กรณีที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย 8 ปี/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

กรณีที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย 8 ปี

 

ไม่รู้จะออกหัว-ก้อย ยากเกินการคาดเดา คดีประวัติศาสตร์ วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ซึ่ง “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.

ช่วงเวลาคาบลูกคาบดอก กับที่ “มติชนสุดสัปดาห์” วางตลาดพอดิบพอดี ขณะปั่นต้นฉบับ ยังไม่รู้ผล หวยออก “หยุดปฏิบัติหน้าที่ถาวร” หรือ “ได้ไปต่อ”

ไม่กล้าวัดดวงเสี่ยงทาย กลัวหน้าแหก เลยขอบันทึกบางรายละเอียด เผื่อใครนำไปบอกกล่าวเล่าขานยังรุ่นลูกรุ่นหลานได้ อนาคตของชาติจะได้รับรู้ “มาตรฐาน” หรือ “หลักธรรมาภิบาล” ยุคสมัยนี้ของประเทศไทยเป็นอย่างไร เรียงลำดับ “ไทม์ไลน์” ดังต่อไปนี้

1. จุดเริ่มต้นของ “คดี 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์” นำร่องจากฝ่ายค้านร่วมเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อ “นายชวน หลีกภัย” ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องให้ส่งคำร้องให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยคุณสมบัติของผู้ร้อง ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า

“ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่” เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 เมื่อตรวจสอบคำร้องเรียบร้อย ต่อมา ประธานสภาส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565

แม้ไม่ได้อยู่ในคำวินิจฉัย แต่ 3 ช่องทาง หลังศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย คือระยะเวลาการเริ่มต้นนับหนึ่งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ตรงคาบช่วงไหน จึงเข้าข่ายครบ 8 ปีบริบูรณ์

1.1 นับจากวันมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ครบ 8 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565

1.2 นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 คือวันที่ 6 เมษายน 2560 จะครบ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568

1.3 นับหนึ่งจากวันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว และผ่านกระบวนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 จึงเริ่มนับหนึ่งจากวันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 คือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จะครบ 8 ปีเต็ม ในวันที่ 8 มิถุนายน 2570

เท่ากับว่ามี 3 ช่องทางออก ที่จะนำไปเป็นคู่เปรียบเทียบ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ถาวร กับ “ได้ไปต่อ” เป็นเวลาอีก 2 ปี และ 4 ปี

 

2.หลัง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารคำร้อง มีมติ 2 ช่วง โดยเงื่อนไขที่หนึ่ง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง รับคำร้องไว้วินิจฉัย

เงื่อนไขที่สอง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง เห็นว่า ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันรับคำร้องไว้วินิจฉัยคือวันที่ 24 สิงหาคม จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

2.1 สำหรับ “คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” จำนวน 9 คน ประกอบด้วย 1. “นายวรวิทย์ กังศศิเทียม” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีที่มาจากได้รับเลือกมาโดยที่ประชมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2. “นายจิรนิติ หะวานนท์” ได้รับเลือกมาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 3. “นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม” รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 4. “นายวิรุฬห์ แสงเทียน” รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5. “นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์” รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 6. “นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7. “นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8. “นายปัญญา อุดชาชน” ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 9. “นายนภดล เทพพิทักษ์” ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ

2.1 มติเสียงข้างมากให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ “นายจิรนิติ หะวานนท์-นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์-นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ-นายวิรุฬห์ แสงเทียน-นายนภดล เทพพิทักษ์”

ฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่าไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ “นายวรวิทย์ กังศศิเทียม-นายปัญญา อุดชานนท์-นายอุดม สิทธิรัชธรรม-นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์”

 

3.เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 มีมติให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ภายใน 15 วัน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่ายชี้แจง อาทิ ให้ “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ “นายปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ยื่นคำชี้แจง

ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดส่งสำเนาบันทึกการประชุมและรายงานการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 และครั้งที่ 501 ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาตรวจบันทึกการประชุม รายงานการประชุมตรวจทานแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565

เมื่อวันที่ 14 กันยายน “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ทั้ง 9 คนได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคดีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ข้อสรุปว่า คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้แล้ว จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

จึงนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลา 15.00 น.

สำหรับการวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ประชุมจะวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียว ตามที่พรรคฝ่ายค้านถามมาเท่านั้น ว่า “การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ครบวาระ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แล้วหรือไม่”

ขณะที่ปมการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่านับจากจุดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่มีมติกลาง เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้ถาม “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะวินิจฉัยนเกินคำร้องไม่ได้

กรณีที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังไม่ครบวาระ 8 ปี วันที่ 1 ตุลาคม 2565 “พล.อ.ประยุทธ์” ยกทัพกลับเข้าทำเนียบ ทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไปได้โดยพลัน

แต่หาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาครบ 8 ปี “พล.อ.ประยุทธ์” ก็หลุดพ้นจากเก้าอี้นายกฯ แบบถาวร “คณะรัฐมนตรี” ทั้งคณะก็ต้องสิ้นสภาพไปโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน

“จบข่าว”