ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
แลนด์สไลด์ พท.-อุ๊งอิ๊ง
จากร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์
สู่เป้าหมายเลือกตั้งใหญ่
‘เต้น’ เฉลย-ใครหัวคะแนน?
เป็นอีกปรากฏการณ์น่าสนใจ สำหรับผลการเลือกตั้งซ่อมนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา
เมื่อนายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ อย่างขาดลอยด้วยคะแนน 301,188 คะแนน
เป็นชัยชนะที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์จากจำนวนทั้งสิ้น 576,066 คน
ที่สำคัญยังเป็นชัยชนะเหนือนางจุรีพร สินธุไพร (126,565 คะแนน) และนางรัชนี พลซื่อ (116,224 คะแนน) สองผู้สมัครในนามอิสระ อันมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน
คะแนน 2 คนรวมกันยังสู้นายเศกสิทธิ์คนเดียวไม่ได้ แบบนี้ไม่เรียก “ร้อยเอ็ดแลนด์สไลด์” แล้วจะเรียกว่าอะไร?
ผลเลือกตั้งถล่มทลาย ถูกตีความว่าเป็นสัญญาณดีของพรรคเพื่อไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ ในการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึงอย่างช้าที่สุดในอีก 7 เดือนข้างหน้า 7 พฤษภาคม 2566 ตามโรดแม็ปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ยิ่งการหาเสียงโค้งสุดท้ายของสนามเลือกตั้งซ่อม อบจ.ร้อยเอ็ด ปรากฏภาพ “ครอบครัวเพื่อไทย” ยกทัพใหญ่ลุยช่วยลงพื้นที่
ทั้ง น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย
สะท้อนกระแสที่พร้อมกลับมาฟีเวอร์เหมือนในอดีต ยุคสมัยพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน
ยิ่งไปกว่านั้น ชัยชนะครั้งนี้ยังเป็นการคว้าชัยสนามที่ 2 ต่อเนื่องจากการเลือกตั้งซ่อมนายก อบจ.กาฬสินธุ์ วันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล ผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ชนะคู่แข่งขาดลอย 249,093 คะแนน ทิ้งห่างลำดับ 2 ที่ได้ 150,443 คะแนน เกือบ 1 แสนคะแนน
ชัยชนะทั้งนายเศกสิทธิ์และนางเฉลิมขวัญ จึงถือเป็นการเบิกฤกษ์โหมโรงของพรรคเพื่อไทย ในการเดินหน้าขยายผลต่อยอดแลนด์สไลด์ ยาวไปถึงสนามเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
สะท้อนกระแสพรรคที่กลับมาพุ่งแรง สวนทางพรรคคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวกันว่าอยู่ในช่วงขาลง ต่อเนื่องมาจากผลเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ทั้งความพ่ายแพ้จากเขตหลักสี่-จตุจักร กทม. สงขลา และชุมพร
รวมถึงศึกเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 50 เขต พรรคพลังประชารัฐได้มาเพียง 2 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยได้ 20 ที่นั่ง
แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งใน 2 สนามท้องถิ่นทั้ง จ.ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์
จึงส่งแรงสะท้อนอย่างลึกซึ้ง ถึงผลที่อาจตามมาในการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ
ชัยชนะจากสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด สร้างความมั่นใจและความมุ่งมั่นให้พรรคเพื่อไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กหลังผู้สมัครของพรรคคว้าชัยชนะด้วยคะแนนถล่มทลาย
“ขอแสดงความดีใจกับคุณเศกสิทธิ์ และขอขอบพระคุณพี่น้องชาวร้อยเอ็ดที่ไว้ใจพรรคเพื่อไทย งานใหญ่ไม่สามารถทำสำเร็จโดยคนคนเดียวได้ เป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ พรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน”
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงถึงชัยชนะครั้งนี้ว่า
“ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ด้วยคะแนนที่นายเศกสิทธิ์ได้รับความไว้วางใจจากชาวร้อยเอ็ดอย่างท่วมท้น 3 แสนกว่าคะแนน และเกินร้อยละ 50 ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า เพื่อไทยแลนด์สไลด์”
ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า 8 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤต เป็นทุกข์ยากความลำบาก แม้เป็นการเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด แต่ก็เป็นช่องทางออกจากวิกฤต ประชาชนเลยออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลาย ไม่ต่างจากการเลือกตั้งนายก อบจ.กาฬสินธุ์
การเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนไม่เอาระบอบเผด็จการแล้ว และเป็นสัญญาณที่ดีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
“ที่สำคัญสัญญาณที่เกิดขึ้นยังบ่งบอกด้วยว่าต้องแลนด์สไลด์ ถ้าทุกคนอยากออกจากวิกฤต เพราะถ้าไม่แลนด์สไลด์ จะไม่สามารถหลุดพ้นหรือยกเลิกกลไกของรัฐธรรมนูญอย่าง 250 ส.ว.ที่มีส่วนเลือกนายกฯ ได้” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยระบุ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงชัยชนะ 2 สนามเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ.ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ว่า
จากการลงพื้นที่ทั้ง 2 สนามเลือกตั้ง พบว่าผู้สมัครพรรคเพื่อไทยออกตัวในฐานะผู้ท้าชิง แต่พลิกกลับเอาชนะแชมป์เก่าขาดลอยทั้ง 2 สนาม
ที่สำคัญแชมป์เก่าทั้ง 2 สนามเคยเปิดตัวในนามพลังประชารัฐ แต่รอบนี้ไม่ได้ยินชื่อพรรคและชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทั้ง 2 เวทีแม้แต่ครั้งเดียว
ยิ่งการเลือกตั้งใน จ.ร้อยเอ็ด ผู้สมัครบางคนขอลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลและปลดป้ายพรรคออกจากสำนักงาน แสดงตัวเป็นผู้สมัครอิสระ
นี่คือสภาพถดถอยอย่างยิ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ สวนทางกับภาวะผู้นำของ น.ส.แพทองธาร ที่พุ่งขึ้นหลังนำทัพชนะแบบแลนด์สไลด์
เหตุผลมาจากการบริหารงานทั้งยุค คสช.และหลังเลือกตั้ง ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในความรู้สึกประชาชน พล.อ.ประยุทธ์กลายเป็นจุดอ่อนและตัวปัญหาใหญ่สุดของรัฐบาล
การประกาศตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นจุดแข็งในการเลือกตั้ง
เชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็จะหาเสียงโดยไม่กล้าพูดชัดว่าจะร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์อีก
สุดท้ายถ้า พล.อ.ประยุทธ์รอดและอยู่ต่อได้หลังวันที่ 30 กันยายน สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นเหมือนหัวคะแนนหลักของพรรคเพื่อไทย
ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์อยู่นานเท่าไหร่ เพื่อไทยก็เข้าใกล้แลนด์สไลด์เท่านั้น
การคว้าชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ทั้ง 2 ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด และนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ยังสอดรับกับผลสำรวจนิด้าโพล ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 25 กันยายน ถึงบุคคลที่ประชาชนกลุ่มตัวอย่างจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี
แม้อันดับ 1 ร้อยละ 24.16 ระบุ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
แต่อันดับรองลงมา ร้อยละ 21.60 คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เหตุผลเพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร
ตามมาด้วย ร้อยละ 10.56 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เหตุผลเพราะชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล
อันดับถัดมา ร้อยละ 10.12 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุผลเพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง
สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 34.44 ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทย
อันดับ 2 ร้อยละ 24.00 ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย อันดับ 3 ร้อยละ 13.56 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.56 พรรคประชาธิปัตย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 5.56 พรรคพลังประชารัฐ
แม้ผู้ระบุคำตอบว่า ยังหาคนเหมาะสมไม่ได้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมของตัวบุคคลและพรรคการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างสนับสนุน
ยังเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับพรรคเพื่อไทย ที่คะแนนนำโด่งทั้งในส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองยอดนิยม
การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาสของนิด้าโพล ดำเนินการจัดทำมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2565
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผู้มีคะแนนนำที่ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 13.42 ตามด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 12.67 ตามติดมาด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 12.53
โดยทั้ง 3 อันดับ คะแนนไม่แตกต่างหรือห่างกันมาก โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ กับ น.ส.แพทองธาร ที่ห่างกันเพียงร้อยละ 0.14 เท่านั้น
ในการสำรวจคะแนนนิยม รายไตรมาส ครั้งที่ 2 วันที่ 26 มิถุนายน ในหัวข้อคำถามเดียวกัน แต่คำตอบเปลี่ยนแปลงไป
ในการสำรวจครั้งที่ 2 นี้ ผลปรากฏว่า เป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับคะแนนนิยมสนับสนุนพุ่งทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 25.28
ส่วนอันดับรองลงมายังคงเดิม คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 13.24 แล้วจึงตามมาด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 11.68
เพียงระยะเวลาห่างกัน 3 เดือน จากการสำรวจครั้งที่ 1 และ 2 คะแนนนิยมของ น.ส.แพทองธารกลับมาเหนือข่มคะแนนนิยมจากที่เคยสูสีในรอบแรก กลายเป็นทิ้งห่าง พล.อ.ประยุทธ์มากกว่า 1 เท่าตัว
ขณะที่นายพิธายังรักษาอันดับ 2 ไว้ได้เหนียวแน่น ในระดับร้อยละ 13.42 และ 13.24 ตามลำดับ
ก่อนมาถึงผลการสำรวจครั้งที่ 3 วันที่ 25 กันยายน ตัวบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนทั้ง 3 อันดับแรก ไม่เปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุน จากการสำรวจของนิด้าโพล เพื่อไทยครองแชมป์ติดต่อกัน 3 สมัยซ้อน
ครั้งแรก พรรคเพื่อไทยมาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 25.89 ตามด้วยพรรคก้าวไกล ร้อยละ 16.24 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 7.97 และพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.03
ครั้งที่ 2 พรรคเพื่อไทยยังแรงเช่นเคย ด้วยคะแนนนิยมร้อยละ 36.36
ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.88 ทิ้งห่างออกไปเป็นพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.00 และพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.32
ในการสำรวจครั้งที่ 3 พรรคเพื่อไทยยังคงยืนหนึ่งเช่นเดิม ที่ร้อยละ 34.44
ด้วยผลโพลทั้ง 3 ครั้ง ปรากฏภาพตอกย้ำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับพรรคเพื่อไทย ที่คะแนนนิยมยึดครองอันดับ 1 ทั้งในแง่ตัวบุคคล และพรรคการเมือง
เมื่อมองรวมกับผลเลือกตั้งนายก อบจ.ร้อยเอ็ด และนายก อบจ.กาฬสินธุ์ ทำให้เป้าหมายยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ขยับเข้าใกล้ความเป็นไปได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความถดถอยของฝั่งพรรคแกนนำรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ที่คะแนนนิยมเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเช่นกัน
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าจึงเป็นฉากพิสูจน์สำคัญของพรรคเพื่อไทย กับเป้าหมายแลนด์สไลด์ ที่ขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ เหลือแค่เพียงรอเวลามาถึงเท่านั้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022