The winter is coming! สงครามก่อนจะเริ่มฤดูหนาว | ยุทธบทความ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

The winter is coming!

สงครามก่อนจะเริ่มฤดูหนาว

 

“พลังอำนาจทางทหารเป็นเรื่องของทรัพยากรทางทหาร มากกว่าจะเป็นเรื่องของอาวุธและกำลังพล และทั้งยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมทางทหารมากกว่าเป็นเรื่องของการสู้รบหรือการคุกคาม”

Joseph S. Nye, Jr. (2011)

 

ด้วยการเดินทางของฤดูกาลเช่นที่เกิดในทุกปี เราคงเดาได้ไม่ยากว่าฤดูหนาวในยุโรปกำลังใกล้เข้ามา

ดังนั้น ในวันที่ 9 กันยายน 2022 เลขาธิการนาโต (NATO) จึงได้แจ้งเตือนชาติสมาชิกด้วยประโยคง่ายๆ คือ “The winter is coming, it’s going to be hard…” อันมีนัยถึงการมาของ “สงครามฤดูหนาว” ที่จะเป็นความยากลำบาก และเตือนถึงการเตรียมสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามระยะยาวกับรัสเซีย

อีกทั้งยังตอกย้ำถึงแรงกดดันที่เกิดจากการตัดการส่งพลังงานของรัสเซียมายุโรป และปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอันเป็นผลกระทบโดยตรงจากสงคราม

ฤดูหนาวของยุโรปปีนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในด้านหนึ่งเราจะเห็นถึงความโหดร้ายและความยากลำบากของสงครามยูเครนที่กองทัพต้องทำการรบในฤดูหนาว ดังเช่นที่เราเคยเห็นมาแล้วจากสงครามฤดูหนาวทั้งในอดีต และในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะเห็นความขาดแคลนพลังงาน ที่เกิดจากการใช้พลังงานเป็นเครื่องมือในการตอบโต้กับการแซงชั่นของรัฐตะวันตก อันจะส่งผลโดยตรงต่อทั้งชีวิตและค่าครองชีพของผู้คนในสังคม

การเปิด “สงครามพลังงาน” ของรัสเซียจะทำให้ฤดูหนาวในยุโรปปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก และจะบังคับให้รัฐยุโรปต้องปรับ “ยุทธศาสตร์พลังงาน” ที่จะต้องลดการพึ่งพารัสเซียลง การเดินทางผ่านฤดูหนาวของรัฐยุโรปในปีนี้จึงเป็นวันเวลาที่ท้าทายอย่างมาก ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร และดูเหมือนรัสเซียจะเชื่อมั่นอย่างมากว่า “สงครามพลังงานของปูติน” มีประสิทธิภาพในการกดดันสหภาพยุโรป เนื่องจากการปรับตัวด้านพลังงานยังไม่อาจกระทำได้ทันที

เรากล่าวได้ว่าสงครามฤดูหนาวปีนี้ จะมีทั้งสงครามฤดูหนาวในสนามรบที่ยูเครน และสงครามฤดูหนาวในบ้านของชาวยุโรปในหลายประเทศ

ดังนั้น จึงน่าสนใจอย่างมากว่า ก่อนที่ “สงครามฤดูหนาว 2022” จะมาถึงในยูเครน สงครามจะมีทิศทางไปอย่างไร

 

ยึดพื้นที่ให้ได้มากก่อนฤดูหนาว!

สิ่งที่เห็นได้ชัดก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง กองทัพยูเครนพยายามที่จะเปิด “การรุกกลับ” (counteroffensive) ให้ได้ เพื่อกดดันให้กองทัพรัสเซียตกเป็นฝ่ายรับ

ขณะเดียวกันก็เป็นการรุกเพื่อยึดพื้นที่บางส่วนที่เคยถูกกองทัพรัสเซียยึดไปหลังวันที่ 24 กุมภาพันธ์กลับคืน

