เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (3) แกะรอยปริศนาเกศโมลี เมืองเชียงแสน ตอนที่ 1

เพ็ญสุภา สุขคตะ

หัวข้อเสวนานี้มีชื่อเต็มๆ ว่า : แกะรอยปริศนาเกศโมลี เมืองเชียงแสน มหากาพย์เรื่องเล่าจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่รอการพิสูจน์

วิทยากรคือ อภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระชาวเชียงราย

 

บทคัดย่อที่นำเสนอในสูจิบัตร

โบราณวัตถุในเมืองเชียงแสนที่จัดว่าสวยและใหญ่ที่สุดคือ “เกศโมลี” ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน มีที่มาที่ไปอย่างคลุมเครือ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปีที่พบ บุคคลที่พบ หรือสถานที่ที่พบ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าสืบๆ ต่อกันมา จนกลายเป็นประวัติศาสตร์อันน่าค้นหา

เนื่องด้วยขนาดของเกศโมลีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่พบในปัจจุบัน อันเป็นการจินตนาการกันต่อไปถึงองค์พระหากมีอยู่จริง เมื่อไม่พบองค์พระบนพื้นดินในเมืองเชียงแสนแล้ว องค์พระต้องจมอยู่ในลำน้ำโขงเป็นแน่

เมื่อเรื่องราวนี้แพร่หลายออกไปจากการจินตนาการแล้ว ต่อมาทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติต่อคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เรื่อง “ให้กู้พระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขงหน้าเมืองเชียงแสน” เป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับประเทศมาแล้ว

ประกอบกับมีการชี้แจงในเรื่องดังกล่าวจากสำนักงานโบราณคดีที่ 6 เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) ซึ่งคณะกรรมาธิการได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาข้อเท็จจริง โดยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เป็นเลขานุการ และตอกย้ำแนวคิดตามจินตนาการนี้ผ่านเอกสารสิ่งพิมพ์เผยแพร่ เป็นที่รับรู้โดยหน่วยงานราชการรับรอง

แต่หากเมื่อค้นคว้าจากเอกสารแทบทุกฉบับกลับไม่พบเรื่องราวหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุชิ้นนี้เลย และขณะนี้ผู้บรรยายพร้อมที่จะนำหลักฐานภาพถ่ายเก่ามาประกอบการพิจารณาว่า “เรื่องเล่าเหล่านี้ มีจริงหรือไม่”

 

รัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ

รัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ เป็นชื่อเรียกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนวัตถุหมายเลข 8/2504 ระบุว่าวัตถุชิ้นนี้มีขนาดกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร จัดแสดงอย่างโดดเด่นใกล้ประตูทางเข้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย

จากป้ายคำบรรยายโบราณวัตถุเขียนว่า สถานที่พบคือวัดเจดีย์หลวง (อยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) แล้วนำไปไว้ที่วัดมุงเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

พรรณนาสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นศิลปะล้านนา มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21

พระรัศมีเปลวขนาดใหญ่ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “รัศมีของพระเจ้าล้านตื้อ” (บ้างว่าอาจเป็นของพระเจ้าทองทิพย์) ชิ้นนี้เป็นประติมากรรมหล่อด้วยสำริด พระวรกายหายไป เหลือแค่พระรัศมี มีเดือยต่อเชื่อมสำหรับเสียบลงบนพระเกตุมาลาของพระพุทธรูป ฐานด้านล่างมีกลีบบัวหงายรองรับ

พระรัศมีมีลักษณะเป็นเปลวรังสีโดยรอบ 9 แฉก แต่ยอดตรงกลางหักหายไป ภายในกลวง มีรูปวงกลมน้อยใหญ่วางเรียงรายเป็นจังหวะตามกลีบรัศมี คือช่องสำหรับฝังหินหรืออัญมณีมีค่าเพื่อประดับตกแต่ง

นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยของเทคนิคการหล่อที่แยกส่วนเป็นชิ้นๆ ขนาดเล็ก แล้วนำมาเชื่อมติดกันให้เป็นเนื้อเดียว

ความหมายของเปลวรัศมี คือสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคำว่า พระเจ้าล้านตื้อ ตื้อ เป็นหน่วยนับของทางภาคเหนือแปลว่า โกฏิ

 

ข้อสันนิษฐานอันพิสดารพันลึก

ในเมื่อเฉพาะพระรัศมียังมีขนาดความสูงถึง 70 เซนติเมตร เมื่อคำนวณเทียบสัดส่วนแล้ว พระเจ้าล้านตื้อเต็มองค์จักใหญ่โตมโหฬารเพียงใดหนอ อย่างน้อยองค์พระต้องมีหน้าตักไม่ต่ำกว่า 9 เมตร และความสูงต้องประมาณ 10 เมตร

ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่าบางทีพระรัศมีเปลวชิ้นนี้อาจเป็นของพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งจมลงใต้แม่น้ำโขง ดังปรากฏในตำนานและพงศาวดารได้มีการกล่าวถึง

วัดบน “เกาะบัลลังก์ตระการ” หรือ “เกาะดอนแท่น” กลางแม่น้ำโขงเมืองเชียงแสน อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่

เกาะนี้น่าจะถล่มจมลงในแม่น้ำโขงก่อน พ.ศ.2347 อันเป็นช่วงที่เมืองเชียงแสนถูกเผาทำลายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมกำลังพลของทหารพม่า

พงศาวดารฉบับราษฎร์พื้นเชียงแสน มีการกล่าวถึงการสร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำ เมื่อ พ.ศ.1925 ความว่า

“เมื่อ พ.ศ.1929 พระมหาเถรสิริวังโส นำพระพุทธรูปชื่อพระแก้ว กับพระคำ เข้ามายังเชียงแสน เมื่อพบภูมิประเทศที่ดอนแท่น (กลางแม่น้ำโขง) ก็พอใจ ขออนุญาตจากมหาเทวี สร้างวิหารวัดพระคำไว้ด้านเหนือ วิหารวัดพระแก้วไว้ด้านใต้”

มีผู้สันนิษฐานว่า พระคำ ในพงศาวดารนี้ อาจเป็นพระที่ชาวบ้านเรียกในเวลาต่อมาว่า พระเจ้าทองทิพ หรือพระเจ้าล้านตื้อ

จากตำนานที่ระบุถึง “เกาะดอนแท่น” (บางครั้งเรียกดอนแห้ง เพราะน้ำแห้งขอด) นักวิชาการเชื่อว่า เดิมทีเกาะเก่าแก่กลางลำแม่น้ำโขงนี้เป็นผืนดินในเขตราชอาณาจักรไทย เป็นที่อาศัยของผู้คนเชียงแสนในยุคก่อน

เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวัดกว่า 10 แห่ง ตามที่ระบุไว้ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนภาคที่ 61

ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของ วัดพระเจ้าทองทิพ อันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านกล่าวขานนามว่า “พระเจ้าล้านตื้อ” พระนี้มีขนาดและน้ำหนักมาก สันนิษฐานว่าองค์พระคงจมลงไปพร้อมกับเกาะดอนแท่น ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณน้ำโขงหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน

ความเชื่อเช่นนี้เป็นที่มาแห่งความพยายามที่จะช่วยกันค้นหาพระปฏิมาองค์นั้นให้พบให้จงได้

ที่มาของการได้มาซึ่งพระรัศมีเปลวก็ค่อนข้างพิสดาร

เริ่มจากปี พ.ศ.2446 มีคนไปทอดแหในแม่น้ำโขง บริเวณหน้าสถานีตำรวจเชียงแสน เห็นเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่ขึ้นกลางน้ำ ทว่า พรานปลาลากขึ้นมาได้เฉพาะพระรัศมี แต่พระเศียรหลุดหาย ส่วนพระวรกายไม่พบ

จึงนำพระรัศมีไปประดิษฐานไว้ที่วัดคว้าง (หลังตลาดเชียงแสน) ต่อมาย้ายไปรักษาที่วัดปงสนุก และวัดมุงเมืองตามลำดับ เมื่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน เสร็จ จึงนำพระรัศมีออกจัดแสดงจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาปี พ.ศ.2488 มีพรานปลาอีกคนหนึ่งพบเสาวิหารขนาดใหญ่จำนวน 2-3 ต้นล้มทับกัน จมอยู่ในน้ำโขง ลึกราว 4 เมตร ที่บริเวณสามแยกหน้าสถานีตำรวจ บริเวณเดียวกันกับที่พบเศียรพระ

ข่าวยิ่งเล่าลือกันว่ามีองค์พระจมอยู่ใต้น้ำบริเวณนั้น

ปีต่อมามีคนไปลงอวน อวนติดใต้น้ำ ดำลงไปปลดก็พบว่าติดอยู่กับพระกรรณพระพุทธรูปขนาดใหญ่ คนที่ดำคุยว่ายืนอยู่บนพระอังสา ยกมือชูขึ้นไปยังไม่ถึงปลายพระกรรณ แต่ก็สุดปัญญาที่จะลากองค์พระขึ้นมาได้จนอวนขาด

ครั้นถึงปี พ.ศ.2492-2493 เพีย สมบูรณ์ (ชาวลาวอพยพจากหลวงพระบางมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงแสน) ฝันว่าเห็นพระพุทธรูปล้ม คว่ำพระเศียรลงหันไปทางทิศใต้ ตอกย้ำข่าวที่เล่าลือกันแต่เดิมให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

 

ดังนั้น ราวเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ของปีเดียวกัน จึงมีการลงคลำหาพระพุทธรูปกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากตั้งศาลเพียงตาขึ้นในบริเวณเกาะดอนแท่นสำหรับทำพิธีบวงสรวงพระพุทธรูป เตรียมเรือเหล็กขนาดใหญ่ 2 ลำ พร้อมช้าง 3-4 เชือก นิมนต์พระสงฆ์ทำพิธี เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเย็นมากจึงไม่อาจพบพระพุทธรูปแต่อย่างใด

ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 เป็นการค้นหาแบบชาวบ้าน ยังไม่ใช่การค้นหาแบบเป็นทางการ ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2504-2512 ใช้เครื่องมือทันสมัยยิ่งขึ้นหลายอย่างแต่ก็ล้มเหลวทุกครั้ง

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม พ.ศ.2509 บริษัทอิตาเลียน-ไทย จำกัด ได้สัมปทานการสร้างสนามบินในหลวงพระบาง มาพักอยู่ที่เชียงแสน (สมัยนั้นการเดินทางไปหลวงพระบางต้องใช้วิธีการเดินเรือจากเชียงแสนไปถึงจะสะดวกที่สุด)

นายชูสง่า ไชยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขณะนั้นจึงได้ให้ทางบริษัทดังกล่าว ส่งนักประดาน้ำพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ลงดำเพื่อค้นหาและกู้เอาพระพุทธรูปขึ้นมา ณ จุดที่เป็นเกาะกลางน้ำตรงหน้าสถานีตำรวจ

บริเวณนี้เป็นน้ำวน เชี่ยวมาก นักประดาน้ำทนความเย็นไม่ไหว การค้นหาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ได้เพียงพระพุทธรูปองค์เล็ก และโบราณวัตถุอื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อยจึงหยุดค้นหา

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2552 ใช้ทั้งพิธีไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องหาพิกัดวัตถุของกรมทรัพยากรธรณี ก็ยังล้มเหลวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ในขณะที่ฝั่งไทยค้นหาเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ทางการลาวก็มีการขุดหาเช่นกัน จนถึงวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2553 พบพระพุทธรูปขนาดเล็ก และพระพิมพ์ขนาดย่อม ศิลปะเชียงแสนหลายองค์ จุดที่ลาวพบห่างจากจุดที่คณะค้นหาฝั่งไทยไปราว 2 กิโลเมตร

ท่ามกลางความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่ง ก็กลับมีบางกลุ่มบางคนที่ไม่เชื่อ นายนิกร เหล่าวานิช ประธานชมรมรักเชียงแสน เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เชื่อว่า พระเจ้าล้านตื้อมีจริง โดยให้สัมภาษณ์ว่า

“เกาะดอนแท่นเป็นเกาะกลางแม่น้ำโขง เป็นเกาะศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์โบราณใช้เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนา ส่วนเปลวพระรัศมีนั้น ไม่ได้เอาขึ้นมาจากแม่น้ำโขง แท้จริงแล้วถูกทิ้งไว้ที่ซากวัดเค้า มีการขโมยขนมาทางเรือ เอาพลอยสีไปหมด ปล่อยเปลวรัศมีทิ้งไว้ที่วัดร้าง เมื่อกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจ ก็เอามาไว้ที่วัดมุงเมือง สี่แยกไปรษณีย์เชียงแสน ต่อมาก็ย้ายไปวัดเจดีย์หลวง สุดท้ายกรมศิลปากรก็นำไปเข้าพิพิธภัณฑ์”

นายนิกรติดตามค้นคว้า ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับลูกหลานคนเชียงแสนรุ่นเก่าที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอคูบัว จังหวัดราชบุรี ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ ดังนั้น คนเชียงแสนรุ่นใหม่ย้ายเข้ามาไม่เกิน 170 ปี จะรู้เรื่องพระเจ้าล้านตื้อได้อย่างไร

 

ปริศนาร้อยแปดพันเก้า

ความที่พระรัศมีชิ้นนี้มีขนาดใหญ่โตมากที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย และละแวกเพื่อนบ้าน อุษาคเนย์ ทำให้ผู้คนสนใจอยากทราบคำตอบที่แท้จริง

หากพระพุทธรูปล้านตื้อนี้มีอยู่จริง ต้องถือว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานคร ที่รัชกาลที่ 1 อัญเชิญมาจากวัดพระมหาธาตุสุโขทัย ซึ่งถือว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อโบราณที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ มีความสูงเพียง 8 เมตรเท่านั้น

รัศมีชิ้นนี้จุดประกายให้เกิดการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การค้นหาพระพุทธรูปที่จมอยู่ในลำน้ำโขง นับครั้งไม่ถ้วน

ตั้งแต่การพบครั้งแรกจนกระทั่งถึงทุกวันนี้นานกว่า 80 ปีแล้ว เรื่องราวยังคงเป็นที่สนใจและถูกเล่าขานผ่านลูกหลานชาวเชียงแสนอย่างท้าทาย ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงนิทานพื้นบ้าน?

สัปดาห์หน้าจะมาเฉลยความเห็น ซึ่งเป็นข้อค้นพบใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง ของนักวิชาการเชียงราย อภิชิต ศิริชัย