ไบเดนไม่ร่วม ‘เอเปค’ สัญญาณสถานะตกต่ำของ ‘ไทย’ ในสายตาประชาคม ‘โลกเสรี’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ไบเดนไม่ร่วม ‘เอเปค’

สัญญาณสถานะตกต่ำของ ‘ไทย’

ในสายตาประชาคม ‘โลกเสรี’

 

เป็นที่ถกเถียงของสังคมไม่น้อย หลังจากเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแจ้งสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ว่าประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ จะไม่เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และจะส่งรองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ เข้าร่วมแทน

และหากกางปฏิทิน ย้อนดูก่อนหน้าการประชุมเอเปคไม่ถึง 1 สัปดาห์ จะพบว่าประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G 20 ซึ่งเป็นการประชุมของ 19 ประเทศและสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่ามีประชากรกว่า 2 ใน 3 ของโลก และขนาดเศรษฐกิจกว่า 80% ของการค้าโลก และการประชุม G 20 นี้เองที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เลือกเข้าร่วมประชุม

จากรายงานข่าวตามหน้าสื่อนั้น เดิมพบว่ากำหนดการของไบเดนหลังเข้าร่วม G 20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้ว จะเดินทางร่วมประชุมเอแปคที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 1 วัน แล้วจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

แต่แล้วก็เกิดเปลี่ยนแปลงกำหนดการดังกล่าว ด้วยเหตุผล ‘ติดภารกิจครอบครัว (family engagement)’ ที่ภายหลังเปิดเผยว่าเป็นการจัดงานแต่งงานของหลานคนโตของไบเดนที่ทำเนียบขาว จึงเป็นที่น่าสนใจว่าทางไทยจะตอบรับกับเรื่องนี้อย่างไร

เพราะในเชิงการทูต คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาเยือนของผู้นำหนึ่งในประเทศมหาอำนาจ ‘โลกเสรี’ แสดงให้เห็นนัยยะสำคัญทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญกับที่ทางสถานะของไทยในเวทีโลก

แต่ก่อนจะหาคำตอบในมุมที่คนนอกมองการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คงต้องชวนมองการประชุมเอเปคครั้งนี้ในบริบทการเมืองไทย

 

ในบทความ ‘สถานะไทยกับเอเปค!’ ทาง ‘มติชนออนไลน์’ ของ ‘รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข’ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองภาพกว้างว่า ‘เอเปค’ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทย (หรือถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจงคือสถานะของรัฐบาลหลังการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ) ก้าวสู่เวทีโลกได้ แต่ควรคำนึงถึงการ ‘แสดงบทบาท’ ของไทยบนเวทีนานาชาติ

พูดให้ชัดคือ การเป็นเจ้าภาคเอเปคครั้งนี้ไม่ใช่ใบเบิกทางให้รัฐบาลหลังรัฐประหารเชิดหน้าชูตาบนเวทีโลกได้เสมอไป แต่ต้องดูการแสดงออกในการเมืองและจุดยืนทางการทูตระดับนานาชาติครั้งที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

อาจต้องย้อนไปไกล ตั้งแต่การสั่งซื้อเรือดำน้ำจากจีนที่สร้างความกังวลใจให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในสัญญาณขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือความสัมพันธ์ที่เอนเอียงไปทางประเทศจีนของไทย หลังการรัฐประหารปี 2557 จนล่าสุดจุดยืนทางการทูตของไทยในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ถูกตั้งคำถามเสียงดังอีกครั้ง

เชื่อว่าหลายคนยังจำเหตุการณ์ครึกโครมครั้งนี้ได้ดี เมื่อเครื่องบินรบ MiG-28 ของกองทัพทหารพม่ารุกล้ำอาณาเขตน่านฟ้าไทยบริเวณจังหวัดตากเพื่อทำการโจมตีพื้นที่ยึดครองของกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลทหารพม่า

จนทำให้ผู้บัญชาการกองทัพอากาศต้องออกมาเปรียบเปรยในประเด็นนี้ว่าเป็นเหมือน ‘เพื่อนบ้านเดินลัดสนามหญ้าหน้าบ้าน’ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืน และความยึดมั่นในความปลอดภัยของประชาชนในรัฐไทยตลอดถึงคำถามถึงอำนาจอธิปไตยของไทยในกรณีนี้อีกเช่นกัน

เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นนี้ยังโยงไปถึงจุดยืนที่น่าตั้งคำถามของไทยต่อเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ยังไม่นับความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างชนชั้นนำทหารไทยกับผู้ก่อรัฐประหารพม่า

หนำซ้ำ ท่ามกลางวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 นี้ ‘สุรชาติ บำรุงสุข’ เปิดเผยในบทความเดียวกันว่าไทยเลือก “งดออกเสียง” ในญัตติว่าจะให้ผู้นำยูเครน ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ ส่งวีดิทัศน์สำหรับการประชุม UNGA หรือไม่

เมื่อมองจากอุดมการณ์ ‘เบื้องหน้า’ ของโลกทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยแล้ว คงพูดได้ยากว่าไทยยืนอยู่กลางกระแสโลก ‘เสรี’ ทั้งในเชิงการเมืองภายในประเทศและท่าทีระดับนานาชาติ

 

และหากมองเปรียบเทียบสถานะของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันแล้ว นักวิเคราะห์ทางการเมืองและเศรษฐกิจมักจะยกประเทศเวียดนามและประเทศอินโดนีเซียขึ้นมาเปรียบเทียบว่าเป็นคู่แข่งที่อาจ ‘แซง’ ไทยในเชิงการพัฒนาตามขนบทุนนิยมเสรี

ประเทศแรกคือเวียดนาม มักจะถูกเปรียบเทียบกับไทยในด้านเศรษฐกิจ และในช่วง 2 ปีมานี้ภายใต้วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 เราเห็นข่าวแรงงานชาวไทยต้องตกงานเพราะการย้ายฐานการผลิตของบริษัทสินค้าอิเล็กทรอนิสก์ต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเป็นระยะๆ

หรือในเดือนมิถุนายน 2565 เอง บริษัทแอปเปิลก็ได้ย้ายฐานการผลิตแทปเล็ตจากประเทศจีนไปยังเวียดนาม

และอีกหนึ่งประเทศคืออินโดนีเซีย ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ได้แสดงบทบาททางการทูตระดับนานาชาติสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง

หมุดหมายสำคัญที่เป็นที่จับตาของนานาชาติคือการเยือนสองประเทศคู่สงครามในเวลานี้คือยูเครนและรัสเซียในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ด้วยการฉายภาพว่าตั้งใจจะเป็น “สะพานทางการทูตระหว่างสองประเทศ”

บทบาทนำทางการทูตในลักษณะนี้ของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ส่วนหนึ่งแม้จะเป็นการกระทำจากจุดยืนทางการทูตแบบไม่เลือกฝ่าย (non-alliance) ของอินโดนีเซียมาเป็นเวลาหลายทศวรรษผ่านการเลือกไม่คว่ำบาตรและไม่วิจารณ์การบุกรุกยูเครนของรัสเซียอย่างตรงไปตรงมา

แต่ทางวิโดโดก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นนิเคอิ เอเชียว่า เขาเชื่อว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ “ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะประชาชนคนธรรมดาจะเป็นแพะรับบาป”

โจโก วิโดโด เสนอว่าการวิธีการหยุดสงครามควรทำผ่านการเจรจา หยุดยิง (cease-fire) เพื่อนำไปสู่การยุติสงคราม

แม้ท่าทีดังกล่าวหากมองจากมุมมองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อาจเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรและเชื้อเพลิงที่สำคัญจากทั้งสองประเทศ

แต่ก็เป็นที่มองข้ามท่าทีการแสดงออกนี้ไม่ได้ว่าแสดงถึงความพยายามแสดงบทบาทนำในเชิงการทูตในฐานะเจ้าภาพการประชุม G20 และการประชุมผู้นำอาเซียนในปี 2566 ที่จะถึง

 

นอกจากท่าทีข้ามทวีปเช่นนี้แล้ว อินโดนีเซียยังมีจุดยืนวิพากษ์วิจารณ์ต่อการรัฐประหารในเมียนมาและเป็นหนึ่งในเสียงสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนเสนอต่อการหาทางออกวิกฤตการเมืองในเมียนมาอีกเช่นกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและเปรียบเทียบกันกับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยตอนนี้ได้ คือ หลังมีประเด็นคาดการณ์ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลอินโดนีเซียว่าวิโดโดอาจทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกการดำรงตำแหน่งสูงสุด 2 สมัย สมัยละ 5 ปีของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

โจโก วิโดโด กล่าวในบทสัมภาษณ์กับนิเคอิ เอเชียว่า “ผมเป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งผ่านระบบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้มากที่สุด 2 สมัย และผมจะขอยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ”

การแสดงจุดยืนทางการทูต และความยึดมั่นทางการเมืองต่อรัฐธรรมนูญของวิโดโดนี้ จึงนำเรากลับมาที่สถานการณ์ในประเทศไทย ที่แม้แต่ระยะการดำรงตำแหน่งของผู้นำฝ่ายบริหารหลังการรัฐประหารก็ยังต้องมี ‘การคาดเดา’ อนาคตว่าจะไปในทิศทางไหน สวนทางกลับประเทศประชาธิปไตยที่วางอยู่บนหลักเหตุและผลของวิญญูชนปกติ

จึงทำให้ถึงตอนนี้ประชาชนไทยก็ยังไม่รู้ว่าใครในรัฐบาลจะมาเป็นผู้นำการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ถูกพักงาน หรือนายกฯ รักษาการ ก็ “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้”

 

‘รัศม์ ชาลีจันทร์’ อดีตเอกอัครราชทูตไทยเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ ‘The Matter’ ว่าสถานะทางการทูตที่ชัดเจน มั่นคง จะสัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และความเป็นประชาธิปไตยก็จะส่งผลต่อการเชิดหน้าชูตากับต่างประเทศได้อย่างมีศักดิ์และศรี

ในบทสัมภาษณ์เดียวกัน ทูตรัศม์ชี้ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ไทย “ไม่เคยมีข้อริเริ่มอะไรในเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญและมีอิทธิพลเลย”

หมายความว่า พ.ศ.2549 คือปีที่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ตามด้วย พ.ศ.2557 ที่เกิดการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และจนถึงตอนนี้ก็พูดไม่เต็มปากว่าไทยก้าวเข้าสู่ประเทศประชาธิปไตยแม้จะมีการเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นสถานการณ์การเมืองภายในที่สะท้อนออกสู่ภายนอก ผ่านท่าทีทางการทูตซึ่งช่วงหนึ่งไทยเคยมีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในวันนี้หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การที่ไบเดนเลือกไม่เข้าร่วมเอเปคในครั้งนี้ หากจะเป็นสัญญาณสะท้อนบทเรียนอะไรได้บ้าง คงเป็นสัญญาณว่าไทยตกต่ำแค่ไหนในสายตาประเทศโลกเสรีประชาธิปไตย