ผลของการรุกกลับของยูเครนเช่นนี้จะเป็นการ “ประชาสัมพันธ์สงคราม” อย่างดียิ่ง เช่น การที่กองทัพยูเครนสามารถยึดบางเมืองกลับมาได้ สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพยูเครนไม่เพียงต้านทานการรุกใหญ่ของรัสเซียได้เท่านั้น หากยังสามารถเปิดการรุกกลับและยึดเมืองคืน อันอาจทำให้ทหารรัสเซียในบางพื้นที่ตกเป็นฝ่ายที่ถูกปิดล้อม และผลสืบเนื่องอย่างสำคัญคือ ทำให้ความหวังที่จะทำประชามติของรัสเซียในการผนวกดินแดนนั้น อาจต้องเลื่อนออกไป

กองทัพยูเครนวันนี้เปิดการรุกกลับทั้งสามแนวคือ ทางภาคใต้มีเมืองเคอร์ซอน (Kherson) เป็นเป้าหมายหลัก ทางเหนือมีเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) เป็นเป้าหมาย และทางตะวันออกมีพื้นที่แถบดอนบาส (Donbas) เป็นเป้าหมายสำคัญ

การเปิดการรุกสามแนวรบเช่นนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฝ่ายยูเครน แต่ก็สามารถทำให้กองทัพรัสเซียในหลายพื้นที่ถูกผลักดัน และทำให้แนวรบต้องปรับใหม่

เช่นดังที่รัสเซียยอมรับว่า แนวรบทางด้านคาร์คีฟถูกตีแตกจากการุกอย่างรวดเร็วของยูเครน และการรุกเช่นนี้ยังส่งผลอย่างมากกับเส้นทางส่งกำลังบำรุงของกองทัพรัสเซีย (รอยเตอร์, 10 กันยายน 2022) ซึ่งการรุกกลับเช่นนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การตีแนวตั้งรับของรัสเซียให้แตก เพื่อจะกดดันให้รัสเซียต้องถอยร่น และปรับแนวรบใหม่

นอกจากนี้ อาวุธยิงระยะไกลที่กองทัพยูเครนได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐและชาติพันธมิตร เช่น ปืนใหญ่และระบบยิงจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่เร็ว (M 142 High Mobility Artillery Rocket Systems – HIMARS) ได้สร้างความเสียหายอย่างมากกับกองทัพรัสเซีย เช่น การทำลายเส้นทางส่งกำลังบำรุง คลังกระสุน ส่วนควบคุมและบัญชาการ อันส่งผลให้กองทัพยูเครนเริ่มยึดบางพื้นที่กลับคืน

แม้จะเป็นชัยชนะทางยุทธวิธีในเบื้องต้น แต่ก็ทำให้ชาติพันธมิตรของยูเครนที่จะให้การสนับสนุนด้านอาวุธต่อไปอย่างน้อยจนถึงปีหน้า อีกทั้งยังมีรายงานทางทหารว่า ระบบจรวดชุดนี้ได้ทำลายเป้าหมายทางทหารของรัสเซียมากกว่า 400 แห่ง (คำแถลงประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐ) และเป็นระบบอาวุธที่มีศักยภาพในการทำลายอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การรุกกลับเช่นนี้มิได้มีนัยว่า สงครามยูเครนกำลังเดินทางเข้าใกล้จุดสุดท้าย

ในความเป็นจริงแล้ว สงครามยูเครนน่าจะรบกันยาวออกไปถึงปีหน้า ด้วยสภาวะของสงครามในแบบที่ “รบต่อเนื่องและติดพัน” จนอาจเป็น “สงครามยืดเยื้อ” ในอีกแบบ (มิได้หมายถึงสงครามยืดเยื้อตามแนวคิดของประธานเหมาเจ๋อตุงที่มีสงครามกองโจรเป็นคุณลักษณะด้านหลัก)

ซึ่งทางนาโตประมาณการว่า สงครามน่าจะยาวต่อไปจนถึงปีหน้าอย่างแน่นอน

ดังนั้น ความคาดหวังว่าสงครามอาจจะจบในปีนี้จึงเป็นไปไม่ได้ หรือกล่าวในทางทหารก็คือ รัฐคู่พิพาททั้งสองยังมีความสามารถที่จะทำการรบต่อไปได้

