พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข 39 ปี บนเส้นทางสีกากี 730 วัน อันทรงคุณค่า/บทความโล่เงิน กิตติ ไกรฤกษ์

บทความโล่เงิน – กิตติ ไกรฤกษ์

 

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

39 ปี บนเส้นทางสีกากี

730 วัน อันทรงคุณค่า

 

กว่า 39 ปี บนเส้นทางสีกากี “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” โลดโผน โจนทะยาน ผ่านสุข ทุกข์ ร้อน หนาว ก้าวสู่จุดสูงสุด เป็น ผบ.ตร.คนที่ 12 และเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้

“บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์เล่าเรื่องเส้นทางชีวิตในหลายเวที ชีวิตเกือบถูกออกจากราชการ เฉียดปากเหว ผ่านงาน ผ่านตำแหน่ง ทั้งสายบู๊-บุ๋น ทำหน้าที่ทุกบทบาทอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ ไม่คิดฝันมายืนบนยอดพีระมิด เป็น ผบ.ตร.

“ผมโชคดี โชคดีที่ว่าล้มเหลวหลายเรื่องในชีวิต ครูที่ดีสุดในชีวิตผม คือความผิดพลาด และผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าใครมาบอกในวันนั้น ว่าผมจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผมคงขำ” พล.ต.อ.สุวัฒน์เล่า

เด็กชายเรียนดีที่ชอบวิทยาศาสตร์ เลือกเส้นทางชีวิตตามคำแนะนำบิดา เข้าเรียนเป็น ตท.รุ่นที่ 20 เลือกเหล่าตำรวจ เป็น นรต.รุ่นที่ 36

จากรั้วสามพรานผู้หมวดจบใหม่ได้บรรจุเป็นพนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก สั่งสมประสบการณ์งานสอบสวน ใฝ่รู้งานสืบสวนจนเชี่ยวชาญ ใช้ความรู้ ความสามารถ ทุ่มเท จนได้ยี่ห้อเป็น “ต้นแบบนักสืบ” ฝีมือเยี่ยมเบอร์ต้นๆ ของ ตร. ในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ชื่อชั้น “บิ๊กปั๊ด” เป็นที่ยอมรับนับถือในแวดวงนักสืบ หลายคดีใหญ่ในประเทศ ทั้งคดีความมั่นคง สะเทือนขวัญ เช่น เกาะเต่า, คาร์บอมบ์อดีตผู้นำประเทศ, ระเบิดในพื้นที่ภาคใต้, ระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎ มีชื่อ “บิ๊กปั๊ด” เป็นคีย์แมน เบื้องหลังคลี่คลายคดีจนสำเร็จ

ระหว่างทางที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ พล.ต.อ.สุวัฒน์ให้ความสำคัญกับการสร้างหน่วย และสร้างคน ฝึก พัฒนาคน สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น ครั้งหนึ่งมีตำแหน่งใน บก.สส.บช.น. สร้างหลักสูตรการสอนนักสืบ จนกลายเป็นหลักสูตรที่ บช.ศ.ใช้สอนวิชาสืบสวนในปัจจุบัน เมื่อเป็น ผบ.ตร. ริเริ่มทำหลักสูตร “นักสืบ 5G สร้างนักสืบรุ่นใหม่” ให้เท่าทันโลกยุค AI

 

ตลอดชีวิตราชการ “บิ๊กปั๊ด” พูดเสมอว่า ผ่านมาจนถึงวันนี้ เพราะ “มีครูดี-เพื่อนดี-มีลูกน้องดี”

ขณะเดียวกัน สวมบทบาทผู้ให้วิชา ผู้ให้ความรู้ ทำให้มีลูกศิษย์มากมาย

“อาจารย์ปั๊ด” เจียระไนเพชรน้ำงามให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไว้ให้เป็นอนาคตองค์กร

ในนามชื่ออาจารย์ปั๊ดนี้ จึงมีคำว่า “ครูตำรวจ-ครูนักสืบ” เป็นอีกหนึ่งยี่ห้อ

1 ตุลาคม 2563 พล.ต.อ.สุวัฒน์ขึ้นแท่น “ผบ.ตร.คนที่ 12” เป็นผู้นำองค์กร นำการสืบสวนสอบสวนคดีใหญ่ๆ ที่สังคมจับตามอง เช่น คดีน้องชมพู่, คดี ผกก.โจ้, คดีแตงโม คดีการชุมนุมทางการเมือง ดำรงความยุติธรรมในฐานะต้นทางกระบวนการยุติธรรมภายใต้กระแสโซเชียลมีเดีย

เป็นโจทย์ท้าทายในสังคมยุคใหม่ที่ตำรวจต้องเผชิญ

ได้แก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง จนผลประเมินไทยดีขึ้น อยู่ระดับเทียร์ 2

2 ปีในบทบาทผู้นำ เป็นยุคของการ “พัฒนาคน” พล.ต.อ.สุวัฒน์มีนโยบาย “พัฒนาบุคลากร” เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาระบบการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ทั้งระยะสั้นและวางรากฐานระยะยาว

ยุค “บิ๊กปั๊ด” สร้างศูนย์ Digital Forensics ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนิติวิทยาศาสตร์ รูปแบบคล้ายกับศูนย์ FBI Training Academy ใน Quantico สหรัฐอเมริกา

“ศูนย์นวัตกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการพิสูจน์ทางดิจิทัล” แห่งนี้ เน้นวิจัยเชิงประยุกต์ สร้างรูปแบบนวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จัดฝึกอบรมตำรวจทุกสายงานให้มีความรู้ และนำเทคโนโลยีมาช่วยทำงาน จัดสอบวัดมาตรฐานวิชาชีพในทุกๆ ด้าน ปรับการฝึกยุทธวิธีตำรวจในการระงับเหตุที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ให้มีมาตรฐาน (SOP) Standard Operating Procedure พัฒนาระบบการวัด Attitude Test ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อใช้ในการสอบเข้า นรต. และ นสต.

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือองค์กรใดก็ดี ในความคิดผม ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด คือ กำลังพล เราไปต่อสู้งบฯ ในสภา พยายามอธิบายการลงทุนบุคลากร ตำรวจพัฒนาให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจขาดแคลนงบประมาณ ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ แต่ถ้าเราสามารถพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถสูง นั่นคือสิ่งที่จะแก้ปัญหาทุกเรื่องได้”

พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวถึงความสำคัญการพัฒนาคน

ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชา ใน 2 ปี พล.ต.อ.สุวัฒน์ทำโครงการที่พักอาศัยให้กับข้าราชการตำรวจให้มีที่อยู่เป็นของตนเอง 3 พื้นที่ 14 อาคาร สามารถให้เข้าอยู่ได้ 1,407 ครอบครัว

สร้างเมืองแห่งนวัตกรรมของตำรวจ Police Innopolis ประกอบด้วย Smart Classroom, Interactive Museum of Crimes, Smart library การพิสูจน์ทางดิจิทัล เพื่อเป็นต้นแบบการทดลอง นวัตกรรมต่างๆ ตลอดจนพัฒนาเครื่องแบบสำหรับงานสายตรวจโดยใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสภาพอากาศประเทศไทย

เรื่องสำคัญ คือการแก้หนี้ตำรวจ ได้เจรจาสถาบันการเงิน เพื่อลดหนี้และดอกเบี้ยให้ผ่านกลไกสหกรณ์ จาก 7,333 ราย ยอดหนี้ 3.2 แสนล้านบาท แก้ไขสำเร็จ 5,204 ราย เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานยึดโยงเป้าหมายสร้างความสะดวก ปลอดภัยให้ประชาชน และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยพัฒนาการรับแจ้งความออนไลน์และระบบการจัดการคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วและบรรเทาผลร้ายทันท่วงที

ตอบโจทย์ที่ให้ไว้ในวันมอบนโยบายครั้งแรก “จะมีสักซอยไหม ที่ผู้หญิงเดินคนเดียวตอนกลางคืน แล้วไม่ต้องกลัวอะไร”

ได้ติดตั้งวงจรปิด 25,389 ตัว ครอบคลุมจุดล่อแหลม และจุดเสี่ยง เพื่อใช้ในการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม การสืบสวนสอบสวน รวมถึงตรวจสอบสภาพจราจร ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ ผลักดันโครงการ “Smart Safety Zone 4.0 สร้างความปลอดภัยชุมชน” นำร่อง 100 สถานี และจะขยายเป็น 1,484 สถานี ทั่วประเทศ

เน้นพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ “พล.ต.อ.สุวัฒน์” พัฒนาระบบงานพิสูจน์หลักฐานให้ได้มาตรฐานสากล (ISO) พัฒนาการตรวจสอบประวัติอาชญากรสำหรับสถานีตำรวจโดยจัดหาเครื่องสแกนลายนิ้วมือแบบอิเล็กทรอนิกส์ 1,490 เครื่อง ให้กับสถานีตำรวจทั่วประเทศ

สร้างโรงงานผลิตกระสุนให้ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจทั่วประเทศ 13 แห่ง ให้สามารถผลิตกระสุนปืนขนาด 9 ม.ม. และขนาด .38 ประเภทละ 600,000 นัดต่อปี/ศูนย์ฝึกอบรม พัฒนารูปแบบการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจให้เป็นมาตรฐานสากล จัดหาเครื่องออกใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ให้ตำรวจจราจร

และจัดทำแอพพลิเคชั่น “แทนใจ” ช่องทางสื่อสารสองทางระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งให้ตำรวจทุกคนสามารถตราจสอบสิทธิของตนเองได้ เช่น การรักษาพยาบาล เงินเดือน สวัสดิการ

 

เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย “บิ๊กปั๊ด” มีโอกาสสนับสนุนคนเก่งคนดี ทำได้เต็มที่ในบริบทแวดล้อมเช่นนี้

730 วัน ผบ.ตร.ที่ชื่อ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” อาจไม่พูด หรือโฆษณามาก แต่สร้างผลงานไว้มากมาย สีกากีจารึก “ผบ.ตร.คนที่ 12” อยู่ในตำแหน่งจนครบเกษียณอายุราชการ

และสร้างตำนาน ผบ.ตร. ที่ทำหน้าที่ทรงคุณค่าที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตร.