กรุงเทพฯ จะมีโอกาสจมน้ำ? น้ำท่วมใหญ่แบบปี 54 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ อ.วิศวะจุฬาฯ หาทางออกและวางแผนรับมือ

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตอนนี้ประชาชนหลายคนยังคงมีภาพจำของ “สถานการณ์น้ำท่วมปี 2554” อยู่ในหัว พอน้ำท่วมปุ๊บ จะต้องนึกถึงภาพเหล่านั้นทันที

ถ้าเราดูในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าในตอนนั้นมี 3-4 น้ำเข้ามาพร้อมกัน คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำในเขตเมืองที่ลงมาผสมกัน เราเจอทุกด้าน

พอผ่านมา 10 กว่าปีสิ่งที่ประเทศเราทำไปแล้วคือ “ระบบภายนอก” เช่น การบริหารเขื่อน การจัดการคลองต่างๆ ในระดับหนึ่ง การดูแลแม่น้ำสายหลักดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ในส่วนเมืองได้ทำไปแค่บางส่วน ส่วนใหญ่จะเป็นการขุดลอกคลอง

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำก็ยังมี ยังอยู่ในสภาพเดิมแล้ว assume เอาว่าถ้าระบบข้างนอกดีข้างในจะดีตามไปด้วย น้ำจะไม่ล้นคัน เพราะส่วนกลางทำระบบด้านนอกดีขึ้น แต่ในส่วนเมืองคิดว่ายังมีปัญหาทุกเมือง ยังบริหารจัดการแบบเดิม

ในยุคปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีหลัง เวลาฝนตกมีลมแรง ฝนที่ตกจะหนักเป็นช่วงๆ ซึ่งหลายประเทศเจอแนวปะทะหนักในบางที่ แต่ลักษณะการออกแบบการระบายน้ำเรา หากเกิดฝนตก 3 ชั่วโมง แล้วตกทุกวัน เรารับมืออยู่ โดยใช้เวลา 10 กว่าชั่วโมงในการระบายน้ำออก

แต่ถ้าตกเกิน 300 มิลลิเมตร เราจะใช้เวลาระบายเกือบ 2 วัน เนื่องจากเราใช้ระบบสูบแล้วค่อยๆ ลำเลียงออก

พูดง่ายๆ คือถ้าตกปริมาณ 60 มิลลิเมตรเรารับมืออยู่ แต่ถ้าเกินกว่านี้นิดหน่อยก็อาจจะมีน้ำท่วมบ้าง แต่ถ้าเกิน 100 มิลลิเมตรกว่าๆ ก็จะใช้เวลามากขึ้น ถ้าหาก 300 กว่ามิลลิเมตรก็จะเหนื่อย แม้ภาพรวมข้างนอกเราจัดการได้ดีขึ้น ทั้งแม่น้ำสายหลัก คลองบางส่วน และมีการทำคันเพื่อกันน้ำเข้า แต่ความแตกต่างระหว่างตอนนี้กับปี 2554 ก็คือ สภาพฝนที่เกิดขึ้นไม่เหมือนในอดีต

ประการต่อมา ระบบระบายน้ำข้างนอกดีขึ้นแต่ข้างในยังคงเป็นลักษณะคล้ายๆ เดิม ส่วนใหญ่ทำไดรฟ์ไม่ให้น้ำไหลเข้าเมือง แต่ระบบข้างในยังปรับปรุงไปไม่มากเท่าไร ทำให้การระบายใช้เวลามากกว่าเดิม

นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากในอดีต แม้มีการปรับปรุงประตูน้ำ มีการติดตั้งเครื่องวัด และมีการทำอุโมงค์อันใหม่

ส่วนตัว รศ.ดร.สุจริตมองว่า เหตุการณ์แบบปี 2554 จะไม่เกิดขึ้น แต่บริเวณด้านล่างอยุธยาลงมาเราจะเจอสถานการณ์แม่น้ำสูงถึงกลางเดือนตุลาคม 2565 ในส่วนด้านบนเขื่อนรับมือได้ ด้านกลางถ้าจำเป็นต้องผันเข้าบึง น้ำก็จะท่วมแบบมีที่ให้น้ำอยู่ ซึ่งใต้อยุธยาเราจะเจอปัญหาที่ว่าถึงแม้น้ำจะไม่ล้นคันเข้ามา แต่น้ำในแม่น้ำจะสูง น้ำที่ลงมาจากใต้นครสวรรค์และน้ำที่เข้าแถวอยุธยา จะมาออจนเกิดภาวะน้ำสูงขึ้นมาแถวอยุธยา แถวรังสิต เพื่อรอระบาย นี่คือปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ส่วนที่เคยมีคนแสดงความกังวลว่า “อีกไม่เกิน 30 ปีกรุงเทพฯ จะจมน้ำ” เรื่องนี้เรามีการพูดกันมาตั้งแต่ปี 2558 ช่วงที่เรามีสภาขับเคลื่อน ผมเคยเป็นคณะกรรมการ เขามีการพูดถึงกันใน 3 ประเด็นว่า

1. น้ำทะเลเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
2. แผ่นดินทรุดจริงหรือเปล่า
3. น้ำจะท่วมใหญ่แค่ไหน

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

ประเด็นแรก “น้ำทะเลขึ้น” ทางสหประชาชาติเคยคำนวณว่าแถวบ้านเรา ในอีก 70-80 ปีข้างหน้า น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 80 เซนติเมตร ปัจจุบันสิงคโปร์ใช้เกณฑ์นี้ในการถมเกาะของเขาเพิ่มอีก 1 เมตร โดยเริ่มทำไปแล้วบางส่วน ซึ่งเขาไม่ได้ถมทั้งเกาะ มีการแบ่งว่าตรงไหนที่เป็นเมืองจะดำเนินการแบบหนึ่ง ส่วนไหนที่เป็นชนบทจะทำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมของเรามีข้อเสนอให้ทำ 2 เมตร แต่ด้วยงบประมาณจำกัด ทำให้ทำได้แค่ “บวกหนึ่งเมตร” โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยแผ่นดินทรุดด้วย

ซึ่งพบว่าสถิติการใช้น้ำบาดาลเราลดลง จากเดิมข้อมูลที่เรามี ทรุดปีละ 10 เซนติเมตร ตอนนี้เหลือประมาณ 1 เซนติเมตร เนื่องจากเราควบคุมการใช้น้ำบาดาลได้ดี และประเด็นเรื่องการทรุดไม่ได้แปลว่าจะทรุดต่อเนื่องตลอด เมื่อถึงจุดหนึ่งมันจะหยุด เนื่องจากว่าดินจะแน่น

ถ้าเราสามารถขับเคลื่อนทุกด้านไปพร้อมๆ กัน และหาคำตอบร่วมกันได้ ต้องทำควบคู่หลายอย่าง ในแง่นี้ถามว่ากรุงเทพฯ จะจมหรือไม่ ตอบว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตรถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย คันที่มีอยู่จะล้น น้ำจะท่วม หน้าแล้ง พอน้ำไม่พอจะเกิดน้ำเค็มเข้ามาอีก ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมไม่ทำการใดเลย ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นแน่นอน

โจทย์ที่กล่าวไปนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิด ว่าจะมีพื้นที่น้ำท่วม และมีที่สำหรับเก็บเพื่อทำน้ำประปาได้ด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องน้ำเสีย เนื่องจากในเมืองปัจจุบันเราทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาหมด การที่มันไม่เน่าเพราะเป็นน้ำเค็มเข้ามา ถ้าเราปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยาจนเป็นน้ำจืดเมื่อไร น้ำจะเน่าเลย

ดังนั้น เราจะต้องมีโครงการสำหรับการทำบำบัดน้ำเสียในเมือง บำบัดเพื่อนำน้ำมาใช้เป็นน้ำอื่น ซึ่งตรงนี้ค่าใช้จ่ายสูงถ้าจะปิดแม่น้ำเจ้าพระยา ในแง่จะทำบำบัดให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราทำได้เพียงแค่ 20-40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง (เฉพาะใน กทม.) ซึ่งในพื้นที่นนทบุรีขึ้นไปต้องทำทั้งหมด เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ กล่าวด้วยว่า ถ้าลงทุนอีกสัก 1 ล้านล้านบาท กับทนท่วมไปอีก 20 ปี ถามว่าคุ้มหรือไม่ นี่เป็นจุดที่เราต้องมาคิด ผมว่านี่เป็นทางออกหนึ่งที่เราจะต้องหาทางออกให้เต็มที่จริงๆ ซึ่งที่ผ่านมาเรายังไม่มองไกลถึงขั้นนั้น เราแก้กันไปเป็นปีๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะวนอยู่กับปัญหาแบบนี้ตลอด

ส่วนในระยะยาว ดูเหมือนว่าประชากรในประเทศไทยจะลดลง แล้วจะมากระจุกตัวในเมืองมากขึ้น จึงควรหาโซลูชั่นที่ตอบปัญหาทุกโจทย์ให้ได้ โดยวางแผนทั้งระบบ

ในอดีตที่สภาเคยมีการพูดคุยกัน 3 เรื่องในแผนระยะยาว ว่า 1.ในที่สุดจะจัดสรรที่ดินอย่างไรให้เหมาะสม เพราะฝนจะตกมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นต้องมีที่ทางให้น้ำอยู่ แปลว่าจะมีที่ที่น้ำจะต้องท่วมเลย มีพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม และพื้นที่ที่บางปีไม่ท่วม การจัดการแบบนี้จะทำให้เกิดสมดุลใหม่ ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือดีๆ ในการวัดว่าที่ตรงไหนต้องเป็นอย่างไร ควรตอบตรงนี้ให้ได้ ขณะเดียวกัน ประเทศเราต้องเติบโต เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

เมื่อพูดถึงตรงนี้ กับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการน้ำ การเติบโต และการใช้ที่ดิน เรายังไม่มีกลไกที่จัดให้เหมาะสม เพราะฉะนั้นจะท่วม/ไม่ท่วมแบบนี้ตลอดไป

ประการต่อมา ถ้าสมมุติน้ำท่วมแล้วบอกว่า เรามีอยู่ 10 ต้องการให้ท่วมแค่ 8 แปลว่าอีก 2 ต้องมีที่ให้ออก ซึ่งอดีตเคยมีโครงการที่จะทำคลองขนาดใหญ่ ให้ไหลออกทะเลเลย แต่ใช้เงินเป็นแสนล้าน ในแง่นี้เราต้องดูว่าอนาคตระหว่างที่จะจัดพื้นที่สีเขียว พื้นที่สีแดงว่าที่ไหนเหมาะสม ที่เหลือเราจะทำคลองหรือไม่ ทำขนาดไหน รับมืออย่างไรไม่ให้เสียเงินสองครั้ง

เราควรจะมีแผนและหาข้อตกลงร่วมกันว่า ต่อไปภายหน้า หากสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความร่วมมือและข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงงบประมาณด้วย คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่และต้องมี

ที่สำคัญประมาณ พ.ศ.2573 สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจะรุนแรงกว่านี้มาก ตอนนี้ถึงรณรงค์ลดลง 2 องศาเซลเซียส และลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด ก่อนการเปลี่ยนแปลงจะสูง ระหว่างทางจากนี้ไปถึงจุดนั้นน่าจะมีข้อตกลงในภูมิภาคนี้ เพื่อให้มีการรับมืออย่างเหมาะสม ส่วนในระยะยาว การหามาตรการขุดคลอง ปิดแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่สีเขียวที่ถูกกำหนดไว้จริงจัง ถ้าทำร่วมกันคู่ขนานกันไปได้จะเกิดการป้องกันที่มีความยั่งยืนในระยะยาว

ซึ่งต้องอาศัยข้อตกลงความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ด้วย นี่คือทางออก