 

การสนับสนุนทางการเมืองการทหาร

ในอีกทางหนึ่งนั้น สงครามยูเครนมีลักษณะยืดเยื้อ เพราะคู่สงครามยังมี “ทรัพยากรทางทหาร” ที่จะดำรงสภาพการรบที่เกิดขึ้น ให้ยืดออกไปได้

หรืออีกนัยหนึ่งรัฐคู่กรณียังสามารถขับเคลื่อนสงครามไปได้ และไม่ขาดแคลนทรัพยากรทหารจนต้องยุติการรบ โดยเฉพาะรัสเซียยังมีกำลังพลและกำลังอาวุธ เหลือมากพอที่จะทำการรบต่อไปได้อีก

แต่ก็มิได้หมายความว่ากองทัพรัสเซียจะสามารถทำการรบไปได้ตลอดโดยไม่ประสบปัญหาความขาดแคลนยุทโธปกรณ์

ฉะนั้น ข่าวใหญ่ทางทหารในช่วงที่ผ่านมาคือ การแสวงหาแหล่งยุทโธปกรณ์ที่จะช่วยสนับสนุนปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน รัสเซียได้หันไปจัดซื้อโดรนจากอิหร่าน (สิงหาคม) และจัดหาจรวดและกระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีเหนือ (กันยายน)

การจัดหาเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลนที่กำลังเกิดกับกองทัพรัสเซียได้เป็นอย่างดี

การจัดหาของรัสเซียเช่นนี้ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐ ต้องออกประกาศแซงก์ชั่นบริษัทอิหร่าน 3 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดหาโดรนให้แก่รัสเซีย

สำหรับทางด้านยูเครนนั้น อาวุธจากสหรัฐและชาติพันธมิตรยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง นอกจากระบบจรวดหลายลำกล้อง (HIMARS) ดังที่กล่าวแล้ว ยังมีระบบจรวดหลายลำกล้องนำวิถี (GMLRS) ปืนใหญ่ กระสุนปืนใหญ่ จรวดต่อสู้รถถัง อาวุธต่อสู้อากาศยาน และอาวุธอื่นๆ เช่น ยานยนต์ทหาร กล้องส่องกลางคืน ตลอดรวมถึงกระสุนสำหรับอาวุธเล็กจำนวน 1.5 ล้านนัด เป็นต้น

ดังนั้น อำนาจกำลังรบที่สำคัญของยูเครนอีกส่วนจึงเป็นปัจจัยภายนอก ที่มีความหมายโดยตรงถึงการสนับสนุนทางทหารจากชาติพันธมิตร หากปราศจากความสนับสนุนเช่นนี้แล้ว โอกาสที่รัฐเล็กอย่างยูเครนจะอยู่รบได้นาน คงเป็นไปได้ยาก

การสนับสนุนในลักษณะดังกล่าวทำให้ยูเครนมีทรัพยากรทางทหารอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำสงครามต่อต้านรัสเซียได้อย่างต่อเนื่อง และความเข้มแข็งของระบบพันธมิตรที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ทำให้ยูเครนมีพลังทั้งทางการเมืองและการทหารควบคู่กันไป จนประธานคณะเสนาธิการร่วมสหรัฐประเมินว่า “วัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียได้ถูกทำลายลงแล้ว” ซึ่งเท่ากับรัสเซียกำลังสูญเสียการเป็นผู้กุมความริเริ่มในสนามรบด้านนี้

สภาวะเช่นนี้ทำให้รัสเซียตกอยู่ในสภาพเหมือน “ติดกับดัก” กับปัญหาสงครามยูเครน และมีท่าทีเป็นฝ่ายถอยร่นในพื้นที่ทางด้านคาร์คีฟ ดังจะเห็นได้ว่าการสูญเสียรถถังและรถบรรทุกทหารมีอัตราสูงมาก

