จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 30 ก.ย.- 6 ต.ค. 2565 ฉบับที่ 2198

 

จดหมาย

 

• 30 ก.ย. (1)

เรียน บก.มติชนสุดสัปดาห์

เห็นอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ รำพึงในฉบับ 2-8 กันยายน 2565 หน้า 52-53 ว่า “ทำไมปีงบประมาณบ้านเรา จึงขึ้นต้นเร็วกว่าปี ปฏิทิน”

จึงขอแบ่งปันที่มาที่ไป ดังนี้

1) ในสมัยก่อน ปีงบประมาณเริ่มต้นในเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับวันขึ้นปีใหม่ของไทยในขณะนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2481 ก็ได้เปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณ มาเป็นเดือนตุลาคมแทน

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้เหตุผลหนึ่งว่า เดือนเมษายน เป็นเดือนที่มีวันหยุดราชการมาก

ดังนั้น กว่าที่จังหวัดต่างๆ จะได้รับงบประมาณก็เลยไปถึงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ที่เริ่มเข้าฤดูฝนแล้ว ทำงานต่างๆ ได้ลำบาก

อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2483 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ มาเป็นวันที่ 1 มกราคม 2484

และเปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นเดือนมกราคมด้วย

จนกระทั่ง พ.ศ.2502 รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 เปลี่ยนวันที่เริ่มต้นปีงบประมาณ กลับมาเป็นเดือนตุลาคมดังเดิม

โดยให้วันที่ 1 ตุลาคมของปีหนึ่งถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไปเป็นปีงบประมาณ โดยปี พ.ศ.ที่ถัดไปนั้นเป็นชื่อสำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน… (ปีงบประมาณ-วิกิพีเดีย)

2) ตามข้อ1 ข้างต้น เคยทราบจากผู้อยู่ในวงการงบฯ ว่า น่าจะได้รับแนวคิดแบบนี้มาจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งใช้วันเดือนปีงบประมาณแบบเดียวกัน

3) ปีงบประมาณไม่จำเป็นต้องเป็นราย 1 ปีก็ได้ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้ราย 2 ปี (Biennial Progremme Budgets https://www.who.int/about/accountabillity/budget)

ศ.เกษียณ

 

คงช่วยตอบคำถามอาจารย์ธงทอง และผู้อ่านที่สงสัยได้ระดับหนึ่ง

ใครมีข้อมูลช่วยเสริม

กรุณาส่งมาอีก

ทั้งนี้ 30 กันยายน นอกจากเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณแล้ว

ยังเป็นวันสิ้นสุดอายุราชการและงานของหลายคนด้วย

ซึ่งคงต้องปรับตัวไม่น้อย

โปรดอ่านจดหมายฉบับต่อไป

 

• 30 ก.ย. (2)

เมื่อถึงเวลาที่ต้องจากหน้าที่การงานที่รักและผูกพัน (อย่างยาวนาน) ไป

ก็ยากที่จะหักใจมิให้อาลัยอาวรณ์ได้โดยง่าย

หลายฝ่ายหลายบุคคลและหมู่คณะผู้ถึงแก่วาระกาลเกษียณจึงจำต้องเรียนรู้ใจรู้กายของตน

เพื่อรักษามาตรฐานการดำรงอยู่ให้มั่นคงทรงคุณค่าสืบต่อไป

เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัวญาติพี่น้อง

หลายท่านอาจยังค้างคาใจในหน้าที่รับผิดชอบ ตอบโจทย์ได้ไม่กระจ่างดังใจหมาย มีความคิดความอ่านการปฏิรูปแก้ไขในสิ่งไม่ถูกไม่ควรของกระทรวง ทบวง กรม ต้นสังกัด…

ซึ่งน่าเสียดายหากความคิดอ่าน ประสบการณ์การทำงานของแต่ละท่านแต่ละฝ่ายจะลบเลือนหายไปกับกาลเวลาเกษียณ โดยเฉพาะผู้นำองค์กร ผู้บริหาร ผู้จัดการ-เหล่าทัพ ฯลฯ

จึงเป็นโอกาสดีที่เหมาะสมจะวิเคราะห์ สรุป ประมวลผลและนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องมีประสิทธิภาพแก่หน่วยงาน-สาธารณชนอันจะยังประโยชน์คุณูปการมหาศาลต่อประเทศชาติบ้านเมือง

…ชีวิตการงาน-การทำงานมาทั้งชีวิต ผ่านความผิดความถูก ผ่านอุปสรรคขวากหนามนานาสารพัดรูปแบบ สามารถแก้ไขเอาตัวรอดได้ด้วยสติปัญญา ความคิด จวบจนกระทั่งมาถึงวันนี้ได้

ย่อมมีความหนักแน่น ขันติ อดทนบนพื้นฐานแห่งศีลธรรม จรรยาบรรณอันหล่อหลอมด้วย “ตำรับตำรา” ให้มีวิชาความรู้

เมื่อมีความสำเร็จ อยู่ดีกินดี มีโอกาสทำบุญเกื้อหนุนจุนเจือกัน ให้ “ชุมชนอุดมปัญญา” ให้ “หนังสือ-วิชาความรู้” จึงเป็นความกตัญญูกตเวทีที่สูงส่ง (อนรรฆค่า) ไม่มีที่สิ้นสุด…

ด้วยความเคารพและนับถือ

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

สําหรับคนในวัยเกษียณ

การเรียนรู้ใจ เรียนรู้กายของตน

เพื่อรักษามาตรฐานการดำรงอยู่ให้มั่นคง ทรงคุณค่าสืบต่อไป

ตามที่สงกรานต์ บ้านป่าอักษร แนะนำมา

เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา

พิจารณาเพื่อไม่ให้คนวัยเกษียณไร้ความหมาย

และกลายเป็นปัญหาให้สังคมและคนอื่น

โดยเฉพาะไม่ปล่อยวาง

คิดไปต่อ แม้จะครบ 8 ปี เอ้ย!! ครบเกษียณแล้วก็ตาม

• 30 ก.ย. (3)

ขอบพระคุณ บิ๊กบัง

ขอบพระคุณ บิ๊กตู่

และเหล่าทหารหาญรั้วของชาติ

ในคุณูปการของพวกท่านทั้งหลาย ที่กระทำต่อบ้านเมืองในปี 2549 และปี 2557

จนประเทศเจริญลงฮวบๆ ทันตา มาจนถึงทุกวันนี้

อิฉันลำบากยากแค้น และหากินเดือดร้อนฝืดเคืองเหลือเกิน ค่า

อิฉันในฐานะประชากรกรุงเทพฯ ที่ได้รับอานิสงส์จากการกระทำของท่านทั้งสองและเหล่าบริวาร กำลังนั่งปลงจะย้ายจากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร มาเป็นประชากรท้อแท้ เมื่อพิษ-โลก ดีมั้ยพระเดชพระคุณ

ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ เจ้าเก่า

“ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน)

 

30 กันยายน นอกจากเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ

เป็นวันเกษียณ ดังว่า

วันที่ 30 กันยายนปีนี้ ยังเป็นวันชี้ชะตาบิ๊กตู่ด้วย

จะไม่ได้อยู่ หรือไปต่อ ก็ลุ้นกัน

แต่หากถามคุณยายที่นั่งมองป้ายบ้าน “ท้อแท้”

ผ่านเลนส์กล้องของ “ปิยพงศ์” (เมืองหละปูน)

คงเดาไม่ยากว่า 30 กันยายนนี้

คุณยายอยากให้ลุงตู่อยู่ต่อ หรือไปเสียที •