ส่องกฎเหล็ก กกต. 180 วันก่อนวันเลือกตั้ง คุมเข้มชิง ส.ส.ชี้วัดแพ้-ชนะ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ส่องกฎเหล็ก กกต.

180 วันก่อนวันเลือกตั้ง

คุมเข้มชิง ส.ส.ชี้วัดแพ้-ชนะ

 

ทันทีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คลอดกฎเหล็กคุมเข้มหาเสียงช่วง 180 วันก่อนที่สภาจะครบวาระ และมีการเลือกตั้งทั่วไป นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2565 จนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2566 ก็เล่นเอาบรรดานักการเมืองทุกพรรคตัวเก็งไปตามๆ กัน

เพราะเห็นข้อห้ามในการหาเสียงของ กกต.แล้วขยับตัวยาก รวมทั้งยังมีข้อสังสัยว่าหากยุบสภาก่อนครบกำหนด จะทำอย่างไร

ทุกพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ต่างออกมาจี้ให้ กกต.แจงข้อห้ามให้ชัดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพราะกลัวจะขัดต่อกฎหมาย จนบรรดา ส.ส.ต่างโพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งประชาชนในพื้นที่ว่างดแจกจ่ายสิ่งของต่างๆ ทุกกรณี แต่ยังลงพื้นที่พบปะชาวบ้านได้ตามปกติ

ยิ่งช่วงนี้มีทั้งน้ำท่วม เทศกาลตามประเพณี งานศพ งานบวช งานแต่ง สารพัด นักการเมืองทำตัวไม่ถูก วางพวงหรีดได้หรือไม่ ช่วยซองได้หรือเปล่า แจกของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และอื่นๆ อีกมากมาย จะทำได้หรือไม่

 

รวมถึงการขึ้นป้ายต้อนรับบรรดารัฐมนตรี ซึ่งล่าสุดเกี่ยวกับป้ายต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในงานอุ้มพระดำน้ำที่ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีรูป ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพปชร.อยู่ด้วย ว่าผิดระเบียบที่ กกต.ประกาศออกมาหรือไม่

ซึ่งฝ่ายค้านโดย “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ติงว่าเป็นการหาเสียงแอบแฝงหรือไม่

แต่ทาง กกต.บอกว่าอาจจะไม่ผิด เพราะป้ายดังกล่าวไม่มีชื่อพรรคการเมืองอยู่ด้วย

ถึงขนาด “ชวน หลีกภัย” ประธานสภา ซึ่งถือว่าเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ลงพื้นที่ตลอด ก็เป็นห่วงเหมือนกัน จนต้องเตือนให้บรรดา ส.ส.ระวังตัว และยึดกฎหมายเป็นหลักจะปลอดภัยกว่า ไม่เช่นนั้นจะเป็นเหยื่อของคู่ต่อสู้นำมาร้องเรียนได้ ส่วนตัวเองไม่กังวลเพราะลงพื้นที่เยี่ยมเยียนชาวบ้านเป็นปกติอยู่แล้ว และไม่ใช่เป็นการไปหาเสียง พร้อมทั้งจี้ให้ กกต.ตอบให้ชัด อะไรทำได้ไม่ได้ เช่น การไปงานศพ ที่มีการพูดถึงการวางพวงหรีด ขณะนี้ ส.ส.ที่เอาพวงหรีดไปวางต่างเอาออกกันหมด เพราะกลัวจะผิดกฎหมาย รวมถึงงานบุญต่างๆ ด้วย ไม่แน่ใจว่าใส่ซองได้หรือไม่ เพราะความเห็นของ กกต.จังหวัด กับ กกต.กลาง ยังไม่ตรงกัน

หรือแม้แต่ “อนันต์ ผลอำนวย” ส.ส.กำแพงเพชร พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ก็นั่งไม่ติด ว่าการทำงานระหว่างการเป็น ส.ส. กับการทำหน้าที่ กมธ. จะปฏิบัติอย่างไร จะคาบเกี่ยวกันอย่างไร จึงได้เชิญให้ กกต.มาชี้แจงต่อ กมธ. ในวันที่ 28 กันยายน เพราะอยากรู้เช่นกันว่า ใน 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้สมัคร ส.ส. กลุ่ม ส.ส. กลุ่มกรรมาธิการ และข้าราชการ จะทำอะไรได้แค่ไหน

เพื่อแจ้งให้ กมธ.สามัญทั้ง 35 คณะรับทราบ จะได้ปฏิบัติตรงกัน เพราะมีปัญหาเหมือนกับนักการเมืองทุกคน

 

สุดท้าย กกต.โดย “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ต้องยอมออกมาชี้แจง โดยเปิดประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบซูม เพื่อชี้แจงให้ กกต.แต่ละจังหวัดได้รับทราบแนวทางปฏิบัติ และชี้แจงพรรคการเมืองให้เป็นแนวทางเดียวกันในการหาเสียงช่วง 180 วัน อย่างเคร่งครัด

สรุปง่ายๆ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. และว่าที่ผู้สมัคร สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ ได้ เช่น งานแต่ง งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่างๆ ยกเว้นกรณีที่เจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้ในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล และปัจจัยอื่น เป็นต้น

รวมถึงข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง รวมถึงการทำเอกสารของหน่วยงานรัฐ เอกสารเผยแพร่ผลงานของรัฐมนตรี ปฏิทินปีใหม่ที่มีรูปและผลงานของรัฐมนตรี ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานเท่านั้น และต้องระมัดระวังไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายหาเสียงให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพรรคการเมือง

การลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม รัฐมนตรีทำได้ แต่ต้องไม่เป็นการหาเสียง แต่ห้ามไม่ให้มีการกระทำใดๆ ที่เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในการหาเสียงให้แก่ตนเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง และรัฐมนตรีสามารถหาเสียงนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ เพื่อเป็นคุณหรือโทษกับพรรคการเมืองอื่น หรือผู้สมัครอื่น ส่วน ส.ส.กับกรรมาธิการก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

ส่วนการจัดทำป้ายต้อนรับการลงตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้ระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนการจัดทำป้ายต้อนรับหรือป้ายขอบคุณของพรรคการเมือง หรือ ส.ส.ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจจะเป็นป้ายหาเสียง และเป็นการขัดมติ ครม.ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

 

เมื่อ กกต.ชี้แจงมาอย่างนี้ บรรดาพรรคการเมืองใหญ่ ต่างออกมาระบุว่ารับได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติเท่าเทียมกัน เช่น “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรค และ ผอ.เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แจงว่าเมื่อ กกต.ยืนยันอย่างนี้ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตาม แต่ขอเสนอให้พรรคเปิดสายด่วนกันไปเลยเป็นการแก้ปัญหา เพื่อตอบคำถามและข้อสงสัยต่างๆ และหวังว่า กกต.จะปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ

ขณะที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดย “ณัฐวุฒิ บัวประทุม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค บอกว่า ชัดเจนในเรื่องระเบียบประกาศและแนวทางชัดเจนเป็นรูปธรรมไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้ และมีการลงรายละเอียดมาก เข้าใจง่ายขึ้น เช่น สามารถไปร่วมงานศพได้ สามารถวางหรีดได้ แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

ส่วนพรรคเพื่อไทย “อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด” รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง ก็ยังติดใจการลงพื้นที่ของบรรดารัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องป้ายต้อนรับ พล.อ.ประวิตรที่เพชรบูรณ์ อยู่ดี ว่ามีเจตนาหาเสียงแอบแฝงหรือไม่ เพราะดูแล้วอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันได้

หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็มีความพร้อมและได้กำชับให้ ส.ส.ทุกคนปฏิบัติตาม แต่ก็ห่วงในการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมอาจไปช่วยได้ไม่ทันท่วงที

 

แม้ กกต.จะออกมาชี้แจงอย่างละเอียดแล้วก็ตาม แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายตามระเบียบ กกต.ในช่วง 180 วัน หากเกิดยุบสภาก่อนครบวาระ จะคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร รวมทั้งยังไม่มีการกำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส.แต่ละคนจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ เพราะช่วงนี้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยังรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เลย

แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก กกต.เสียทีเดียว เพียงแต่บอกว่า หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องรับความเสี่ยงที่จะตามมาในอนาคต และเอกสารที่ กกต.แถลงไปแล้วนั้นเป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติ ยังต้องพิจารณาต่อไปและยังต้องรอกฎหมายลูก ส.ส.ออกมาบังคับใช้ก่อน จึงจะสามารถกำหนดทุกอย่างได้ชัดเจน

เรียกว่าชัดเจนในความไม่ชัดเจนของกฎเหล็ก กกต. นักการเมืองทุกคนก็ควรยึดกฎหมายเป็นหลักไว้ก่อนดีกว่าพลาด