จนมีการเปรียบเทียบว่าอัตราการสูญเสียที่คาร์คีฟอยู่ในระดับเดียวกับการเตรียมเข้าตีเคียฟ (เมื่อหกเดือนที่แล้ว) ทั้งยังมีภาพของ “เชลยศึกรัสเซีย” เป็นจำนวนมากในพื้นที่แถบนี้

ความสูญเสียเช่นนี้ทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลงอย่างมาก แม้รัฐบาลมอสโกจะยังคงมีทรัพยากรทหารให้ทำการรบต่อไปได้จริง แต่ความเสียหายทั้งต่อชีวิตของกำลังพลและยุทโธปกรณ์มีมากขึ้น จนอาจกลายเป็น “วิกฤตการเมืองภายใน” สำหรับรัฐบาลได้ในอนาคต ดังเช่นที่เคยประสบมาแล้วในช่วงสงครามอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าแม้จะเกิดความสูญเสียอย่างมาก แต่เสียงสนับสนุนภายในต่อสถานะประธานาธิบดีปูตินยังคงเข้มแข็งอย่างไม่น่าเชื่อ ในอีกด้านกองทัพรัสเซียอ่อนลงจากการสูญเสียที่เกิดขึ้น ทางฝ่ายยูเครนประมาณการว่าในช่วง 6 เดือนของสงครามที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียน่าจะสูญเสียทหาร 5 หมื่นนาย สูญเสียรถถังจำนวน 2,077 คัน (นิวส์วีก, 6 กันยายน 2022)

แต่ดังที่รับรู้กันในยามสงคราม ตัวเลขดังกล่าวยากที่จะยืนยัน เช่น ในเดือนมีนาคม 2022 รัสเซียแถลงว่ากำลังพลเสียชีวิต 1,351 นาย บาดเจ็บ 3,825 นาย

 

ขยายสหภาพยุโรป

ในอีกด้านของสงครามยูเครนส่งผลให้แนวคิดเรื่อง “การขยายสหภาพยุโรป” (EU Enlargement) เกิดขึ้น และเป็นโอกาสของยูเครน จอร์เจีย และมอลโดวาที่จะเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต

หรือก่อนหน้านี้คือการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มบอลข่านตะวันตก 6 ประเทศ โดยเฉพาะการรออย่างยาวนานของอัลแบเนียและมาซิโดเนียเหนือ ซึ่งการเปิดสงครามของรัสเซียกลายเป็นแรงผลักดันอย่างดีให้เกิดการขยายพรมแดนของสหภาพยุโรป

ดังคำของผู้นำเยอรมนีที่กล่าวว่า “ศูนย์กลางของยุโรปกำลังเคลื่อนไปทางตะวันออก” (Scholz, 29 สิงหาคม 2022)

ดังนั้น การก่อสงครามของประธานาธิบดีปูตินกำลังส่งผลในด้านกลับอย่างมาก

ด้านหนึ่งหลายประเทศในยุโรปตะวันออกแสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการเข้าร่วมกับนาโต และประชามติในประเทศเหล่านี้มีทัศนะที่เห็นว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามหลัก

ในอีกด้านหลายประเทศในพื้นที่แถบนี้ล้วนต้องการที่จะเป็นสมาชิกของอียู สิ่งที่เกิดขึ้นดูจะสวนทางกับผลประโยชน์ในทางการเมืองและความมั่นคงของรัสเซียอย่างมาก สงครามยูเครนทำให้ประเทศเหล่านี้หันไปใกล้ชิดกับตะวันตกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะยิ่งมีทิศทางที่ “ห่างเหิน” กับรัสเซีย จนกลายเป็นการโดดเดี่ยวรัสเซียไปในตัวเอง

ฉะนั้น ฤดูหนาวที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น แน่นอนว่าสงครามฤดูหนาวจะเป็น “เฟสใหม่” ของสงคราม… การรุกกลับของยูเครนที่ประสบความสำเร็จที่คาร์คีฟจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ของสงครามได้จริงหรือไม่ และสัญญาณการถอยของรัสเซียทางเหนือจะเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธี…

โจทย์สงครามฤดูหนาวจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง!