กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (10) | มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (10)

 

งานวรรณกรรมของอินเดียได้รับเอาอิทธิพลจากวรรณกรรมของอังกฤษ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องแบบสมัยวิกตอเรียตอนต้นๆ เป็นเรื่องราวของยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วซึ่งไม่ใคร่มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนปัจจุบันนัก

แม้เนื้อหาของเรื่องและจุดเน้นด้านศีลธรรมของเรื่องจะต่างกันไปก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็มีพล็อตเรื่องอย่างเดียวกันซ้ำๆ กันอยู่เช่นนั้น

เรื่องเหล่านี้ประกอบด้วยตัวละครจำนวนมาก และเหตุการณ์มากมายซึ่งถูกนำมาเกี่ยวกันไว้อย่างหลวมๆ และมักจบลงอย่างมีความสุข

ตัวอย่างของเรื่องเช่นนี้ก็คือใฝ่หาความตาย โดย ท.รามกฤษณาและเจ้าชายแห่งโชคชะตา โดย ส.ก. โกษ

เรื่องราวส่วนใหญ่มักซ้ำซากอยู่ในแนวเดียวกันคือกล่าวถึงเจ้าชาย ความใฝ่ฝันและความรักของเขา แล้วก็ลงเอยด้วยการแต่งงาน ชื่อของตัวละครอาจเปลี่ยนไป เหตุการณ์อาจเปลี่ยนไป แต่แนวเรื่องก็ยังคงเป็นเหมือนอย่างเดิม

เรื่องบางเรื่องก็เต็มไปด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์และอุดมคติที่อยู่สูงจนสุดเอื้อม ส่วนนวนิยายสังคมของสมัยนี้มักเป็นเรื่องแสดงอคติทางศาสนา การปลดปล่อยสตรีและการปฏิรูปสังคมที่มักจะเต็มไปด้วยปรัชญาและคำโฆษณาชวนเชื่อ

ตัวอย่างเช่น เรื่องเมียฮินดู โดยลักษมีเทวี (1876) สารัทและหิญญาณ โดยเกษตราปาล จักระภาติ (1895) นิยายแห่งเบงกอล (รวมเรื่องสั้น) นัศริน โดย จ.โยเจนทรสิงห์ (1915) และความรักของกุสุมา โดยวัลกฤษณา (1910) เป็นต้น

 

หลังจากที่อังกฤษเข้ามายึดเอาอินเดียไว้อย่างเป็นทางการแล้วก็ปรากฏว่าในแคว้นเบงกอล มหาราษฏระและทมิฬนาดู-เกรละ ได้มีแนววรรณกรรมใหม่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ นั่นคือการหันไปหาคุณค่าและเกียรติประวัติของอดีตกาล

ทั้งนักวิชาการ นักปฏิรูป และผู้นำขบนการชาตินิยมทั้งหลายต่างก็หันกลับไปยกเอาประวัติศาสตร์สมัยโบราณและสมัยกลางของอินเดียขึ้นมากล่าวยกย่องเชิดชู ในระยะนี้จึงเกิดนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ขึ้นอย่างมากมายตามแบบอย่างในเรื่องของเซอร์วอลเตอร์สก๊อตหรืออเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ การเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์นี้มีความมุ่งหมายอยู่ 3 ประการคือ

1. เพื่อยกย่องเชิดชูอดีต คือฝันว่าจะได้กลับไปสู่ความรุ่งเรืองในอดีตกาลอีกครั้งหนึ่ง

2. เพื่อฟื้นฟูอดีต คือคิดว่าอินเดียเมื่อสมัยอดีตนั้นดีที่สุด แต่สมัยกลางคนต่างชาติได้มาทำลายหรือกดความเจริญรุ่งเรืองนั้นไว้เสียหรืออย่างน้อยก็ไม่ยอมให้มันเจริญงอกงามขึ้นมาได้

3. เพื่อใช้อดีตเป็นจุดยืนแสดงอุดมการณ์ที่ตนนิยมออกมา ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์แบบคณะนิยม ชาตินิยม หรือว่าคอมมิวนิสต์ก็ตาม

 

ตัวอย่างนวนิยายในประเภทแรกก็คือเรื่องกรุณา ซึ่งเขียนโดยนักโบราณคดีชื่อ รากัลป์ทาส วัณณญี ซึ่งพยายามจะสร้างอดีตที่เคยรุ่งเรืองขึ้นใหม่ หรือเรื่องสามรัฐอโศกของวัลจันทร์ เนมจันทร์ชาห์ ในนวนิยายเหล่านี้ไม่มีความมุ่งหมายที่จะใช้อดีตเป็นตัวอย่างของปัจจุบัน ผู้เขียนเพียงแต่พอใจในการวาดภาพของอดีตว่าเป็นเหมือนดินแดนแห่งความฝันที่อยู่ห่างไกลเท่านั้น เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์แบบโรแมนติก

ตัวอย่างที่ดีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ชีวประวัติของวนา-กวีสันสกฤต โดยหัษริปราสาท ทวิเวท แต่การเขียนสดุดีอดีตด้วยความรู้สึกกตัญญูและเคารพนับถือประเภทนี้ไม่ใช่ว่าจะขาดความสัมพันธ์กับชีวิตทางด้านสังคมหรือการเมืองไปเสียเลยทีเดียวไม่

ส่วนใหญ่ของงานที่เขียนกันในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นมักจะอยู่ในประเภทที่สอง นักเขียนกลุ่มนี้ถือว่าประวัติศาสตร์เป็นเหมือนต้นตออันไม่รู้หมดสิ้นของแรงดลใจสำหรับจะกล่าวประนามปัจจุบันหรือสมัยใกล้เคียงกับปัจจุบันและแสดงให้เห็นความตรงกันข้ามระหว่างวัฒนธรรมปัจจุบันกับวัฒนธรรมของอินเดียสมัยโบราณหรือสมัยกลาง

บางครั้งเมื่อนักเขียนมีอคติลำเอียงรักศาสนาของตนหรือเผ่าพันธุ์ของตนมากเกินไปก็เลยเกิดความอยุติธรรมต่อฝ่ายตรงกันข้ามไป ตัวอย่างที่ดีที่สุดของงานประเภทนี้ก็คือเรื่องของนักเขียนฮินดูชื่อฉัตตุเสน ศาลสตรี

ในประเภทสุดท้ายนั้นเราจะเห็นได้ว่าแนวโน้มการฟื้นฟูอดีตนี้มิใช่มีแต่เพียงนักเขียนกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์เท่านั้นที่นำไปใช้ แต่พวกนักเขียนแนวชาตินิยมหรือคณะนิยมก็นำไปใช้ด้วยเหมือนกัน นักเขียนฝ่ายซ้ายมักใช้สื่อนี้ นักเขียนหัวชาตินิยมนั้นเขียนเรื่องเกี่ยวกับอดีตเพื่อแสดงออกมาว่า “ชาติของเราอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”

ในบางครั้งคำว่า “ชาติ” ก็หมายถึงแต่เพียง “แคว้น” เท่านั้น จึงมีนวนิยายบางเรื่องที่ยกย่องความรุ่งโรจน์ของเผ่าพันธุ์หรือเขตแคว้นหนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีคุณค่าทางด้านศิลปะนัก

แนวโน้มที่น่าทึ่งที่สุดก็คือแนวที่มุ่งจะยกเอาอดีตขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เหมือนดังที่อเล็กซี ตอลสตอย เคยทำมาในนวนิยายรัสเซียชื่ออีแวนผู้น่ากลัว นักเขียนซึ่งใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ตีความหมายของประวัติศาสตร์นี้ ได้ใช้ประวัติศาสตร์เป็นฉากหลังของเรื่องที่แฝงความหมายไว้

ตัวอย่างที่ดีคือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสิงหเสนาปติของราหุล สันสกฤตยายน เขาได้สร้างพล็อตเรื่องของอินเดียสมัยพระพุทธเจ้าและสมัยคุปตะขึ้นใหม่และพยายามบรรจุเนื้อหาการต่อสู้ระหว่างชนชั้นลงไป

การแสดงลักษณะของกวี กาลิทาส ว่าเป็นเสมือนกวีศักดินาในเรื่องจากลุ่มน้ำวอลก้าสู่ลุ่มน้ำคงคา หรือการกล่าวถึงประชาชนที่มาจากท้องถิ่นโพ้นภูเขาหิมาลัยออกไปว่าเป็นเหมือนผู้นำเอาความเสมอภาคมาเผยแพร่นั้นชี้ให้เห็นถึงความสามารถของผู้เขียนได้อย่างชัดเจน

นักเขียนอีกคนหนึ่งคือยัศปาล ได้เขียนนวนิยายเรื่องอมิตา โดยใช้ประวัติศาสตร์สมัยพระพุทธเจ้าบรรยายชีวิตของเหล่าทาสาทาสีและสร้างตัวละครที่เป็นวีรสตรีขึ้นมา

นักเขียนนวนิยายผู้ยิ่งใหญ่ต่อจากสมัยบังกิม จันทรา เช่น รพินทรนารถ ฐากูร หรือสารัทจันทร์ ฉัตตรญี หรือธาราศังกร พัณณญี ได้เบนนิยายอิงประวัติศาสตร์ให้มีเนื้อหาหนักไปทางด้านสังคม

นวนิยายเรื่องซาฮิบ บิบี ออร์ กูลัม (คิง ควีน และแจ๊ก) โดยพิมาล มิตรา นั้นเป็นตัวอย่างอันดีของภาพเมืองกัลกัตตาตั้งแต่สมัยบริษัทอีสต์อินเดียมาจนถึงสมัยนี้ สันต์ สิงห์สีขร ได้เขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งโดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นฉากหลังเพื่อกล่าวประนามระบบศักดินา

 

ในสมัยที่อินเดียถูกบีบคั้นจากรัฐบาลคนต่างชาติคืออังกฤษก็เกิดขบวนการกู้ชาติของผู้รักชาติขึ้น นักเขียนจะเขียนยกย่องสรรเสริญวีรชนและเขียนต่อต้านผู้รุกรานต่างชาติและอ้อนวอนให้ประชาชนสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น บทกวีของมุฮัมมัด อิกบาลหรืออัคนีวีณา (พิณไฟ) ของกอซี นัสรุลอิสลาม เป็นต้น

หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพแล้ว ทัศนคติของนักเขียนอินเดียที่มีต่อประวัติศาสตร์ก็มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่นักเขียนหัวปฏิวัติระยะหลังไม่ได้ใช้ประวัติศาสตร์เป็นฉากหลังในการเขียนนวนิยายเรื่องใหญ่ๆ อีก พอจะมีชีวประวัติและอัตชีวประวัติที่เขียนโดยนักเขียนหัวปฏิวัติอยู่บ้าง แต่ที่เป็นรูปของนวนิยายนั้นหายาก

ส่วนนวนิยายที่อิงทฤษฎีอหิงสาและไม่ร่วมมือของมหาตมะคานธี นั้นยิ่งหายากเข้าไปอีก มีอยู่เพียงไม่กี่เรื่องเช่น กันตะปุระของราชาเรา รอคอยมหาตมะ โดย ร.ก.นารายณ์ และแม่คงคาหักเลี้ยวของมโนหัร มัลโกณกัร ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับอุดมการณ์ของท่านมหาตมะคานธี นวนิยายที่ใช้ขบวนการกู้ชาติเป็นฉากหลังก็มีเรื่องอไลโอไซ (คลื่นแห่งสมุทร) โดยกัลป์กิศกุนตลา (แปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า ใบไม้ในสายลม)เดือนสิงหาคม โดย น.ส.ภัติเก และนวนิยายเรื่องยาวของอยาตุลลอฮ์ อันซอรี ชื่อลาฮูกีพูล (ดอกไม้เลือด)

การแบ่งอินเดียออกเป็นสองส่วน (อินเดียกับปากีสถาน) มีผลกระทบกระเทือนต่อผู้คนในแคว้นปัญจาบ เบงกอล และสินธ์เป็นอย่างมากจึงเกิดนวนิยายและเรื่องสั้นซึ่งเขียนด้วยภาษาปัญจาบี เบงกาลี และสินธี ขึ้นอย่างมากมายรวมทั้งบทกวีด้วย ต่างแสดงปฏิกิริยาต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างลึกซึ้ง

นวนิยายชื่อรถไฟไปปากีสถาน และไม่มีเสียงนกไนติงเกลของกุศวันท์ สิงห์ อินกิลาป (ปฏิวัติ) ของควาญา อะห์มัด อับบาส ชำเราของราชกิล อซาดีของชามัน นาหัล และอักกาดัรยา (แม่น้ำไฟ) ของกูราตูเลน ไฮเตอร์ เป็นตัวอย่างที่ดี

รวมทั้งนวนิยายเรื่องยาวชื่อสัจจะเท็จ โดยยัศปาล ออร์อินซานมัสกายา (แล้วคนก็ตาย) โดยรามนันท์ สากัร ตูฟานเซปาเล (ก่อนพายุจะมาถึง) โดยอุเพนทรานารถ อัศก์ ตูฟานกีกาลิยาน (ดอกไม้ตูมแห่งพายุ) โดยวิศัม สาหานี ด้วย

 

นวนิยายแนวสังคม

จากปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 นักเขียนอินเดียส่วนหนึ่งได้หันมาใช้งานของตนเป็นเครื่องมือปฏิรูปสังคม โดยมีนักเขียนตะวันตก เช่น ชาร์ลส์ ดิกเกน และกัลสเวอร์ธี เป็นตัวอย่างนักเขียนนวนิยายเช่นหรินารายณ์ นานัค สิงห์ และนักเขียนคนอื่นๆ ต่างก็แสดงความไม่พอใจในระบบสังคมอันแข็งกร้าวของฮินดู เช่น สภาพของผู้หญิงหม้าย การปฏิบัติอย่างเลวทรามต่อลูกสะใภ้และลูกเลี้ยง

การกีดกันการแต่งงานต่างวรรณะ สภาพครึ่งมนุษย์ของคนในวรรณะจัณฑาล ชีวิตคนชนบทที่ต้องเดือดร้อนเพราะความใจแคบใจดำของนักกอบโกยเงิน ความโหดร้ายเหมือนสัตว์ป่าของพวกเจ้าที่ดินและพวกราชวงศ์ในท้องถิ่น การกีดกันความรักของหนุ่มสาววัยรุ่น

การกีดขวางความคิดอิสระของเยาวชนที่มีจิตใจเป็นนักปฏิวัติ ความเน่าผุที่สะสมอยู่ในระบบการศึกษาและความอยุติธรรมที่ใช้ศาสนามาบังหน้า เป็นต้น

นวนิยายสังคมรุ่นแรกๆ มักมีลักษณะคล้ายจะเป็นวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องความชั่วร้ายในสังคมเสียมากกว่าจะเป็นนวนิยาย เช่น นวนิยายภาษา กุจราตีของอมฤต กีศวะนัค ที่มีชื่อเป็นภาษาฮินดี ว่าเอ็ม.เอ บนาเก กยอน เมรี่ มิตตี กฮาราบ กี? (เหตุไฉนท่านจึงมาทำลายชีวิตของฉันเสียด้วยการทำให้ฉันเป็นมหาบัณฑิต?)

หรือนวนิยายของโภกินดรา เราที่มีชื่อว่าดฮัรมา กี กรัร? (วิวาห์ – สัตยาธิษฐานหรือว่าสัญญา?) นักเขียนจะถักทอเรื่องราวของเขาอยู่รอบๆ แกนความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงของระบบครอบครัวและความรีบด่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงมันเสียใหม่เหล่านี้