสังคมซึ่งอนุรักษนิยม เหลื่อมล้ำเป็นลำดับชั้นและชะงักงัน มันให้ความรู้สึกปลื้มปีติซาบซ่านและมันแผ่ไปครอบโลกอย่างแท้จริงในทศวรรษที่ 1990

ทว่า อุดมการณ์อเมริกันที่ว่านั้นล่มสลายลงจริงๆ ในทศวรรษล่าสุดนี้ และสิ่งต่างๆ มากมายหลายอย่างที่เราพบเห็นทุกวันนี้ ไม่ว่าลัทธิคลั่งชาติฮินดูของโมดี ลัทธิต้าฮั่นของจีน หรือลัทธิจักรวรรดินิยมรัสเซียก็ ล้วนคือความพยายามที่จะฟื้นคืนชีพหรือสร้างใหม่หรือผลักดันอุดมการณ์ ‘พื้นเมือง’ บางอย่างขึ้นมานั่นเอง

ทั้งนี้เพราะมันมีสุญญากาศใหญ่อยู่ที่นั่น ที่ถูกทิ้งเอาไว้โดยการสูญเสียศรัทธาอย่างฉิบหายวายป่วงต่ออเมริกา อุดมการณ์อเมริกันแห่งการเสริมสร้างอำนาจ ปรับปรุงตนเอง คุณความสามารถและความเจริญรุ่งเรืองถูกเปิดโปงออกมาว่ากลวงเปล่าทั้งเพ ว่ามันเป็นกลลวงที่ชนชั้นนำอเมริกันเล่นตบตาประชาชนอเมริกันเองพอๆ กับชาวโลกที่เหลือ

ฉะนั้น มันจึงมีสิ่งอื่นที่ถูกเสนอให้ประชาชนตอนนี้ นั่นคือให้กลับไปควานหาแก่นแท้แห่งความเป็นรัสเซียหรือแก่นแท้แห่งความเป็นฮินดูบางอย่างให้พบ หาหนทางที่แตกต่างออกไปในการให้ได้อำนาจมา เกมที่เล่นกันอยู่นี่เอาเข้าจริงเป็นเรื่องอำนาจนะครับ ไม่ว่าเราจะกำลังพูดถึงปูติน โมดี ทรัมป์ หรือนักรบ สงครามเย็นหัวเสรีนิยมทั้งหลายแหล่ก็ตาม

กล่าวเช่นนี้แล้ว ผมอดห่วงใยยิ่งกว่าเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ที่ครอบครองอำนาจสูงสุดทั้งทาง วัฒนธรรม การทหารและเศรษฐกิจ แต่แล้วก็ยังใช้มันอย่างผิดๆ อยู่มิได้ครับ ประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศส พูดไว้เมื่อปี 2019 ว่าองค์การนาโตน่ะสมองตายแล้ว

ผมกังวลว่าเหล่านักประวัติศาสตร์ในอนาคตจะอดฉงน สนเท่ห์ไม่ได้ว่าบรรดาสถาบันสมองตายของตะวันตกนำพาเราทั้งหมดไปสู่ความพินาศฉิบหายได้อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่เราไม่ได้อภิปรายมากเท่าที่ควรในทุกวันนี้

ปังกัช มิชรา & หนังสือ Temptations of the West : How to Be Modern in India, Pakistan, Tibet, and Beyond, 2006

บรรณาธิการ : ท่ามกลางสถานการณ์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ยังมีความหวังอะไรอยู่ไหมครับสำหรับการเมืองฝ่ายซ้าย? เราจะบำรุงเลี้ยงขบวนการฝ่ายซ้ายเกิดใหม่ทั้งหลายในสหรัฐและที่อื่นๆ ได้อย่างไรบ้างครับ?

ปังกัช : ผมรู้สึกมีความหวังนะครับเพราะนับเป็นหนแรกในชั่วชีวิตของผมที่บัดนี้ได้ปรากฏกลุ่มก้อนปัญญาชนในยุโรปตะวันตกและอเมริกาผู้เข้าร่วมถกอภิปรายอย่างเอาการเอางานเกี่ยวกับคำถามว่าการเมืองฝ่ายซ้ายจะสามารถบรรลุผลสำเร็จอะไรได้บ้าง

สัปดาห์ก่อน ขณะที่ศาลสูงสหรัฐกำเริบอาละวาดมากกว่าปกติ ผมอ่านเจอพาดหัวข่าวทำนองนี้ว่า : “รัฐบาลสังคมนิยมของสเปนผ่อนคลายข้อจำกัดการทำแท้งสำหรับหญิงอายุเกิน 16 ปีและยอมให้ขอลางานเพราะมีระดูได้” แล้วผมก็นึกในใจว่า เออแฮะ เรื่องทำนองนี้มันก็เกิดขึ้นได้ด้วยเหมือนกันนี่นา

ผมอยู่มาส่วนใหญ่ในชีวิตโดยที่ไม่เคยมีใครในสื่อกระแสหลักพร้อมจะรับฟังการเมืองฝ่ายซ้ายไม่ว่าชนิดไหนเอาเลยนะครับ ผมพบผ่านช่วงเวลาอันยาวนานของลัทธิขวาสุดโต่งและพวกเดินสายกลางที่สมยอมกับมันเสียจนกระทั่งผมอดรู้สึกตื่นตะลึงและปีติซาบซ่านไม่ได้ที่เอาเข้าจริงเดี๋ยวนี้มีคนที่เขากำลังคุยกันเรื่องที่พวกเรากำลังคุยกันอยู่นะครับ อย่างเช่น ลัทธิสังคมนิยมจะบรรลุผลสำเร็จอะไรได้บ้าง เราควรต้องกลั่นกรองความคิดสังคมนิยมอันไหนบ้างเพื่อจะได้จัดการกับเรื่องต่างๆ อย่างวิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

ผมคิดว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้เริ่มเกิดขึ้นจริงๆ หลังการเคลื่อนไหวยึดครองวอลล์สตรีต (ดู “‘ยึดครองวอลล์สตรีต’ เป็นการอุบัติทางการเมืองสำคัญที่สุดในอเมริกาตั้งแต่ 1968”, https://prachatai.com/journal/2011/10/37507) ขบวนการยึดครองฯ เป็นสัญญาณแรกสุดว่าพลังงาน อย่างอื่นกำลังเคลื่อนเข้าสู่ปริมณฑลสาธารณะครับ มันยังเป็นสัญญาณเริ่มแรกด้วยว่าประธานาธิบดีโอบามา ประสบความล้มเหลวและเราต้องการสิ่งใหม่

นับแต่นั้นมา เราได้พบเห็นพัฒนาการและการระดมพลังงานทางการเมืองที่ว่านั้นอย่างรวดเร็ว ผมรู้สึกว่าลู่ทางของการเมืองฝ่ายซ้ายทุกวันนี้สดใสกว่า ณ จังหวะเวลาใดในชั่วชีวิตผม ทุกวันนี้คุณมีคนรุ่นที่ปลอดจากมายาการเรื่องชาติของเราต้องมีอำนาจไร้เทียมทาน ปลอดจากมายาการเรื่องระเบียบสากลแบบเสรีนิยมและนิทานหลอกเด็กอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

ถึงแม้มันจะฟังแปลกพิลึกแค่ไหน แต่เอาเข้าจริงผมกลับไม่เคยรู้สึกเปี่ยมความหวังมากกว่าในขณะนี้ที่สถานการณ์ดูหดหู่น่าสิ้นหวังเลยครับ